ครอบครัวเวียดนาม-ไต้หวัน
ผู้เข้าร่วมในโครงการวิจัยชิ้นนี้มักพบคู่สมรสในอนาคตผ่านการทำงานหรือการแนะนำ (มีหนึ่งกรณีที่พบกันผ่านธุรกิจบริการหาคู่) ผู้หญิงชาวเวียดนามในกลุ่มตัวอย่างมักมีการศึกษาสูง กล่าวคือ ผู้เข้าร่วม 11 รายจบการศึกษาระดับไฮสกูลหรือสูงกว่านั้น และมีเพียงรายเดียวที่มีระดับการศึกษาแค่มัธยมต้น พวกเธอส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญในภาษาที่สอง อาทิ ภาษาจีน อังกฤษ หรือญี่ปุ่น มีบางรายเป็นชาวเวียดนามเชื้อสายจีนด้วย นอกจากนี้ พวกเธอยังมีงานประจำมั่นคงก่อนแต่งงาน ชาวไต้หวันในกลุ่มตัวอย่างมักมาอยู่ในเวียดนามเพื่อทำธุรกิจและพบคู่สมรสในอนาคตที่นั่น
“ในเวียดนาม คู่สมรสเวียดนาม-ไต้หวันส่วนใหญ่มักทำงานด้วยกันมาก่อน ก่อนที่จะคบหาดูใจกันและตัดสินใจแต่งงานกัน ส่วนในไต้หวัน ส่วนใหญ่การแต่งงานมักเกิดขึ้นผ่านธุรกิจบริการหาคู่ แต่ผู้ชายไต้หวันที่มาที่เวียดนามมักเลือกคู่ครองจากการคบหาดูใจกันก่อนและฝ่ายหญิงสามารถเป็นคู่ชีวิตที่สนับสนุนชีวิตครอบครัวได้” (ผู้หญิง, 51 ปี, แต่งงานมา 19 ปี)
ครอบครัวพหุวัฒนธรรมเวียดนาม-ไต้หวันซึ่งเข้าร่วมโครงการวิจัยนี้ มีที่อยู่อาศัยตามกฎหมายภายใต้ชื่อของภรรยาชาวเวียดนาม การกระทำแบบนี้มักมองว่าเป็นการที่สามียืนยันความไว้วางใจและความรักที่มีต่อภรรยา รวมทั้งแสดงความตั้งใจที่จะ “ลงหลักปักฐาน” สร้างความก้าวหน้าในอาชีพการงานและชีวิตในเวียดนามด้วย อย่างไรก็ตาม การกระทำนี้ก็ตั้งอยู่บนการคำนวณต้นทุน-กำไรเช่นกัน เพราะธนาคารและบริษัทต่างๆ ให้กู้เฉพาะแก่ชาวเวียดนามเท่านั้น (ความคิดเห็นจาก ผู้หญิง, 36 ปี, แต่งงานมา 7 ปี และผู้ชาย, 32 ปี, แต่งงานมา 2 ปี) ในทำนองเดียวกัน การประกอบธุรกิจและการทำธุรกรรมของครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับรัฐก็ใช้ชื่อของภรรยาชาวเวียดนาม
ในด้านศาสนา คู่สามีภรรยามักหารือเรื่องสิทธิในการนับถือศาสนาก่อนแต่งงาน และตกลงกันว่าจะไม่บีบบังคับให้อีกฝ่ายเปลี่ยนศาสนา กระนั้นก็มีการเปลี่ยนศาสนาเกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ้าง
“ฉันเป็นคาทอลิกและสามีฉันเข้ารีตเป็นคาทอลิกเพราะการแต่งงานของเรา ก่อนแต่งงานกัน ฉันถามว่าเขาเต็มใจจะเข้ารีตไหม? ตอนนั้นเขาตอบทันทีว่า เพราะครอบครัวของเขานับถือศาสนาพุทธ เขาจะไม่เปลี่ยนศาสนา…. หลังจากนั้น เขาคิดทบทวนและเปลี่ยนใจเข้ารีต ตอนนี้ครอบครัวของฉันเป็นคาทอลิกทั้งครอบครัว เราไปร่วมพิธีมิสซาทุกวันอาทิตย์ เมื่อเขากลับไปไต้หวัน เขาก็ไปเข้าร่วมพิธีมิสซาด้วยตัวเอง”
ด้วยเหตุนี้ การแต่งงานจึงเริ่มต้นด้วยสถานะเท่าเทียมกันและแสดงออกถึงการเป็นผู้กระทำการจากทั้งสองฝ่าย ความรัก ความนับถือ และการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ถือว่ามีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ แต่ก็ไม่มองข้ามข้อคำนึงด้านเศรษฐกิจและวัตถุรูปธรรมด้วย
ภาษาและการสื่อสาร
ความเชี่ยวชาญในภาษาต่างประเทศอย่างน้อยหนึ่งภาษาช่วยให้คู่สมรสมีภาษาที่ใช้ร่วมกันในชีวิตแต่งงาน (ข้อมูลจาก ผู้ชาย, 32 ปี, แต่งงานแล้ว 2 ปี) ในงานวิจัยชิ้นนี้ คู่สมรสที่เป็นคนไต้หวัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่อาศัยในเวียดนามมาแล้ว 10 ปีหรือนานกว่านั้น สามารถเข้าใจภาษาเวียดนามบางส่วนหรือเกือบทั้งหมด แม้ว่าน้อยคนจะพูดภาษาเวียดนามในชีวิตประจำวัน ในขณะเดียวกัน ความเชี่ยวชาญในภาษาจีนของคู่สมรสที่เป็นชาวเวียดนามยิ่งก้าวหน้าขึ้น นอกจากนี้ คู่สมรสที่เป็นชาวไต้หวันมีความมุ่งมั่นและความมั่นใจน้อยกว่าในการเรียนรู้และสื่อสารโดยใช้ภาษาเวียดนาม สาเหตุเพราะความยากในการเรียนรู้ พวกเขามักอาศัยคู่ครองของตนที่เป็นชาวเวียดนามช่วยแปลให้ (ข้อมูลจาก ผู้หญิง, 51 ปี, แต่งงานแล้ว 19 ปี)
“สามีของฉันพยายามเรียนภาษาเวียดนาม แต่ได้แค่คำง่ายๆ เช่น ขอบคุณและสวัสดี … คนชอบถามบ่อยๆ ว่าทำไมฉันไม่สอนเขา แต่มันสอนไม่ได้ แม้แต่ครูก็สอนไม่ได้ วันแรกเขาก็ไม่ยอมเรียน จากนั้นเขาบอกว่าจะเรียนพร้อมลูกในช่วงฤดูร้อน จนตอนนี้ลูกของเราพูดได้ทั้ง 2 ภาษา ส่วนเขาก็ยังพูดภาษาเวียดนามไม่ได้” (ผู้หญิง, 36 ปี, แต่งงานแล้ว 7 ปี)
การเลือกภาษาในครอบครัวพหุวัฒนธรรมเวียดนาม-ไต้หวันจึงเป็นดังนี้: ภาษาจีนระหว่างสามีกับภรรยา และบิดากับลูก ส่วนระหว่างมารดากับลูกนั้น มารดาพูดภาษาเวียดนามและลูกตอบโต้ด้วยภาษาจีนหรือภาษาเวียดนาม มีบางครอบครัวใช้ภาษาจีนเพียงภาษาเดียวในการสื่อสารประจำวัน ทำให้ลูกๆ ของพวกเขาค่อยๆ สูญเสียความสามารถในการใช้ภาษาเวียดนามไปเรื่อยๆ และสูญเสียการรู้ภาษาเวียดนามไปโดยปริยายจากการเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติที่ภาษาหลักในการเรียนการสอนไม่ใช่ภาษาเวียดนาม (ข้อสังเกตจาก ผู้หญิง, 36 ปี, แต่งงานแล้ว 8 ปี รวมทั้งจากการสัมภาษณ์นักเรียนในโรงเรียนนานาชาติไทเป) ความสับสนด้านภาษาในเด็กเล็กอาจเกิดขึ้นในครอบครัวที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้สองหรือกระทั่งสามภาษาในวัยเด็กเกินไป
“ในช่วง 24-25 สัปดาห์แรก ลูกของฉันสื่อสารแค่ผงกหัว จนฉันกลัวว่าลูกจะมีปัญหาด้านพัฒนาการ พอรู้ว่าครอบครัวของฉันเป็นครอบครัวสองภาษา หมอก็ยืนยันให้ฉันมั่นใจว่า ลูกๆ จะโตมาพูดได้และพูดคล่องเมื่อเด็กตัดสินใจว่าจะใช้ภาษาอะไร” (ผู้หญิง, 51 ปี, แต่งงานแล้ว 19 ปี)
ความรู้ด้านภาษายังเป็นอุปสรรคด้านการสื่อสารภายในครอบครัวด้วย สมาชิกในครอบครัวขยายอาจประสบความยากลำบากในการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม และคู่แต่งงานอาจเกิดความเข้าใจผิดเชิงวัฒนธรรมต่อกันสืบเนื่องจากอุปสรรคนี้ (ผู้ชาย, 32 ปี, แต่งงานแล้ว 2 ปี)
ดังนั้น ภาษาสำหรับการสื่อสารในครอบครัวพหุวัฒนธรรมเวียดนาม-ไต้หวันที่อาศัยในนครโฮจิมินห์จึงขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญทางภาษาของคู่สมรสอย่างมาก ภรรยาชาวเวียดนามส่วนใหญ่มักพูดภาษาจีนได้ดีกว่าสามีชาวไต้หวันพูดภาษาเวียดนาม ดังนั้น การสื่อสารระหว่างสามีกับภรรยาจึงใช้ภาษาจีนเป็นหลัก ภาษาที่เด็กในครอบครัวพหุวัฒนธรรมเวียดนาม-ไต้หวันใช้มีความหลากหลายมากกว่า เนื่องจากไม่เพียงถูกกำหนดจากความสามารถด้านภาษาของพ่อแม่เท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการเรียนรู้และสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตของตัวเด็กเองด้วย
อาหารการกิน
การเลือกอาหารการกินในครัวเรือนสะท้อนถึงกระบวนการตัดสินใจของครอบครัวและการเลือกสิ่งที่ชอบมากกว่าในทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมด้านอาหารเป็นเรื่องปฏิบัติได้ง่าย แต่ช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ อาจต่อรองกันยาก เมื่อคำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆ เช่น สภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิต อุปนิสัยการกินของครอบครัว และความพึงใจของปัจเจกบุคคล งานวิจัยของเราพบว่า ในครอบครัวเวียดนาม-ไต้หวันในนครโฮจิมินห์ มีวัฒนธรรมอาหารสองชาติหรือมากกว่านั้นดำรงอยู่ร่วมกันและในภาคปฏิบัติก็เป็นไปตามความชอบที่มีอยู่มาก่อน แต่น่ายินดีที่ครอบครัวเชื่อในหลักการรับประทานอาหารร่วมกัน
“ขึ้นอยู่กับใครเป็นคนทำอาหารในวันนั้น ถ้าเป็นผมก็ทำอาหารเวียดนาม ส่วนภรรยาผมก็จะทำอาหารไต้หวัน เราทำอาหารตามจุดเด่นและรสชาติของเรา ซึ่งอาจแตกต่างกันไป แต่ก็ปรับและประยุกต์ได้ด้วย” (ผู้ชาย, ชาวเวียดนาม, 55 ปี, แต่งงานแล้ว 23 ปี)
ความแตกต่างทางวัฒนธรรมจึงมาบรรจบและดำรงอยู่ร่วมกัน พรมแดนบางอย่างเป็นเส้นคั่นที่ก้าวข้ามไม่ได้ เช่น คู่สมรสชาวไต้หวันไม่กินซอส (ปลา) “ประจำชาติ” ของเวียดนาม และชาวไต้หวันน้อยคนชอบกินไข่ข้าว (balut บาลุต) ของเวียดนาม ซึ่งเป็นอาหารว่างยอดนิยมในเวียดนาม ทำจากไข่เป็ดที่ผสมแล้วและมีตัวอ่อนของเป็ดอยู่ข้างใน นอกจากนี้ก็มีความแตกต่างระหว่างของหวานและอาหารว่าง รวมทั้งวิธีการปรุงและการเตรียมอาหาร (ผู้ชาย, 46 ปี, แต่งงานแล้ว 7 ปี)
จากงานวิจัยนี้ เราจึงได้สำรวจดูอุปนิสัยการรับประทานอาหารของครอบครัวพหุวัฒนธรรมเวียดนาม-ไต้หวัน มีทั้งความหลากหลาย การปรับประยุกต์ ความขัดแย้ง ความกลมกลืน ความเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งการโอนอ่อนให้กันระหว่างสมาชิกในครอบครัว
สัญชาติ สถานะพลเมือง และการรับรู้ถิ่นกำเนิด
ความแตกต่างในบริบททางสังคมและการเมือง รวมทั้งนโยบายของแต่ละประเทศ นำไปสู่ความแตกต่างในบทบาทและสถานะของคู่สมรสภายในครอบครัวพหุวัฒนธรรมเวียดนาม-ไต้หวันที่อาศัยอยู่ในนครโฮจิมินห์
สำหรับชาวต่างชาติที่แต่งงานกับชาวเวียดนามและอยู่อาศัยในเวียดนาม สิทธิของการมีถิ่นที่อยู่ในเวียดนามขึ้นอยู่กับการจ้างงาน (ผ่านบริษัท) โดยสิ้นเชิง หรือใบอนุญาตของผู้ติดตามที่เป็นครอบครัว (คู่สมรสของตน) ปรกติแล้ว “บริษัทจัดการทุกอย่าง” อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องวีซ่าจะค่อยๆ เกิดขึ้น หากครอบครัวนั้นๆ ไม่ตระหนักถึงความแตกต่างบางอย่างที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนประเภทของวีซ่า เช่น เมื่อมีการเปลี่ยนประเภทจากผู้ติดตามที่เป็นครอบครัวมาเป็นวีซ่าธุรกิจหรือวีซ่าทำงาน (เมื่องานของพวกเขาเปลี่ยนไป) ในงานวิจัยนี้ สมาชิกของครอบครัวพหุวัฒนธรรมมองว่า นโยบายวีซ่าของประเทศเวียดนามสร้างปัญหามากและทำให้คู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติเสียเปรียบในการอยู่อาศัยที่เวียดนาม
ลูกของครอบครัวพหุวัฒนธรรมเวียดนาม-ไต้หวันในนครโฮจิมินห์สามารถได้สถานะพลเมืองทั้งเวียดนามและไต้หวัน หากว่าการแต่งงานของพ่อแม่มีการจดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกกฎหมายของทั้งสองประเทศ การถือสองสัญชาติมีสิทธิประโยชน์อย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น ถึงแม้เด็กคนนั้นอาศัยอยู่นอกประเทศไต้หวัน แต่พวกเขาก็จะได้รับเงินสนับสนุน/ความช่วยเหลือระหว่างเกิดโรคระบาดโควิด-19 เมื่อไม่นานมานี้ ได้รับทุนการศึกษาในการเข้าเรียนที่โรงเรียนนานาชาติไทเปในเวียดนาม รวมทั้งได้สิทธิประโยชน์จากนโยบายอุดหนุนเด็กอื่นๆ ของรัฐบาลไต้หวัน เด็กที่ถือสองสัญชาติซึ่งเข้าร่วมโครงการวิจัยนี้ เมื่อถูกถาม พวกเขาจะไม่ระบุว่าตนเป็นพลเมืองของสองรัฐ แต่มักปรับแต่งคำตอบโดยขึ้นอยู่กับว่า พวกเขาจะได้รับประโยชน์แค่ไหนจากคำตอบของตน
“โดยทั่วไปแล้ว สวัสดิการในไต้หวันสำหรับผู้สูงอายุและเด็กจะดีมาก ลูกของฉันสองคน พวกเขาแทบไม่ได้รับการอุดหนุนในเวียดนามเลย แต่ตอนนี้รัฐบาลไต้หวันให้ทุนสนับสนุนเด็กแต่ละคนเป็นจำนวนเงิน 5,000 ดอลลาร์ไต้หวันต่อเดือน ในช่วงเกิดโรคระบาด ในเวียดนาม เด็กได้รับเงินค่าครองชีพคนละ 1 ล้านด็องเวียดนาม ในขณะที่รัฐบาลไต้หวันให้ประมาณ 8 ล้านด็อง” (ผู้หญิง, ชาวเวียดนาม, 36 ปี แต่งงานแล้ว 8 ปี)
นอกจากนี้ นโยบายสวัสดิการสำหรับคู่สมรสชาวต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในเวียดนามก็น้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคู่สมรสชาวต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในไต้หวันได้รับ อย่างไรก็ตาม คู่สมรสชาวเวียดนามต้องใช้ความพยายามในการเดินทางไปมาบ่อยๆ เพื่อรักษาสายสัมพันธ์และเพื่อให้ตนมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์และเงื่อนไขในการถือสัญชาติที่เกี่ยวข้องกับถิ่นที่อยู่และสิทธิอื่นๆ
“ไต้หวันถือว่าเจ้าสาวชาวเวียดนามเป็นคนไต้หวันถ้าพวกเธออาศัยอยู่ในไต้หวัน แต่ถ้าคนไต้หวันแต่งงานกับคนเวียดนามและอาศัยในเวียดนามมาหลายปี พวกเขากลับไม่ได้รับการยอมรับจากเวียดนามเลย เวียดนามไม่ถือว่าคนไต้หวันเป็นคนเวียดนาม” (ผู้ชาย, 46 ปี แต่งงานแล้ว 7 ปี)
สรุป
งานวิจัยชิ้นนี้และก่อนหน้านี้มุ่งเน้นความสนใจที่ครอบครัวพหุวัฒนธรรมเวียดนาม-ไต้หวัน ส่วนใหญ่ประกอบด้วยภรรยาชาวเวียดนามกับสามีชาวไต้หวัน ซึ่งเลือกที่จะอยู่อาศัยในนครโฮจิมินห์แทนที่จะไปอยู่อาศัยในไต้หวัน งานวิจัยนี้สำรวจดูภาพรวมของสถานภาพ จำนวน การกระจายตัวเชิงภูมิศาสตร์ บริบทของการก่อตั้งครอบครัว และแง่มุมบางประการที่น่าจะมีความสำคัญต่อชีวิตครอบครัวพหุวัฒนธรรม อาทิ การใช้ภาษาและแบบแผนในการสื่อสาร การเลือกอาหารการกิน สัญชาติและสถานะพลเมือง
งานวิจัยนี้พบว่า จำนวนของครอบครัวพหุวัฒนธรรมเวียดนาม-ไต้หวันที่อาศัยอยู่ในนครโฮจิมินห์ทุกวันนี้ มีจำนวนที่น่าจับตามองและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ครอบครัวเหล่านี้มักอาศัยอยู่ใน District 7, District 1 และนครถูดึ๊ก (Thu Duc City) ผู้ชายชาวไต้หวันในกลุ่มตัวอย่างมาอยู่ในนครโฮจิมินห์เพื่อทำงาน แล้วบังเอิญได้รู้จักและมีความรักกับคู่ครองคนปัจจุบันด้วยกระบวนการที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่จากธุรกิจหาคู่ นี่หมายความว่า สายสัมพันธ์ของความรักมีบทบาทในการก่อรูปความสัมพันธ์มากกว่าข้อพิจารณาด้านเศรษฐกิจหรือวัตถุ ในครอบครัว คู่สมรสชาวเวียดนามมักใช้ภาษาจีนได้คล่องแคล่วมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบความคล่องแคล่วในการใช้ภาษาเวียดนามของคู่ครองชาวไต้หวัน ดังนั้น การสื่อสารในครอบครัวพหุวัฒนธรรมเวียดนาม-ไต้หวันในนครโฮจิมินห์จึงดำเนินตามแบบแผนดังนี้คือ ใช้ภาษาจีนระหว่างคู่สมรส รวมทั้งระหว่างลูกกับคู่สมรสชาวไต้หวัน และใช้ภาษาเวียดนามระหว่างคู่สมรสชาวเวียดนามกับลูก เด็กๆ ที่เกิดในครอบครัวพหุวัฒนธรรมเวียดนาม-ไต้หวันมีศักยภาพที่จะเชี่ยวชาญถึงสามภาษา นั่นคือ ภาษาเวียดนาม-ภาษาจีน-ภาษาอังกฤษ ระดับของความเชี่ยวชาญและการใช้ภาษาในการสื่อสารประจำวันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมในครอบครัวหรือสถาบันการศึกษา ซึ่งกำหนดทักษะด้านภาษาของพวกเขา ภาวะหลายภาษาในครอบครัวที่ใช้หลายภาษาอาจสร้างปัญหาท้าทายเฉพาะตัวขึ้นมาด้วย ยกตัวอย่างเช่น การขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อความปรารถนาและความต้องการทางอารมณ์ที่ซับซ้อนระหว่างคู่สามีภรรยาอันเนื่องจากอุปสรรคขวางกั้นด้านภาษา หรือเกิดภาวะสับสนในภาษาของเด็กที่เกิดมาในครอบครัวหลายภาษา นอกจากประเด็นเรื่องภาษาแล้ว การเลือกอาหารการกิน กิจวัตรประจำวัน อาจกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกระบวนการต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้ง การปรับเปลี่ยนผสมผสานข้ามวัฒนธรรม ความกลมเกลียว การเคารพซึ่งกันและกัน และการโอนอ่อนต่อกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ สำหรับชาวไต้หวันที่แต่งงานกับชาวเวียดนามและอยู่อาศัยในนครโฮจิมินห์ ถ้าพวกเขาไม่เปลี่ยนสัญชาติเป็นชาวเวียดนาม แต่ต้องการมีสถานะถิ่นที่อยู่ระยะยาว พวกเขาจะต้องพึ่งพิงสถานะการจ้างงานหรืออาศัยภรรยากับลูกเป็นหลักรับประกันการได้วีซ่า ส่วนเด็กที่เกิดในครอบครัวหลายภาษาที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ส่วนใหญ่ได้รับสิทธิ์ถือสองสัญชาติ กระนั้นก็ตาม ความตระหนักถึงสถานะพลเมืองของตนมิได้อยู่ในลักษณะของทวิอัตลักษณ์ แต่พวกเขาจะเลือกระบุอัตลักษณ์ของตัวเองโดยขึ้นอยู่กับบริบทและยุทธศาสตร์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าสูงสุด
Phan Thi Hong Xuan, Ho – Hsien Chen, Vo Phan My Tra
ผู้เขียนบทความประกอบด้วย: Phan Thi Hong Xuan (University of Social Sciences and Humanities – Vietnam National University Ho Chi Minh City), Ho-Hsien Chen (Taipei Economic and Cultural Office in Ho Chi Minh City), และ Vo Phan My Tra (University of Leipzig, Germany). หากมีข้อสงสัยประการใด กรุณาติดต่อทางอีเมล์นี้: xuan.pth@hcmussh.edu.vn
Acknowledgement: งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก Vietnam National University Ho Chi Minh City (VNU-HCM) ภายใต้ทุนหมายเลข B2022-18b-04.
Banner: Ho Chi Minh City, Saigon, Socialist Republic of Vietnam – the book shop street near the post office. Photo, dotmiller1986, Shutterstock