Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

ในนามของประชาชน: ไสยศาสตร์กับปริศนาของการปกครองแนวสุขภาวะในประเทศไทย

ในเดือนกันยายน 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารครั้งล่าสุด กล่าวในการประชุมเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงว่า เขาถูกฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารทำคุณไสย หนังสือพิมพ์ในประเทศฉบับหนึ่งรายงานว่า เขาโทษว่าอาการเจ็บคอ ปวดคอ เกิดจาก “มนตร์ดำ” หรือ ไสยศาสตร์ แต่ผู้เข้าร่วมประชุมไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเขาทำพิธีแก้และสาปแช่งกลับไปที่ฝ่ายตรงข้ามซึ่งมีอกุศลจิตคิดทำพิธีให้รัฐบาลของเขาเจ็บป่วยแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในหน่วยงานรัฐที่ผู้เขียนเก็บข้อมูลภาคสนามด้านชาติพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2554 กล่าวว่า อย่าเชื่อข่าวพาดหัวของสื่อเกี่ยวกับพิธีสาปแช่งและพิธีแก้ที่พลเอกประยุทธ์พูด ถึงแม้สื่อไทยมักกล่าวอ้างถึงความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ในการเมืองบ่อยๆ แต่ไสยศาสตร์ไม่มีบทบาทจริงๆ ในวงการการเมืองหรอก แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าพลังวิเศษทุกชนิดจะไม่ได้รับการยอมรับไปเสียหมด คิม ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งในหน่วยงานรัฐดังกล่าว บอกว่า “ไสยศาสตร์เกี่ยวข้องกับความรุนแรงและความโลภ มีแต่คนงมงายและไร้การศึกษาที่หลงเชื่อ” กระนั้นในเวลาเดียวกัน เธอก็ยอมรับว่า แท้ที่จริงแล้ว “คนบางคนก็มีพลังวิเศษ” คิมอ้างถึงคำอีกคำหนึ่ง นั่นคือคำว่า บารมี เธอยืนยันว่า สถาบันกษัตริย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระและพระพุทธเจ้า ล้วนสั่งสมบุญญาบารมี กล่าวคือ อำนาจของผู้เป็นต้นธารแห่งสติปัญญาทั้งปวง

นักวิชาการด้านไทยศึกษามักแปล บารมี ว่า “prestige” “charisma” หรือ “cosmic power” (โปรดดู Gray 1986, Johnson 2013, Jory 2002) ส่วนคิมอธิบายให้ผู้เขียนฟังด้วยคำภาษาอังกฤษง่ายๆ ว่า “greatness” (ความยิ่งใหญ่) มันหมายถึงอำนาจแบบอภิมนุษย์ของผู้ที่ปฏิบัติตนสอดคล้องหรือเป็นตัวแทนของกฎแห่งจักรวาล นั่นคือ ธรรมะ ในจารีตของพุทธศาสนานิกายเถรวาท กษัตริย์องค์ใดที่ครองบารมีขั้นสูงย่อมมีอิทธิฤทธิ์ในการปกครองไม่เพียงเหนือประชาชนเท่านั้น แต่เหนือความเจ็บป่วย ฝนฟ้าอากาศและผลผลิตทางการเกษตรด้วย ทั้งนี้เนื่องจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ผู้นั้นแผ่ออกไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบกาย (Gray 1986:236) ดังนั้น ความยิ่งใหญ่จึงหมายถึงพลานุภาพของเทวราชาที่เชื่อมช่องว่างระหว่างกฎหมายที่มนุษย์กำหนดขึ้นกับธรรมะ กษัตริย์คือผู้เชื่อมโยงความดีทางการเมืองกับความดีสูงสุด “ตามธรรมชาติ” ภายใต้อำนาจอาณัติของการปกครองที่ทรงธรรม

ในที่นี้ ผู้เขียนกล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับพลังวิเศษในการเมืองไทย มิใช่ด้วยจุดประสงค์จะตีตราว่าการเมืองไทยมีแต่ความเชื่องมงาย แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าการที่หน่วยงานภาครัฐของไทยปฏิเสธการเมืองโดยหันไปหาแหล่งกำเนิดสัจธรรมในเชิงปรมัตถ์มีความสัมพันธ์กับบริบทนอกประเทศไทยด้วย

คิมมักอธิบายให้ผู้เขียนฟังว่า ความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์เป็นสิ่งที่เห็นได้ในชีวิตประจำวัน เธอชี้ให้เห็นผลกระทบด้านลบของระบบทุนนิยมก้าวหน้าในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และให้เหตุผลว่าเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ประเทศไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเพราะการเข้ามามีบทบาทของกษัตริย์

“พระมหากษัตริย์ของฉันประทานแนวคิดเกี่ยวกับความพอเพียง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์สอนให้เราเลิกตามก้นฝรั่ง สอนให้เรานับถือจารีตประเพณีในพระพุทธศาสนา และเตือนใจเราว่าการอยากได้ไอโฟนเครื่องใหม่ การอยากมีชีวิตแบบคนในเมือง การอยากได้อยากมีเหมือนเพื่อนบ้าน ทั้งหมดนี้รังแต่จะนำไปสู่ความทุกข์ พระองค์ทรงช่วยให้เรารอดพ้นจากความป่วยไข้ทางสังคมที่ส่งผลร้ายต่อสังคมตะวันตก ฝรั่งชอบคิดแต่ในแง่เศรษฐกิจ แต่ไม่สนใจในแง่ศีลธรรม ธรรมชาติหรือจิตวิญญาณ” เธอกล่าว

การเรียกชาวตะวันตกว่า ฝรั่ง เท่ากับคิมผลิตซ้ำมุมมองที่มีร่วมกันในหมู่ผู้นิยมสถาบันกษัตริย์ว่า พระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ซึ่งคนไทยมักเรียกด้วยคำง่ายๆ ว่า “พ่อ” คือผู้ที่ต่อสู้กับอิทธิพลจากภายนอกและภายในประเทศเพื่อนำพาประเทศไทยให้ออกห่างจากความล้นเกินด้านลบของระบบทุนนิยมด้วยการสอนค่านิยมในการบริโภคอย่างมีสติ คิมยืนยันอย่างภาคภูมิใจตามคำกล่าวอ้างของข้าราชการอาวุโสด้านสาธารณสุขในประเทศไทยที่ยกย่อง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงว่าเป็นแนวคิดต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่หลักการปกครองแนวสุขภาวะ (health governance) ขององค์การอนามัยโลก

ในขณะที่แนวคิดเกี่ยวกับการปกครองแนวสุขภาวะขององค์การอนามัยโลกมิได้เจริญรอยตามกรอบคิดทางพุทธศาสนาดังเช่นความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อแนวคิดนี้ แต่ทั้งสองแนวคิดต่างมีจุดร่วมในการผลักดันให้ทบทวนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเสียใหม่ โดยยอมรับว่าผลประโยชน์เหล่านี้มีข้อจำกัดพื้นฐานจากกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อมและชีววิทยา แนวคิดทั้งสองแบบให้เหตุผลว่า รัฐบาลที่วิ่งไล่ตามการแข่งขันระดับโลกเพื่อสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองนั้น ไม่ช้าก็เร็วย่อมเผชิญกับเงื่อนไขที่ท้าทายต่อความสุขและสุขภาวะของประเทศ ทั้งสองแนวคิดเสนอรูปแบบการปกครองที่ “ถูกต้อง” กล่าวคือการปกครองที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่กลุ่มเทคโนแครต ซึ่งมีความรู้ความสามารถที่จะนำผลลัพธ์ด้านชีวภาพในธรรมชาติมาร่วมพิจารณาในกระบวนการวางนโยบายได้

อันที่จริง ความคล้ายคลึงระหว่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับแนวคิดขององค์การอนามัยโลก ซึ่งต่างก็ต้องการผลักดัน “นโยบายที่มีสุขภาวะ” กลายเป็นหมุดหมายของการรัฐประหารครั้งที่แล้วในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2549   สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้นำคณะรัฐบาลทหารในครั้งนั้น กำหนดให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพแบบคิมเป็นแนวหน้าและศูนย์กลางในการปฏิรูปการเมืองและไปไกลถึงขั้นจารึกความคิดริเริ่มเกี่ยวกับการปกครองแนวสุขภาวะขององค์การอนามัยโลกควบคู่กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของกษัตริย์ไทยลงในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

การก้าวขึ้นมามีบทบาทของหน่วยงานรัฐ เช่น หน่วยงานของคิม มาพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่า “การหักเลี้ยวทางศีลธรรม” (moral turn)ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลทหารของสุรยุทธ์ ตรงกันข้ามกับทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งและวางบทบาทตัวเองเป็นซีอีโอของประเทศ รัฐบาลทหารของสุรยุทธ์ ชี้ให้เห็นผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาวะในสมัยที่ทักษิณถือครองอำนาจ อีกทั้งถือเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าการปกครองที่ขับเคลื่อนด้วยกำไรเป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดของธรรมชาติไปสู่ความโลภของมนุษย์ หลังจากแต่งตั้งตัวเองเป็นผู้พิทักษ์สุขภาวะของประเทศชาติด้วยพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ รัฐบาลทหารชั่วคราวก็สร้างความชอบธรรมว่าการรัฐประหารคือ “ความชั่วที่จำเป็น” เพื่อยับยั้งความโลภ รัฐบาลทหารอ้างว่าทักษิณนิยมแต่เศรษฐศาสตร์และละเลยธรรมะที่เป็นทั้งธรรมชาติและสัจธรรม ด้วยความที่ทักษิณมีอวิชชาต่อสัจธรรมที่เป็นพื้นฐานของกฎและระเบียบจักรวาล ทักษิณจึงไม่สามารถปกป้องประเทศให้พ้นจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ความป่วยไข้และความแตกแยกในสังคม

Prime Minister Prayut Chan-o-cha showing a collection of Buddhist amulets he wears around his neck during a press interview at Government House in Bangkok.

ต้อม ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานรัฐด้านสุขภาพอีกคนหนึ่ง แสดงความคิดเห็นสนับสนุนแนวคิดของสุรยุทธ์และตั้งข้อกังขาต่อระบอบประชาธิปไตยของไทยหลังจากประเทศกลับสู่การปกครองของพลเรือนในปี 2554 “ประเทศไทยยังไม่พร้อม” เขากล่าวและอธิบายต่อว่าระบอบประชาธิปไตยอาจใช้ได้ดีในโลกตะวันตก แต่ในบริบทของประเทศไทยยุคปัจจุบัน มันเป็นแค่ความฝันเฟื่อง ตามความคิดของต้อม ชาวบ้านขาด “ปัญญา” และง่ายต่อการตกเป็นเหยื่อนักการเมืองเห็นแก่ตัวที่คอยปั่นหัวให้ลงคะแนนให้พวกเขา มีแต่ “คนดี” กลุ่มคนที่มีสุขภาวะ ในที่นี้หมายถึงกลุ่มคนที่มีปัญญา กลุ่มคนที่สามารถตัดสินใจที่จะนำพาประเทศไปสู่ผลลัพธ์อันมีสุขภาวะ “ที่ดี” สอดคล้องกับกฎของจักรวาล คนกลุ่มนี้เท่านั้นที่สามารถฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาสู่รัฐไทย “คนดี” เหล่านี้ก็เช่นพวกเขา ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพนั่นเอง

ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกที่ส่งเสริม “สังคมความรู้ [ซึ่ง] อำนาจและการสั่งการไม่รวมศูนย์อยู่ที่รัฐบาลอีกต่อไป” (Kickbusch and Gleicher 2012: vi) ข้าราชการในหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐดังเช่นต้อมและคิมที่ผู้เขียนยกตัวอย่างในบทความนี้ ต่างก็ให้เหตุผลว่ามีแต่กลุ่มคนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองโดยตรงเท่านั้นที่สามารถวางนโยบายเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงและความคิดเรื่องการปกครองแนวสุขภาวะขององค์การอนามัยโลกล้วนเอื้อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเหล่านี้วาดภาพเพ้อฝันว่าตัวเองคือบุคคลที่เป็นกลางและสามารถเข้ามาแทรกแซงในนามของประชาชน

ประเด็นนี้หากดูเผินๆ อาจคล้ายแบบจำลองคลาสสิกของระบบจัดการแบบหลังการเมือง (post-politics) ด้วยระบอบเทคโนแครต ซึ่งแทนที่พื้นที่ทางการเมืองด้วยบรรทัดฐานและการจัดการแบบสุขอนามัย แต่ดังที่ผู้เขียนชี้ให้เห็นในช่วงต้นบทความว่า แนวคิดเกี่ยวกับการปกครองของคิมยังมีอีกแง่มุมหนึ่ง แง่มุมที่อาศัยอำนาจปริศนาของบารมี บารมีแตกต่างจากความเชี่ยวชาญ บารมีเป็นสิ่งที่ไขว่คว้าหามาหรือเรียนรู้ไม่ได้ บารมีหมายถึงอานุภาพที่ติดตัวมาแต่เกิดของคนบางคนที่เป็นตัวแทนของธรรมะ ผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นกลุ่มคนที่อ้างว่าสามารถตระหนักถึงบารมีและได้รับการยอมรับจากผู้มีบารมี ดังนั้น ระบอบเทคโนแครตที่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้วาดจินตภาพไว้ในใจก็คือ ระบอบที่ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนถ่ายทอดพลังจักรวาลของกษัตริย์องค์ก่อนในระดับที่แตกต่างกันไป โดยที่กษัตริย์องค์ก่อนอยู่ในตำแหน่งของผู้เชี่ยวชาญสูงสุด สำหรับผู้มีการศึกษาชาวไทย ตัวอย่างรูปธรรมที่แสดงถึงความเชื่อมโยงอันโดดเด่นระหว่างความรู้กับบารมีก็คือ รูปที่แขวนไว้บนฝาผนัง

เมื่อในหลวงพระราชทานปริญญาบัตร (อันเป็นภารกิจที่ในภายหลังมอบหมายให้พระราชวงศ์) พิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรทำหน้าที่ซ้อนกันสองประการคือ รับรองการจบการศึกษาและมอบอาณัติจากสถาบันกษัตริย์ให้แก่ผู้รับปริญญาแต่ละคน นี่เป็นพิธีกรรมที่ผู้เข้าร่วมยึดถือจริงจังมาก สิ่งที่เก็บไว้ในภาพถ่ายตลอดกาลก็คือภาพของตนเองยื่นมือรับใบปริญญาจากบุคคลที่นั่งในตำแหน่งสูงกว่า มันก่อให้เกิดสายใยอันน่าประหลาดระหว่างพสกนิกรกับพระเจ้าแผ่นดินที่ประทับบนยกพื้นเหนือขึ้นไป ในชั่วขณะดังกล่าว ใบปริญญาเชื่อมโยงสองฝ่ายเข้าด้วยกัน มันเป็นความเชื่อมโยงที่ร้อยรัดช่องว่างระหว่างผู้แสวงหาความรู้กับผู้ที่อยู่ ณ ต้นธารของสัจธรรม

ในขณะที่อำนาจวิเศษของบารมีช่วยหล่อลื่นกลไกที่ทำให้การเมืองกลายเป็นกฎธรรมชาติในประเทศไทย หากพิจารณาแนวคิดของนักคิดสำนักหลังการเมือง (post-politics) (โปรดดู Badiou 2008; Rancière 2006; Žižek 2006) เราอาจอ้างได้ว่า แนวคิดขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการปกครองแนวสุขภาวะในตัวมันเองก็ยึดติดกับลัทธิบูชาความรู้และการปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ โดยเชื่อว่ามันมีอำนาจที่จะตอบคำถามเบ็ดเสร็จว่าอะไรคือการปกครองที่ดี ดังที่ Ernesto Laclau (1996) ชี้ให้เห็น แนวความคิดเกี่ยวกับการเมืองเกิดขึ้นมาเพราะสังคมตั้งอยู่บนการขาดอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ การไม่มีกฎหมายสูงสุดที่รวบรวมประชาชนเข้าด้วยกัน แต่ในขณะที่ช่องว่างในสังคมนำมาซึ่งจุดกำเนิดของการเมือง แต่ช่องโหว่นี้เองที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพพยายามเข้ามาเสียบแทนด้วยบารมีกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ตามความคิดของผู้เชี่ยวชาญ เช่น ต้อม การขาดพื้นฐานทางศีลธรรมในสังคมนั่นเองที่เปิดช่องให้นักการเมืองฉ้อฉลอย่างทักษิณปั่นหัวมวลชน “ความรู้ที่ถูกต้องนั้นมีอยู่” หยก ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานรัฐอีกคนกล่าว “แต่ชาวบ้านนิยมฟังคำพูดของคนที่บอกพวกเขาว่าจะรวยเร็วๆ ได้อย่างไรมากกว่า”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความถูกต้องนี้ตั้งอยู่บนสัจธรรมปรมัตถ์ที่ไม่เปิดกว้างต่อการถกเถียงของสาธารณชน การจัดการต่อเสียงคัดค้านจึงอาศัยรูปแบบการกดขี่ปราบปรามด้วยความรุนแรง ความรุนแรงนี้เห็นได้ชัดจากการที่ต้อมสนับสนุนการรัฐประหารของกองทัพที่โค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ในระยะหลังยังรวมถึงความรุนแรงที่ฝูงชนกระทำต่อคนไทยที่ถูกมองว่าไม่โศกเศร้าเสียใจเพียงพอต่อการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวด้วย ในช่วงที่ประเทศไทยไว้ทุกข์ ครูใหญ่ตามโรงเรียนต่างๆ ยึดเสื้อผ้าที่ไม่ใช่สีขาวหรือสีดำ และเกิดเหตุการณ์หลายกรณีที่กลุ่มผู้โศกเศร้าเสียใจทุบตีทำร้ายและบังคับให้คนที่ตั้งข้อสงสัยต้องหมอบกราบหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ (รูป 1) การใช้ความรุนแรงเช่นนี้เผยให้เห็นว่า ตามความคิดของต้อมนั้น ถึงแม้คนที่ขาดปัญญามีข้อจำกัดในการ “เลือกอย่างมีสุขภาวะ” ก็จริง แต่คนที่อ้างว่าเข้าถึงสัจธรรมที่อยู่เหนือความจริงทางสังคมทั้งปวงก็มีข้อจำกัดเช่นกัน ดังที่ Hanna Arendt (1972) เสนอว่า คนที่ไม่มีพลังอำนาจในการผลิตความยินยอมเท่านั้นที่ต้องอาศัยกำลังป่าเถื่อนในการบังคับยัดเยียดสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้อง ตรงจุดนี้เองที่แนวคิดอันแตกต่างหลากหลายที่ผู้เขียนไล่เรียงข้างต้นมาบรรจบกัน ถึงแม้คิมปฏิเสธว่าอำนาจไม่ได้ตั้งอยู่บนการใช้กำลัง (เช่น ในไสยศาสตร์ของประยุทธ์) แต่ผู้ที่สนับสนุนการผสมผสานบารมีกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ระดับโลกเข้าด้วยกันกลับพบว่าตัวเองต้องถอยหลังไปใช้ความรุนแรงเป็นหนทางรักษาสัจธรรมที่ตามหลักแล้วควรแจ่มชัดในตัวเอง

ในขณะที่คิมและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ในหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐมองว่า ผู้สนับสนุนทักษิณคือคนส่วนใหญ่ที่งมงายและไร้การศึกษา ง่ายต่อการหลงเชื่อบรรดานายพลที่พล่ามถึงมนตร์ดำและนักการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยมองว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเองก็นิยมการใช้กำลังที่ไม่ใช่อำนาจของตัวเอง จำนวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่กองทัพเข้ามายึดอำนาจในปี 2549 และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีมากขึ้นต่อหน่วยงานรัฐ เช่น หน่วยงานของคิม ว่าส่งเสริมผลประโยชน์ของชนชั้นนำจนสร้างความเสียหายต่อประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ

Michael Taussig ให้ข้อคิดว่า เมื่อเราพูดถึงอำนาจวิเศษ “เรากำลังพูดถึงความรู้ของความรู้ที่ต้องไม่ให้ใครเข้าถึงเพื่อให้ความรู้นั้นดำรงอยู่ต่อไป” (1987: 262) ตามที่ Taussig กล่าวไว้ อำนาจวิเศษจะได้ผลต่อเมื่อแง่มุมที่สำคัญที่สุดของการคิดและการรู้ต้องซ่อนเร้นไว้ สิ่งที่ต้องซ่อนเร้นไว้สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเหล่านี้ก็คือรากฐานของบารมี ด้วยการกดเก็บความจริงข้อนี้ไว้เท่านั้น ความฝันเฟื่องถึงการปกครองที่ดีจึงโลดแล่นได้

แต่แนวความคิดเกี่ยวกับความดีที่สามารถแก้ไขช่องว่างของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอันเป็นหัวใจสำคัญของการเมืองเป็นประเด็นที่แพร่หลายเกินขอบเขตพรมแดนไทย อันที่จริง ผู้เขียนขอเสนอในที่นี้ว่า แนวความคิดเกี่ยวกับความดีนี้ รวมทั้งแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อบังคับยัดเยียด มันแฝงฝังอยู่ในความคิดของเราที่มองว่าข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เทียบเท่ากับสัจธรรมที่ไม่ขึ้นกับประวัติศาสตร์และอยู่เหนือบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจของยุคสมัย

Daena Funahashi
ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ผู้ประสานงานโครงการปริญญาโท ภาควิชามานุษยวิทยาการแพทย์
คณะมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัย Aarhus

Issue 22, Kyoto Review of Southeast Asia, September 2017

REFERENCES

Arendt, Hannah. 1972. Crises of the Republic. San Diego, California: Harcourt.
Badiou, Alain. 2008. The Meaning of Sarkozy. London: Verso.
Gray, Christine. 1986. Thailand: The Soteriological State in the 1970s. Ph.D. Dissertation: University of Chicago.
Johnson, Andrew Alan. 2013. “Moral Knowledge and its Enemies: Conspiracy and Kingship in Thailand” in Anthropological Quarterly 86(4): 1059-1086.
Jory, Patrick. 2002. “The Vessantara Jataka, Barami, and the Bodhisattva-Kings: The Origins and Spread of a Premodern Thai Concept of Power” in Crossroads: An Interdisciplinary Journal of Southeast Asian Studies 16(1):179-80.
Kickbusch, Ilona and David Gleicher. 2012. “Governance for Health in the Twenty-First Century.” Copenhagen: World Health Organization Regional Office for Europe. http://www.euro.who.int/en/publications/abstracts/governance-for-health-in-the-21st-century.
Laclau, Ernesto. 1996. “Deconstruction, Pragmatism, Hegemony.” In Deconstruction and Pragmatism. Chantal Mouffe (ed.), London: Routledge. Pp. 47-68.
Rancière, Jacques. 2006. Hatred of Democracy. London: Verso.
Taussig, Michael. 1987. Shamanism, Colonialism and the Wild Man: A Study of Terror and Healing. Chicago: University of Chicago Press.

Exit mobile version