Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

ข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการจัดการป่าไม้ในประเทศไทย

        

ชุมชนในท้องถิ่นได้ทำการจัดการและใช้ป่าไม้ในการดำรงชีพของตนมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่รัฐบาลกลางเข้าควบคุมการจัดการป่าไม้แทนชุมชนเป็นต้นมา ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น  และการจัดการป่าไม้ก็ประสบความล้มเหลวเนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน บทความนี้วิเคราะห์ข้อจำกัดต่าง ๆ ในการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการจัดการป่าไม้

นโยบายรัฐระยะยาว (1886-1986) สนับสนุนให้มีการให้สัมปทานการทำป่าไม้และการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวในไร่ขนาดใหญ่เพื่อการส่งออก การจัดการป่าไม้ในลักษณะจากบนลงล่างนี้นำไปสู่ความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทั้งทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศน์ทั่วประเทศ กว่าจะถึงช่วงทศวรรษ 1990 ภาคเหนือก็ได้รับความเสียหายร้ายแรงที่สุดเนื่องจากการทำป่าไม้มากเกินขนาด และการเปลี่ยนพื้นที่ป่าไม้ให้เป็นไร่ยางพารา กาแฟ และผลไม้ขนาดใหญ่ โครงการเหล่านี้ยังทำให้ชนกลุ่มน้อยในท้องที่จำต้องย้ายถิ่นฐานและกลายเป็นผู้อยู่อาศัยที่ “ผิดกฎหมาย” ในพื้นที่อื่น ๆ

ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 1997 ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน แต่ในเชิงปฏิบัติแล้ว เฉพาะหน่วยงานในภาครัฐและเอกชนเท่านั้นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังในการขยายการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ความล้มเหลวนี้มีสาเหตุหลายประการ หน่วยงานในภาครัฐมองว่าการจัดการป่าไม้ในแง่การตรวจตรา นิยมใช้นิติศาสตร์ (กฏและระเบียบที่เคร่งครัด) มากกว่ารัฐศาสตร์ (กุศโลบายอย่างนักการฑูต) ให้สิทธิพิเศษแก่นักธุรกิจผู้มีอิทธิพล และรวบอำนาจการตัดสินใจไว้ที่ศูนย์กลางโดยมีความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นจริงในท้องถิ่นเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐยังมักจะมีทัศนคติในทางลบต่อคนในท้องถิ่นซึ่งอาศัยป่าในชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน โดยคิดว่าการใช้ป่าคือการทำลายป่าและไม่เข้าใจว่าคนในท้องถิ่นจัดการป่าไม้อย่างไร เพื่อให้เกิดมีความเข้าใจในส่วนของรัฐบาลและความเชื่อใจในส่วนของผู้รับผลประโยชน์ เจ้าหน้าที่ควรเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมของชุมชนและร่วมกับคนในชุมชนทบทวนนโยบาย โครงการ และสัญญาต่าง ๆ

นอกจากนี้ ผู้จัดการป่าไม้ยังปฏิบัติงานได้อย่างจำกัดเนื่องจากได้รับการฝึกอบรมที่ไม่ได้มาตรฐานเกี่ยวกับแนวคิด ยุทธวิธี และวิธีการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าไม้ ต้องมีการสนับสนุนการเรียนรู้ในการมีส่วนร่วมซึ่งเอื้อให้เจ้าหน้ารัฐและคนในท้องถิ่นทำงานร่วมกัน ในท้ายที่สุดมีแรงจูงใจ 2 – 3 ประการที่ทำให้คนในท้องถิ่นเข้าร่วมในการจัดการป่าไม้ และเมื่อคนในท้องถิ่นเข้าร่วมในการจัดการป่าไม้ พวกเขาไม่ได้รับผลประโยชน์ที่เหมาะสม อันที่จริง แม้แต่ในร่างพระราชบัญญัติซึ่งวุฒิสภากำลังพิจารณาอยู่  คนจนในชนบทยังถูกมองว่าเป็นศัตรูของป่าไม้

วนศาสตร์ชุมชนไม่ใช่แค่การจัดการป่าไม้แต่เป็นวิธีนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่กว้างขวางขึ้นและการให้อำนาจแก่ท้องถิ่น  สร้างรายได้และทำให้ท้องถิ่นมีความสามารถมากขึ้นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลโดยการสร้างความตระหนักและเอื้อให้เกิดทัศนคติ ความรู้และทักษะที่ถูกต้อง ในท้ายที่สุดวนศาสตร์ชุมชนจะช่วยสร้างความสมดุลย์ในกระบวนการตัดสินใจโดยรัฐบาลกลางและชุมชนในท้องถิ่น

Pearmsak Makarabhirom

Read the full unabridged version of the article (in English) HERE

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 2 (October 2002). Disaster and Rehabilitation

Exit mobile version