Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

การช่วงชิงภูมิทัศน์ด้านมโนทัศน์ในการเมืองของพุทธศาสนา

การตีความเกี่ยวกับการระดมมวลชนชาวพุทธในเมียนมาระยะหลัง ทั้งที่เป็นการตีความในแวดวงวิชาการและโดยคนทั่วไป ชี้ให้เห็นประเด็นที่วิธีการเชิงทฤษฎีและเชิงวิเคราะห์มีผลต่อการศึกษาความเกี่ยวพันระหว่างพุทธศาสนากับการเมืองและสังคม การขยายตัวขององค์กรพระสงฆ์ชาตินิยมอย่าง MaBaTha และความพยายามขององค์กรนี้ที่จะผลักดันให้มีการออกกฎหมายที่เข้มงวดและชี้นำการเลือกตั้งในเมียนมาที่เพิ่งเปลี่ยนสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อไม่นานนี้ ทำให้ประเด็นการเมืองของพุทธศาสนาและลัทธิชาตินิยมหวนกลับมาเป็นเป้าของการวิเคราะห์กันอย่างมากมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง ชื่อองค์กร MaBaTha มาจากคำขวัญของลัทธิชาตินิยมต่อต้านอาณานิคมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั่นคือ “Amyo (Ma), Batha (Ba), Thathana (Tha)” หรือ เชื้อชาติ, ศาสนา/ภาษา และสาสน์ (sāsana หมายถึงระบบและคำสอนของพระพุทธเจ้า) ชื่อขององค์กรเองชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างพัฒนาการในสมัยปัจจุบันกับการเคลื่อนไหวระดมมวลชนของชาวพุทธในพม่าเมื่อศตวรรษก่อน

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เช่นเดียวกับการวิเคราะห์ทางวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงก่อนนั้น กล่าวคือ การวิเคราะห์ที่มีมากมายเกี่ยวกับการขยายตัวของ MaBaTha กับลัทธิชาตินิยมและบรรยากาศการต่อต้านมุสลิมในเมียนมา มักอ้างว่าต้นกำเนิดของปรากฏการณ์นี้มาจากชาวพุทธที่ใช้ศาสนาเพื่อเป้าหมายทางการเมือง หรือจากลัทธิชาตินิยมที่มีมายาวนานและความเกลียดกลัวคนต่างชาติที่ฝังอยู่ในศาสนาพุทธของพม่า ข้ออ้างทั้งสองประการนี้ต่างก็ผิดพลาด ไม่เพียงเพราะเป็นการตีขลุมสรุปที่หยาบง่ายเกินไป แต่เพราะมันสะท้อนถึงวิธีการที่มีปัญหาในการคิดเกี่ยวกับพุทธศาสนา ศาสนาและอัตลักษณ์ด้วย ข้ออ้างเหล่านี้มีนัยยะว่าศาสนาพุทธมีสารัตถะคงที่ตลอดเวลา หรือศาสนากับการเมืองเป็นปริมณฑลของประสบการณ์และการปฏิบัติของมนุษย์คนละส่วนที่สามารถแยกออกจากกันง่ายๆ เมื่อเราสืบค้นแต่ละสถานการณ์เหล่านี้ลึกลงไปอีกเล็กน้อย ก็จะเห็นชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่แค่การสนับสนุนการตีความหรือเนื้อหาบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมือง อัตลักษณ์แห่งชาติหรือวัตรปฏิบัติของชาวพุทธเท่านั้น แต่มันเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อชี้นำปั้นแต่งและช่วงชิงการนำเสนอกรอบเชิงมโนทัศน์ที่เป็นพื้นฐานของการวิวาทะดังกล่าว

วิวาทะสาธารณะเกี่ยวกับขบวนการเหล่านี้ในปัจจุบันส่วนใหญ่มองไม่เห็นว่า ขบวนการเหล่านี้กำลังสร้างและสร้างซ้ำทั้งพุทธศาสนาและความเป็นพม่าเพื่อธำรงรักษาทั้งสองสิ่งนี้ไว้เช่นเดียวกับที่ขบวนการก่อนหน้านี้เคยทำมาก่อน ในแง่นี้ ทั้งพุทธศาสนาและชาติต่างเปรียบเสมือนภาชนะใส่ของเหลวที่ทำหน้าที่เป็นกลไกในการสร้างและเปลี่ยนโฉมหน้าโครงสร้างสังคมและลำดับชั้น แต่ไม่ใช่แค่วาทกรรมของประชาชน สื่อและนโยบายเท่านั้นที่บังเอิญประทับตราให้แนวคิดของพุทธศาสนาหรือชาตินิยมพม่ากลายเป็นแนวคิดที่หยุดนิ่ง หนึ่งเดียวและรับรู้ได้ แต่ผลงานของเราในฐานะนักวิชาการเองก็มักมีนัยยะว่าแนวคิดเหล่านี้เป็นวัตถุแห่งความรู้ที่ตายตัว เป็นสิ่งที่เราอ้างได้ว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพรรณนาและอธิบาย ผลกระทบที่แท้จริงของการมองไม่เห็นความผิดพลาดนี้ก็คือ มันทำให้เราเอาตัวเองเข้าไปผูกพันอยู่ในการเมืองเชิงวัฒนธรรมของพื้นที่ที่เราศึกษาโดยมิได้ตั้งใจ และเป็นไปได้ที่จะมองข้ามพุทธศาสนา วิถีแห่งอัตลักษณ์และการระดมมวลชนที่ถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งไม่ได้นิยามด้วยคำว่าชาติ เชื้อชาติหรือการปิดกั้นตัวเอง (Exclusivism)

Buddhist monks who support Ma Ba Tha attend a celebration of four controversial bills with a rally in a stadium at Yangon October 4, 2015.
Photo: Central Patriotic Association Facebook page: https://www.facebook.com/centralpatrioticassociation/info/

ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษที่ 20 ชาวพุทธจำนวนมากในอาณานิคมพม่าประสบกับความเปลี่ยนแปลงสะท้านสะเทือนที่มาพร้อมกับการปกครองในระบอบอาณานิคมในแง่ที่คำสอนของพระพุทธเจ้ากำลังจะสูญหายไป พวกเขาจึงระดมมวลชนเคลื่อนไหวเพื่อธำรงรักษาพุทธศาสนาเอาไว้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ส่งผลทางอ้อมต่อหลายแง่มุมของสังคม องค์กรประชาสังคม ตลอดจนการเมืองของลัทธิชาตินิยมต่อต้านอาณานิคมด้วย ภาพคู่ขนานที่เปรียบเทียบกับภาวการณ์ในปัจจุบันในเมียนมาดูเหมือนโดดเด่นเป็นพิเศษ อีกครั้งที่ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะของความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ชาวพม่าจำนวนมากแสดงออกถึงความไม่มั่นใจเมื่อแลเห็นความเปลี่ยนแปลงที่สั่นคลอนในอนาคตและมีความกังวลว่าบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญอย่างยิ่งกำลังจะสูญหาย ขบวนการที่พยายามปกป้องพุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้าและวัฒนธรรมของพม่าก่อให้เกิดการระดมมวลชนขึ้นมา ดูเหมือนค่อนข้างชัดเจนว่าการปวารณาตัวปกป้องพุทธศาสนา รวมทั้งวาทกรรมที่เชื่อว่าใครหรืออะไรที่เป็นภัยต่อพุทธศาสนา (มุสลิม พรรคการเมือง เอ็นจีโอจากต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต) ได้สร้างความรู้สึกถึงอัตลักษณ์ขึ้นมาในหมู่ประชาชนจำนวนมากในเมียนมา

 อย่างไรก็ตาม แทนที่จะใช้ความเชื่อมโยงระหว่างสองช่วงเวลานี้มองหาคำอธิบายเกี่ยวกับสารัตถะที่มีร่วมกันของวาทกรรมพุทธศาสนาหรือลัทธิชาตินิยมพม่า การก้าวไปข้างหน้าอยู่ที่การมองว่าทั้งสองช่วงเวลาได้สร้างและสร้างซ้ำการจัดแบ่งประเภทองค์ประกอบ (constitutive categories) สามประการขึ้นมาอย่างไรต่างหาก องค์ประกอบทั้งสามคือ: เมียนมา/พม่า พุทธศาสนาและศาสนา การให้ความสนใจต่อองค์ประกอบทั้งสามโดยมองว่ามันมีความลื่นไหล ช่วงชิงกัน มีพลังเป็นพิเศษ รวมทั้งวิธีการที่ประชาชนจัดตั้งตัวเอง ทั้งหมดนี้จะทำให้เรามองเห็นการทำงานของอำนาจในสังคม—นั่นคือ การเมืองของพุทธศาสนา

ทัศนะอันแหลมคมของเบเนดิคท์ แอนเดอร์สันมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อการศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น มันอาจเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับเราหากมองว่าชาติไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (denaturalization) ภายในวาทกรรมของขบวนการเหล่านี้ และวิเคราะห์ดูว่าแนวคิดเหล่านี้ทำงานอย่างไรในการสร้างจินตกรรมเกี่ยวกับประเทศเมียนมาในแง่ของการมีอัตลักษณ์ทางศาสนาที่ปิดกั้นตัวเอง 1 การช่วงชิงและการสร้างชาติกับอัตลักษณ์ของชาติมักเชื่อมโยงกับวาทกรรมทางการเมืองได้ง่ายและชัดเจน ถึงแม้ผู้สังเกตการณ์เองมักละเลยต่อปรากฏการณ์ที่ขบวนการตอบโต้ที่มีความเป็นเสรีนิยมมากกว่าก็มีบทบาทเท่าเทียมกันในการสร้างชาติเมียนมา นี่คือก้าวแรกที่สำคัญในการวิเคราะห์ว่าอะไรคือเค้าเดิมพันสำคัญในแต่ละขบวนการ วิธีการนี้มีประโยชน์ แต่ก็เป็นเพียงขั้นแรกเท่านั้น ขั้นต่อไปคือสิ่งที่นักวิชาการด้านศาสนาคงเห็นได้ชัดเจนกว่า นั่นคือการถอดรื้อพุทธศาสนาว่ามิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเน้นความสนใจไปที่การวิเคราะห์ว่าขบวนการต่างๆ กำลังใช้วาทกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนขอบเขตที่พุทธศาสนาจะมีความหมายต่อเมียนมาอย่างไรบ้าง การวิเคราะห์ของคนทั่วไปและนักวางนโยบายมักเขียนกันราวกับมีสารัตถะของพุทธศาสนาที่คงที่ข้ามประวัติศาสตร์ โดยมองว่าขบวนการในประวัติศาสตร์หนึ่งๆ ตีความอย่างถูกต้องหรือบิดเบือนสารัตถะดังกล่าวนั้น แทนที่จะยอมรับว่าศาสนาพุทธมีความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปตามการตีความของชาวพุทธ เห็นได้ชัดว่าขบวนการในเมียนมายุคปัจจุบันกำลังปั้นแต่งความหมายของพุทธศาสนาในทางปฏิบัติเสียใหม่ ถึงแม้ขบวนการจะอ้างว่าการปกป้องและการคุ้มครองศาสนาพุทธเป็นภารกิจสำคัญของตนก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การช่วงชิงและการสร้างจินตกรรมของการจัดแบ่งประเภทองค์ประกอบขึ้นมาใหม่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ขบวนการที่ติดป้ายลัทธิชาตินิยม ลัทธิมูลฐานนิยม (fundamentalist) หรือขบวนการต่อต้านมุสลิมเท่านั้น แต่มันเป็นกระบวนการที่ผลักดันโดยขบวนการชาวพุทธและพระจากหลายภาคส่วนของสังคมด้วย การมุ่งเน้นที่การช่วงชิงและปรับสูตรของการจัดแบ่งประเภทองค์ประกอบต่างๆ จะช่วยให้เรามองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการชาวพุทธหลากหลายขบวนการในเมียนมายุคปัจจุบัน และมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งกว่าเดิมที่พวกเขากำลังก่อให้เกิดขึ้นในภูมิทัศน์ทางสังคม/ศาสนา/การเมืองในเมียนมามากกว่าแค่เนื้อหาในโวหารของพวกเขา

เราจำเป็นต้องยกระดับการวิเคราะห์การจัดแบ่งประเภทองค์ประกอบอันเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพื่อดูว่าฝ่ายศาสนาและฝ่ายฆราวาสมีการช่วงชิงกันและสร้างซ้ำผ่านขบวนการชาวพุทธอย่างไรในแง่ที่เป็นองค์ประกอบระดับลึกของปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองและสังคม ในแง่นี้ การให้ความสนใจต่อการจัดแบ่งประเภทองค์ประกอบอาจให้บทเรียนบางอย่างหากเราสนใจประเด็นพุทธศาสนากับการเมือง นักวิชาการมักแปะป้ายให้พุทธศาสนาเป็นศาสนา (โดยไม่เคยตั้งคำถามว่าศาสนาหมายถึงอะไร) และการพิจารณาศาสนากับการเมืองเป็นวิธีการที่มีประโยชน์ในการวิเคราะห์สองสิ่งนี้ ทั้งในแง่ความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ แต่วิธีคิดแบบนี้ทึกทักว่าศาสนาคือการจัดแบ่งประเภทของชีวิต/การกระทำ/ความคิดที่แยกขาดจากการเมือง วิธีคิดแบบนี้มาจากโลกทัศน์และการแบ่งในความคิดว่า ศาสนาคือการจัดแบ่งประเภทที่มีขอบเขตชัดเจน ซึ่งสามารถแยกขาดจากชีวิตทางสังคมส่วนอื่นๆ ที่แปะป้ายว่าเป็นเรื่องของฆราวาส ดังที่ Talal Asad และนักวิชาการคนอื่นๆ สอนเรา โลกทัศน์เช่นนี้มิใช่สิ่งสมบูรณ์หรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มันเป็นอุดมการณ์อย่างหนึ่งและเป็นวิธีการมองโลกแบบหนึ่ง ซึ่งเราไม่ควรทึกทักว่าทุกคนทุกแห่งจะมีเหมือนกันเสมอไป[Talal Asad, “The Construction of Religion as an Anthropological Category,” in Genealogies of Religion: Discipline and Reasons of Power in Christianity and Islam, ed. Talal Asad (Baltimore: Johns Hopkins University Press, 1993); “Religion, Nation-State, Secularism,” in Nation and Religion: Perspectives on Europe and Asia, ed. Peter van der Veer and Harmut Lehmann (Princeton, NJ: Princeton University Press, 1999).[/ref] การผลิตศาสนาให้เป็นการจัดแบ่งประเภทที่มีขอบเขตเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ยุโรปที่มีลักษณะเฉพาะ แนวคิดนี้เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับลัทธิอาณานิคมเพื่อนำมาใช้เป็นรูปแบบอำนาจบางอย่างของเจ้าอาณานิคม ชาวพุทธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มปรับตัวให้เข้ากับโลกทัศน์ของการมองแยกขาดระหว่างศาสนา/ฆราวาสก็เมื่ออยู่ภายใต้การปกครองระบอบอาณานิคม แล้วนำแนวคิดนี้มาผสมผสานกับแบบแผนทางความคิดของท้องถิ่น (เช่น โลกียะ/โลกกุตตระ, สาสน์ ฯลฯ) แต่กรอบความคิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่ยังโต้แย้งกันอยู่และโต้แย้งได้ เค้าโครงที่กำหนดขอบเขตของศาสนากับปฏิสัมพันธ์ที่ศาสนามีต่อการจัดแบ่งประเภทฝ่ายฆราวาส เช่น การเมืองหรือเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของการสร้าง ตีความและตีความซ้ำ

Benedict Anderson’s insights have been deeply formative for Southeast Asian studies

ในยุคอาณานิคม ทั้งชาวพุทธและรัฐบาลอังกฤษต่างมีบทบาทในการนิยามความหมายของโลก “ฆราวาส” ถึงแม้มีการสร้างโวหารว่ารัฐกับศาสนาแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่ในยุคอาณานิคมอังกฤษ “ฆราวาสนิยม” กลับหมายถึงการที่รัฐบาลเป็นผู้มีหน้าที่ตรวจสอบพระ (ในแง่ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาในพระไตรปิฎกภาษาบาลี แต่ไม่ใช่พระวินัย) นั่นหมายความว่า รัฐบาลสามารถดึงวัดเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาของรัฐบาล ตราบที่ศาสนาพุทธถูกจำกัดอยู่แค่เนื้อหาของตัวบทและไม่ใช่การปฏิบัติตามคำสอน สำหรับชาวพม่าในยุคอาณานิคม โลกฆราวาสดูเหมือนเป็นพื้นที่ที่มโนทัศน์ของ “กรรม” และ “สาสน์” มีอิทธิพลอำนาจ แต่การกระทำกลับถูกกำกับด้วยตรรกะอีกแบบหนึ่ง

ในขบวนการยุคปัจจุบัน มีการต่อรองกันมากพอสมควรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างรัฐ วาทกรรมการเมืองสาธารณะกับบทบาทของศาสนา หลายคนอ้างว่ารัฐคือกลไกในการดำเนินโครงการเพื่อปกป้องศาสนาพุทธจากภัยคุกคามภายนอกโดยใช้กฎหมายเพื่อบังคับข้อห้ามต่างๆ บางกลุ่มต้องการให้สถาบันของชาวพุทธมีบทบาทเชิงรุกเท่าๆ กันในการส่งเสริมอัตลักษณ์ของชาติ การพัฒนาประเทศและการรักษาวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายกีดกันความเป็นต่างชาติที่ไม่เด่นชัดมากเท่ากลุ่มแรก สถานทูตตะวันตกในเมียนมามักสนับสนุนโครงการพัฒนาและการตีความพุทธศาสนาของพระบางรูปและวัดบางฝ่าย แล้วพอก่อนการเลือกตั้งก็เผยแพร่ข้อเรียกร้องให้แยกศาสนาออกจากการเมือง ราวกับผลลัพธ์ของการนิยามว่าอะไรคือพุทธศาสนา ศาสนาและการเมืองไม่ได้เกิดมาจากพฤติกรรมสนับสนุนของตัวเองก่อนหน้านี้

พฤติกรรมทั้งหมดข้างต้นชี้ให้เห็นภาพซับซ้อนมากกว่าเดิมว่า การจัดแบ่งประเภทที่แบ่งแยกพุทธศาสนากับฆราวาสนิยมถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร ภาพของบรรดาทูตานุทูตในงานพิธีเปิดวัดและโครงการบริการสังคมของชาวพุทธเป็นเพียงภาพสีที่มาแทนที่ภาพซีเปียของเจ้าหน้าที่รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษที่กำกับการสอบภาษาบาลีหรือปรับปรุงหลักสูตรโรงเรียนวัดในสมัยศตวรรษที่ 19 พุทธศาสนาเองคือผลผลิตของวาทกรรมอำนาจในปฏิสัมพันธ์เหล่านั้น ในหมากกลอำนาจนี้ การกระทำดังกล่าวให้ความชอบธรรมแก่การนิยามการตีความพุทธศาสนาที่แตกต่างไปตามสัดส่วนที่ผสมผสานระหว่างแนวคิดเสรีนิยมกับชาตินิยม แต่ในการทำเช่นนั้นกลับทำให้การปฏิบัติ แนวคิดของพุทธศาสนา วิถีแห่งอัตลักษณ์และการระดมมวลชนที่สร้างขึ้นมาในแบบอื่นๆ ซึ่งมิได้นิยามด้วยชาติ เชื้อชาติหรืออัตลักษณ์ที่ปิดกั้นตัวเอง กลับจมหายไปหมด ยิ่งกว่านั้น ในกระบวนการที่เอื้ออำนวยให้บางกลุ่มส่งเสียงแต่ปิดกั้นเสียงของอีกกลุ่ม มันยังทำให้เกิดตัวแบบเฉพาะขึ้นมากำหนดว่าโลกฆราวาสในเมียนมาหมายความว่าอะไร

ในฐานะนักวิชาการ ถ้าเราศึกษาพุทธศาสนากับการเมืองโดยมีสมมติฐานล่วงหน้าเกี่ยวกับธรรมชาติที่ตายตัวและสากลของศาสนา การเมืองหรือโลกฆราวาสในฐานะการจัดแบ่งประเภทที่แยกจากกัน ก็มีความเสี่ยงมากที่เราจะมองข้ามผลงานของกลุ่มคนที่พยายามนิยามหรือปั้นแต่งภูมิทัศน์ด้านมโนทัศน์ใหม่ในบริบทของท้องถิ่น มันมักง่ายเกินไปที่ยอมรับการจัดแบ่งประเภทดังกล่าวเป็นธรรมชาติที่ตายตัวเพียงเพราะความคาดหวังของเราเองที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ การทำเช่นนั้นทำให้เรามองไม่เห็นการเมืองของขบวนการที่เราพยายามศึกษา ซึ่งผู้เขียนหมายถึงการทำงานของอำนาจในกลไกวัฒนธรรมกับความรู้ ในแง่นี้ บางทีมันอาจมีประโยชน์กว่าถ้าเรามุ่งเน้นความสนใจไปที่การเมืองของชาวพุทธในการนิยามและปรับเปลี่ยนคำนิยามของการจัดแบ่งประเภทองค์ประกอบในชีวิตของชาวพม่า ซึ่งจะชี้นำให้เราพิจารณาดูว่าขบวนการชาวพุทธทั้งในยุคอาณานิคมและยุคปัจจุบันปรับแต่งภูมิทัศน์ด้านมโนทัศน์อย่างไร รวมทั้งชาวพม่ามีความรับรู้ต่อตัวเอง ต่อการกระทำ ต่ออนาคตและอดีตผ่านการเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์เกี่ยวกับสาสน์ ศาสนา การเมือง ชาติและพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง

เมื่อเราเลือกเมียนมา/พม่าและพุทธศาสนาในพม่าเป็นวัตถุแห่งการศึกษา เราสมมติให้สิ่งสร้างเหล่านี้กลายเป็นความจริงและองค์อำนาจขึ้นมา นั่นเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ถ้า “พม่า/เมียนมา” ในฐานะชาติค่อยๆ กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สามารถรู้ได้และดูเหมือนคงที่ตายตัวในจิตไร้สำนึกของเรา แล้วการอ้างว่ารู้จักมันช่วยให้เราเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ถ้าเช่นนั้นเท่ากับเรากำลังส่งเสริมลัทธิชาตินิยมและการจินตกรรมชาติขึ้นมาดังเช่นที่เบเนดิคท์ แอนเดอร์สันเคยอธิบายไว้ ถ้าพุทธศาสนาในพม่ากลายเป็นสิ่งที่จริงและเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในงานเขียนของเรา แทนที่จะเป็นสิ่งสร้างที่เปรียบเสมือนของเหลวในภาชนะซึ่งเราต้องตระหนักถึงการทำงานของอำนาจเสมอ นั่นเท่ากับเราเอาตัวเองเข้าไปพัวพันในการเมืองท้องถิ่นและเข้าข้างวาทกรรมที่เข้าข้างท้องถิ่นนั้นโดยดุษณี ถึงแม้เราวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาของมันก็ตาม แต่ถ้าในงานวิชาการและการเขียนถึง “พุทธศาสนา” “ศาสนา” และ “ฆราวาส” ของเราเป็นผลงานที่ทำอย่างต่อเนื่อง ตระหนักถึงวิถีแห่งอัตลักษณ์และการปิดกั้นตัวเองอย่างชัดเจน และรับฟังแต่ละเสียงท่ามกลางเสียงอึกทึกสับสนของวัฒนธรรมและการแสดงออก เช่นนั้นแล้วเราจะสามารถรับรู้ถึงข้ออ้างของนักชาตินิยม (ทั้งวิถีเสรีนิยมและวิถีที่ปิดกั้นตัวเอง) ซึ่งการผูกพันแนบแน่นกับอัตลักษณ์และความเป็นจริงทางการเมืองกลายเป็นกลไกในการกลบเสียงและการตีความเมียนมา อัตลักษณ์และพุทธศาสนาในแบบอื่นๆ

Alicia Turner
Alicia Turner เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขามนุษยศาสตร์และศาสนาศึกษาที่มหาวิทยาลัยยอร์คในโทรอนโต และเป็นบรรณาธิการของวารสาร The Journal of Burma Studies หนังสือเล่มล่าสุดของเธอคือ Saving Buddhism: The Impermanence of Religion in Colonial Burma (Hawaii, 2014).

บรรณานุกรม

Anderson, Benedict R. Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism. rev. and ext. ed. London: Verso, 1991.
Asad, Talal. “The Construction of Religion as an Anthropological Category.” In Genealogies of Religion: Discipline and Reasons of Power in Christianity and Islam, edited by Talal Asad, 27-54. Baltimore: Johns Hopkins University Press, 1993.
———. “Religion, Nation-State, Secularism.” In Nation and Religion: Perspectives on Europe and Asia, edited by Peter van der Veer and Harmut Lehmann, 178-93. Princeton, NJ: Princeton University Press, 1999.

 

Notes:

  1. Benedict R. Anderson, Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism, rev. and ext. ed. (London: Verso, 1991).
Exit mobile version