Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

รัฐประหารดิจิทัลภายใต้การปกครองของทหารในเมียนมา: ช่องทางใหม่สำหรับการกดขี่ปราบปรามในโลกออนไลน์

เมียนมาไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับการปกครองระบอบเผด็จการทหารและการจำกัดเสรีภาพสื่อที่เป็นของคู่กัน  แต่ในช่วงทศวรรษสั้นๆ ระหว่างปี 2011 จนถึง 2021 เมียนมาเริ่มโผล่ออกมาจากภาวะจำศีลอันมืดมิดยาวนานถึงห้าทศวรรษที่มีแต่วิทยุโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ของรัฐที่เซนเซอร์ความคิดเห็นอย่างเข้มงวด ชาวเมียนมาก้าวออกมาพบกับโลกยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งโทรศัพท์มือถือและสื่อสังคมออนไลน์มีอยู่ทุกหนแห่ง  ซิมการ์ดของโทรศัพท์มือถือที่เคยมีราคาหลายพันดอลลาร์ในยุคทศวรรษ 2000 ภายใต้การปกครองของกองทัพ ราคาลดลงเหลือแค่ 1.50 ดอลลาร์ในครึ่งหลังของปี 2014 เมื่อบริษัทต่างชาติเริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศเป็นครั้งแรก  การใช้เฟสบุ๊กในโทรศัพท์มือถือกลายเป็นเครื่องสื่อสารโดยพฤตินัยภายในประเทศ แซงหน้าอีเมล์และเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน รวมทั้งกลายเป็นแหล่งข่าวสารสำคัญด้วย  (Simpson 2019)

สภาพแวดล้อมของสื่อที่ได้รับการปลดแอกแต่ไร้การควบคุมเช่นนี้มีผลดีต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แต่ก็มีผลลัพท์ด้านลบเช่นกันในแง่ของการแพร่ขยายวาทะสร้างความเกลียดชังหรือเฮทสปีชที่มุ่งเป้าชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา (Simpson and Farrelly 2021b)  กระนั้นก็ตาม ช่องทางเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งมาพร้อมกับทศวรรษของการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดวิถีโคจรที่มุ่งไปสู่สังคมที่เปิดกว้าง มีความเป็นประชาธิปไตยและโปร่งใสมากขึ้น แม้จะต้องเริ่มต้นจากฐานขั้นแรกที่ต่ำมากก็ตาม

แต่ความก้าวหน้าทั้งหมดก็พังทลายลงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เมื่อกองทัพล้มล้างรัฐบาลของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy–NLD) ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายในเดือนพฤศจิกายนของปีก่อนหน้านั้น  เช้าวันนั้น กองทัพจับกุมนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาพรรค NLD คนอื่นๆ รวมทั้งนักกิจกรรมอีกหลายคน พร้อมกับยึดครองกลไกการบริหารงานของรัฐบาล  เกิดการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ ตามมาด้วยการสั่งห้ามและการจำกัดการใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งยังมีการกดขี่ปราบปรามอย่างกว้างขวางที่เข้าองค์ประกอบของอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Andrews 2022; Fortify Rights 2022; Human Rights Watch 2021; Simpson 2021a)

ก่อนหน้านี้ กฎหมายความมั่นคงด้านไซเบอร์ฉบับใหม่อยู่ระหว่างการยกร่างภายใต้รัฐบาล NLD และรัฐบาลทหาร  หลังจากรัฐประหารไม่นาน สภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council—SAC) ก็เผยแพร่ฉบับยกร่างเพื่อรับฟังความคิดเห็น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากพอสมควรจากกลุ่มธุรกิจและเอ็นจีโอ แต่ยกร่างฉบับใหม่ที่แก้ไขออกมา ซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นปี 2022 กลับยิ่งเลวร้ายกว่าฉบับแรก (Free Expression Myanmar 2022)  มีเสียงคัดค้านต่อร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ทั้งภายในและระหว่างประเทศ  ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ (มิถุนายน 2022) เสียงสะท้อนเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการความมั่นคงด้านไซเบอร์ของ SAC  บทความนี้จะปูพื้นประวัติศาสตร์โดยสังเขปของการเซนเซอร์และการจำกัดเสรีภาพสื่อในเมียนมา รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายความมั่นคงด้านไซเบอร์ฉบับใหม่

“Resilience Lea Zeitoun @the.editing.series Instagram

การเซนเซอร์ก่อนรัฐประหาร 2021

นับตั้งแต่กองทัพรัฐประหารในปี 1962 จนกระทั่งปี 2011 เมียนมาผ่านการปกครองระบอบเผด็จการทหารมาหลายยุคสมัย  ไม่มีหนังสือพิมพ์รายวันของเอกชน เนื่องจากสื่อมวลชน สำนักพิมพ์ นักดนตรีและศิลปิน ต้องส่งผลงานของตนให้คณะกรรมการตรวจสอบสื่อทำการตรวจสอบเซนเซอร์ก่อนเผยแพร่ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเนื้อหาถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์กองทัพหรือรัฐบาล  มีข้อจำกัดอย่างเข้มงวดว่าอะไรที่เผยแพร่ได้  ยกตัวอย่างเช่น หลังจากอองซานซูจีมีชื่อเสียงโดดเด่นขึ้นมาระหว่างการประท้วงระดับชาติในปี 1988 การเอ่ยพาดพิงถึงเธอในสื่อใดๆ จะถูกตัดออกหรือคาดหมึกดำทับ  สื่อโทรทัศน์และสำนักข่าวส่วนใหญ่เป็นองคาพยพของรัฐ

โทรศัพท์มือถือและซิมการ์ดเท่าที่มีอยู่นั้น มีราคาแพงลิบลิ่ว  โทรศัพท์พื้นฐานก็มีขอบเขตและประสิทธิภาพจำกัด  ส่วนอินเทอร์เน็ตก็ช้าอย่างไม่น่าเชื่อ ราคาแพงและแทบไม่มีการใช้งา

ในปี 2010 การเลือกตั้งระดับชาติจัดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2008 ที่เขียนขึ้นใหม่โดยกองทัพ  นี่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับจากที่เคยมีการเลือกตั้งในปี 1990 ซึ่งพรรค NLD ได้รับชัยชนะ แต่กองทัพกลับเพิกเฉย  ในปี 2010 อองซานซูจียังถูกกักขังในบ้านและพรรค NLD คว่ำบาตรการเลือกตั้ง  ดังนั้น ผลการเลือกตั้งจึงไม่น่าแปลกใจว่า พรรค USDP ที่ทหารหนุนหลังและนำโดยนายพลเต็งเส่งชนะการเลือกตั้ง  นายพลเต็งเส่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อมีการตั้งรัฐบาลในเดือนเมษายน 2011  แต่เรื่องที่คาดไม่ถึงอย่างยิ่งก็คือ เต็งเส่งกลับเป็นผู้เปิดประตูเข้าสู่ยุคสมัยของการปฏิรูปด้านการเมืองและเศรษฐกิจ นำพาเมียนมาออกจากการปิดประเทศกลับคืนมาสู่เวทีโลก

ในเดือนสิงหาคม 2012 รัฐบาลยกเลิกกฎหมายเซนเซอร์ก่อนเผยแพร่ และในวันที่ 1 เมษายน 2013 หนังสือพิมพ์รายวันที่เจ้าของเป็นเอกชนฉบับแรกในช่วงครึ่งศตวรรษก็ได้ปรากฏตัวบนแผงขายหนังสือพิมพ์  มีการผ่านกฎหมายที่รับรองให้การประท้วงและสหภาพแรงงานถูกกฎหมาย  กฎหมายใหม่อีกฉบับหนึ่งเปิดประตูให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมจากต่างประเทศ  บริษัท Ooredoo ของกาตาร์และ Telenor ของนอร์เวเริ่มเข้ามาทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือในเดือนสิงหาคมและกันยายน 2014 ราคาของการใช้โทรศัพท์มือถือลดลงอย่างมหาศาลและเพิ่มสัญญาณให้ครอบคลุมทั้งประเทศ

ในช่วงเวลาราวกับข้ามคืนเดียว ทุกคนก็ “เชื่อมต่อ” และเฟสบุ๊คกลายเป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารหลักภายในประเทศ  สภาพแวดล้อมใหม่นี้เอื้อคุณประโยชน์แก่สังคม การเมืองและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางใหม่ให้องค์กรและสื่อเกิดใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการกำกับดูแล ใช้ถ้อยคำหยาบหยามคลั่งชาติโจมตีชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา (Simpson and Farrelly 2021a)

ความรุนแรงในชุมชนปะทุขึ้นมาในรัฐยะไข่ในปี 2012 พลเรือนชาวยะไข่กลายเป็นคนกลุ่มหลักที่ใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอื่นๆ  ในตอนนั้น เรื่องราว ข่าวลือและข่าวซุบซิบส่วนใหญ่แพร่กระจายแบบปากต่อปาก  การมีสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เอื้อให้การแพร่ข่าวปลอมและเฮทสปีชในระดับชาติทำได้รวดเร็วและง่ายดาย  ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงสาหัสต่อชาวโรฮิงญาในปี 2017 (Simpson and Farrelly 2020)

The 2012 Rakhine State riots were a series of conflicts primarily between ethnic Rakhine Buddhists and Rohingya Muslims in northern Rakhine State, Myanmar, though by October Muslims of all ethnicities had begun to be targeted. Wikipedia Commons

อองซานซูจีและพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งในปี 2015  ทำให้เกิดความหวังสูงมากว่าระหว่างที่พวกเขาเป็นรัฐบาลตลอดวาระห้าปีนั้น น่าจะส่งผลให้มีการผ่อนคลายข้อจำกัดทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญยิ่งกว่าเดิม

แต่ความคาดหวังนี้กลับต้องผิดหวัง เนื่องจากเมื่อพรรค NLD มาเป็นรัฐบาล ก็แสดงให้เห็นว่าตนมีความอ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนหรือเอ็นจีโอไม่ต่างจากรัฐบาลชุดก่อนๆ  ซ้ำร้ายยังไม่คัดค้านการใช้กฎหมายความมั่นคงยุคอาณานิคมหรือยุคทหาร เช่น รัฐบัญญัติเกี่ยวกับความลับของทางการ (Official Secrets Act) มาดำเนินคดีต่อผู้สื่อข่าวเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ที่เปิดโปงให้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญา (Shoon Naing and Lewis 2019)  รัฐบาลพรรค NLD แทบไม่แตะต้องแก้ไขกฎหมายความมั่นคงล้าหลังที่เพิ่งออกมา อันรวมถึงกฎหมายโทรคมนาคมปี 2013 มาตรา 66(d) ซึ่งใช้ปิดปากความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล  ทั้งรัฐบาลพรรค NLD และกองทัพยังคงใช้กฎหมายกึ่งเผด็จการเหล่านี้มากำราบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ (Simpson and Farrelly 2021b)

ยิ่งกว่านั้น รัฐบาล NLD ยังสนับสนุนการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่รัฐยะไข่ในภาคตะวันตกของเมียนมา ขณะที่กองทัพกำลังปะทะกับกองทัพอาระกัน (Arakan Army) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ในยะไข่  ในบางพื้นที่แถบนี้มีประชากรเป็นชาวโรฮิงญาที่ถูกขับไล่ออกไปในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อปี 2017  การตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่แถบนี้ยิ่งซ้ำเติมความยากลำบากในการทำงานของหน่วยงานสงเคราะห์ สื่อมวลชน ผู้ติดตามตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนและประชาชนพลเมืองในการทำกิจกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายของตน (Simpson 2019)

การที่อองซานซูจีไม่กระตือรือร้นต่อการสนับสนุนหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อาทิ สื่อเสรี การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม เป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง แต่กระนั้นเธอก็ยังเป็นผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรับผิดชอบต่อรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้งมาเกือบทั้งหมด

ยุคปฏิรูปนี้เปิดช่องทางให้เอ็นจีโอท้องถิ่น เช่น Phandeeyar, Free Expression Myanmar (FEM), Myanmar ICT Development Organisation และ Myanmar Centre for Business Responsibility ได้จับมือร่วมกันทำงานเพื่อต่อต้านการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต การปล่อยข่าวปลอมและปกป้องสิทธิด้านดิจิทัล โดยอาศัยการจัดงานต่างๆ อาทิ Digital Rights Forums ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี (Myanmar Centre for Responsible Business 2020)  อย่างไรก็ตาม เมื่อกองทัพรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ทำให้กิจกรรมแบบนี้ต้องหยุดชะงักลง

Crack down on anti-coup protesters in Yangon, Myanmar on 09 March 2021. Photo: Maung Nyan / Shutterstock.com

การจำกัดเสรีภาพในโลกไซเบอร์นับตั้งแต่รัฐประหาร

เมื่อเกิดการรัฐประหาร ประชาชนเริ่มจัดตั้งเพื่อต่อต้านกองทัพทั้งในเฟสบุ๊คและสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ เพจเปิดใหม่ที่เรียกร้องการดื้อแพ่งของพลเมืองมีผู้ติดตามถึง 200,000 รายในเวลาอันรวดเร็ว  ด้วยเหตุนี้ เพียงสองวันหลังจากรัฐประหาร กองทัพจึงสั่งปิดเฟสบุ๊คและ WhatsApp  สำหรับในเมียนมาแล้ว การสั่งปิดสองแพลตฟอร์มนี้เทียบเท่ากับการสั่งห้ามใช้อินเทอร์เน็ต (Potkin 2021)  สองวันต่อมา หลังจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลั่งไหลไปหาแอพทางเลือกอื่นเพื่อจัดตั้งและประท้วง กองทัพจึงสั่งให้ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือบล็อกการเข้าถึงทวิตเตอร์และอินสตาแกรมด้วย (DW 2021)  ประชาชนในเมียนมาสามารถหาทางหลบเลี่ยงการจำกัดการเข้าถึงแอพสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซท์ด้วยการใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Networks—VPNs) ซึ่งซ่อนการไหลเข้าออกของข้อมูลและช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ถูกบล็อกหรือสื่อสารกันได้อย่างเป็นส่วนตัว

นับตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือถูกตัดสัญญาณเป็นระยะๆ บางทีก็ทั่วประเทศ หรือบางทีก็ในบางท้องที่ ทั้งนี้เพื่อตอบโต้ต่อการประท้วงและปฏิบัติการของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร อีกทั้งเพื่อปกปิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพ เช่น การจับกุมตามอำเภอใจ การกักขังหน่วงเหนี่ยวและการทรมาน (Access Now 2022b; Nachemson 2021)

นอกจากนี้ รัฐบาลทหารยกยกเลิกการคุ้มครองที่เคยมีภายใต้ “กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของพลเมือง” รวมทั้ง “ยกเลิกการคุ้มครองพื้นฐาน ซึ่งรวมถึง…สิทธิในการปลอดพ้นจากการถูกติดตาม การค้นตัวและการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ”  (International Commission of Jurists and Human Rights Watch 2021)

รัฐบาลทหารสั่งให้ผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งรวมถึงบริษัท Telenor และ Ooredoo ส่งมอบข้อมูลของลูกค้าและติดตั้งเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการติดตามตรวจสอบผู้ใช้บริการ  บริษัท Telenor ซึ่งโดยรวมแล้วถือว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ก้าวหน้าที่สุด ประกาศว่าบริษัทจะยุติการทำธุรกิจในเมียนมาในกลางปี 2021 เนื่องจากเงื่อนไขใหม่ๆ เหล่านี้ละเมิดกฎหมายของยุโรปและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ (Potkin and Mcpherson 2021)

ถึงแม้นักกิจกรรมเคยต่อต้านบริษัทข้ามชาติที่มาทำธุรกิจในเมียนมา แต่ Telenor กลับถูกกดดันให้ดำเนินธุรกิจในประเทศต่อไป เนื่องจากการที่มันเป็นเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพียงเจ้าเดียวที่เป็นของตะวันตก Telenor จึงเป็นเครือข่ายที่นักกิจกรรมใช้งานเป็นหลัก  ลงท้ายแล้ว Telenor ก็ถูก M1 Group ซื้อกิจการไป  เจ้าของรายใหม่เป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีฐานอยู่ในเลบานอนและซื้อกิจการภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นหุ้นส่วนกับนักลงทุนท้องถิ่น  บริษัท Shwe Byain Phyu ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับกองทัพ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เจ้าใหม่และบริษัทกลับมาดำเนินการอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2022 โดยเปลี่ยนชื่อเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเป็น ATOM  ในขณะที่ ATOM ประกาศว่า “ผู้ใช้บริการจะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ”  แต่ปัญหาก็คือ รัฐบาลทหารยื่นเงื่อนไขให้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้งหมดต้องยอมลดมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ใช้บริการลง ด้วยการส่งมอบข้อมูลของผู้ใช้บริการและยินยอมให้มีการติดตามตรวจสอบกิจกรรมของผู้ใช้บริการโทรศัพท์ (Bangkok Post 2021; Eleven 2022; Justice for Myanmar 2022)

“VPNs, the most useful tool to bypass restrictions on the use of websites and apps, such as Facebook and Twitter” Image: Privecstacy, Unsplash

ร่างกฎหมายความมั่นคงด้านไซเบอร์ฉบับใหม่

หลังจากเผยแพร่ร่างกฎหมายความมั่นคงด้านไซเบอร์ทันทีหลังรัฐประหาร ต่อมา SAC ออกร่างฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในเดือนมกราคม 2022 (State Administration Council 2022)  ปัญหาของร่างกฎหมายฉบับใหม่ปรากฏให้เห็นชัดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากประเด็นต่างๆ ที่เป็นปัญหาในร่างฉบับแรกไม่มีจุดไหนที่ได้รับการแก้ไข แถมยังมีการเพิ่มข้อบังคับมากกว่าเดิมอีกด้วย  ร่างกฎหมายฉบับนี้ละเมิดสิทธิทางดิจิทัลที่นานาชาติรับรองทุกข้อ ไม่มีการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว มีแต่การตัดสินใจตามอำเภอใจและตามเงื่อนไขเฉพาะกิจ รวมทั้งมีบทลงโทษกำหนดไว้แล้วในระบบ  กฎหมายฉบับนี้ยินยอมให้ SAC เข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ บล็อกเว็บไซท์ สั่งตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งฝ่ายหลังสามารถพึ่งพาอาศัยกฎหมายได้น้อยมาก (Access Now 2022a; Human Rights Watch 2022; Myanmar Centre for Responsible Business 2022)

เงื่อนไขสำคัญข้อใหม่ในร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้คือการกำหนดให้การใช้ VPNs เป็นอาชญากรรม ไม่มีความจำเป็นต้องใช้การพิสูจน์อย่างเป็นกลางระหว่างการพิจารณาคดี และตั้งเงื่อนไขให้ผู้ให้บริการออนไลน์ต้องบล็อกหรือลบคำวิพากษ์วิจารณ์ออนไลน์ที่มีต่อ SAC คณะผู้นำและสมาชิกของกองทัพ

แถลงการณ์ร่วมของสมาคมหอการค้าระหว่างประเทศสิบแห่งในเดือนมกราคม 2022 โต้แย้งว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะ

ขัดขวางการไหลเวียนอย่างเสรีของข้อมูลข่าวสารและส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถของภาคธุรกิจในการดำเนินการตามกฎหมายและมีประสิทธิภาพในเมียนมา….VPNs
เป็นเครื่องมือด้านความปลอดภัยที่ถูกกฎหมายในการคุ้มครองภาคธุรกิจจากอาชญากรรมไซเบอร์และอาชญากรรมทางการเงิน

VPNs เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากที่สุดสำหรับนักกิจกรรมและประชาชนทั่วไปในการหลบเลี่ยงข้อจำกัดในการใช้เว็บไซท์และแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น เฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ เพื่อสื่อสารและเผยแพร่ข่าวและข้อมูลจากแหล่งข่าวอิสระ นี่เองคือเหตุผลชัดเจนที่ทำให้รัฐบาลทหารสั่งห้าม VPNs

ตามร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ การละเมิดข้อบังคับเกือบทั้งหมดจะมีบทลงโทษจำคุกไม่เกินสามปีและมีค่าปรับ  ความผิดไม่ได้มีแค่การใช้ VPNs แต่ครอบคลุมถึงการสนับสนุนให้ใครก็ตามใช้ VPNs ซึ่งรวมถึงร้านขายโทรศัพท์ที่ติดตั้ง VPNs สื่อและองค์กรภาคประชาสังคมที่ส่งเสริมการใช้ VPNs หรือนักปกป้องสิทธิทางดิจิทัลที่ให้การอบรมด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ (Free Expression Myanmar 2022)

เนื้อหาต้องห้ามในร่างกฎหมายฉบับใหม่ครอบคลุมถึง “ข้อมูลผิดและข้อมูลปลอม” ตลอดจนข้อมูลที่ “ก่อกวนความสามัคคี ความมีเสถียรภาพและสันติสุข”  กองทัพมีประวัติในการกำหนดให้การกระทำที่คลุมเครือมาก เช่น “ก่อกวนความสามัคคี” กลายเป็นอาชญากรรมที่ผิดกฎหมาย  และตอนนี้ดูเหมือนกองทัพจะพยายามฝังความผิดอาญาแบบนี้ไว้ในโลกดิจิทัลเพื่อเป็นการเหมารวมไว้มุ่งเป้าจัดการนักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน

กลุ่มประชาสังคมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศหลายกลุ่ม อาทิ Article 19 และ PEN America ได้ลงนามในแถลงการณ์ตำหนิ “การรัฐประหารทางดิจิทัล” เนื่องจากรัฐบาลทหารละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยพ้นผิดลอยนวล (Joint Civil Society Statement 2022)

เมื่อปราศจากรัฐสภาคอยตรวจสอบการออกกฎหมาย รัฐบาลทหารจึงมีอำนาจตามอำเภอใจในการร่างบทบัญญัติอะไรก็ได้ ไม่ว่าน่าเกลียดแค่ไหน ออกมาใช้เป็นกฎหมาย  แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว การรัฐประหารที่ผิดกฎหมายย่อมทำให้กฎหมายใดๆ ที่ SAC นำออกมาใช้เป็นกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม (Simpson 2021b)  ชุมชนระหว่างประเทศควรเร่งให้การสนับสนุนทั้งในด้านวัตถุและการทูตแก่กลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐประหารและรัฐบาลทหาร รวมทั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) (Simpson 2021c)  อันเป็นการสนับสนุนการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทางดิจิทัลในประเทศนี้และในทุกหนแห่ง

Adam Simpson
Senior Lecturer, International Studies, Justice & Society, University of South Australia

References

Access Now (2022a). Analysis: The Myanmar junta’s Cybersecurity Law would be a disaster for human rights. https://www.accessnow.org/analysis-myanmar-cybersecurity-law/. Updated: 27 January. Accessed: 12 June 2022.

Access Now (2022b). Update: Internet access, censorship, and the Myanmar coup. https://www.accessnow.org/update-internet-access-censorship-myanmar/. Updated: 18 March. Accessed: 10 June 2022.

Andrews, T. (2022). ‘UN expert: Myanmar people betrayed with ‘vague declarations’ and ‘tedious, endless wait’ for action.’ The Office of the High Commissioner for Human Rights. Geneva. 21 March. https://www.ohchr.org/en/press-releases/2022/03/un-expert-myanmar-people-betrayed-vague-declarations-and-tedious-endless. Accessed:10 June 2022.

Bangkok Post (2021, 9 July). ‘Telenor announces Myanmar exit.’ Bangkok Post. https://www.bangkokpost.com/business/2145843/telenor-announces-myanmar-exit. Accessed:11 June 2022.

DW (2021, 5 February). ‘Myanmar blocks Twitter amid outrage at coup.’ DW. https://www.dw.com/en/myanmar-blocks-twitter-amid-outrage-at-coup/a-56477238. Accessed:10 June 2022.

Eleven (2022, 10 June). ‘Atom says it will invest US$ 330 M over the next three years and protect individual security in accordance with local and international laws.’ Eleven. https://elevenmyanmar.com/news/atom-says-it-will-invest-us-330-m-over-the-next-three-years-and-protect-individual-security-in. Accessed:12 June 2022.

Fortify Rights (2022). “Nowhere is Safe”: The Myanmar Junta’s Crimes Against Humanity Following the Coup d’État.). 24 March. https://www.fortifyrights.org/mya-inv-2022-03-24/. Accessed:11 June 2022.

Free Expression Myanmar (2022). Military’s cyber security bill worse than their previous draft. https://freeexpressionmyanmar.org/militarys-cyber-security-bill-worse-than-their-previous-draft/. Updated: 27 January. Accessed: 10 June 2022.

Human Rights Watch (2021). Myanmar: Coup Leads to Crimes Against Humanity. (Human Rights Watch, New York). 31 July. https://www.hrw.org/news/2021/07/31/myanmar-coup-leads-crimes-against-humanity. Accessed:9 August 2021.

Human Rights Watch (2022). Myanmar: Scrap Draconian Cybersecurity Bill. https://www.hrw.org/news/2022/02/15/myanmar-scrap-draconian-cybersecurity-bill. Updated: 15 February. Accessed: 10 June 2022.

International Commission of Jurists and Human Rights Watch (2021). Myanmar: Post-Coup Legal Changes Erode Human Rights. (International Commission of Jurists and Human Rights Watch). 2 March. https://www.icj.org/myanmar-post-coup-legal-changes-erode-human-rights/. Accessed:11 June 2022.

Joint Civil Society Statement (2022). ‘Resist Myanmar’s digital coup: Stop the military consolidating digital control.’ Access Now. 8 February. https://www.accessnow.org/myanmars-digital-coup-statement/. Accessed:11 June 2022.

Justice for Myanmar (2022). Shwe Byain Phyu’s military links exposed. https://www.justiceformyanmar.org/stories/shwe-byain-phyus-military-links-exposed. Updated: 13 February. Accessed: 11 June 2022.

Myanmar Centre for Responsible Business (2020). Digital Rights Forum. https://www.myanmar-responsiblebusiness.org/dialogues/digital-rights-forum/. Updated: 29 February. Accessed: 10 June 2022.

Myanmar Centre for Responsible Business (2022). Update on Draft Cybersecurity Law and its Impacts on Digital Rights and the Digital Economy. https://www.myanmar-responsiblebusiness.org/news/draft-cybersecurity-law.html. Updated: 15 February. Accessed: 10 June 2022.

Nachemson, A. (2021, 4 March). ‘Why is Myanmar’s military blocking the internet?’ Al Jazeera. https://www.aljazeera.com/news/2021/3/4/myanmar-internet-blackouts. Accessed:10 June 2022.

Potkin, F. (2021, 5 February). ‘Facebook faces a reckoning in Myanmar after blocked by military.’ Reuters. https://www.reuters.com/article/us-myanmar-politics-facebook-focus-idUSKBN2A42RY. Accessed:10 June 2022.

Potkin, F. and P. Mcpherson (2021, 19 May). ‘How Myanmar’s military moved in on the telecoms sector to spy on citizens.’ Reuters. https://www.reuters.com/world/asia-pacific/how-myanmars-military-moved-telecoms-sector-spy-citizens-2021-05-18/. Accessed:12 June 2022.

Shoon Naing and S. Lewis (2019, 23 April). ‘Myanmar’s top court rejects final appeal by jailed Reuters journalists.’ Reuters. https://www.reuters.com/article/us-myanmar-journalists/myanmars-top-court-rejects-final-appeal-by-jailed-reuters-journalists-idUSKCN1RZ06O. Accessed:29 December 2019.

Simpson, A. (2019). ‘Facebook, the Rohingya, and internet blackouts in Myanmar.’ The Interpreter. The Lowy Institute. 21 October. https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/facebook-rohingya-and-internet-blackouts-myanmar. Accessed:10 June 2022.

Simpson, A. (2021a). ‘Coups, conflicts, and COVID-19 in Myanmar: Humanitarian intervention and responsibility to protect in intractable crises.’ Brown Journal of World Affairs, 28(1): 1-19.

Simpson, A. (2021b). ‘Myanmar: Calling a coup a coup.’ The Interpreter. The Lowy Institute. 8 February. https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/myanmar-calling-coup-coup. Accessed:9 August 2021.

Simpson, A. (2021c). ‘Myanmar’s exile government signs up to ICC prosecutions.’ East Asia Forum. 17 September. https://www.eastasiaforum.org/2021/09/17/myanmars-exile-government-signs-up-to-icc-prosecutions/. Accessed:24 September 2021.

Simpson, A. and N. Farrelly (2020). ‘The Rohingya crisis and questions of accountability.’ Australian Journal of International Affairs, 74(5): 486-94.

Simpson, A. and N. Farrelly (2021a). ‘Interrogating Contemporary Myanmar: The Difficult Transition.’ in A. Simpson and N. Farrelly (eds), Myanmar: Politics, Economy and Society. (London and New York: Routledge): 1-12.

Simpson, A. and N. Farrelly (2021b). ‘The Rohingya Crisis: Nationalism and its Discontents.’ in A. Simpson and N. Farrelly (eds), Myanmar: Politics, Economy and Society. (London and New York: Routledge): 249-64.

State Administration Council (2022). Cyber Security Law [Draft – Unofficial English Translation by Free Expression Myanmar]. (SAC, Naypyitaw, Myanmar).

Exit mobile version