มุมมองบนหลัก “ความไม่มั่นคง 3 ประการ” ของพม่าที่กำลังเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงในพม่ามากกว่า 3 ปีที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ชวนให้มึนงงอย่างแท้จริง การดูคร่าวๆ ไปยังจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้สามารถโน้มน้าวผู้ที่ข้องใจเกี่ยวกับความจริงของการเปลี่ยนผ่านประเทศ อย่างไรก็ตาม คำถามก็คือ การเปลี่ยนผ่านจะไปยังที่ใด และเราจะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ดีที่สุดได้อย่างไร
หลังจากการเยือนพม่า โทมัส คาโรเธอร์ส และลาร์รี่ ไดมอนด์ (Thomas Carothers and Larry Diamond) สองนักวิชาการชั้นนำด้านการศึกษาประชาธิปไตยของโลก ได้ข้อสรุปที่คล้ายคลึงกันคือ เป้าหมายของเนปิดอว์ (Naypyidaw) คำนิยามและวิธีการทำงานของ “ประชาธิปไตย” ยังคงขัดแย้งกับเนื้อแท้ของรัฐบาลที่ตั้งผู้บบระบบตัวแทนประชาชน
คาโรเธอร์ส
เปรียบเทียบการปฏิรูปของพม่ากับการปฏิรูปแบบบนลงล่างของผู้นำอาหรับในช่วงทศวรรษก่อนจะถึงความรุนแรงของ Arab Springs (คลื่นการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับ ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ.2010 มีทั้งการเดินขบวน การประท้วงและสงคราม) โดยได้กล่าวว่า “มาตรการของรัฐบาลอาหรับไม่ใช่การปฏิรูปที่ทำให้เกิดประชาธิปไตย แต่เป็นมาตรการความพยายามที่ดำเนินอย่างระมัดระวังเพื่อที่จะเริ่มการพัฒนาประชาธิปไตยโดยพยายามลดความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล” 1 ไดมอนด์ พูดตรงกว่านั้นว่า “ผมคิดว่าการเปลี่ยนผ่านนั้นยังคงอยู่ในขั้นที่เพิ่งเริ่มต้นมากๆ และมันไม่ค่อยชัดเจนว่าในจุดนี้ ประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นผลลัพธ์ของมันเอง หรือประชาธิปไตยที่มาจาการเลือกตั้งนั้นเป็นผลลัพธ์ที่ตั้งใจไว้” 2
คำตอบที่ห้วนๆ ก็คือ “ทุนนิยมระดับโลก” นายพลพม่าเห็นชอบที่จะผลักดัยการเปลี่ยนแปลงของประเทศที่มีต่างชาติช่วยเหลือ เพื่อกู้ระบบเศรษฐกิจการเมืองตามแนวทางของตลาดเสรี เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าถึงเศรษฐกิจชายแดน (frontier economy) ที่ร่ำรวยซึ่งเกิดขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญก็คือความจริงที่ว่า การเข้าร่วมครั้งใหม่แบบสมบูรณ์ของพม่าในโลกตะวันตกเสรีนิยมนี้ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของพม่าเองเท่านั้น ที่แตะเพียงการยอมแก้ไขบางสิ่ง ซ่อมแซมบางอย่างเท่านั้น 5
อันที่จริงแล้วหากมองผ่านมุมมองทั่วไปของนายทุนนิยมระดับโลก พม่าเป็น “แหล่งทรัพยากร” ที่สำคัญ เป็น “ตลาดชายแดน” ที่ร้อนแรงมากที่สุด 6และเป็นสลักสำคัญทางยุทธศาสตร์ของแต่ละ “กลยุทธ์ที่ยิ่งใหญ่” ในเกมการแข่งขันของมหาอำนาจ ชุมชนของมนุษย์ในฐานะการเป็น “ตลาด” และ “แหล่งที่มาของทรัพยากรและแรงงาน” กลายเป็นมุมมองที่อยู่กับเรามานาน ในการมองว่าประเทศใดๆ บนโลกต่างมีที่ดิน ทรัพยากรและแรงงาน และการเปลี่ยนแปลงด้านทุนนิยมที่ถูกผลักดันโดยเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยปีก่อน
จากจุดนี้ เราลองก้าวกระโดยไปสู่การจัดเวทีเศรษฐกิจโลกใน เนปิดอว์ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2013 จะเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตย” ที่นำโดยชนชั้นนำ เกี่ยวกับ “ประชาสังคม” ที่มีทักษะ และ “ตลาดเสรี” ที่ได้รับการช่วยจากองค์กรที่รับผิดชอบต่อสังคม แต่ในสาระสำคัญ นโยบายต่างประเทศที่มีต่อพม่าถูกออกแบบให้คัดสรรและแย่งชิงสิ่งที่ดีที่สุดมาจากตลาดชายแดนที่เหลือเพียงไม่กี่แห่งของโลก อีกที่ก็คือ เกาหลีเหนือ
ในเดือนมิถุนายนนี้ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เมดิลีน อัลไบรท์ (Madeline Albright) โชว์การดื่มโค้กจากขวดพลาสติกขนาดใหญ่ที่งานพิธีเปิดตัวบริษัท โคคา โคล่า (Coca Cola)ในย่างกุ้ง ซึ่งเป็น หนึ่งในลูกค้าองค์กรของ Albright-Stonebridge Consulting Firm 7 เปิดโรงงานบรรจุขวดแห่งแรกในพม่า 8 ในฐานะประธานของสถาบันส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (the US National Democratic Institute) หน้าที่อัลไบรท์ในการเยือนพม่าน่าจะอยู่ที่การส่งเสริมประชาธิปไตย การสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน และการเอื้อมถึง “ประชาชนผู้ซึ่งไม่เคยได้จิบ” โค้ก แต่ชาวอเมริกันไม่ได้เป็นเพียงชาติเดียวที่ทำเช่นนี้
ท่ามกลางการเปิดโปงการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาและกลุ่มมุสลิมอื่นๆ และการร่วมกระทำผิดของเข้าหน้าที่ระดับสูงของพม่า 9 รัฐอิสลามแห่งการ์ต้า (the Islamic state of Qatar) ไม่ได้รู้สึกกระอักกระอ่วนใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการลงนามในสัญญาการโทรคมนาคมที่มีมูลค่าจำนวนหลายพันล้านดอลล่าร์ร่วมกับพม่าและนอร์เวย์ ผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยทางสันติภาพในออสโล (Oslo) สามารถลงนามในสัญญาโทรศัพท์ที่มีมูลค่ามหาศาลสำหรับ Telenor (ผู้นำระบบการคมนาคมในยุโรป) แห่งชาติร่วมกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง (Thein Sein) ผู้อาจได้รับการเสนอชื่อให้ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี ค.ศ. 2012 ขณะที่ชาวคะฉิ่น (the Kachins) ชาวกระเหรี่ยง (the Karens) ชาวฉาน (the Shan) ชาวกะเหรี่ยงแดง (the Karenni) และชาวมอญ (the Mon) ยังคงรอคอยผลลัพธ์จากการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อสันติภาพของออสโล (Oslo’s peace mediation) 10 แต่สัญญาโทรศัพท์มาก่อนสันติภาพ! Telanor เพื่อสันติภาพ !
ถ้าคาร์ล มาร์ก ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะต้องให้คำจำกัดความกระบวนการที่พม่ากำลังดำเนินการอยู่ ว่าเป็นการฉกชิงที่ดินทุกหนทุกแห่ง ระบบเศรษฐกิจบูดเบี้ยว คนที่มีงานทำแต่รายได้น้อย สภาวะแรงงานที่โสมม การอพยพที่ถูกบีบบังคับ ความขัดแย้งที่รุนแรง การนำเข้าเทคโนโลยี สายกระบวนการผลิตแบบใหม่ เงินทุนผสม โครงการการพัฒนาขนาดใหญ่ และอื่นๆ – ว่าเป็นเศรษฐกิจแบบที่ยึดเงินเป็นฐานที่ถูกลากผ่านไปยังกระบวนการที่ไร้ความปราณีซึ่งเขาเรียกว่า “การสะสมทุนแบบป่าเถื่อน”
ณ จุดนี้ ผู้เขียนขอเสนอว่าวิธีการใหม่ของการวิเคราะห์พม่า ที่สะท้อนว่าทำไม พม่าศึกษาถึงเป็นการมองจากเลนส์ความเป็น “ตะวันออกศึกษา” ที่ล้าหลัง (Orientalist backwater) และการทำการประเมินใหม่และปรับปรุงวิธีการแบบBraudellian (Braudellian approach) ซึ่งวิกเตอร์ ลีเบอร์แมน (Victor Lieberman) ได้สนับสนุนให้ใช้สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา 11 พวกเราต้องการพุ่งความสนใจไปที่กระบวนการของโลกที่กำลังดำเนินอยู่อย่างสืบเนื่อง กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงทุนนิยมของพม่าในฐานะตลาดชายแดน เพราะว่าขั้นตอนนี้สำคัญกว่าปัจจัยอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อวัตถุประสงค์การวิจัยของเราซึ่ง ก็คือ ทั้งประชาชนและตัวงานวิจัยของเราเองด้วย มุมมองที่ผู้เขียนค้นพบซึ่งตรวจสอบได้ในเชิงประจักษ์และมีความเหมาะสมที่สุดที่จะอธิบายลำดับของการเปลี่ยนแปลงที่น่ามึนงงมากที่สุด ก็คือ มุมมองที่ตั้งบน “ความมั่นคง” ที่ถูกเรียกที่นี่ว่าเป็น “มุมมองบนความไม่มั่นคง 3 ประการ” กล่าวคือ ความไม่มั่นคงของชาติ (แบบดั้งเดิม) ความไม่มั่นคงของโลก และความไม่มั่นคงของมนุษย์
ประการแรก ความไม่มั่นคงของชาติ หมายถึง (อย่างตรงไปตรงมา) ความรู้สึกที่ถาวรของความไม่มั่นคงของรัฐชาติ ซึ่งโดยคร่าวๆ ที่สุด เป็นเรื่องเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในประเด็นของ “ความอยู่รอดของระบอบการปกครอง” ประการที่สอง ความไม่มั่นคงของโลก ถูกนิยามว่าเป็นความรู้สึกโดยรวมของความไม่มั่นคงและความอ่อนแอของการจัดระเบียบด้านเศรษฐกิจและการเมืองของโลก ซึ่งจะถูกจัดวางอยู่บนความมั่นคงของรัฐชาติที่มีส่วนในการสร้างเศรษฐกิจการเมืองของโลก ประการที่สาม ความมั่นคงของมนุษย์หมายถึง การขาด “ความมั่นคงของปัจเจกและชุมชนที่ซึ่งเขาหรือเธอสามารถที่จะอาศัยอยู่ที่ไม่ต้องคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐและเขตแดนต่างๆ” 12
ภายใต้เปลือกแข็งที่หุ้มอยู่ การเสนอ “มุมมองบนความไม่มั่นคง 3 ประการ” นี้มีสมมุติฐานว่า หลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็น ทุนนิยมโลกได้นำชุมชน สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และเศรษฐกิจการเมืองของชาติ ให้กลายมาเป็นสิ่งเดียวที่ครอบคลุมกระบวนการทั้งหมดที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ จากจุดนี้ วาทกรรม 3 ประการของความมั่นคง ต่างช่วงชิงพื้นที่ในกระบวนการกำหนดนโยบานของรัฐและการนำนโยบานไปปฏิบัติ ในขณะที่มีการพูดถึงเกี่ยวกับระเบียบสากลที่คาดการณ์ได้และตั้งอยู่บนกฎเป็นพื้นฐาน ทุกๆ รัฐชาติจะต้องเตรียมความพร้อมกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น สงคราม การถูกขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกของความไม่มั่นคงจากภายในและภายนอกนี้เอง แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกายังถูกพบว่าได้เข้าไปสืบความลับจากพันธมิตร ประชาชน และศัตรู ดังเช่นเรื่องอื้อฉาวที่ถูกเปิดเผยล่าสุดในกรณี PRISM (โครงการของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ที่ทำงานร่วมกับบริษัท Verizon ใช้ PRISM Program ในการสอดแนมข้อมูลจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายล้านคน)
ในขณะที่ทั้ง 3 ประการนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่แยกจากกัน ประเด็นของเรื่องเปราะบางต่างๆ เช่น ผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และการว่างงาน ต่างถูกจัดวางไว้เป็นสิ่งสำคัญอันดับท้ายๆ ความมั่นคงและการอยู่ดีกินดีของปัจเจกชนและชุมชนถูกเหยียบย่ำอย่างเห็นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมุมมองเรื่องความไม่มั่นคงอีก 2 ประการ คือ ความไม่มั่นคงระดับชาติและระดับโลก ได้ร่วมกันก่อรูปและอยู่ร่วมกันเพื่อแย่งพื้นที่ในกระบวนการคำนวณทางกลยุทธ์และความได้เปรียบทางการเมือง สิ่งนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมคนถึงมักจะอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับนโยบายและการปฏิบัติของรัฐ 13 ความร่วมมือ หน่วยงานพหุภาคี และสถาบันทางการเงินต่างประเทศ ว่าร่วมกันทำให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนชายขอบและประชาชนที่ไม่มีหน้ามีหน้าตาในสังคม ถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของพวกเขา การเข้าถึงวิถีชีวิตของพวกเขา ความปลอดภัยเสรีภาพในการเคลื่อนไหว การสมาคม และอื่นๆ
ผู้เขียนเชื่อว่าข้อเสนอ “มุมมองบนความไม่มั่นคง 3 ประการ” อธิบายได้ดีที่สุดเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ในพม่า (เช่นเดียวกันกับกรณีอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันที่เกิดในระดับชาติ) และสะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่สามารถตรวจสอบได้ของประเทศ มันยังได้จับวางการศึกษาของพม่าและเหตุการณ์ของประเทศภายใต้บริบทของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทุนนิยมที่ประเทศนี้ (พม่า) อยู่ในฐานะของ “ตลาดชายแดน” กำลังก้าวผ่าน
การมองโดยผ่านแท่งแก้วปริซึมของความไม่มั่นคงนี้จะพบว่า การปฏิรูปประชาธิปไตยแบบบนลงล่างของประเทศนี้ ยังดูจะไม่ค่อยเกี่ยวกับการทำให้พม่าเป็นประชาธิปไตยเท่าใด แต่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับชนชั้นปกครองของประเทศที่ทำสัญญากับพลังของทุนนิยมระดับโลก ในขณะที่เปลี่ยนภาพไปสู่การสร้างชนชั้นทางสังคมของตนเองซึ่งก็คือทุนนิยมที่สนิทชิดเชื้อกับทหาร ในข้อตกลงนี้ ประชาชนต้องเปิดกว้างตลาดชายแดนของตัวเองในการแลกเปลี่ยนกับสภาวะปกติ การได้รับการยอมรับ ความถูกต้องชอบธรรม การเข้าถึงเงินทุนและตลาดโลก และเทคโนโลยี รัฐบาลเนปิดอว์ได้เปิดประเทศไปสู่เงื่อนไขที่ตกลงกันได้และเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ซึ่งก็คือ ทหารและระบอบของทหารที่มักตั้งอยู่บนความไม่มั่นคง ในกระบวนการนี้ แม้แต่นักการเมืองที่มีอิทธิพล และยังเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นสัญลักษณ์ระดับโลกมากที่สุดอย่างอองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) ก็พบว่าตัวเธอเองก็อยู่บนเวทีของระบบทุนนิยมโลก เวทีที่เธอไม่สามารถที่จะควบคุมบท ฉาก ทำนองหรือแม้แต่เนื้อร้องใดๆ ได้เลย
กรณีเปิดโปงที่ยังคงดำเนินอยู่เกี่ยวกับการกวาดล้างมุสลิมโรฮิงญา ได้นำเสนอตัวเองว่าเป็นกรณีทดสอบเชิงประจักษ์ สำหรับมุมมองแห่งความไม่มั่นคง 3 ประการ แม้ว่าความยากจนที่เลวร้ายจะแพร่กระจายไปทั่วในรัฐยะไข่ (Rakhine) ที่ซึ่งโรฮิงญาอยู่อาศัยร่วมกับชาวพุทธยะไข่ แต่เมื่อเร็วๆ นี้เรื่องนี้กลับถูกทำให้มีตำหนิโดยคลื่นความรุนแรงของมวลชน พื้นที่นี้ได้กลายเป็นกลยุทธ์และความมั่งคั่งของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เพิ่งเกิดขึ้นของพม่า ซึ่งนั่นก็คือ ท่าเรือน้ำลึก ที่ดินทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์พร้อมด้วยศักยภาพสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมการประมง พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่มีมูลค่านับพันล้านดอลล่าร์ และ สถานที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดของท่อส่งก๊าซและน้ำมันแบบคู่ของประเทศจีน
ในสงครามกลางเมืองระหว่างปากีสถานตะวันออกและตะวันตกใน ค.ศ. 1971 นายพลติกก้า (Tikka Khan) แห่งปากีสถานตะวันตกได้ประกาศคำสั่งที่สุดเย็นยะเยือกไปยังกองทัพของเขาว่า “ข้าพเจ้าต้องการแผ่นดิน ไม่ใช่ประชาชน” 14 ในเวลานี้ อาจเปรียบได้กับพม่าตะวันตก ที่ซึ่งระบอบที่ตั้งบนความมั่นคงแห่งชาติอาจมีเพียงแค่การเข้ายึดดินแดนเพียงอย่างเดียวอีกครั้ง โดยปราศจากผู้คน (ชาวโรฮิงญา)
หากไม่ได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของพม่าให้ถูกต้อง ตามเส้นใยที่พันยุ่งเหยิงของทฤษฎีความไม่มั่นคง 3 ประการ ความเข้าใจของพวกเราเกี่ยวกับการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลงและการทำให้เป็นประชาธิปไตยก็จะยังคงอ่อนหัดอยู่ต่อไป ซึ่งจะไม่อ่อนหัดไปกว่าประชาธิปไตยที่อยู่ระหว่างการก่อร่างสร้างตัว โดยระบอบการปกครองที่ตั้งบนไม่มั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลเนปิดอว์และทุนนิยมที่ไม่มีความมั่นคงในระดับโลก
หม่อง ซาร์นี (Dr. Maung Zarni)
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาลายาและ London School of Economics
แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย โดย จารุณี สุวรรณรัศมี และ ชินสึเกะ ฮินะตะ
Kyoto Review of Southeast Asia . Issue 14 (September 2013). Myanmar
Notes:
- Interview with Thomas Carothers, Irrawaddy, 7 May 2012 <http://www.irrawaddy.org/archives/3706> (accessed 1 July 2013). ↩
- Interview with Larry Diamond, Irrawaddy, 24 July 2012 <http://www.irrawaddy.org/archives/9883> (accessed 1 July 2013). ↩
- Kosak Tuscangate, “Burmese neo-Nazi Movement Rising against the Muslims”, Asia Sentinel, 22 March 2013 <http://www.asiasentinel.com/index.php?option=com_content&task=view&id=5276&Itemid=409> (accessed 1 July 2013). Also see, Maung Zarni, “Myanmar’s Neo-Nazi Buddhists Get Free Rein”, Asia Times, 3 April 2013 <http://www.atimes.com/atimes/Southeast_Asia/SEA-01-090413.html> (accessed 1 July 2013). ↩
- “Special Report: Myanmar Gives Official Blessing to Anti-Muslim Monks”, Reuters, 27 June 2013 <http://www.reuters.com/article/2013/06/27/us-myanmar-969-specialreport-idUSBRE95Q04720130627> (accessed 1 July 2013). ↩
- หากต้องการอ่านการวิเคราะห์เกี่ยวกับวิวัฒนาการของนโยบายตะวันตกต่อพม่า โปรดอ่าน Maung Zarni, Burma/Myanmar: Its Conflicts, Western Advocacy, and Country Impact, The World Peace Foundation, The Fletchers School of Law and Diplomacy, Tufts University, 25 March 2013 <http://sites.tufts.edu/reinventingpeace/2013/03/25/burmamyanmar-its-conflicts-western-advocacy-and-country-impact/> (accessed 2 July 2013.) ↩
- ในการเผยแพร่การเสวนาโต๊พกลมทางอินเตอร์เน็ทเกรายวกัยเศรษฐกิจของพม่า ณ ที่ประชุม World Economic Forum on East Asia iณ กรุงเนปิดอว์ เดือนมิถุนายน 2013 ประธานของการประชุม Shangri-La Dialogue และ CEO ของ London-based International Institute of Strategic Studies ได้กล่าวอย่างห้วนๆ ว่า พม่าเป็นแค่เพียงตลาดชายแดนที่ซึ่งบริษัทต่างชาติยังต้องการข้อมูลเกี่ยวกับประเทศและกิจการภายในมากกว่าที่ได้รับจากสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ ↩
- ดูที่ Albright-Stonebridge Group at <http://www.albrightstonebridge.com/> (accessed 1 July 2013). ↩
- “Coca-Cola Opens Myanmar Bottling Plant”, Associated Press, 4 June 2013 <http://www.komonews.com/news/business/Coca-Cola-opens-Myanmar-bottling-plant-210090851.html> (accessed 1 July 2013). ↩
- สำหรับมุมมองที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มต้านต้านมุสลิมเหยียดศาสนาและบทบาทของรัฐ ดูที่ Maung Zarni, “Buddhist Nationalism in Burma”, Tricycle, Spring 2013 <http://www.tricycle.com/feature/buddhist-nationalism-burma> (accessed 1 July 2013). ↩
- “Burma Awards Lucrative Mobile Contracts”, BBC, 27 June 2013 <http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-23078620> (accessed 1 July 2013). ↩
- Liam C. Kelley, “Strange Parallels: Southeast Asia in Global Context, c. 800-1830, Volume I: Integration on the Mainland (Review)”, Journal of World History, vol. 17, no. 1 (March 2006), pp. 102-104 <http://muse.jhu.edu/journals/jwh/summary/v017/17.1kelley.html> (accessed 1 July). ↩
- See, <http://www.lse.ac.uk/internationalDevelopment/research/CSHS/Home.aspx> (accessed 1 July 2013). ↩
- ความพยายามล่าสุดของสหรัฐฯ ในการถกประเด็นเรื่องสิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อมและการคอร์รับชั่นในต่างประเทศ จำเป็นต้องได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องมาจากว่าเป็นแนววิธีแบบใหม่ที่ได้รับการต่อต้านจากกลุ่มบรรษัทของสหรัฐฯ และสมาคมการค้าสหรัฐฯ ดูที่ “U.S. Companies Investing in Myanmar Must Show Steps to Respect Human Rights”, New York Times, 30 June 2013 <http://www.nytimes.com/2013/07/01/world/asia/us-companies-investing-in-myanmar-must-show-steps-to-respect-human-rights.html?_r=0> (accessed 1 July 2013). ↩
- “Interview of Major General Rao Farman Ali AKA: The Butcher of Bengal”, 13 March 2010 <http://etongbtong.blogspot.com/2010/03/interview-of-major-general-rao-farman.html> (accessed 1 July 2013). ↩