Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

สถานที่ขลังในฐานะความทรงจำที่จับต้องได้ในกัมพูชา

เมื่อความเรียงเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับความทรงจำอันโด่งดังของมอริซ อัลบ์วาคส์ (Maurice Halbwachs) นักมานุษยวิทยา ได้รับการตีพิมพ์ออกมานั้น (1925) พอล คอนเนอร์ตัน (Paul Connerton) แสดงความคิดเห็นต่อผลงานชิ้นนี้โดยยืนยันว่า การพูดถึง “ความทรงจำรวมหมู่” (collective memory) ต่อแต่นี้ไปต้องตระหนักว่าคำคำนี้มีความหมายถึง “ข้อเท็จจริงพื้นฐานง่ายๆ เกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างปัจเจกบุคคล” (Connerton 2010: 38) ผู้เขียนดำเนินรอยตามบทเรียนขั้นพื้นฐานของอัลบ์วาคส์โดยถือว่า ความทรงจำรวมหมู่ในที่นี้หมายถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตที่กลุ่มทางสังคมหนึ่งๆ ผลิตขึ้นมา และได้รับการจินตนาการซ้ำและเล่าซ้ำโดยเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในปัจจุบันเสมอ ในบทความนี้ ผู้เขียนใช้ข้อมูลภาคสนามที่วิจัยมานานกว่าเก้าปีในจังหวัดโพธิสัตว์ (Pursat) ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศกัมพูชา เพื่อนำมาบรรยายถึงสถานการณ์ที่การสื่อสารของปัจเจกบุคคลได้สร้างและถ่ายทอดความทรงจำรวมหมู่ผ่านสื่อกลางที่เป็นสถานที่ ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า ความทรงจำรวมหมู่ของชาวเขมรในกัมพูชามีความเชื่อมโยงกับการประจักษ์และการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินอย่างแยกกันไม่ขาด ความเชื่อมโยงนี้สะท้อนถึงความสำคัญอย่างยิ่งของแผ่นดินในหลายแง่มุมของชีวิตทางสังคม นอกจากนี้ ความทรงจำรวมหมู่ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะของชาติเสมอไป แต่มีลักษณะแบบภูมิภาคก็ได้

แผ่นดินในฐานะองค์ประกอบสำคัญของระบบศาสนา

ในกัมพูชา ซึ่งประชากร 80% ยังอาศัยอยู่ในชนบท แผ่นดินคือศูนย์กลางของการดำรงชีพ มันเป็นศูนย์กลางของระบบศาสนาของชาวบ้านด้วย ผืนดินเป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบศาสนาของชาวเขมร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งระหว่างพระภูมิเจ้าที่ (anak tā) กับสถานที่อยู่อาศัยของพวกเขา (Ang 2000) รวมทั้งการที่วัฒนธรรมทางสายตา (visual culture) มักพาดพิงถึงเทวีคุ้มครองผืนดินหรือพระธรณี (Braḥ Dharaṇī) (Guthrie 2004) ความเชื่อดังกล่าวมีรากเหง้าอยู่ในแนวคิดทางศาสนาโบราณที่มีอยู่ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ “การยกย่องพลังงานของแผ่นดินขึ้นเป็นเทพเจ้า” (Mus 1933: 374) ซึ่งดินกับผีแผ่นดิน หรือหลังการเข้ามาของศาสนาฮินดูก็รวมถึงเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ทั้งหมดนี้หลอมรวมกันเป็นองค์ภาวะที่มีลักษณะเฉพาะ การที่แผ่นดินมีอิทธิฤทธิ์ในการหลอมรวมพลังงานของมันกับเทพเป็นสิ่งที่มีมาในกัมพูชาตั้งแต่ลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับ kamrate jagat ta rājya ในสมัยเมืองพระนคร ซึ่งในภาษาสันสกฤตก็คือลัทธิเทวราชา (deva raja) นั่นเอง ถึงแม้การตีความแบบคลาสสิกเชื่อว่ามันเป็นการเฉลิมฉลองการรวมกันเป็นหนึ่งของกษัตริย์กับพระศิวะ (รวมทั้งเทพเจ้าองค์อื่นๆ Coedes 1961) แต่นักวิชาการบางคน (เช่น Jacques 1985) กลับเห็นว่านี่เป็นเทพที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่างแบบเดียวกับพระภูมิเจ้าที่และผีผู้คุ้มครองกษัตริย์ (Estève 2009)

ในกัมพูชา เช่นเดียวกับในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Allerton 2013) ความเชื่อเช่นนี้ทำให้สถานที่บางแห่งมีอำนาจในการดลบันดาล ในกัมพูชา อำนาจดลบันดาลนี้มักสำแดงออกมาผ่านรูปเคารพของ mcās’ dk mcās’ ṭī หรือ “เจ้าแห่งน้ำและแผ่นดิน” ซึ่งมีหน้าที่หลักคือคุ้มครองสมบัติของตนจากผู้มาเยือนที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมหรือจากผู้ใช้แผ่นดินที่โลภมาก ตัดต้นไม้หรือเก็บผลไม้โดยไม่ขออนุญาตก่อน

ข้อสรุปข้างต้นนำเสนอหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับภววิทยาของแผ่นดินในกัมพูชา ซึ่งนักมานุษยวิทยาชั้นนำอย่างพอล มุส (Paul Mus) และ Ang Choulean เคยอธิบายไว้อย่างพิสดาร งานวิจัยภาคสนามของผู้เขียนเองทำให้ผู้เขียนเกิดความเข้าใจว่า ในกัมพูชานั้น โลกกับเวลามิได้ถือเป็นภววิทยาที่แยกต่างหากจากกัน แต่ร้อยรัดกันอยู่ในประเภทเดียวกัน ทัศนะเช่นนี้เกิดขึ้นจากการที่คนเขมรมีแนวคิด 1เกี่ยวกับพลังงานที่เรียกว่า บารมี (paramī) ดินแดนของกัมพูชา (ไม่ว่าในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น) กอปรขึ้นจากเครือข่ายของสถานที่ที่นับถือกันว่าขลังหรือ “เต็มไปด้วยบารมี” สถานที่ดังกล่าวมีตั้งแต่วัดเก่าบางวัด ต้นไม้เก่าแก่บางต้นที่มีรูปทรงแปลกประหลาด หรือภูดอยในป่าที่มีรูปปั้นแตกหักตั้งอยู่ ไม่ว่ารูปแบบไหน สถานที่ขลังส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือราชวงศ์ เช่นเดียวกับในกรณีของติมอร์เลสเตที่บรรยายไว้ในหนังสือของ Judith Bovensiepen (2009) พอจะกล่าวได้เช่นกันว่าแผ่นดินในกัมพูชา “ซึมซับ” เหตุการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในสถานที่นั้นๆ

ลักษณะเฉพาะของแผ่นดินดังที่บรรยายข้างต้นเอื้อให้สถานที่ขลังทำหน้าที่เป็นแหล่งที่ตั้งของความทรงจำสำหรับจดจำและเอ่ยถึง (บางครั้งในลักษณะของการแสดงเหตุผล แต่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับพิธีเซ่นสรวงบูชามากกว่า) ด้วยลักษณะนี้เองที่มันมีปฏิสัมพันธ์กับชีวิตทางสังคมและชีวิตปัจเจกบุคคลในยุคปัจจุบัน กรณีศึกษาที่จะนำเสนอในบทความนี้เกี่ยวข้องกับพื้นที่แห่งหนึ่งที่ได้รับการคุ้มครองจากพระภูมิเจ้าที่ (anak tā) ตนสำคัญที่มีชื่อว่า หลวงปู่ Khleang Muang (ghlāṃ mīoe) ซึ่งมีศาลบูชาใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองโพธิสัตว์

สถานที่ขลังวาดแผนที่ประวัติศาสตร์ลงบนผืนดินอย่างไร

เรื่องราวของ Khleang Muang ถ่ายทอดต่อๆ มาด้วยตำนานท้องถิ่น ชื่อสถานที่ทางภูมิศาสตร์และพงศาวดารราชสำนักฉบับศตวรรษที่ 18 ตำนานเริ่มต้นในสมัยที่แรงกดดันจากกองทัพสยามทำให้กษัตริย์เขมรละทิ้งเมืองพระนครและย้ายมาตั้งเมืองหลวงใหม่ทางตอนใต้ของโตนเลสาบ Khleang Muang มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 16 เขาเป็นขุนพลที่จงรักภักดีต่อกษัตริย์เขมรในสมัยพระบรมราชาที่สองหรือพญาจันทน์ (Ang Chan [Aṅg Cand]) และนำทัพต่อสู้กับกองทัพสยาม เมื่อกองทัพของกษัตริย์เขมรพ่ายแพ้ต่อชาวสยาม Khleang Muang ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อเดินทางลงไปยังโลกันตร์เพื่อเกณฑ์กองทัพผีมารบ ผีทหารของเขาสามารถเอาชนะกองทัพสยามได้ ซึ่งตามประวัติศาสตร์ฉบับที่รู้จักกันทั่วไปนั้น มีการระบาดของอหิวาตกโรคในหมู่ชาวสยาม หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชในปี 1953 และตลอดช่วงที่อยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคสังคมราษฎร์นิยมของนโรดมสีหนุ Khleang Muang ได้รับการเคารพบูชาทั่วทั้งประเทศในฐานะวีรบุรุษผู้รักชาติ ทุกวันนี้ เขาก็ยังเป็นผีพิทักษ์แผ่นดินที่มีอิทธิฤทธิ์ในระดับหมู่บ้าน

ชาวบ้านที่อยู่อาศัยภายในรัศมี 100 ตารางกิโลเมตรรอบศาลบูชาใหญ่ของ Khleang Muang มีความรับรู้ว่าตนอาศัยอยู่บนแผนที่ขนาดใหญ่ ซึ่งจุดสำคัญต่างๆ กำหนดด้วยเหตุการณ์สำคัญตามวีรกรรมของ Khleang Muang สถานที่เหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับการกล่าวขานว่าเต็มไปด้วยพลังงานบารมี ตำนานที่เล่าเรื่องราวของเขาจึงได้รับการกำหนดเป็นแผนที่จริงๆ บนผืนดินในบางสถานที่ที่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน (ทั้งจากอำนาจในการดลบันดาลและความขลัง) สถานที่เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นทั้งตัวกระตุ้นเชิงวัตถุเพื่อจดจำช่วงเวลาของ Khleang Muang (ตามที่ชาวบ้านรับรู้) เป็นสถานที่สำหรับสร้างและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน และเป็นประจักษ์พยานต่อชีวิตส่วนบุคคล

โรงเรียนประจำหมู่บ้านได้รับการตั้งชื่อตาม Khleang Muang และนับตั้งแต่ชั้นประถมเป็นต้นมา ชาวบ้านทุกคนต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของแต่ละสถานที่ไม่มากก็น้อย แม้แต่เรื่องเล่าย่นย่อที่สุด ชาวบ้านแต่ละคนก็ยังเล่าต่างกันเล็กน้อย ชาวบ้านบางคนสามารถเล่าเรื่องยาวๆ ได้โดยประสมโน่นนิดนี่หน่อยจากงานเขียนต่างๆ และเติมรสชาติด้วยการตีความประจำตระกูลหรือส่วนบุคคล ถ้าเราเดินตามถนนลูกรังผ่านศาลบูชาของ Khleang Muang ตรงไปที่ทิวเขากระวานที่มีป่าปกคลุม เราจะเจอแท่นบูชาชื่อ Braḥ jī อยู่ห่างจากศาลบูชาประมาณ 400 เมตร ชาวบ้านบางคนมองว่าสถานที่ที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา 2แห่งนี้เป็นศาลที่ผีองครักษ์ประจำตัว Khleang Muang (grū) สิงสถิต เลยไปตามถนนเส้นเดิมอีกหนึ่งกิโลเมตรเป็นที่ตั้งของ “วัดแห่งต้นโพธิ์ที่เปี่ยมบุญญา” (vatt bodh(i) mān puya) ในลานวัดอันเงียบสงบและกว้างใหญ่นี้เป็นที่ตั้งของปราสาท (prāsād) ศิลาแลง พงศาวดารราชสำนักที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 18 ยืนยันว่า อัฐิของ Ponhea Ong ลูกพี่ลูกน้องของพญาจันทน์ ถูกเก็บรักษาไว้ที่นี่ก่อนที่สถานที่นี้จะถูกเปลี่ยนไปเป็นวัด ห่างออกไปอีกสี่กิโลเมตร ตรงจุดที่ถนนดินแดงมาบรรจบกับแม่น้ำโพธิสัตว์ วัดของกษัตริย์ (วัดหลวง) เป็นที่ตั้งของสถูปที่เชื่อกันว่าบรรจุอัฐิของโอรสของพญาจันทน์ สัญญะอื่นๆ ที่เปิดเผยความเชื่อมโยงกับ Khleang Muang ก็คือการแต่งตั้ง Mr Ren เป็นทั้งอาจารย์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมฝ่ายฆราวาส) และเป็นผู้ประกอบพิธีประจำศาลบูชาของ Khleang Muang ซึ่งตามประเพณีเป็นภารกิจที่สืบทอดทางสายเลือด 3

“Meal taken by villagers during the ritual of asking for rain at the Braḥ jī altar, Pursat” (Photo: Anne Guillou, 2015)

จากศาลบูชา Khleang Muang ขึ้นไปทางเหนือประมาณสิบกิโลเมตร ตรงไปทางทิวเขากระวานที่เป็นป่า วัดบากัน (Pakān) เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีปราสาทโบราณสร้างจากศิลาแลงและนับถือกันว่ามีความขลังมาก เล่ากันว่าหลังจากมาที่จังหวัดโพธิสัตว์เพื่อทำสงครามกับสยาม พญาจันทน์ก็เดินทางต่อลงไปทางใต้ ก่อนสร้างเมืองหลวงที่กรุงละแวก (ทางใต้ของโตนเลสาบ) พญาจันทน์ได้ปลูกเมล็ดต้นโพธิ์ไว้ในเมืองอุดง (Udong) จากนั้นก็ทิ้งต้นอ่อนไว้เมื่อออกเดินทางไปที่อยู่ใหม่ ต้นอ่อนนั้นตรอมใจจากการคิดถึงบ้านเกิดอย่างยิ่ง จึงลอยทวนน้ำกลับขึ้นไปที่จังหวัดโพธิสัตว์ ขึ้นมาเกยตื้นในวัดของเมืองบากัน ทุกวันนี้ มีต้นไทรขนาดมหึมางอกขึ้นบนปราสาทโบราณของวัดบากัน

สถานที่เหล่านี้มิใช่ส่วนหนึ่งของอดีตที่ตายแล้ว ตรงกันข้าม มันกอปรขึ้นเป็นโครงข่ายสถานที่ที่ชาวบ้านมีปฏิสัมพันธ์กัน ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กันเช่นนั้น ความทรงจำถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าและเหตุการณ์ต่างๆ ช่วยเชื่อมโยงชาวบ้านกับสถานที่เข้าด้วยกัน พร้อมๆ กับสร้างเครือข่ายความทรงจำใหม่ๆ ขึ้นมา

สถานที่ขลังในฐานะประจักษ์พยานเชิงโต้ตอบของสังคมปัจจุบันกับชีวิตปัจเจกบุคคล

จุดศูนย์กลางของภูมิศาสตร์ที่จินตนาการขึ้นกับภูมิศาสตร์ในโลกจริงดังที่บรรยายข้างต้นก็คือศาลบูชาของ Khleang Muang ชาวบ้านมักมากราบไหว้ที่ศาลเพื่อขอให้วิญญาณของเขาช่วยอนุเคราะห์เรื่องต่างๆ ในชีวิตส่วนตัว เรื่องทั่วๆ ไปที่มักมาบนบานศาลกล่าวมีอาทิ การเริ่มทำธุรกิจใหม่ ผลการสอบของลูกหลานและปัญหาสุขภาพ มีการกราบไหว้บนบานคล้ายๆ กันที่ต้นไทรใหญ่ศักดิ์สิทธิ์ในวัดบากันด้วย แต่เป็นการบนบานต่อเจ้าแห่งน้ำและแผ่นดิน

ในขณะที่การบนบานต่อผีเจ้าเหล่านี้มีความผูกพันกับสถานที่อย่างเหนียวแน่น แต่การมาเยี่ยมเยียนของ Khleang Muang เองกลับมิได้มีข้อจำกัดเช่นนั้น เขาสามารถเข้ามาแทรกแซงในชีวิตของชาวบ้านได้ด้วยการเข้าฝันและการปรากฏให้เห็น ในหมู่บ้านใกล้ศาล Khleang Muang ที่ผู้เขียนพำนักระหว่างออกวิจัยภาคสนาม การพูดคุยประจำวันกับเพื่อนบ้านมักเกี่ยวข้องกับ Khleang Muang เป็นประจำ หญิงวัยสี่สิบเก้าปีที่ผู้เขียนอยู่อาศัยกับครอบครัวของเธอหลายปีเคยบอกผู้เขียนครั้งหนึ่งว่า ตอนที่เธอกำลังจะมีลูกคนเล็กในปี 1998 Khleang Muang มาเข้าฝันเพื่อบอกว่าเธอจะตั้งท้อง เธอฝันว่ากำลังคุกเข่าอยู่ข้างถนนขณะที่ Khleang Muang เดินทัพผ่านพร้อมทหารและบริวาร จู่ๆ เขาก็หยุดและวางแหวนลงบนมือของเธออันเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ เพื่อนบ้านของเราคนหนึ่ง หญิงวัยห้าสิบสามปี (ในปี 2015) ได้รับคำแนะนำจากหมอดูว่า ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งในหมู่ลูกๆ ที่โตแล้วเป็นเพราะเธอเซ่นไหว้บูชาพระภูมิเจ้าที่ (anak tā) ไม่เพียงพอ พระภูมิเจ้าที่นั้นเพิ่งมาอาศัยในลานบ้านของเธอด้วยร่างทรงของจอมปลวก พระภูมิเจ้าที่ตนนี้เป็นนายทหารคนหนึ่งของ Khleang Muang ความบาดหมางระหว่างลูกๆ คลี่คลายลงหลังจากสมาชิกในครอบครัวเซ่นไหว้พระภูมิเจ้าที่อย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ

“Potent objects left on the potent tower ruins of the Merit-filled Bodhi Tree Monastery” (Photo: Anne Guillou, 2008)

นอกเหนือจากการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของปัจเจกบุคคลแล้ว สถานที่ขลังที่กล่าวถึงข้างต้นยังเป็นสถานที่ที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ในยุคปัจจุบัน วันหนึ่ง ผู้เขียนเคยเห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินทางจากเมืองโพธิสัตว์ที่อยู่ห่างไปสิบกิโลเมตรเพื่อมาบนบานขอความยุติธรรมที่แท่นบูชา Brāh jī ซึ่งเป็นศาลของผีองครักษ์ประจำตัว Khleang Muang ที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เธอบนบานต่อพระภูมิเจ้าที่ขอให้ช่วยเธอในข้อพิพาทเรื่องที่ดิน ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นระดับสูงขับไล่เพื่อนบ้านของเธอออกจากที่ดินของเขา

ในประการสุดท้าย โครงข่ายสถานที่นี้ยังช่วยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในความทรงจำร่วมกันเกี่ยวกับหายนะของระบอบพลพต (1975-1979) ด้วยการซ้อนเวลาทางประวัติศาสตร์เป็นชั้นๆ ไว้ในสถานที่ นอกเหนือจากประสบการณ์อันเจ็บปวดส่วนตัวซึ่งคนจำนวนมากไม่อยากเอ่ยถึง บางครั้งแม้แต่กับครอบครัวของตัวเอง แต่ร่องรอยของระบอบเผด็จการนั้นอาจพูดถึงได้บ้างในสถานที่ขลัง คลองที่ขุดขึ้นมาด้วยการเกณฑ์แรงงานชาวบ้านตรงกลางศาลบูชาของ Khleang Muang ซึ่งเป็นการใช้นโยบายตามลัทธิเหมาอิสต์เพื่อทำลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีผลผลิต ยังคงเป็นหัวข้อให้ชาวบ้านได้พูดคุยกันอยู่ หลายคนเชื่อว่าทหารเขมรแดงที่บังอาจตัดต้นไม้ตรงนั้นต้องตายโหงเพราะความขลังของสถานที่ ทุกวันนี้ เมื่อชาวบ้านต้องการเอ่ยถึงความเข้มแข็งที่เกิดจากความยืดหยุ่นของชุมชนหมู่บ้านหลังจากระบอบพลพต ชาวบ้านจะใช้สถานที่ขลังเป็นสำนวนในการพูดถึงแทน และส่วนใหญ่จะมีชาวบ้านอยู่ในสถานที่นั้นๆด้วย

ในสถานที่ขลังที่เป็นตัวตนของความทรงจำ “การสื่อสารระหว่างปัจเจกบุคคล” (Connerton, 2010) สามารถเกื้อหนุนการผลิตความทรงจำสร้างสรรค์ ซึ่งเชื่อมโยงกับปัจจุบันอย่างเหนียวแน่นและสามารถนำมาใช้ตีความและ/หรือสร้างความกระจ่างให้เหตุการณ์ปัจจุบันในระดับส่วนบุคคล ครอบครัวหรือนอกเหนือครอบครัว ผู้เขียนใช้คำว่า “ความทรงจำสร้างสรรค์” (creative memory) เพื่อต่อยอดจากแนวคิดของคอนเนอร์ตันเกี่ยวกับความทรงจำในฐานะผลงานของการสานเสวนา และจากแนวคิดของปิแอร์ นอรา (Pierre Nora) เกี่ยวกับ “milieu de mémoire” ซึ่งทำให้เห็นภาพแจ่มชัดอย่างยิ่ง (Nora 1984)

Anne Yvonne Guillou
นักมานุษยวิทยา, นักวิจัยประจำสถาบัน CNRS ในฝรั่งเศส ได้รับมอบหมายให้ทำวิจัยในหน่วยงาน
IRASEC ที่กรุงเทพฯ

Issue 20, Kyoto Review of Southeast Asia, September 2016

References

Allerton, Catherine (Guest Editor). 2009. Anthropological Forum. Special issue “Spiritual Landscapes of Southeast Asia: Changing Geographies of Religion and Potency”, Vol. 19 No.3.
Ang, 2000. Choulean. People and Earth. Phnom-Penh: Reyum, 2000.
Bovensiepen, Judith. 2009. “Spiritual Landscapes of Life and Death in the Central Highlands of East Timor”, Anthropological Forum Vol. 19 No.3. 323-338.
Connerton, Paul. 2010 (first publ. 1989). How societies remember. Cambridge: Cambridge University Press.
Coedes, George. 1961. « Les expressions vrah kamraten an et kamraten jagat en vieux khmer », The Adyar Library Bulletin Vol. 25 No.1-4. 447-460.
Estève, Julia. 2009. Étude critique des phénomènes de syncrétisme religieux dans le Cambodge angkorien, Phd Thesis in Religious studies, Paris., Ecole Pratique des Hautes Etudes.
Guthrie, Elisabeth. 2004. A Study of the History and Cult of the Buddhist Earth Deity in mainland Southeast Asia, PHd thesis in Religious studies, Christchurch, New Zeland, University of Canterbury.
Halbwachs, Maurice. 1925. Les cadres sociaux de la mémoire. Paris : Alcan.
Jacques, Claude. 1985. « The kamrateṅ jagat in ancient Cambodia ». in Noboru Karashima (ed), Indus Valley to Mekong Delta : Exploration in Epigraphy. Madras : New Era Publications. 269-286.
Mus, Paul. 1933. « Cultes indiens et indigènes au Champa », Bulletin de l’Ecole Française d’Extrême-Orient Vol. XXXIII No.1. 367-410.
Nora, Pierre. 1984. « Entre mémoire et histoire. La problématique des lieux ». in Pierre Nora (dir.), Les lieux de mémoire. I. La République. Paris : Gallimard. XVII-XLII.

Notes:

  1. ถึงแม้นี่เป็นแบบแผนความคิดโดยทั่วไป แต่อิทธิพลทางวัฒนธรรมใหม่ๆ ก็หลั่งไหลเข้าสู่กัมพูชา เมื่อไม่นานนี้เอง ผู้ชายชาวเมืองมีการศึกษาวัย 35 ปีคนหนึ่งบอกต่อผู้เขียนว่าเขาไม่เชื่อเรื่องบารมี
  2. สถานที่แห่งนี้ผ่านการรับอิทธิพลทางศาสนาที่ซับซ้อน ซึ่งไม่สามารถแจกแจงรายละเอียดในที่นี้
  3. ในปัจจุบัน กรมวัฒนธรรมประจำจังหวัดโพธิสัตว์เข้ามาทำหน้าที่นี้แทน
Exit mobile version