Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

‘อินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติ’ และอนาคตของระบอบเผด็จการดิจิทัลในกัมพูชา

ถึงแม้มีการรับรองเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นในรัฐธรรมนูญ แต่กัมพูชากำลังก้าวเข้าสู่ระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อควบคุมภูมิทัศน์ด้านดิจิทัลของประเทศพร้อมกับการเริ่มบังคับใช้ ‘อินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติ’ (National Internet Gateway–NIG) ซึ่งเป็นเกตเวย์ของรัฐบาลที่มีอำนาจควบคุมเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งหมด อันจะนำไปสู่การเซนเซอร์ตัวเองอย่างหนักภายในประเทศและช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบรัฐพรรคเดียวในกัมพูชา  เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและพื้นที่ประชาสังคมเพื่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่หลงเหลือแค่ริบหรี่กำลังตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามจากการเริ่มบังคับใช้ซิงเกิลเกตเวย์ (Single Gateway)  เดิมทีนั้นมีแผนการที่จะเริ่มใช้ในช่วงต้นปี 2022 แต่ถูกชะลอไปก่อน 1

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในกัมพูชาเพิ่มขึ้นจาก 0.53% ของประชากรในปี 2009 พุ่งขึ้นเป็น 52.6% ของประชากร (8.86 ล้านคน) ในปี 2021 2  ในปี 2021 มีบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ 5 ราย ให้บริการทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดินและโทรศัพท์มือถือในกัมพูชา อันประกอบด้วย Viettel, Smart Axiata, CamGSM, Xinwei Telecom และ Southeast Asia Telecom  ทุกบริษัทมีถิ่นกำเนิดจากประเทศที่การปกครองโน้มเอียงไปทางระบอบอำนาจนิยม 3  (จีน สิงคโปร์และเวียดนาม)  และทุกบริษัทมีความเกี่ยวพันแนบแน่นกับรัฐบาลและข้าราชการกัมพูชา 4 ทั้งหมดนี้จึงยิ่งเอื้อต่อการร่วมมือระหว่างบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตกับผู้มีอำนาจหน้าที่ในรัฐบาลในการตรวจตราสอดส่องการใช้อินเทอร์เน็ต การสกัดกั้นเนื้อหาออนไลน์ หรือ “การจำกัดความเร็ว” ของการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

รูป 1: ภูมิทัศน์ของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในกัมพูชา

ชุดเครื่องมือทางกฎหมายของเผด็จการดิจิทัล

มีการนำกฎหมายหลายฉบับมาใช้จัดการการแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลทางออนไลน์  การผลักดัน NIG ที่ชะลอไปก่อนนั้น มีเป้าหมายเพื่อให้การเดินทางของข้อมูลในอินเทอร์เน็ตทั้งหมดต้องผ่านเกตเวย์หรือจุดต่อเชื่อมเพียงหนึ่งเดียวที่ดำเนินการโดยรัฐบาล การใช้ระบบ ‘อินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติ’ จะมาพร้อมกับชุดกฎหมายหลายฉบับที่มีอยู่แล้ว อาทิ รัฐธรรมนูญของประเทศกัมพูชา ประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายโทรคมนาคม ประกาศระหว่างกระทรวงฉบับที่ 170 (Inter-Ministerial Prakas No.170) และกฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ที่อยู่ระหว่างการยกร่าง

บทบัญญัติจำนวนมากในกฎหมายเหล่านี้ ดังที่แจกแจงรายละเอียดไว้ในรายงานฉบับล่าสุดของ Asia Centre 5 เป็นการละเมิดต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและสนธิสัญญาหลายฉบับที่กัมพูชาให้สัตยาบันไว้  ใจความสำคัญที่เป็นปัญหาในกฎหมายเหล่านี้มีอาทิ: การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ที่บังคับให้รักษา “ผลประโยชน์ของชาติ”; บทบัญญัติว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทในประมวลกฎหมายอาญาที่คุ้มครอง “เกียรติภูมิหรือชื่อเสียงของบุคคลหรือสถาบัน”;  ความผิดอาญาในการเผยแพร่ “ข่าวปลอม” หรือ “fake news” (มาตรา 425); ความผิดฐาน “สมคบคิด” หรือ “วางแผนลับ” โดยบุคคลหนึ่งคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอาญา; การยุยงปลุกปั่นให้ประกอบอาชญากรรมอุกฉกรรจ์หรือก่อกวนเสถียรภาพของสังคม (มาตรา 495) 6  การติดต่อสื่อสารถูกติดตามสอดส่องภายใต้กฎหมายโทรคมนาคม (2015) 7 ซึ่งเปิดช่องให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ติดตามสอดส่อง (มาตรา 70 และ 71) ลดการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 97 และ 6) และการกำหนดความผิดทางอาญาแก่เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นในวิทยุ โทรทัศน์ ออนไลน์และในการส่งข้อความส่วนตัว (มาตรา 80)  ประกาศระหว่างกระทรวง (คำประกาศฉบับที่ 170) (2018) ว่าด้วย “การควบคุมการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลของเว็บไซท์และสื่อสังคมออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ตในราชอาณาจักรกัมพูชา” เอื้อให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงสารสนเทศ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม (MPTC) เพื่อติดตามสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั้งหมด  ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 คณะทำงานเฉพาะกิจด้านสื่อสังคมออนไลน์ได้รับมอบหมายให้ติดตามสอดส่องสื่อทั้งหมดในกัมพูชา ซึ่งรวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์มด้วย โดยได้รับอำนาจบังคับทางกฎหมายจากประกาศฉบับข้างต้น 8

“Flora Splendida Lea Zeitoun @the.editing.series Instagram

ชุดกฎหมายทั้งหมดนี้จะได้รับการหนุนเสริมให้ครบเครื่องจากกฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ที่กำลังยกร่าง มีการเสนอกฎหมายฉบับนี้ครั้งแรกในปี 2012 และยังอภิปรายกันอยู่ในปี 2022  เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ กฎหมายฉบับนี้จึงมีบทบัญญัติให้เก็บข้อมูลไหลเวียนทางคอมพิวเตอร์ทั้งหมดไว้ได้ 180 วัน  หากนำมาบังคับใช้ รัฐบาลกัมพูชาจะสามารถเรียกดูข้อมูลจากองค์กรด้านสิทธิ์ได้อย่างง่ายดาย และส่งผลให้สามารถจำกัดควบคุมการทำงานขององค์กรเหล่านี้โดยใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นเครื่องมือ  ผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดภายในองค์กร (Whistle-blower) ย่อมตกอยู่ภายใต้การคุกคามจากร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้เช่นกัน  กฎหมายควบคุมโควิด-19 (มีนาคม 2021) ถึงแม้เป็นมาตรการชั่วคราว ก็ถูกนำมาใช้ปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยตั้งข้อหาเผยแพร่ “ข่าวปลอม” เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และการบริหารจัดการโรคระบาดผิดพลาดของรัฐบาล

ชุดเครื่องมือทางกฎหมายเผด็จการของกัมพูชาชิ้นสุดท้ายก็คือ ‘อินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติ’ ซึ่งเปรียบเสมือน “ปุ่มปิดสวิทช์” อินเทอร์เน็ตระดับชาติเมื่อจำเป็น 9 เครื่องมือชิ้นนี้คือการคุกคามครั้งสำคัญต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นออนไลน์และสิทธิในความเป็นส่วนตัว  หน่วยงานที่ดำเนินการ NIG สามารถสอดแนมข้อมูลด้านดิจิทัลเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลกัมพูชา  พวกเขาอยู่ภายใต้เงื่อนไขให้ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการบล็อกและตัดการเชื่อมต่อเครือข่ายทั้งหมดที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อรายได้ ความปลอดภัย ระเบียบสังคม ศักดิ์ศรี วัฒนธรรม จารีตและประเพณีของชาติ (มาตรา 6)  รวมทั้งเก็บข้อมูลและส่งรายงานสถานะเป็นประจำแก่หน่วยงานรัฐ (มาตรา 14) เพื่อ “[สร้างหลักประกัน] ความปลอดภัย ระเบียบส่วนรวม ศักดิ์ศรี วัฒนธรรม จารีตและขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม” (มาตรา 12)

ในช่วงหลายเดือนก่อนการประกาศว่าจะใช้ NIG  มีบางย่านละแวกถูกตัดไฟฟ้าและความเร็วอินเทอร์เน็ตถูกจำกัดความเร็วเพื่อขัดขวางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต  ก่อนการเลือกตั้ง หน่วยงานรัฐสั่งปิดเว็บไซท์ข่าวอิสระฝ่ายประชาธิปไตยหลายเว็บด้วยกัน  เมื่อโรคระบาดโควิด-19 ทำให้กิจกรรมและการมีส่วนร่วมย้ายไปออนไลน์  องค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่งแจ้งต่อ Asia Centre ว่ามีหลายกรณีที่การประชุมออนไลน์ของพวกเขาถูกก่อกวนจาก “ผู้เข้าร่วม” ที่ไม่มีใครรู้จัก 10

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 การนำ NIG มาใช้ถูกเลื่อนออกไป  รัฐบาลกัมพูชามีความร่วมมือใกล้ชิดกับจีนทั้งในด้านการเงินและด้านเทคโนโลยี 11 ดังที่นิวยอร์กไทมส์ตั้งข้อสังเกตไว้ เรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ กัมพูชาเข้าร่วมเป็นหนึ่งในรายชื่อประเทศที่อ้าแขนรับต้นแบบจากจีนในแง่ของการใช้ความเป็นเผด็จการสอดแนมทางอินเทอร์เน็ต 12   ประเทศไทย เวียดนามและสิงคโปร์ต่างก็เดินตามต้นแบบนี้ 13  เรื่องนี้เป็นเหตุให้ชาวกัมพูชาหันไปใช้ VPNs เพื่อหลบเลี่ยงการควบคุมอินเทอร์เน็ต ถึงแม้ว่าบริการประเภทนี้น่าจะถูกสั่งห้ามในอนาคตก็ตาม

การสอดแนมทางดิจิทัลและความถดถอยด้านสิทธิ

ถึงแม้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้รับการขึ้นหิ้งบูชาในรัฐธรรมนูญของกัมพูชาและหนุนเสริมด้วยการให้สัตยาบันต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights–ICCPR)  แต่มาตรการทางกฎหมายจำนวนมากของกัมพูชาก่อให้เกิดภูมิทัศน์ด้านดิจิทัลที่มีการสอดส่องตรวจตราอย่างสูง ส่งผลให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้ไม่เห็นพ้องกับรัฐบาล  เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการคุกคามและการปั่นหัวในสื่อสังคมออนไลน์ นักวิจารณ์และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนก็เริ่มถอยเข้าสู่การเซนเซอร์ตัวเองและถอนตัวจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อรักษาตัวให้รอด

รูป 2: การสอดแนมทางอินเทอร์เน็ต

เสรีภาพในอินเทอร์เน็ตถดถอยลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2009 14  ในปี 2021 ชาวกัมพูชาประมาณ 39 คนถูกจับ ถูกขังคุกหรือถูกออกหมายจับในข้อหากระทำผิดกฎหมายทางออนไลน์จากรายงานการตรวจสอบสอดส่องของรัฐบาล 15  สมาคม Cambodian Journalists Alliance Association คอยบันทึกการกดขี่คุกคามสื่อมวลชนในประเทศนี้อย่างละเอียด  ในรายงานการติดตามผลทุกไตรมาสประจำเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2021 16 รายงานว่ามีการคุกคามสื่อมวลชนแปดคนด้วยการฟ้องร้องทางกฎหมาย การข่มขู่ด้วยความรุนแรง การกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือการจำคุก เนื่องจากการรายงานข่าวในหลายหัวข้อด้วยกัน มีตั้งแต่หัวข้อสิทธิในที่ดินไปจนถึงโรคระบาดโควิด-19  รายงานของสมาคมตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2021 กระทรวงสารสนเทศสั่งเพิกถอนใบอนุญาตสื่ออย่างน้อย 7 สำนักข่าว ประกอบด้วย Angkor Today, Live-Daily, San Prum, Phengvannak, Stoengchralpost, Tecchor Youth News และ K01 TV Online  หกในเจ็ดสำนักนี้ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท็จและสร้างความสับสนวุ่นวายเพราะการรายงานข่าวเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19  ในเดือนสิงหาคม 2021 กระทรวงสารสนเทศประกาศตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบจริยธรรมสื่อมวลชน (Monitoring Committee for Journalism Ethics) เพื่อควบคุมและกำกับดูแลการทำงานของผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อมวลชนภายในประเทศ 17

การกดขี่ปิดปากเสียงคัดค้านรัฐบาลได้รับการหนุนเสริมจากอุตสาหกรรมสอดแนมเอกชน  บริษัทเจ้าของซอฟท์แวร์ FinSpy ถูกเปิดโปงว่าขายบริการให้รัฐบาลกัมพูชาก่อนที่บริษัทจะถูกสั่งปิดในเดือนมีนาคม 2022 18  ในทำนองเดียวกัน รายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์เปิดเผยว่า มีการใช้โปรแกรมสปายแวร์ Pegasus ของบริษัท NSO ในประเทศกัมพูชา 19

ควรตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า สื่อสังคมออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ มีบทบาทมากขึ้น พร้อมกับมีการใช้ “นักเลงคีย์บอร์ด” (trolls) และ “บอท” (bots) เป็นประจำเพื่อเพิ่มขยายวาทกรรมสนับสนุนรัฐบาล อีกทั้งแพร่ข้อมูลบิดเบือนเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและกลุ่มผู้ไม่เห็นพ้องทางการเมือง 20  นายกรัฐมนตรีฮุนเซนใช้เฟสบุ๊คข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามและเผยแพร่เฮทสปีช  เขาสามารถควบคุมวาทกรรมต่างๆ และป้อนให้แก่ประชากรที่มีความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลในระดับต่ำ  ทั้งหมดนี้ช่วยให้เขาครองอำนาจง่ายขึ้น  “ข่าวปลอม” ที่รัฐบาลผลิตออกมามักนำไปสู่การจับกุม การกักขังหน่วงเหนี่ยวและการจำคุกตามอำเภอใจ

รูป 3: การปั่นข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์

บทสรุป

การก่อตัวของระบบเผด็จการดิจิทัลในกัมพูชานำไปสู่ความถดถอยด้านเสรีภาพในอินเทอร์เน็ต การเซนเซอร์ตัวเองที่แพร่หลายมากขึ้น การขัดขวางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การควบคุมวาทกรรมในการเลือกตั้ง การปิดปากเสียงของฝ่ายค้าน การสอดแนมออนไลน์และการปั่นเนื้อหาในสื่อสังคมออนไลน์  การที่นายกรัฐมนตรีฮุนเซนควบคุมภูมิทัศน์ของสื่อสังคมออนไลน์อย่างเบ็ดเสร็จเอื้อให้เขาสามารถเพิ่มขยายเนื้อหาสนับสนุนรัฐบาล อีกทั้งปั่นเนื้อหาท่วมมิดเบียดขับและข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองได้ 21  เรื่องเดียวที่พอเป็นความหวังก็คือ คำประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ว่า กระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมตั้งใจจะจัดเตรียมกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหลังจากยกร่างกฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์เสร็จสิ้นภายในอนาคตอันใกล้นี้ 22

ระบบเผด็จการดิจิทัลมีแนวโน้มจะพัฒนาขยายตัวต่อไปในกัมพูชาภายในอนาคตเท่าที่มองเห็น  ถึงแม้บุคลิกอาจต่างออกไปบ้าง แต่ฮุน มาเนตก็คงไม่เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของบิดามากนัก  เขาจะปกครองกัมพูชาด้วยการสนับสนุนของลาว เมียนมา เวียดนาม 23 สิงคโปร์และจีน 24 ทุกประเทศที่กล่าวมานี้กำลังช่วยกัมพูชาในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการสืบทอดเผด็จการดิจิทัลให้ยืนยาวต่อไป 25  รัสเซียเองก็เป็นผู้เล่นที่มีบทบาทในภูมิภาคนี้ โดยแสดงความสนใจในตลาดโทรคมนาคมของกัมพูชามานานแล้ว 26รัสเซียเพิ่งลงนามในข้อตกลงด้านการลงทุนกับพนมเปญ ซึ่งรวมถึงบริษัท ELTEX ของรัสเซียด้วย 27

Robin Ramcharan
Robin Ramcharan เป็นผู้อำนวยการบริหารของ Asia Centre.

Banner: Siem Reap, Cambodia. A most unlikely looking shop to be offering free WiFi. Gartland, Shutterstock

 

Notes:

  1. Sebastian Strangio, ‘Cambodia puts controversial National Internet Gateway plan on hold’, The Diplomat, 16 February 2022, https://thediplomat.com/2022/02/cambodia-puts-controversial-national-internet-gateway-plan-on-hold
  2. Sebastian Strangio, ‘Cambodia puts controversial National Internet Gateway plan on hold’, The Diplomat, 16 February 2022, https://thediplomat.com/2022/02/cambodia-puts-controversial-national-internet-gateway-plan-on-hold
  3. Leveraging Investments in Broadband for National Development: The Case of Cambodia (UN-OHRLLS, 2018), http://unohrlls.org/custom-content/uploads/2019/02/Cambodia-BroadbandCase-Study-UNOHRLLS-2018.pdf. Viettel บริษัทสัญชาติเวียดนาม บริหารงานโดยกระทรวงกลาโหมของเวียดนาม ประกอบธุรกิจในกัมพูชาภายใต้ชื่อ  Metfone. CamGSM เดิมรู้จักกันในชื่อ Mobitel ก่อนจะเปลี่ยนชื่อทางการค้าเป็น Cellcard ในปี 2005. Viettel, Smart Axiata และ CamGSM ที่เป็นบริษัทท้องถิ่น ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดของการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือประมาณ 90%   Smart Axiata มีส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 60%  ในขณะที่ Viettel และ CamGSM มีส่วนแบ่งการตลาด 26% และ 11% ตามลำดับ  Xinwei Telecom จากจีน ซึ่งดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อ CooTel  และ Southeast Asia Telecom จาก Singapore มีส่วนแบ่งการตลาด 2.67% และ 0.65% ตามลำดับ
  4. [1] ฮุน มานะ บุตรีของฮุนเซน มีทรัพย์สินมากเป็นพิเศษในภาคธุรกิจโทรคมนาคม เธอถือครองหุ้นของ Viettel Cambodia ในสัดส่วน 6%  กองทัพเองก็มีความเกี่ยวโยงกับบริษัทนี้ ภรรยาของเตีย บัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ถือครองหุ้นเช่นกัน  นอกจากนี้ ฮุน มานะยังดำรงตำแหน่งประธานของบริษัท Dragon Royal Telecom ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และเป็นผู้อำนวยการบริษัท Bayon Radio and Television เครือข่ายสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์เชิงพาณิชย์  โปรดดู ‘Communications minister defends Saroeun promotion’, Telecompaper, https://www.telecompaper.com/news/communications-minister-defends-saroeun-promotion–933347
  5. Asia Centre, Internet Freedoms in Cambodia: A Gateway to Control (Bangkok: Asia Centre, 2021).
  6. ‘List of Arrests and Persons in Detention for COVID-19 Related Offenses’, Human Rights Watch, 23 March 2020, https://www.hrw.org/video-photos/interactive/2020/03/23/list-arrests-and-persons-detention-covid-19-related-offenses
  7. [1] Charles Rollet, ‘Gov’t touts internet record despite telecom law concerns’, Phnom Penh Post, 4 December 2015, https://www.phnompenhpost.com/national/govt-touts-internet-record-despite-telecom-law-concerns
  8. Asia Centre, Internet Freedoms in Cambodia, 14.
  9. Prak Chan Tul, ‘Cambodia adopts China-style internet gateway amid opposition crackdown’, 17 February 2021, https://www.reuters.com/article/us-cambodia-internet-idUSKBN2AH1CZ
  10. Asia Centre, Internet Freedoms in Cambodia, 1.
  11. Strangio, ‘Cambodia puts controversial National Internet Gateway plan on hold’; ‘Cambodia internet soon to be like China’, Bangkok Post, 15 January 2022, https://www.bangkokpost.com/tech/2247899/cambodias-internet-may-soon-be-like-chinas-state-controlled
  12. Charles McDermid, ‘Cambodia’s internet may soon be like China’s: State-Controlled’, New York Times, 22 January 2022, https://www.nytimes.com/2022/01/15/business/cambodia-arrests-internet.html
  13. ‘Govt mulls internet gateway to fight crime’, Bangkok Post, 20 February 2022, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2266939/govt-mulls-internet-gateway-to-fight-crime
  14. Three cycles of the Universal Periodic Review (2009, 2013, 2018) of the Human Rights Council, the Human Rights Committee of the ICCPR and 8 reports (2009-2019) of the Special Rapporteur on the situation of human rights in Cambodia. See Asia Centre, Internet Freedoms in Cambodia, 3-6.
  15. ‘Cambodia steps up surveillance with new Internet Gateway,” 14 February 2022, Voice of America, https://www.voanews.com/a/cambodia-steps-up-surveillance-with-new-internet-gateway-/6440601.html
  16. CamboJA (2021) Quarterly Monitoring Report Journalism Situation in Cambodia, July – September, Issue No.1, 12, https://www.camboja.net/wp-content/uploads/2021/10/CamboJA-Quarterly-Report-2021_English.pdf
  17. ‘Cambodia to use “ethics committee” to censor journalists’, 11 August 2021, Reporters Without Borders, https://rsf.org/en/news/cambodia-use-ethics-committee-censor-journalists
  18. ‘Victory! FinFisher shuts down’, Access Now, 29 March 2022, https://www.accessnow.org/finfisher-shuts-down. Also see Morgan Marquis-Boire et al. ‘You Only Click Twice: FinFisher’s Global Proliferation’, The Citizen Lab, 13 March 2013, https://citizenlab.ca/2013/03/you-only-click-twice-finfishers-global-proliferation-2
  19. Christopher Bing and Joseph Menn ‘U.S. State Department phones hacked with Israeli company spyware – sources’, Reuters, 4 December 2021, https://www.reuters.com/technology/exclusive-us-state-department-phones-hacked-with-israeli-company-spyware-sources-2021-12-03; ‘Massive data leak reveals Israeli NSO Group’s spyware used to target activists, journalists, and political leaders globally’, Amnesty International, 19 July 2021, https://www.amnesty.org/en/latest/news/2021/07/the-pegasus-project
  20. Asia Centre, Internet Freedom in Cambodia, 23.
  21. Samantha Bradshaw, Hannah Bailey & Philip N. Howard, ‘Industrialized Disinformation: 2020 Global Inventory of Organised Social Media Manipulation’, Working Paper, Oxford, UK: Project on Computational Propaganda (2021), https://demtech.oii.ox.ac.uk/wpcontent/uploads/sites/127/2021/01/CyberTroop-Report-2020-v.2.pdf

  22. DataGuidance, Cambodia: Data Protection Overview, DataGuidance, September 2021, https://www.dataguidance.com/notes/cambodia-data-protection-overview
  23. Vietnam, Cambodia boost postal, telecoms, ICT cooperation’, Nhan Dan, 15 March 2021 https://en.nhandan.vn/scitech/sci-tech/item/7242102-vietnam-cambodia-boost-postal-telecoms-ict-cooperation.html.
  24. May Kunmakara, ‘China Unicom enters Cambodia’, Phnom Penh Post, 2 December 2019, https://www.phnompenhpost.com/business/china-unicom-enters-cambodia. See also: ‘China, Cambodia to enhance law enforcement cooperation’, Xinhua, 30 September 2021, http://www.lmcchina.org/eng/2021-09/30/content_41690814.html
  25. ‘Vietnam, Cambodia boost postal, telecoms, ICT cooperation’
  26. VimpelCom investing $200 mln in Cambodian phones’, Reuters, 21 May 2013, https://www.reuters.com/article/cambodia-russia-telecoms-idUSBKK9283520090521
  27. Ministry of Economic Development, Russian Federation, ‘Russia and Cambodia approved a list of promising investment projects’, 20 September 2021,https://en.economy.gov.ru/materialnews/russia_and_cambodia_approved_a_list_of_promising_investment_projects.html
Exit mobile version