Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

การกำหนดขอบเขต : การเมืองและวัฒนธรรมการปรับเปลี่ยนความรู้ให้เป็นแบบอิสลามในประเทศ มาเลเซีย

        

Georg Stauth
Politics and Cultures of Islamization in Southeast Asia: Indonesia and Malaysia in the Nineteen-nineties
[การเมืองและวัฒนธรรมการทำให้เป็นอิสลามในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ : ประเทศอินโดนีเซียและ มาเลเซียในทศวรรษ 1990] 
Bielefeld / Transcript Verlag / 2002 

Mona Abaza
Debates on Islam and Knowledge in Malaysia and Egypt: Shifting Worlds
[การอภิปรายที่ว่าด้วยอิสลามและความรู้ในประเทศมาเลเซียและอียิปต์ : โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ]London / Routledge Curzon / 2002

Syed Hussein Alatas
Ke Mana dengan Islam
[เค มานา ดังงาน อิสลาม ]Kuala Lumpur / Utusan Publications & Distributors / 2002

Farish A. Noor
Terrorising the Truth: The Shaping of Contemporary Images of Islam and Muslims in Media, Politics and Culture
[การก่อการร้ายต่อความจริง: การสร้างภาพของอิสลามและมุสลิมร่วมสมัยในสื่อ การเมือง และวัฒนธรรม]Kuala Lumpur / JUST / 1995

Farish A. Noor
“The Localisation of Islamist Discourse in the Tafsir of Tuan Guru Nik Aziz Nik Mat, Murshid’ul Am of PAS”
[การจำกัดวาทกรรมอิสลามให้อยู่เฉพาะเขตท้องถิ่นในทัฟเซียร์ของตวน กุรุนิค อาซีซ นิค มัท มูร์ชิดูล อัม แห่ง พีเอเอส]In Malaysia: Islam, Society and Politics [มาเลเซีย : อิสลาม สังคม และการเมือง ], ed. Virginia Hooker and Norani Othman
Singapore / ISEAS / 2003

Farish A. Noor
The Other Malaysia: Writings on Malaysia’s Subaltern History
[อีกด้านหนึ่งของมาเลเซีย : งานเขียนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์กระแสรองของมาเลเซีย ]Kuala Lumpur / Silverfishbooks / 2002

Chandra Muzaffar
Muslims, Dialogue, Terror 
[มุสลิม บทสนทนา และความน่าสะพึงกลัว ]Kuala Lumpur / JUST / 2003

 ศาสนาอิสลามในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีปมของ “ผู้ที่มาทีหลัง” อยู่ตลอดเวลา แต่กระนั้น อิสลามได้หยั่งรากลึกในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียมาอย่างน้อยตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 และยังได้มีการถ่ายโอนความคิดและเครือข่ายอย่างต่อเนื่องระหว่างศูนย์กลางของอิสลามในตะวันออกกลาง กับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  เกออร์ก ชเตาท์ เสนอความคิดว่านักวิชาการ เช่น คลิฟฟอร์ด เกิร์ทส์ และ ซเนาท์ เฮอร์กรอนีย์ ไม่เห็นความสำคัญของอิทธิพลที่อิสลามจากตะวันออกกลางมีต่อประเพณี (adat) ท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง และด้วยเหตุนี้จึงแบ่งแยกประเพณีออกจากอิสลามที่เน้นตัวบทและให้ความสำคัญกับกฎหมายอิสลามอย่างสิ้นเชิง ดังที่ชเตาท์ได้เสนอต่อไปอีก ชุมชนอิสลามในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มิได้รับความคิดแบบอิสลามอย่างหลับหูหลับตา หากแต่รู้จักใช้ความคิดแบบอิสลามนี้ไปในการสร้างความทันสมัยในทางโลก

ชเตาท์วิเคราะห์ลักษณะการควบคุมกระบวนการการทำให้เป็นอิสลามจากผู้มีอำนาจเบื้องบน การใช้ปัญญาชนและการสร้างประเพณีอิสลามท้องถิ่นขึ้นใหม่ ในกลุ่มมันสมองต่าง ๆ ที่มีนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดทิศทาง องค์กรอันทรงเกียรติเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของความเลื่อมใสศรัทธาที่พรรคอัมโน (UMNO) มีต่อศาสนาอิสลาม และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโครงการในระดับรัฐที่จะสร้างความทันสมัยให้แก่ประเทศ และขบวนการการปลดปล่อยภูมิบุตร ปัญญาชนคนสำคัญมากๆ คนหนึ่งในโครงการนี้ คือ ซาอีด นากีบ อัล-อัตตัส ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของนักบูรพาคดีศึกษาชาวตะวันตกหลายคน รวมทั้งเป็นครูและเพื่อนของนายอันวาร์ อิบบราฮิม นายอัล-อัตตัส มีเป้าหมายที่จะถอดถอนความเป็นตะวันตกให้ออกไปจากความรู้ท้องถิ่น และการเมืองของมาเลเซีย

โมนา อบาซา ศึกษาโครงการการแปรเปลี่ยนความรู้ให้เป็นแบบอิสลาม ดังกล่าวนี้ในบริบทของข้อโต้เถียงหลังอาณานิคม การกดขี่ควบคุมและการครอบงำทางทหารจากอำนาจตะวันตก รวมทั้งสภาพจิตใจของชาวมุสลิมที่ต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ต่างๆ และมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาผู้อื่น งานเขียนของนักวิชาการทั้งสองคนนี้เป็นการศึกษาปัญญาชนชาวมุสลิมในวาทกรรมที่เกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับโลกตะวันตก และการวิพากษ์วัฒนธรรมจากมุมมองของตะวันตก ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ค่อยๆ เปิดเผยตัวให้ปรากฏทีละน้อย และเมื่อได้ศึกษาจนเห็นภาพที่น่าสนใจของปัญญาชนมุสลิมอย่างถ่องแท้เช่นนี้แล้ว ภาพของการสร้างสังคมมุสลิมขึ้นมาใหม่ในลักษณะที่ต่อต้านโลกตะวันตกและวิถีทางโลกก็จะปรากฎให้เห็นเด่นชัดขึ้น

 นักวิชาการชาวมาเลเซีย 3 คน ได้แก่ ซาอีด ฮุสเซน อะลาตัส ฟาริช เอ นัวร์ และจันทรา มุซซาฟาร์ เสนอข้อวิพากษ์ที่สมเหตุสมผลต่อการใช้ศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือในทางการเมือง ซาอีด ฮุสเซน อะลาตัส (พี่ชายของเอส เอ็น อัล-อัตตัส) วิเคราะห์อคติของตะวันตกในการศึกษาสังคมเอเชียก่อนที่เอ็ดวาร์ด ซาอีด จะตีพิมพ์หนังสือชื่อ คตินิยมแบบตะวันออก (Orientalism) อะลาตัสเสนอความคิดในหนังสือเล่มใหม่ของเขาไว้ว่า ศาสนาอิสลามได้ถูกควบคุมและใช้งานเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง อะลาตัสเป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาคนสำคัญของมุซซาฟาร์ นักวิชาการที่พัฒนามุมมองของเขาเองต่อวัฒนธรรม จริยธรรมและความคิดเรื่องความยุติธรรมของอิสลาม นักวิชาการทั้งสองรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยกับโครงการการแปรเปลี่ยนความรู้ให้เป็นแบบอิสลาม เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่ากลุ่มคนที่ต้องการสร้างความเป็นอิสลามเองก็อาจจะลิดรอนเสรีภาพทางการเมืองในทุกรูปแบบ

ส่วนนัวร์โต้แย้งว่า เอส เอ็น อัล-อัตตัส มองอิสลามในแง่ของความเป็นอดีตที่มีความเฉพาะตัวทางวัฒนธรรม และเป็นที่โหยหาให้หวนกลับคืนมา แต่ต้องเผชิญกับการคุกคามจากโลกตะวันตกที่พยายามแปรเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ให้มีลักษณะแบบทางโลก สำหรับผู้ที่รับผิดชอบโครงการการสร้างความเป็นอิสลามนั้น อิสลามมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นและเป็นศาสนาเดียวเท่านั้นที่มีคำสอนที่เป็นสากล ดังที่นัวร์ได้ตั้งข้อสังเกต  ความคิดดังกล่าวนี้เป็นแรงดึงดูดอย่างมหาศาลที่สามารถโน้มน้าวจิตใจของนักเรียนชาวมาเลเซียที่เมื่อกลับมาจากการศึกษาในต่างประเทศ รู้สึกผิดหวังกับโลกตะวันตก และอึดอัดกับประวัติศาสตร์ของชาติตนเอง

อเล็กซานเดอร์ ฮอร์สท์มันน์ (Alexander Horstmann) 

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 5 (March 2004). Islam in Southeast Asia

Exit mobile version