Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

ร่างกายที่เคลื่อนย้าย/ไม่เคลื่อนย้าย: ย้อนรำลึกถึงการเติบโตในช่วงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

รายงานและภาพที่ถ่ายทอดในสำนักข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับ “วิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัย” โดยเฉพาะการอพยพครั้งใหญ่ของชายหญิงกับเด็กชาวซีเรียที่หนีจากสงครามกลางเมืองในประเทศของตนตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้หวนนึกถึงความทรงจำเกี่ยวกับการหนีออกนอกประเทศครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งเมื่อประมาณสี่สิบปีที่แล้ว เมื่อชาวกัมพูชา ลาวและเวียดนามหลายแสนคนละทิ้งประเทศของตนภายหลังคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะใน ค.ศ. 1975 1 ลักษณะคู่ขนานระหว่างการอพยพสองครั้งนี้เห็นได้อย่างเด่นชัด โดยเฉพาะการเดินทางอันน่าหวาดหวั่นที่ต้องลอยเรือกลางทะเลเพื่อขึ้นฝั่งในยุโรปหรือเอเชีย การอพยพย้ายถิ่นด้วยความจำใจทุกครั้งย่อมมีพลวัต ต้นตอและผลกระทบที่เป็นลักษณะเฉพาะของมันเอง มันอาจมีลักษณะคู่ขนาน แต่ไม่มีทางเหมือนกันโดยสิ้นเชิง กระนั้นก็ตาม มีเรื่องเล่าทับซ้อนกันสองชั้นที่ครอบทับการอพยพหนีออกจากประเทศทั้งสองระลอกข้างต้น ในด้านหนึ่ง เรื่องเล่านำเสนอภาพเหยื่อ “โลกที่สาม” ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ (ความพยายาม) ปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากประเทศ “โลกที่หนึ่ง” Yen Le Espiritu ตำหนิงานเขียนเชิงวิชาการก่อนหน้านี้ที่มองว่าผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม “เป็นแค่วัตถุของการช่วยเหลือ วาดภาพว่าพวกเขาโศกเศร้าจนช่วยตัวเองไม่ได้ ดังนั้น พวกเขาจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแล โดยอ้างว่าการดูแลที่ดีที่สุดทำได้ในและโดยสหรัฐอเมริกาเท่านั้น” (Espiritu 2006: 410) ไม่ต้องสงสัยว่าเรื่องเล่านี้ได้รับอิทธิพลจากสื่อและรายงานข่าวทางทีวีจำนวนมากเกี่ยวกับความทุกข์ยากแสนสาหัสของ “ผู้อพยพทางเรือ” หรือ “boat people” 2 และประเด็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งย้อนกลับมาปั้นแต่งความทรงจำส่วนรวมเกี่ยวกับ “ผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน”

The Boat by Nam Le. The interactive graphic novel of Nam Le’s compelling narrative was illustrated by Vietnamese-Australian artist Matt Huynh, whose parents fled Vietnam after the war. Read the novel here: http://www.sbs.com.au/theboat/

อันที่จริง วาทกรรมและภาพพจน์ที่ผูกติดกับผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีนนั้นฝังลึกจนถ้าจะเรียกพวกเขาว่าผู้แบก “ความทรงจำเทียม” (prosthetic memory) ก็คงไม่ผิดนัก แนวความคิดนี้ของอลิสัน แลนด์สเบิร์ก (Alison Landsberg) หมายถึง “ความทรงจำทางวัฒนธรรมของสังคมรูปแบบใหม่” ที่มีอิทธิพลต่อปัจเจกบุคคลที่ไม่ได้มีชีวิตผ่านเหตุการณ์นั้นๆ ดังที่แลนด์สเบิร์กอธิบายว่า ความทรงจำเหล่านี้ไม่ใช่ “ผลผลิตของประสบการณ์ที่ประสบจริง” แต่ “เกิดจากการได้สัมผัสกับการนำเสนอผ่านสื่อกลาง (เช่น ดูหนัง ไปพิพิธภัณฑ์ ดูซีรีส์สั้นๆ ทางโทรทัศน์)” (Landsberg 2004: 20) นิยายภาพแบบโต้ตอบ (interactive) ซึ่งได้รับรางวัลในปี 2015 ที่ดัดแปลงจากเรื่องสั้นที่เป็นชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้นของ Nam Le เรื่อง The Boat คือตัวอย่างหนึ่งของเทคโนโลยีแห่งความทรงจำกับวัฒนธรรมมวลชนดังกล่าว 3 นิยายเรื่องนี้ผลิตขึ้นเพื่อผู้อ่านทางอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ มันผสมผสานตัวหนังสือ ภาพ เสียงและการเคลื่อนไหวอย่างตรึงตาตรึงใจเพื่อเล่าเรื่องราวของเด็กสาวชาวเวียดนามคนหนึ่งที่พ่อแม่ส่งลงเรือผู้ลี้ภัยมาออสเตรเลีย

เรื่องเล่าแม่บทแบบ “สิ้นหวัง-และ-ช่วยเหลือ” ทำให้ผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีนมีภาพพจน์ที่เป็นรูปธรรมในฐานะเหยื่อของสงครามและความรุนแรง เนื่องจากถูกมองว่ามีสถานะเป็นประชาชนพลัดถิ่นและเหยื่อของประวัติศาสตร์ ผู้ลี้ภัยจึงถูกทึกทักว่าไม่มีการกระทำเป็นของตนเอง ราวกับชีวิตของการลี้ภัยเริ่มต้นในวันที่พวกเขาได้รับความช่วยเหลือและก้าวเข้าสู่สังคมที่รับผู้อพยพ ช่วงเวลาและสภาพแวดล้อมเมื่อพวกเขาหนีจากประเทศบ้านเกิดจึงแทบไม่ค่อยมีการสืบสาวในรายละเอียด กระนั้นก็ตาม ชั่วขณะที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิตของพวกเขาเป็นผลลัพธ์มาจากการริเริ่มของพวกเขาเอง เมื่อพวกเขาตัดสินใจหนีออกจากประเทศภายใต้สภาพแวดล้อมที่ลำบากแสนสาหัส ในปี 2015 ผู้เขียนสัมภาษณ์ชาวออสเตรเลียเชื้อสายลาวในชานเมืองซิดนีย์ที่อพยพออกจากลาวหลังปี 1975 ประมาณกันว่ามีคนลาวราว 400,000 คนลี้ภัยออกมา (ส่วนใหญ่) ไปอยู่ในประเทศฝรั่งเศส แคนาดา สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียระหว่าง ค.ศ. 1975 จนถึงปลายทศวรรษ 1980 การอพยพครั้งใหญ่ของพลเมืองลาวเป็นเรื่องราวที่ไม่ค่อยแพร่หลายมากนักต่างจากชาวเวียดนามกับกัมพูชา เหตุผลคงเป็นเพราะการลี้ภัยของคนลาวเทียบไม่ได้กับคนเวียดนามในแง่ของจำนวน (ชาวเวียดนามประมาณ 1.75 ล้านคนหนีออกจากประเทศระหว่าง ค.ศ. 1975 จนถึงกลางทศวรรษ 1990) 4 และไม่มีความทุกข์ยากทารุณโหดร้ายเหมือนผู้รอดชีวิตชาวกัมพูชา

เมื่อบรรยายถึงเหตุผลที่ผู้ลี้ภัยชาวลาวหนีออกนอกประเทศ รายงานต่างๆ มักใช้คำอธิบายมาตรฐานซ้ำๆ กันว่า “ชาวลาวบางคนหนีออกมาเนื่องจากกลัวว่าจะถูกจองจำอยู่ในค่ายปรับทัศนคติ บ้างหนีมาเพราะการสูญเสียเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและศาสนา” (UNHCR 2000: 99) ถึงแม้ปัจจัยและสภาพแวดล้อมเหล่านี้มีความถูกต้องในภาพรวมก็จริง แต่คำอธิบายแบบนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้ประวัติและประสบการณ์ของการลี้ภัยเหมือนกันไปหมด ราวกับผู้ลี้ภัยคือกลุ่มคนแบบเดียวกันที่มีแรงผลักดันจากความจำเป็นอย่างเดียวกันโดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศภาวะหรือชาติพันธุ์ ในการสัมภาษณ์ของผู้เขียน ผู้เขียนเลือกชาวออสเตรเลียเชื้อสายลาวที่เกิดระหว่างต้นทศวรรษ 1960 จนถึงปลายทศวรรษ 1970 เนื่องจากผู้เขียนต้องการสำรวจดูกลุ่มคนที่มีชีวิตผ่านเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ กล่าวคือ การล่มสลายของระบอบทางการเมือง การขึ้นสู่อำนาจของการปกครองระบอบสังคมนิยมและการอพยพลี้ภัยของมวลชนจำนวนมาก โดยที่ประสบการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงตอนของชีวิตที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือ ช่วงระหว่างวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่ ผู้ลี้ภัยชาวลาวอายุน้อยเป็นกลุ่มคนสำคัญ แต่มักถูกมองข้าม ประมาณ 40% ของประชาชนที่หนีออกจากลาวหลังปี 1975 และย้ายไปสู่ประเทศโลกที่สามผ่านค่ายผู้อพยพในประเทศไทยระหว่างปี 1975-1987 มีอายุระหว่าง 13-29 ปี (Chantavanich and Reynolds 1988: 25)

ความทรงจำของช่วงเวลาภายหลังชัยชนะของคอมมิวนิสต์เป็นภาพความหดหู่ของสภาพการดำรงชีวิตในลาว ทันทีที่สถาปนาระบอบสังคมนิยม ระบอบใหม่ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด มันต้องเผชิญหน้ากับภารกิจหนักอึ้งในการฟื้นฟูประเทศที่ย่อยยับจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐอเมริกา หลังปี 1975 ประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ถอนการสนับสนุนหรือลดความช่วยเหลือลงฮวบฮาบ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยก็คว่ำบาตรการค้าซึ่งบีบรัดเศรษฐกิจของลาวให้ย่ำแย่ลงไปอีก ยิ่งกว่านั้น ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นติดต่อกัน (ภัยแล้งในปี 1976 อุทกภัยในปี 1977 และ 1978) ทำลายผลผลิตทางการเกษตรอย่างยับเยินน่าใจหาย ชีวิตประจำวันถูกบีบคั้นยิ่งกว่าเดิม มีการจำกัดควบคุมการเดินทางภายในประเทศและการตรวจตราสอดส่องวันต่อวันยิ่งเข้มงวดมากขึ้น ตอนนั้นสมจิตกับวิไลวัณกำลังอยู่ในช่วงปลายวัยรุ่น ทั้งสองอาศัยอยู่ในเวียงจันทน์ สมจิตออกจากโรงเรียนมาแล้วสองสามปีก่อนหน้าและทำงานเป็นคนขับรถ ส่วนวิไลวัณเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี สมจิตโตขึ้นมาในหมู่บ้านใกล้เมืองหลวงเวียงจันทน์ เขาอายุ 19 ปีในปี 1975 เพิ่งแต่งงานและพาเมียมาอาศัยอยู่ในบ้านที่นายจ้างจัดหาให้แถวชานเมืองเวียงจันทน์ ขณะย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มที่ สมจิตเห็นโลกรอบตัวพังทลายลง เขาจำได้ว่า “อะไรๆ ก็วุ่น” และ “วุ่นวาย” ในช่วงเวลาเดียวกัน ภรรยาของเขาคลอดลูกสองคนที่เสียชีวิตตั้งแต่เกิด “บ่มีซีวิดลอด” ชีวิตของเขาถึงทางตัน เขาหนีออกจากประเทศในปี 1978 ว่ายน้ำข้ามแม่โขงมาที่ประเทศไทย ภรรยาของเขาเลือกอยู่กับพ่อแม่ของเธอ วิไลวัณซึ่งเติบโตในหมู่บ้านในจังหวัดจำปาศักดิ์ที่อยู่ทางตอนใต้ กำลังเรียนวิชากฎหมายปีสองที่เวียงจันทน์ในปี 1974 เธอใช้คำคำเดียวกับสมจิตว่า “สถานการณ์มันวุ่นวาย” เธอเรียนไม่จบและเปลี่ยนไปเรียนแพทย์ในปี 1975 เธอไม่ได้ย้ายออกจากประเทศจนกระทั่งปี 1990

The Mekong River border between Thailand and Laos

คำบอกเล่าของสมจิตกับวิไลวัณสื่อความหมายเดียวกันถึงความหวั่นวิตกท่วมท้นที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำในช่วงเวลาที่ทั้งสองบรรยายว่า “วุ่นวาย” และ “ไม่แน่นอน” เรื่องเล่าของทั้งสองได้รับอิทธิพลจากชั่วขณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงด้วยประสบการณ์ส่วนบุคคลกับประสบการณ์ของผู้คนรอบตัว กล่าวคือ ครอบครัวและเพื่อนฝูง สมจิตและวิไลวัณเป็นคนร่วมรุ่นเดียวกันโดยนิยามจากการมีประสบการณ์ส่วนตัวร่วมกันต่อเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ นี่คือสิ่งที่คาร์ล มันน์ไฮม์ (Karl Mannheim) เรียกว่า “generation as actuality” ซึ่งหมายถึงลักษณะที่ประสบการณ์ส่วนรวมที่มีต่อ “ปัญหาทางประวัติศาสตร์” ในบางช่วงตอนของประวัติชีวิตมีความเชื่อมโยงกันจากการตีความและภาพสะท้อนของตัวเอง (Mannheim 1952: 303) คำนิยามของโธมัส เบอร์เจสส์ (Thomas Burgess) เกี่ยวกับวัยหนุ่มสาวในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็มีประโยชน์เช่นกัน แนวคิดของเขาเน้นความสำคัญของภาวะแตกหักจากสังคม “ดั้งเดิม” ที่เคยมั่นคง ตามถ้อยคำของเขา “เมื่อความไม่ต่อเนื่องมีความชัดเจนเด็ดขาดมากขึ้น (….) วัยหนุ่มสาวก็มิได้เป็นแค่ช่วงหนึ่งในวงจรชีวิต แต่กลายเป็นคนร่วมรุ่นทางประวัติศาสตร์” ซึ่งนิยามด้วย “สภาพแวดล้อมและเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์เฉพาะที่ทำให้คนรุ่นเขาแตกต่างจากคนรุ่นอื่นทั้งก่อนหน้าหรือหลังจากนั้น และสิ่งนี้เอื้อให้เกิดการต่อรอง การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและนวัตกรรมในระดับที่สูงกว่าคนรุ่นอื่น” (Burgess 2005: x) กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนหนุ่มสาวในช่วงเวลาของความโกลาหลอลหม่าน (เช่น สงคราม หายนะภัยทางธรรมชาติ หรือวิกฤตการณ์ทางสังคม) จัดเป็นกลุ่มอีกประเภทที่มีลักษณะแยกต่างหากออกไป ในฐานะคนหนุ่มสาวที่มีชีวิตผ่านกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองอย่างพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน สมจิตกับวิไลวัณแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวในลักษณะที่แตกต่างกัน

เมื่อย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ชีวิตของสมจิตแตกสลายด้วยเหตุโศกเศร้าส่วนตัวและติดกับอยู่ในสภาพแวดล้อมทางสังคม-เศรษฐกิจและการเมืองที่เลวร้าย การขาดช่องทางที่จะมีชีวิตที่มีคุณค่าคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจหนีออกจากประเทศ   สภาพแวดล้อมของสมจิตบีบให้เขาต้องละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อเขาว่ายข้ามแม่น้ำโขง เขา “เอาแต่ตัวไป” เรื่องที่น่าทึ่งก็คือ เขาว่ายน้ำกลับมาในอีกไม่กี่วันให้หลังด้วยความหวังว่าจะเกลี้ยกล่อมให้ภรรยาหนีออกไปด้วยกัน เธอปฏิเสธอีกครั้ง ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ภาคอีสานของประเทศไทย เขาแต่งงานกับผู้หญิงลาวคนหนึ่งด้วยเหตุผลในเชิงปฏิบัติ สามีของผู้หญิงคนนั้นยังอยู่ในลาว อีกหนึ่งปีต่อมา ทั้งสองย้ายมาตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียในฐานะคู่สมรส สมจิตใช้การหนีออกนอกประเทศของเขาเป็นโอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่ ในทางตรงกันข้าม วิไลวัณไม่ได้ออกจากประเทศในปลายทศวรรษ 1970 ถึงแม้เธอสามารถออกไปพร้อมกับเพื่อนสนิทและเพื่อนนักศึกษาที่ส่วนใหญ่หนีออกไปได้ ในฐานะลูกสาวและลูกคนโต เธอรู้สึกว่าต้องกตัญญูต่อพ่อแม่และต้องดูแลน้องคนอื่นๆ ซึ่งยังอยู่ในประเทศหลังปี 1975 “พ่อแม่มีความหวัง” กับเธอ การอยู่ต่อคือวิถีทางของวิไลวัณในการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อครอบครัวที่เธอ “มีความผูกพันมาก” Roy Huijsmans (et al) ตั้งข้อสังเกตว่า “วัยหนุ่มสาวในฐานะช่วงชีวิตหนึ่งและคนหนุ่มสาวในฐานะคนรุ่นหนึ่งมักยึดโยงกับ ‘การเปลี่ยนแปลง’ (…) กระนั้นก็ตาม มันสำคัญเท่าๆ กันที่ต้องเข้าใจความต่อเนื่องของสังคม” (Huijsmans 2004: 6) วิไลวัณเรียนจบปริญญาด้านการแพทย์ในปี 1980 และทำงานที่โรงพยาบาลในเวียงจันทน์อีกหลายปี

สมจิตกับวิไลวัณต่อรองกับสภาพแวดล้อมภายหลัง ‘1975’ แตกต่างกันไป พูดง่ายๆ คือ เขาออกไปและเธอยังอยู่ การอพยพออกไป ถึงแม้จำใจก็ตาม ช่วยให้สมจิตก้าวพ้นภาวะขมขื่นของชายหนุ่มที่ไม่สามารถเติมเต็มความคาดหวังที่ยึดโยงกับบทบาทของสามีและพ่อในลาว สตีเฟน ลับคีมันน์ (Stephen Lubkemann) ให้เหตุผลว่า “การพลัดถิ่นฐานมักก่อให้เกิดส่วนผสมที่คลุมเครือของการสูญเสียกับการเพิ่มอำนาจในหลายๆ แง่ (เศรษฐกิจ สังคม การเมือง)” (Lubkemann 2008: 467) กระนั้นก็ตาม เราควรตระหนักด้วยว่าทางเลือกที่จะไม่อพยพออกไปก็เป็นการตัดสินใจที่ควรได้รับความสนใจและการวิเคราะห์เท่าเทียมกัน วิไลวัณเชื่อว่าการไม่เคลื่อนย้ายคือวิถีทางของเธอในการปฏิบัติหน้าที่ต่อพ่อแม่และน้องๆ ดังนั้นเธอจึงเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวในกระบวนการนี้ ในภายหลัง เธอทุกข์ทรมานใจจาก “ความแก่ทางสังคมก่อนวัยอันควร” (“premature social ageing”) (Hage 2003: 18) “ซีวิดบ่ไปบ่มา” (ชีวิตไม่ไปไหน) ในช่วงทศวรรษ 1980 เธอทนไม่ไหวอีกแล้วที่ต้องเผชิญกับความตายทางสังคมช้าๆ ในเมืองหลวงที่ง่อยเปลี้ยด้วยความขาดแคลนและกฎข้อบังคับ สำหรับปัจเจกบุคคลที่จะดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีชีวิตชีวา พวกเขาต้องสามารถจินตนาการถึงอนาคตที่มีความหมายสำหรับตัวเอง—ไม่ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันจะทุกข์ยากเพียงไรก็ตาม ในท้ายที่สุด วิไลวัณตัดสินใจออกจากประเทศในปี 1990 ด้วยการแต่งงานกับคนลาวในต่างประเทศ ซึ่งครอบครัวของเขารู้จักมักคุ้นกับครอบครัวของเธอ พ่อแม่ของเธอยินยอมตามการตัดสินใจนี้ เพราะลูกสาวอายุ 35 ปีแล้วและยังโสด ร่างกายก็แก่ลงและใกล้จะขึ้นคานในสังคมอนุรักษ์นิยม ในสายตาของพ่อแม่ การแต่งงานครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสสุดท้ายของเธอในการมีครอบครัวของตัวเอง

ความทรงจำของสมจิตกับวิไลวัณในอีกสี่สิบปีให้หลังยังเผยให้เห็นความรู้สึกถึงความสูญเสีย ความสับสนและความวิตกกังวลเมื่อย้อนเล่าถึงช่วงเวลาที่โลกที่พวกเขาคุ้นเคยต้องสูญสลายไปตลอดกาล ในแง่นี้ พวกเขาเป็นเหยื่อของประวัติศาสตร์ แต่มันไม่ได้ลดทอนความเป็นผู้กระทำทางสังคมและผู้ตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตลงแต่อย่างใด ในช่วงปลายของวัยหนุ่มสาว ทั้งสองตัดสินใจเลือกตรงข้ามกันอย่างน่าตกใจ ทางเลือกทั้งสองทางนี้ต่างก็เป็นการท้าทายอันยิ่งใหญ่ต่อการเติบโตในช่วงเวลาของความวุ่นวายและความไม่แน่นอน

Vatthana Pholsena
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะอุษาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

Issue 20, Kyoto Review of Southeast Asia, September 2016

The two photographs below belong to Mr Voradeth Siackhasone, who kindly gave me permission to reproduce them in my article. They were originally published to illustrate his personal story as part of the online migration research project, entitled “Moving: migration memories in modern Australia”, hosted by the Migration Heritage Centre (see: http://www.migrationheritage.nsw.gov.au/moving/moving-stories/voradeth-siackhasone/index.html).

I have selected these two photographs because they embody memories of an apparently seamless life trajectory of a young Lao man before departure and exile. Voradeth’s early life resembles that of Somchit and Vilayvanh. He was born in Phon Hong near Vientiane in 1959 and, like Vilayvanh, moved to the capital to pursue his higher education at the University of Medicine in 1978. He decided to leave the country in late 1979. Like Somchit, he swam across the Mekong to Thailand, stayed in a refugee camp in Nong Khai, and then in early 1980, migrated to Australia.

Figure 1: Voradeth Siackhasone (back row 3rd from left) at high school in 1973 (or 1974), Phon Hong.
Figure 2 Voradeth’s University of Medicine student card, Vientiane, 25 December 1978.

เอกสารอ้างอิง

Burgess, Thomas. 2005. “Introduction to Youth and Citizenship in East Africa”, Africa Today, Vol. 51, No. 3, pp. vii-xxiv.
Chantavanich, Supang, and E. Bruce Reynolds. 1988. Indochinese Refugees: Asylum and Resettlement. Asian Studies Monographs no. 39, Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University.
Espiritu, Yen Le. 2006. “Toward a critical refugee study: the Vietnamese refugee subject in US scholarship”, Journal of Vietnamese Studies, Vol. 1, No. 1-2, p. 410-433.
Hage, Ghassan. 2003. Against Paranoid Nationalism: Searching for Hope in a Shrinking Society. Melbourne: Pluto Press.
Huijsmans, Roy, Shanti George, Roy Gigengack, and Sandra J T M Evers, “Theorising Age and Generation in Development: A Relational Approach”, European Journal of Development Research advance online publication, 30 January 2014, doi:10.1057/ejdr.2013.65.
Landsberg, Alison. 2004. Prosthetic Memory. The Transformation of American Remembrance in the Age of Mass Culture. New York: Columbia University Press.
Lubkemann, Stephen C. 2008. “Involuntary Immobility: On a Theoretical Invisibility in Forced Migration Studies”, Journal of Refugee Studies, Vol. 21, No. 4, pp. 454-475.
Mannheim, Karl. 1952. “The Problem of Generations”. In Essays on the Sociology of Knowledge, ed. Paul Kecskemeti. London: Routledge and Kegan Paul Ltd, pp. 276–320.
UNHCR. 2000. The State of the World’s Refugees 2000: Fifty Years of Humanitarian Action – Chapter 4: Flight from Indochina. UNHCR, pp. 79-105.

Notes:

  1. ยกตัวอย่างเช่น: Raquel Carvalho, “How Europe can learn from the hard lessons of Hong Kong’s Vietnamese refugee crisis”, South China Morning Post, 14 September 2015; Lizzie Dearden, “Refugee crisis: Son of Vietnamese ‘boat people’ shares story of how Britain treated asylum seekers in the 1980s”, The Independent, 9 September 2015.
  2. หากจะระบุให้เจาะจงกว่านั้น “ผู้อพยพทางเรือ” หรือ “boat people” หมายถึงผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามประมาณ 400,000 คนที่หนีออกนอกประเทศระลอกที่สองระหว่าง ค.ศ. 1978 จนถึง 1981 โดยอาศัยเรือที่ต่อขึ้นลวกๆ และบรรทุกจำนวนคนมากเกินไป “ผู้อพยพทางเรือ” เหล่านี้ประกอบด้วยคนเชื้อสายจีนถึง 70%
  3. http://www.sbs.com.au/theboat/
  4. ถึงแม้ว่าโดยสัดส่วนแล้ว จำนวนของผู้ลี้ภัยชาวลาวจะมีความสำคัญมากกว่า เพราะคิดเป็นสัดส่วนถึง 10% ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่กรณีของเวียดนามนั้นคิดเป็น 3% เท่านั้น
Exit mobile version