Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

แนวร่วมสายกลาง-สุดขั้วในนามของศาสนาอิสลาม: ลัทธิอิสลามอนุรักษ์นิยมในอินโดนีเซียและมาเลเซีย

การที่ลัทธิอนุรักษ์นิยมทางศาสนาและการขาดขันติธรรมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเด็นที่สื่อและแวดวงวิชาการให้ความสนใจอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2000  ในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย การเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ตามท้องถนนที่มีประชาชนเข้าร่วมมากถึง 200,000 คนเพื่อเรียกร้องให้ดำเนินคดีนายบาซูกี จาฮายา ปูร์นามา (หรือรู้จักในชื่อเล่นว่า “อาฮก”) นักการเมืองชื่อดังผู้มีเชื้อสายจีนและนับถือศาสนาคริสต์ ในช่วงที่เขากำลังเตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา  การประท้วงทำให้เขาประสบเหตุพลิกผันไปในทางร้าย ไม่เพียงแค่พ่ายแพ้การเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังลงเอยด้วยการถูกตัดสินจำคุกสองปีข้อหาหมิ่นศาสนา  หลายคนมองว่าความสำเร็จในการระดมมวลชนมุสลิมออกมาต่อต้านนักการเมืองที่ได้รับความนิยม อันเป็นปฏิบัติการที่เรียกขานกันในอินโดนีเซียว่า “Aksi Bela Islam (ปฏิบัติการปกป้องศาสนาอิสลาม)  อีกทั้งผลกระทบด้านลบที่เกี่ยวพันกับอัตลักษณ์ทางศาสนาและชาติพันธุ์ของเขา ถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มใหญ่ที่นักวิชาการและผู้สันทัดกรณีนิยามว่าเป็น การเลี้ยวหาอนุรักษ์นิยม” และ การขาดขันติธรรมทางศาสนา ที่ปะทุขึ้นทั่วทั้งประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า การขาดขันติธรรมทางศาสนาต่อชุมชนคนกลุ่มน้อยเป็นผลลัพธ์มาจากแนวร่วมอย่างไม่เป็นทางการที่ก่อตัวขึ้นระหว่างชนชั้นนำทางศาสนาอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มแนวคิดสุดขั้วทางศาสนาในบริบทที่การเมืองกำลังก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยและอัตลักษณ์ทางศาสนากลายเป็นเรื่องการเมืองมากขึ้น  ข้อเสนอกระแสหลักมักมองว่าศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ชนชั้นนำฝ่ายฆราวาสนำมาใช้แสวงหาอำนาจรัฐ  ส่วนข้อสังเกตเชิงเปรียบเทียบของผู้เขียนชี้ให้เห็นในทางตรงกันข้ามว่า สิ่งที่นักทฤษฎีด้านขบวนการสังคมเรียกว่า การรับรอง จากผู้รู้และชนชั้นนำทางศาสนา  นี่คือหัวใจสำคัญที่ทำให้กลุ่มสุดขั้วเล็กๆ ที่อยู่ชายขอบสามารถระดมมวลชนมุสลิมได้สำเร็จ ตลอดจนโน้มน้าวนักการเมืองฆราวาสและกลไกรัฐจนเปิดช่องให้เกิดการขาดขันติธรรมในหมู่คนจำนวนมากขึ้นมา (Tilly and Tarrow 2007)  ในมุมมองของชนชั้นนำทางศาสนาตามจารีตประเพณี แนวร่วมมุสลิม “สายเคร่ง” ที่รวมตัวกันในนามของศาสนาอิสลามเพื่อต่อต้านคนที่ชนชั้นนำเหล่านี้มองว่าเป็น “ศัตรูของอิสลามและอุมมะฮ์ (umma หรือ ชุมชนมุสลิม)” แท้ที่จริงคือความพยายามที่จะรักษาและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สิทธิธรรมทางศาสนาและอำนาจทางการเมือง ในภาวะที่ต้องเผชิญกับพลังฝ่ายฆราวาสและเสรีนิยมที่มาแรงขึ้นและกลายเป็นการคุกคามมากขึ้น

การขาดขันติธรรมทางศาสนาในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีชาวมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่

แนวโน้มของการขาดขันติธรรมทางศาสนา โดยเฉพาะกรณีชาวมุสลิมที่เป็นคนกลุ่มใหญ่คุกคามคนกลุ่มน้อยทางศาสนา มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างน่าตระหนกตั้งแต่กลางทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา  ในอินโดนีเซีย การคุกคามทำร้ายคนกลุ่มน้อยทางศาสนา รวมถึงคนมุสลิมในนิกายเล็กกว่า เกิดบ่อยครั้งมากขึ้นพร้อมๆ กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งขึ้น  ตามข้อมูลขององค์กร Freedom House คะแนนเสรีภาพของประเทศอินโดนีเซียตกจนเหลือแค่ 3 (จาก 7 ที่ถือว่ามีเสรีภาพน้อยสุด) ในปี 2016 โดยเป็นผลจากการที่อิสรภาพและเสรีภาพของพลเมืองเสื่อมถอยลง ทั้งๆ ที่อินโดนีเซียเคยจัดอยู่ในสถานะ “มีเสรีภาพเป็นส่วนใหญ่” และมีคะแนนที่ดีกว่านี้ในช่วงปีต้นๆ หลังเปลี่ยนระบอบการปกครอง 1  มิหนำซ้ำ กลุ่มที่กระทำการขาดขันติธรรมและใช้ความรุนแรงหลายครั้งกลับเป็นกลุ่มที่เคยถูกจัดอยู่ใน “สายกลาง”  ยกตัวอย่างเช่น การใช้ความรุนแรงต่อชุมชนนิกายอามาดียะห์ (Ahmadiyah) และนิกายชีอะห์มีสูงมากอย่างผิดสังเกตในชุมชนที่เชื่อมโยงกับขบวนการนะห์ดาตุล อูลามะ (Nahdlahtul Ulama–NU) ซึ่งเป็นองค์กรมุสลิมตามจารีตประเพณีที่ได้รับความเชื่อถือมายาวนานว่าเป็นแบบอย่างของการมีขันติธรรมและยอมรับศาสนาอื่น

ในประเทศมาเลเซียก็เช่นกัน การขาดขันติธรรมทางศาสนาขยายตัวอย่างผิดสังเกตมาตั้งแต่ปี 2008 เมื่อระบอบอำนาจนิยมพรรคเดียวของประเทศต้องเผชิญกับฝ่ายค้านที่เข้มแข็งอย่างไม่เคยมีมาก่อน  ในขณะที่การขาดขันติธรรมทางศาสนาในอินโดนีเซียมักแสดงออกด้วยการใช้ความรุนแรง ดังที่พบเห็นจากการคุกคามทำร้ายชุมชนนิกายอามาดียะห์และนิกายชีอะห์หลายครั้ง  ส่วนมาเลเซียนั้นแตกต่างออกไป  การขาดขันติธรรมทางศาสนาในมาเลเซียมักแสดงออกมาในศาล ตามท้องถนนและในสื่อมวลชน ถึงแม้มีการใช้ความรุนแรงระดับเล็กๆ ย่อยๆ เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวก็ตาม

สิ่งที่ย้อนแย้งก็คือ การขาดขันติธรรมทางศาสนาขยายตัวมากขึ้นในอินโดนีเซียและมาเลเซียพร้อมๆ กับที่ชนชั้นนำฝ่ายฆราวาสประกาศปวารณาตนต่อ “อิสลามสายกลาง” เพื่อต่อสู้กับลัทธิสุดขั้วทางศาสนา รวมทั้งปกป้องภาพพจน์ของประเทศและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาให้มีสันติ (Hoesterey 2017)  อย่างไรก็ตาม การปวารณาตนของชนชั้นปกครองฝ่ายฆราวาสและองค์กรมุสลิมกระแสหลักมักถูกละเลยในภาคปฏิบัติ จนทำให้ลัทธิอิสลามอนุรักษ์นิยมสุดขั้วก่อตัวขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดและขยายตัวมากเกินไปในภาคประชาสังคมและการวางนโยบาย

ตลอดช่วงทศวรรษ 2000 ทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ชนชั้นนำทางศาสนาตามจารีตประเพณีมีโอกาสเข้าถึงตำแหน่งและอำนาจรัฐมากขึ้นภายในโครงสร้างรัฐฆราวาส  ชนชั้นนำสายอนุรักษ์นิยมได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำฆราวาส จึงฉวยโอกาสนี้ผลักดันและส่งเสริมการปกครองและการจัดระเบียบสังคมแบบอิสลามตามทัศนะของตน (Bush 2015, Ichwan 2005, 2013, Hamayotsu 2006, Salim 2007)  ชนชั้นนำสายอนุรักษ์นิยมบางคนเข้าไปแทรกแซงและครอบงำระบบราชการและสถาบันทางศาสนาของรัฐและกึ่งรัฐทั้งหลาย ในขณะเดียวกันก็จับมือกับกลุ่มสุดขั้วซึ่งมีวาระและเป้าหมายแบบอนุรักษ์นิยมร่วมกัน  การที่คนกลุ่มนี้มีบทบาทมากขึ้นในโครงสร้างของรัฐและการวางนโยบาย ส่งผลเสียต่อสถาบันและความพยายามของผู้นำระดับชาติและองค์กรอิสลามกระแสหลักที่ต้องการส่งเสริมศาสนาอิสลามสายกลางที่มีแนวคิดก้าวหน้า

การเมืองท้องถิ่น แนวร่วมมุสลิม “สายเคร่ง” และการระดมมวลชนเพื่อต่อต้านคนกลุ่มน้อย

ในอินโดนีเซีย การขาดขันติธรรมต่อคนกลุ่มน้อยทางศาสนาเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจตั้งแต่กลางทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา  ในบรรดาคนกลุ่มน้อยที่ตกเป็นเป้าของการใช้ความรุนแรงนั้น ชุมชนอามาดียะห์ตกเป็นเหยื่อมากที่สุด  เหตุการณ์ความรุนแรงราว 65% พุ่งเป้าไปที่สมาชิก ทรัพย์สินและสัญลักษณ์ของชุมชนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะชวาตะวันตก  ความรุนแรงต่อชุมชนชีอะห์ ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่มักตกเป็นเป้า ถึงแม้จำกัดอยู่แค่ในชุมชนเล็กๆ กล่าวคือในจังหวัดซัมปัง เกาะมาดูรา ชวาตะวันออก แต่เหตุการณ์ลงเอยด้วยความเสียหายต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินที่ร้ายแรงมาก อีกทั้งทำให้สมาชิกชุมชนถึง 165 คนต้องพลัดถิ่นฐาน

ในระดับชาติ บทบาทของชนชั้นนำทางศาสนาสายอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะกลุ่มอุลามะอ์ (ulama) ที่ครอบงำสภาอุลามะอ์อินโดนีเซีย (Indonesian Ulama Council—MUI) และกระทรวงกิจการศาสนา เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขยายทวีความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างมุสลิมกระแสหลักกับชุมชนคนกลุ่มน้อย  เจ้าหน้าที่ของ MUI ฉวยโอกาสใช้อำนาจและตำแหน่งที่เพิ่งได้รับจากประธานาธิบดีซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน (2004-2014) มาอ้างสิทธิ์วินิจฉัยชี้ขาด (ฟัตวา) เรื่องต่างๆ อย่างเป็นทางการ  พวกเขาใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนส่งสัญญาณแก่ชุมชนมุสลิมที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ทั่วทั้งประเทศหมู่เกาะนี้ว่า ความเหนือกว่าในด้านศาสนาและความเป็นปึกแผ่นของพวกตนกำลังตกอยู่ภายใต้การคุกคาม ทั้งนี้เพราะการขยายตัวและการแทรกแซงของกลุ่มคนที่ไม่ใช่อิสลามและต่อต้านอิสลามในสังคมอินโดนีเซีย  ความรู้สึกสั่นคลอนนี้เกิดจากทัศนะที่มองว่าการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอับดูร์ระห์มัน วาฮิด (1999-2001) ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาสายเสรีนิยมสุดขั้ว และเมกาวาตี ซูการ์โนปูตรี (2001-2004) ประธานพรรค PDI-P พรรครัฐบาลที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นมิตรกับกลุ่มคนที่ไม่ใช่มุสลิม  ประธานาธิบดีทั้งสองคนนี้ได้ทำลายวัตถุประสงค์ของชาวมุสลิมในอินโดนีเซีย  ส่วนโจโก วีโดโด ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ก็ถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับชนชั้นนำชาวคริสต์และชาวจีนมากกว่าชนชั้นนำชาวมุสลิมกระแสหลัก

แน่นอน กลุ่มสุดขั้วหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ FPI (Front Pembela Islam—แนวหน้าปกป้องอิสลาม) เป็นกลุ่มที่ส่งเสียงและแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อคนกลุ่มน้อยทางศาสนามากที่สุด ทั้งยังพร้อมที่จะปลุกปั่นให้ใช้ความรุนแรงต่อคนกลุ่มน้อยในนามของศาสนาอิสลาม  อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของกลุ่มสุดขั้วในระดับท้องถิ่นมักขึ้นอยู่กับสายสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อชนชั้นนำทางศาสนาตามจารีตประเพณี  ชนชั้นนำเหล่านี้มักครอบงำสภา MUI อันทรงอิทธิพลในการกำหนดนโยบายทางศาสนาและชี้นำสถาบันทางศาสนาอื่นๆ ที่กระทรวงกิจการศาสนาก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2005 ด้วยข้ออ้างว่าเพื่ออำนวยให้เกิด “ความปรองดองระหว่างศาสนา”  สถาบันประเภทนี้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดก็คือ “เวทีความร่วมมือเพื่อการปรองดองระหว่างศาสนา” (Forum Kerukunan Umat Beragama–FKUB)  ในพื้นที่ที่การขาดขันติธรรมทางศาสนามีความรุนแรงและเกิดปัญหาเรื้อรัง เช่น เมืองโบโกร์ คูนิงงันและตาซิกมาลายา ทั้ง MUI และ FKUB ได้สร้างความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันกับ FPI และกลุ่มสุดขั้วอื่นๆ อย่างแนบแน่น ไม่ว่าจะเป็นการให้พื้นที่ตั้งสำนักงานหรือตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับล่างแก่สมาชิกกลุ่มเหล่านี้ภายในโครงสร้างของระบบราชการทางศาสนา  แนวร่วมที่เกิดขึ้นไม่เพียงสนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อชุมชนอามาดียะห์ในเขตพื้นที่ของตน  แต่ยังสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านอาฮกที่ขยายตัวออกไปนอกเขตกรุงจาการ์ตาด้วย  หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพแตกต่าง ในเขตพื้นที่อื่น เช่น เมืองซิเรบอน ชนชั้นนำทางศาสนาตามจารีตประเพณีที่ครองตำแหน่งระดับสูงใน MUI และ FKUB เป็นกลุ่มที่ยึดมั่นใน “อิสลามสายกลาง” และปัญจศีล (Pancasila) ซึ่งเป็นอุดมการณ์ประจำชาติของอินโดนีเซียที่ยอมรับความหลากหลายทางศาสนา ชนชั้นนำเหล่านี้มีบทบาทปกป้องคนกลุ่มน้อยทางศาสนาในเขตพื้นที่ของตน  พวกเขาประกาศประณามการเคลื่อนไหวต่อต้านอาฮกที่ใช้ประเด็นทางศาสนาเป็นข้ออ้าง เพื่อยับยั้งกลุ่มสุดขั้วและชาวมุสลิมในเขตพื้นที่ของตนไม่ให้เข้าร่วมการเดินขบวนในกรุงจาการ์ตา

Thousands of the Indonesian muslims congregrated during Eid ul Fitr mass prayer in Istiqlal Mosque, the largest mosque in Southeast Asia, located in Central Jakarta, Indonesia. Photo: Gunawan Kartapranata, Wikipedia Commons

ในมาเลเซีย กลุ่มชาตินิยมและอิสลามสุดขั้ว เช่น Perkasa และ ISMA เพิ่มความกร่างและก้าวร้าวในการปลุกระดมชุมชนมลายูมุสลิมให้ต่อต้านคนกลุ่มน้อยทางศาสนามาตั้งแต่ปี 2008  พวกเขาอ้างถึง “ความเป็นอันดับหนึ่งของอิสลามและชุมชนมุสลิมตกอยู่ในภัยคุกคาม”  และพร้อมที่จะ “หลั่งเลือด” เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของชุมชนมลายูมุสลิม  สถานบูชา ทรัพย์สินและสัญลักษณ์ที่ไม่ใช่มุสลิมมักตกเป็นเป้าหมายหลักของการถูกฟ้องร้องในศาล  รวมทั้งถูกโจมตีจากฝูงชนและสื่อมวลชนเป็นครั้งคราวเมื่อความรุนแรงบานปลาย  ไม่นานนี้เอง พระในศาสนาคริสต์สามคนหายตัวไป  สันนิษฐานว่าทั้งสามถูกลักพาตัวเนื่องจากกรณีที่พวกเขาถูกกล่าวหาว่าดำเนินการชักชวนให้คนจากชุมชนมลายูมุสลิมมาเข้ารีต 2  หนึ่งในกรณีตัวอย่างที่สะท้อนการขาดขันติธรรมทางศาสนาได้ชัดเจนที่สุดคือการดำเนินคดีและตัดสินของศาลเกี่ยวกับการใช้คำว่า “อัลเลาะห์” ที่เป็นภาษาอาหรับในชุมชนที่ไม่ใช่มุสลิม ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาและการประท้วงด้วยความโกรธแค้นในชุมชนมุสลิมและโดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำ

องค์กรมลายูและอิสลามสุดขั้ว เช่น Perkasa มักถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวโจกในการยั่วยุและใช้ความรุนแรงต่อคนกลุ่มน้อยทางศาสนาและชาติพันธุ์  มีการคาดเดาหลายครั้งว่ากลุ่มสุดขั้วเหล่านี้เป็นตัวแทนของชนชั้นนำในพรรคอัมโน  รับใช้ผลประโยชน์ทางการเมืองของชนชั้นนำเหล่านี้ในการแสวงหาและรักษาคะแนนเลือกตั้งในเขตฐานเสียงที่เป็นชุมชนมลายูมุสลิมดั้งเดิม  จากมุมมองของชนชั้นนำในพรรคอัมโน กลุ่มชาตินิยม-ชาติพันธุ์และลัทธิอิสลามสุดขั้วเป็นกลุ่มที่มีประโยชน์ทางการเมืองต่อพรรคมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะฐานเสียงที่เคยสนับสนุนกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional–BN) ที่ครองเสียงข้างมากเริ่มหดหาย สาเหตุสำคัญสืบเนื่องจากความนิยมที่เสื่อมถอยลงในฐานเสียงชาวเมืองที่ไม่ใช่มุสลิม  แต่นักการเมืองพรรคอัมโนที่เป็นผู้นำระดับชาติจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อชุมชนที่ไม่ใช่มุสลิมได้อย่างเปิดเผย  เพราะต้องรักษาความชอบธรรมและอิทธิพลอำนาจของตัวเองไว้ในแนวร่วมและพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเชื้อชาติหลากหลาย  ในขณะที่กลุ่มสุดขั้วเหล่านี้ไม่มีข้อกริ่งเกรงใด ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ท่ามกลางภูมิหลังข้างต้นนี้ ชนชั้นนำชาวมลายูและชนชั้นนำทางศาสนาตามจารีตประเพณีได้ดำเนินการรุกคืบยั่วยุอย่างไม่เคยมีมาก่อน รวมทั้งคอยหนุนหลังข้ออ้างและการปลุกระดมของกลุ่มมลายูอิสลามสุดขั้วอย่างลับๆ  ทั้งหมดนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการกระตุ้นให้ชุมชนชาวมลายูมุสลิมเกิดทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคนที่ไม่ใช่มุสลิม โดยเฉพาะชาวคริสต์และกลุ่มเสรีนิยม  สำหรับชนชั้นนำดั้งเดิมที่เป็นชาวมลายูและอิสลาม เช่น สุลต่าน มุฟตี (ผู้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นศาสนา) รวมทั้งข้าราชการฝ่ายศาสนาของรัฐบาลกลางและรัฐต่างๆ  การที่ขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศที่เรียกว่า Bersih ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2007 และเข้มแข็งขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ตลอดจนฝ่ายค้านที่กวาดคะแนนเสียงได้ดีในการเลือกตั้งปี 2008 และ 2013 กระแสดังกล่าวกลายเป็นการคุกคามต่อรากฐานทางสถาบันและอุดมการณ์ของผู้อยู่ในอำนาจและตำแหน่งที่ฝังตัวอยู่ในระบอบการปกครองและรัฐที่มลายู-มุสลิมครองความเป็นใหญ่  ยิ่งแนวร่วมต่อต้านระบอบดั้งเดิม ซึ่งเป็นการจับมือกันระหว่างภาคประชาสังคมกับนักการเมือง มีความเข้มแข็งมากขึ้นและรุกคืบมากขึ้นในการเรียกร้อง “พหุนิยม” และ “สิทธิเท่าเทียม” ให้แก่พลเมืองชาวมาเลเซียทุกคนโดยไม่คำนึงถึงอัตลักษณ์ทางศาสนาหรือชาติพันธุ์  ชนชั้นนำทางศาสนาและมลายูดั้งเดิมก็ยิ่งปกป้องสิทธิพิเศษและอภิสิทธิ์ของตนมากขึ้น รวมทั้งต้องการปกป้องสถานะเหนือกว่าในรัฐธรรมนูญโดยอ้างความเป็นคนส่วนใหญ่ในด้านศรัทธาและอัตลักษณ์  ยิ่งกว่านั้น ความระแวงที่ระบาดในหมู่ชนชั้นนำชาวมลายูและอิสลามว่า พรรคอัมโนและพรรค PAS (Pan-Malaysian Islamic Party หรือพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย) สองพรรคหลักที่มีฐานเสียงในหมู่ประชากรชาวมลายูมุสลิม เริ่มโอนอ่อนต่อผลประโยชน์ของประชากรที่ไม่ใช่ชาวมลายูมากเกินไปเพื่อความอยู่รอดในการเลือกตั้ง ก็ยิ่งทำให้ชนชั้นนำดั้งเดิมหันไปหากลุ่มอิสลามชาตินิยมสุดขั้วและคล้อยตามข้ออ้างว่า “สิทธิของอิสลามและมลายูกำลังตกอยู่ในภัยคุกคาม”  เราควรเน้นย้ำด้วยว่า ชนชั้นนำชาวมลายูมุสลิมระดับแถวหน้า เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีมหาธีร์และอดีตหัวหน้าผู้พิพากษาหลายคน ทำตัวเป็นผู้อุปถัมภ์กลุ่มสุดขั้วชายขอบ เช่น Perkasa  ทำให้กลุ่มเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมขึ้นมา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่เคยเป็นที่ยอมรับในชุมชนชาวมุสลิม  ประเด็นสำคัญก็คือ แถลงการณ์ คำปราศรัย คำเทศน์และการตัดสินของชนชั้นนำทางศาสนาตามจารีตประเพณีที่ออกมาในเชิงเป็นปฏิปักษ์ต่อคนกลุ่มน้อย เป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ข้ออ้างและปฏิบัติการของกลุ่มสุดขั้วตามท้องถนน ในสื่อและในศาล ซึ่งยิ่งซ้ำเติมความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาให้เกิดความตึงเครียดอย่างน่าพรั่นใจและทำให้ขันติธรรมทางศาสนาเสื่อมถอยลง

สรุป

ทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย การจับมือกันระหว่างชนชั้นนำมุสลิมอนุรักษ์นิยมกระแสหลักกับกลุ่มสุดขั้ว คือหัวใจสำคัญในการปลุกระดมชาวมุสลิมให้ออกมาต่อต้านกลุ่มและบุคคลที่ชนชั้นนำทางศาสนามักแปะป้ายว่าเป็น “ศัตรูของอิสลาม” ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็น “พวกนอกรีต” หรือ “ชาวคริสต์” ก็ตาม  MUI ออกแถลงการณ์ “จุดยืนและความคิดเห็นทางศาสนา” ยืนยันว่าคำพูดของอาฮกเป็นการหมิ่นศาสนา ส่งผลให้เขาพ่ายแพ้ทางกฎหมายและถูกตัดสินจำคุก  MUI ยังร่วมมือกับ FPI ตำรวจและองค์กรมุสลิมอื่นๆ อีกหลายองค์กรจัดการเดินขบวนประท้วงอาฮกในกรุงจาการ์ตา  หากปราศจากการอนุมัติอย่างเป็นทางการของข้าราชการ MUI ในนามของศาสนาอิสลาม การระดมมวลชนชาวมุสลิมจำนวนมาก ทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก ที่กระเหี้ยนกระหือรือจะแสดงออกร่วมกัน จนกระทั่งอาฮกต้องประสบคราเคราะห์อย่างรวดเร็ว ทั้งหมดนี้คงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ  ในทำนองเดียวกัน  ชนชั้นนำและผู้มีอำนาจทางศาสนาตามจารีตประเพณีในมาเลเซียก็แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อคนกลุ่มน้อยทางศาสนาอย่างผิดสังเกต โดยเฉพาะต่อชาวคริสต์ เท่ากับเป็นการรับรองปฏิบัติการก้าวร้าวของกลุ่มสุดขั้วชายขอบในนามของการปกป้องอิสลาม  ในทั้งสองกรณี แนวร่วมระหว่างกลุ่มสายกลางกับกลุ่มสุดขั้วมีแรงจูงใจพื้นฐานมาจากความรู้สึกสั่นคลอนที่ฝังลึกในหมู่ชนชั้นนำทางศาสนา  พวกเขาหวาดระแวงว่ารากฐานของตำแหน่งและอำนาจของตนกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงและถูกคุกคามเมื่อต้องเผชิญกับกลุ่มพลังฝ่ายฆราวาสและเสรีนิยมที่เข้มแข็งและโดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ

Kikue Hamayotsu
Associate Professor
Department of Political Science
Northern Illinois University

บรรณานุกรม:

Bush, Robin. 2015. “Religious politics and minority rights during the Yudhoyono presidency.” In The Yudhoyono Presidency: Indonesia’s Decade of Stability and Stagnation, edited by Edward Aspinall, Marcus Mietzner and Dirk Tomsa, 239-57. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.

Hamayotsu, Kikue. 2006. Demobilizing Islam: Institutionalized Religion and the Politics of Co-optation in Malaysia, Department of Political and Social Change, Australian National University, Canberra.

Hoesterey, James B. 2017. Total Diplomacy, Cash Diplomacy, and the Fate of “Moderate Islam”. Contending Modernities: Exploring how religious and secular forces interact in the modern world, http://contendingmodernities.nd.edu/field-notes/total-diplomacy/.

Ichwan, Moch. Nur. 2005. “Ulama, State and Politics: Majelis Ulama Indonesia after Suharto.” Islamic Law and Society no. 12 (1):45-72.

Ichwan, Moch. Nur. 2013. “Towards a Puritanical Moderate Islam: The Majelis Ulama Indonesia and the Politics of Religious Orthodoxy.” In Contemporary Developments in Indonesian Islam: Explaning the ‘Conservative Turn’ edited by Martin van Bruinessen, 60-104. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.

Salim, Arskal. 2007. “Muslim Politics in Indonesia’s Democratisation: The Religious Majority and the Rights of Minorities in the Post-New Order Era.” In Indonesia Democracy and the Promise of Good Governance, edited by Ross H. McLeod and Andrew MacIntyre, 115-37. Singapore Institute for Southeast Asian Studies

Tilly, Charles, and Sidney Tarrow. 2007. Contentious Politics. Boulder Paradigm Publishers.

Notes:

  1. Freedom House, https://freedomhouse.org/report/freedom-world/2016/indonesia.
  2. ผู้เขียนสัมภาษณ์ผู้นำชาวคริสต์และฮินดูที่รัฐเซอลาโงร์และกัวลาลัมเปอร์ เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2017
Exit mobile version