Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

สถานะในเวทีโลกของเมียนมาหลังรัฐประหาร 2020: การช่วงชิงความชอบธรรมและการเปลี่ยนแปลง

ASEAN protesters. Photo Saw Wunna, Unsplash

นโยบายต่างประเทศของพม่า/เมียนมาและสถานะของประเทศในเวทีโลกได้รับความสนใจอย่างมากในระยะหลัง  นโยบายต่างประเทศเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการยืนยัน ช่วงชิง ปฏิเสธหรือถ่ายโอนความชอบธรรมมายาวนาน โดยเฉพาะภายหลังการรัฐประหารปี 1962 และ 1988 เมื่อรัฐบาลพลัดถิ่นยืนยันความชอบธรรมของตนเพื่อคัดค้านระบอบทหารที่ล้มล้างรัฐบาลพลเรือนหรือประกาศให้คะแนนเสียงเลือกตั้งที่มอบอำนาจให้พวกเขากลายเป็นโมฆะ  ผลดีที่เกิดขึ้นบ้างจากการปรับความสัมพันธ์ของพม่ากับโลกให้อยู่ในภาวะปรกติตลอดช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษของนโยบายต่างประเทศที่มีการคลี่คลายอย่างซับซ้อน (2010-2020) ตอนนี้กลับเผชิญอนาคตอันไม่แน่นอนหลังจากกองทัพกระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021  การตอบโต้จากฝ่ายต่อต้านรัฐประหารหลังจากกองทัพปราบปรามการประท้วงอย่างป่าเถื่อนยิ่งชี้ให้เห็นว่า นโยบายต่างประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ทั้งต่อรัฐบาลทหารและกลุ่มพลังฝ่ายประชาธิปไตยที่คัดค้านการรัฐประหารและการปกครองของกองทัพ

บทความนี้จะอภิปรายถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ ของสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council–SAC) ของรัฐบาลทหารและกลุ่มพลังอันหลากหลายที่ต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งพอกล่าวได้ว่ามีรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government—NUG) เป็นตัวแทน  ความเคลื่อนไหวของทั้งสองฝ่ายที่พยายามใช้นโยบายต่างประเทศมายืนยันความชอบธรรมในหมู่ประชาชนและ/หรือทางการเมืองของตน  บทความจะประเมินความเคลื่อนไหวด้านนโยบายต่างประเทศคู่ขนานเพื่อแสวงหาความชอบธรรมดังที่เป็นมาในอดีตก่อน จากนั้นจึงจะอภิปรายถึงทางเลือกที่มีอยู่ของรัฐบาลพลเรือนในสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง 2020  สรุปส่งท้ายด้วยการประเมินความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นหลังจากกองทัพกระทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ในประเทศเมียนมา

นโยบายต่างประเทศในอดีตและปัจจุบัน

ในอดีตที่ผ่านมา เมียนมามีปฏิสัมพันธ์กับโลกโดยใช้นโยบายต่างประเทศแบบอิสระ มีบทบาทและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเสมอมา  ความสม่ำเสมอเช่นนี้และการมีพื้นที่ให้ดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างจำกัดภายใต้รัฐบาลทหาร/อำนาจนิยมสืบต่อกันหลายชุดนับตั้งแต่ปี 1962 เป็นต้นมา ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ (อย่างดีที่สุด) วางตัวเป็นกลางและ (อย่างแย่ที่สุด) ไม่สนใจเลยว่ารัฐเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประเทศอื่นในโลกนี้อย่างไร

ประเทศมหาอำนาจมองการรัฐประหารปี 1962 ซึ่งสถาปนาระบอบการปกครองของกองทัพขึ้นเป็นครั้งแรกว่า เป็นผลพวงมาจากเงื่อนไขด้านภูมิศาสตร์การเมืองยุคสงครามเย็นและยอมรับแนวทางดำเนินนโยบายต่างประเทศของระบอบทหารพม่า  ในทางตรงกันข้าม สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council–SPDC) ซึ่งครองอำนาจระหว่างปี 1988-2011 กลับถูกโดดเดี่ยวในฐานะรัฐที่นานาชาติไม่ยอมรับ จนเป็นสาเหตุให้รัฐบาลทหารพม่าต้องหันมาใช้นโยบายต่างประเทศและการทูตสาธารณะเพื่อแสวงหาความชอบธรรม กระนั้นก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ 1  ระบอบ SPDC พยายามขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับโลกภายนอกและตอบโต้การคว่ำบาตรจากโลกตะวันตกโดยอาศัยการสร้างความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะภายในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations หรือประชาคมอาเซียน)

SPDC คอยกำกับการร่างรัฐธรรมนูญของกองทัพในปี 2008 และการนำมาใช้ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึงหกเดือนหลังจากการปราบปรามการประท้วงอย่างสันติด้วยความรุนแรงป่าเถื่อน และในช่วงเวลาไม่นานนักหลังจากพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำซึ่งเป็นอู่ข้าวของประเทศได้รับความเสียหายอย่างหนักหน่วงจากพายุไซโคลนนาร์กิส  อาเซียนมีบทบาทสำคัญในการประสานความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติและมนุษยธรรม จนสามารถโน้มน้าวให้ขุนพลพม่าทั้งหลายยอมเปิดพื้นที่ปฏิบัติการแก่ชุมชนด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลเมียนมามีโอกาสเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ ในการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลง

Cyclone Nargis, an extremely destructive and deadly tropical cyclone that caused the worst natural disaster in the recorded history of Myanmar during early May 2008. Wikipedia Commons

ด้วยความพยายามที่จะแสดงให้นานาชาติยอมรับมากขึ้นว่ามีความตั้งใจจริงที่จะ “เปลี่ยนแปลง” กองทัพจึงยุติการคุมตัวนางอองซานซูจีซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในตอนนั้นหลังจากการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2010  ก่อนหน้านี้ กองทัพควบคุมตัวอองซานซูจีไว้ในบ้านของเธอเองเป็นระยะๆ มานานกว่าสิบปีและนี่เป็นครั้งแรกที่มีการยกเลิกการควบคุมตัว  ท่ามกลางความประหลาดใจทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party—USDP) ซึ่งกองทัพหนุนหลังและชนะการเลือกตั้งจนได้จัดตั้งรัฐบาลกึ่งพลเรือน ได้ริเริ่มกระบวนการพลิกโฉมหน้าทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญและมีผลกระทบกว้างไกล  กระบวนการนี้ปูทางให้แก่การเลือกตั้งปี 2015 ที่ค่อนข้างเสรีและเป็นธรรม  ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy—NLD) ที่มีอองซานซูจีเป็นผู้นำ ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย  อองซานซูจีกลายเป็นหน้าตาของพรรคเสียงข้างมาก ซึ่งได้จัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกของเมียนมาในรอบกว่าครึ่งศตวรรษ

อองซานซูจีสานต่อนโยบายกลับไปพัวพันกับโลกซึ่งก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อประเทศในช่วงหลายปีก่อนหน้านั้น  เธอสร้างความละเอียดอ่อนให้นโยบายนี้มากขึ้น[ 2 ในเดือนกันยายน 2016 ด้วยการเน้นย้ำนโยบายการทูตที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people-centred  diplomacy)  หยิบยกประเด็นความมั่นคงของมนุษย์ เช่น การอพยพของแรงงาน และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนต่อประชาชนมากขึ้น  แรงผลักดันสำคัญของแนวทางการทูตที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางนี้ก็เพื่อดึงให้ชาวเมียนมาที่อยู่ในต่างประเทศช่วยกันพลิกฟื้น “ภาพพจน์และศักดิ์ศรี” ของเมียนมาในเวทีระหว่างประเทศ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะรับรองคะแนนเสียงเลือกตั้งของพลเมืองเมียนมาในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ก็สนับสนุนพรรคNLDอยู่แล้ว

ทั้งหมดนี้คือการส่งสัญญาณว่าเมียนมาพร้อมที่จะออกจากรังและพัวพันกับโลกตามเงื่อนไขของตัวเอง  แต่ช่วงเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ช่างสั้นมาก  ปฏิบัติการทางทหารต่อชุมชนชาวโรฮิงญาอย่างเกินกว่าเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการโจมตีของกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน (​Arakan Rohingya Salvation Army – ARSA) ในปี 2016 และ 2017 ทำให้เมียนมาตกอยู่ภายใต้การจับตามองของนานาชาติอีกครั้ง และสุดท้ายต้องลงเอยด้วยข้อแก้ต่างว่า “ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ” 3 ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปลายปี 2019

ตามมาด้วยเสียงประณามการตัดสินใจของอองซานซูจีจากนานาประเทศ  ถึงแม้ในตอนนั้นชุมชนระหว่างประเทศละเลยข้อเท็จจริงที่รัฐบาลพรรคNLDตั้งใจเลือกให้ข้อมูลและดึงอาเซียนเข้ามามีบทบาทใน “สถานการณ์ความมั่นคงในรัฐยะไข่” ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2016 โดยยอมรับความช่วยเหลือของอาเซียนที่จะประสานเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กระบวนการส่งชุมชนโรฮิงญาจากค่ายผู้อพยพในบังคลาเทศกลับคืนประเทศ  รัฐบาลทหารชุดก่อนและแม้กระทั่งรัฐบาลพลเรือนพรรค USDP ปฏิเสธการหารือเรื่องนี้กับอาเซียนมาตลอด  ถึงแม้คำถามเกี่ยวกับโรฮิงญาไม่ใช่ประเด็นโดดเด่นในการเลือกตั้งปี 2020 แต่ดูเหมือนพรรค NLD จะได้รับประโยชน์จากทัศนคติของประชาชนส่วนใหญ่ที่มองว่า พรรค NLD ต้องมารับผิดแทนทั้งๆ ที่เป็นการกระทำของกองทัพ

Embassy of Myanmar in Washington, D.C. Wikipedia Commons

นโยบายต่างประเทศในการเลือกตั้งปี 2020

ในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2020 เราได้เห็นพรรค NLD ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายเป็นครั้งที่สอง  หลังจากนั้นมีการคาดเดาในทันทีว่า อองซานซูจีจะสร้างความแตกต่างอะไรแก่การดำเนินนโยบายต่างประเทศอีกหรือไม่  เนื่องจากเมียนมาตกอยู่ภายใต้การจับตามองของนานาชาติในประเด็นวิกฤตการณ์โรฮิงญา นโยบายต่างประเทศของพรรค NLD จึงหันไปให้ความสำคัญแก่ข้อตกลงทวิภาคี (ถึงแม้ยังรักษาสายสัมพันธ์กับอาเซียนไว้) และนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” (Asian Pivot) เพื่อแสวงหาการลงทุนและการค้าอย่างต่อเนื่อง

ในคำแถลงนโยบายของพรรค NLD เพื่อหาเสียงในการเลือกตั้ง 2020  ถึงแม้ยังเอ่ยถึงพันธกิจที่มีต่อการสานต่อนโยบายต่างประเทศที่มีอิสระและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยึดมั่นผลประโยชน์ใน “ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและแข็งแรงกับสหประชาชาติ ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ”  แต่ในคำแถลงนี้มิได้เอ่ยถึงการร่วมมือกับประเทศอื่นๆ หรือการทำงานร่วมกันในประเด็นปัญหาและโครงการระดับภูมิภาค

กระนั้นก็ตาม นโยบายการทูตเชิงเศรษฐกิจ 4 ดูเหมือนถูกกำหนดมาให้เป็นลักษณะเด่นของนโยบายต่างประเทศในศตวรรษที่ 21 ของเมียนมา คล้ายกับสมัยที่พม่าใช้การส่งออกข้าวเป็นเครื่องมือทางการทูตในช่วงสงครามเย็น และ SPDC เคยใช้ข้อตกลงในการให้สัมปทานเพื่อสูบเอาทรัพยากรธรรมชาติเป็นเครื่องมือ  โรคระบาดโควิด-19 ยังเผยให้เห็นมิติใหม่ในนโยบายต่างประเทศหลังการเลือกตั้ง 2020 ของพรรค NLD ด้วย นั่นคือ เมียนมารีบผลักดันการฉีดวัคซีนเป็นระยะแก่ประชาชนตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 รวมทั้งรัฐบาลเข้าร่วมในโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนระดับโลก (COVAX) ของ WHO  การดำเนินการเหล่านี้ล้วนส่งสัญญาณที่ดีต่อการผลักดันนโยบายต่างประเทศของพรรค NLD ในการเป็นรัฐบาลสมัยที่สอง

การคาดการณ์เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศหลังปี 2020 ของพรรค NLD ยังรวมถึงประเด็นความสัมพันธ์กับจีนด้วย  ผู้สันทัดกรณีแสดงความหวังว่า พรรค NLD จะดำเนินความสัมพันธ์เมียนมา-จีนบนเส้นทางที่สร้างสรรค์มากขึ้นและลดความไม่สมดุลลง 5 เนื่องจากการค้าและการลงทุนของจีนมีบทบาทอย่างมากในภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของเมียนมา รวมทั้งจีนยังตั้งตัวสวมบทเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในกระบวนการสันติภาพของเมียนมา  ความสัมพันธ์นี้มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อปฏิสัมพันธ์ที่เมียนมาจะมีกับประเทศเอเชียตะวันออกอื่นๆ (รวมถึงสมาชิกในกลุ่มอาเซียนด้วย)

การคาดการณ์ทั้งหมดนี้กลายเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันอีกมากเมื่อกองทัพรัฐประหารยึดอำนาจอย่างผิดกฎหมายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021

ผลที่ตามมาจากการรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์: ความปั่นป่วนและการช่วงชิง

ขณะที่เขียนบทความนี้ ความปั่นป่วนในเมียนมากำลังบานปลาย  ความหวังที่จะมีการปฏิรูป การเปลี่ยนผ่าน หรือการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศดูเหมือนจะจบสิ้นลงอย่างสิ้นเชิง  ถึงแม้ SAC ยืนยันมาตั้งแต่วันแรกที่ทำรัฐประหารว่าจะเป็นมิตรต่อภาคธุรกิจก็ตาม  วิกฤตการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของเมียนมาก่อให้เกิดความหายนะด้านมนุษยธรรมในประเทศขนาดใหญ่และมีความสำคัญ ซึ่งโลกภายนอกทำความเข้าใจได้ยากและยิ่งยากขึ้นที่จะช่วยหาทางแก้ไขปัญหา สืบเนื่องจากความวิตกด้านสังคม-เศรษฐกิจที่แพร่กระจายไปทั่วทุกประเทศจากปัญหาโรคระบาดระดับโลก

Police crack down to anti-coup protesters in Yangon, Myanmar on 08 March 2021. Photo: Maung Nyan / Shutterstock.com

รัฐบาลทหาร SAC พยายามสร้างความชอบธรรมให้การรัฐประหารทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติโดยอาศัยนักการทูตที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในต่างประเทศ  ยกเว้นเอกอัครราชทูตประจำสหประชาชาติและสหราชอาณาจักรแล้ว  เอกอัครราชทูตคนอื่นๆ ของเมียนมาในต่างประเทศล้วนปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในฐานะตัวแทนของ SAC  กระนั้นก็ตาม รัฐบาลทหารกลับเผชิญคำตำหนิประณามการรัฐประหารจากทั่วโลกมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยเฉพาะเมื่อจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้ถูกจับกุมคุมขัง การกวาดล้างปราบปรามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนรายวันเพิ่มทวีมากขึ้นเรื่อยๆ   ในสถานการณ์แบบนี้ ทั่วโลกจะรู้สึกขัดต่อจริยธรรมหากยอมทำข้อตกลงกับรัฐบาลทหารที่พยายามขยายหรือฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ต่อให้วัตถุประสงค์เป็นไปเพื่อรักษาชีวิตผู้คนในเมียนมาก็ตาม

คำถามด้านนโยบายต่างประเทศที่เร่งด่วนที่สุดประการหนึ่งในหลายประการก็คือ รัฐบาลไหนกันแน่ที่เป็นตัวแทนอันชอบธรรมของประเทศเมียนมาในเวทีสากล  คำถามนี้ถูกจุดขึ้นมาจากแถลงการณ์สะเทือนอารมณ์ของเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติผู้คัดค้านการรัฐประหาร  ถึงแม้เขาถูกรัฐบาลทหารปลดจากตำแหน่ง แต่จนถึงขณะที่เขียนบทความนี้ เขายังได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติ

สถานการณ์ยิ่งคลุมเครือสำหรับคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพเมียนมา (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw—CPRH) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรผู้แทนชั่วคราวของสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง  ในช่วงกลางเดือนเมษายน คณะกรรมการก็ก่อตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ขึ้นมาเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นเพื่อรวบรวมและประสานความคิดเห็นและความต้องการของกลุ่มและชาติพันธุ์ต่างๆ ทั่วประเทศ  NUG ท้าทายรัฐบาลทหารด้วยการยืนยันว่า ตนควรเป็นคู่สนทนาหลักในการเจรจาหารือกับองค์กรและกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ภายในประเทศเมียนมาและกับชุมชนนานาชาติ  อย่างไรก็ตาม NUG  มีทางเลือกจำกัดในการพัวพันกับรัฐบาลต่างๆ และมีโอกาสน้อยที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐบาลคู่ขนานที่มีความเท่าเทียม

ปัญหาเรื่องความชอบธรรมและการยอมรับยกระดับถึงจุดเดือดในช่วงก่อนการประชุมสุดยอดนัดพิเศษกรณีเมียนมาของกลุ่มอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นที่อินโดนีเซียเมื่อวันที่ 24 เมษายน  การที่มินอ่องหล่าย นายพลอาวุโสและประธาน SAC เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกฝังใจในเมียนมาว่า การที่อาเซียนยังพัวพันกับ SAC เท่ากับให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญและการใช้กองกำลังที่มีอำนาจสังหารพลเรือนไร้อาวุธ  อย่างไรก็ตาม NUG สามารถสื่อสารจุดยืนของตนต่ออาเซียนด้วยจดหมายจากรัฐมนตรีต่างประเทศของ NUG ถึงเลขาธิการอาเซียนและส่งต่อถึงรัฐมนตรีต่างประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนทุกคน

ถึงแม้ NUG เข้าใจดีถึงความจำเป็นต้องมีการสานเสวนาอย่างสร้างสรรค์กับอาเซียน แต่รัฐบาลทหาร SAC ก็ยังยึดครองพื้นที่ในอาเซียนได้อยู่ดี  รัฐบาลทหารมองว่าอาเซียนเป็นแค่เวทีที่ใช้ยืนยันความชอบธรรมของตนอย่างง่ายดาย  อันที่จริง คณะตัวแทนของ SAC ก็เข้าร่วมการประชุมอาเซียนตามวาระปรกติ (เกือบ) ทุกครั้ง

อาเซียนต้องประเมินความจริงใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัวหลักทั้งสองฝ่ายในเมียนมาและกำหนดท่าทีในการพัวพันกับทั้งสองฝ่าย  “คำแถลงต่อสื่อมวลชนว่าด้วยการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน” ของ SAC ในเดือนเมษายน 2021 กล่าวว่า กองทัพจะพิจารณาคำแนะนำที่สร้างสรรค์ของผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อสถานการณ์สงบลงแล้ว  ส่วนความสำคัญที่สุดในตอนนี้คือการรักษากฎหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งการฟื้นฟูสันติภาพและความสงบสุข 6นายกรัฐมนตรีของ NUG ก็ออกแถลงการณ์เพื่อแสดงท่าทีต่อ “ฉันทามติ 5 ประการ” โดยเตือนว่า SAC มัก “บิดเบือนข้อเท็จจริง” และขอให้อาเซียนหารือกับ NUG เกี่ยวกับภารกิจและอำนาจมอบหมายของคณะผู้แทนพิเศษอาเซียนที่มีการเสนอขึ้นมา รวมทั้งเตือนว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่ช่วยแก้ปัญหาที่เป็นรากเหง้าของวิกฤตการณ์ครั้งนี้  หลังจากนั้นไม่นาน แม้แต่ NUG ก็มีท่าทีว่าจะปฏิเสธการเจรจากับกองทัพ โดยกล่าวเป็นนัยว่าทั้งกองทัพและฝ่ายต่อต้านต่างไม่พร้อมที่จะเจรจาเกี่ยวกับการลดระดับความขัดแย้ง ณ จุดนี้

ความคิดเห็นส่งท้าย

ชะตากรรมของประชาชนชาวเมียนมาค่อนข้างสิ้นหวัง และความหวังใดๆ ที่คิดจะพึ่งศักยภาพของชุมชนระหว่างประเทศให้ช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ในเมียนมากำลังมลายหายไป  เสียงเรียกร้องของ NUG ให้มีการแทรกแซงขั้นเด็ดขาดต่อเมียนมาดูเหมือนขลุกขลักอยู่ในกับดักของภูมิศาสตร์การเมืองระดับโลกและปัญหาฉุกเฉินภายในประเทศสืบเนื่องจากโรคระบาดโควิด-19  การดำเนินการทางการทูตที่อ่อนแอและเชื่องช้าทำให้ฝ่ายต่อต้านหันไปหายุทธวิธีแบบกองทัพจรยุทธ์  ความตั้งใจของ NUG ที่จะก่อตั้งกองทัพสหภาพแห่งสหพันธรัฐ (Federal Union Army) เริ่มต้นก้าวแรกแล้วด้วยการประกาศก่อตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force—PDF) และจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เหตุปะทะหลายครั้งที่ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลงานของกลุ่ม PDF ในท้องถิ่นหลายแห่ง ชี้ให้เห็นว่า จะมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้นและมีการใช้เงื่อนไขแบบสงครามกลางเมืองต่อสถานการณ์ในเมียนมาอย่างกว้างขวางมากขึ้น  ในขณะเดียวกัน การปะทะที่ทวีความรุนแรงระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ (โดยเฉพาะในรัฐคะฉิ่นและรัฐกะเหรี่ยง) อาจกระตุ้นให้เกิดอาชญากรรมข้ามชาติมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการค้าอาวุธเถื่อน  ความช่วยเหลือลับๆ แก่กองกำลังทหารชาติพันธุ์ กองกำลัง PDF และกองทัพสหภาพแห่งสหพันธรัฐที่จะก่อตั้งขึ้นในอนาคต อาจจุดประกายความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามตัวแทนในบริบทที่ล่อแหลมอยู่แล้ว  ปัญหาเฉพาะหน้ายิ่งกว่านั้นก็คือ จำนวนประชาชนพลัดถิ่นภายในประเทศและผู้อพยพที่หาแหล่งหลบภัยจากความขัดแย้งตามแนวชายแดนเมียนมา-ไทยหรืออินเดีย กลายเป็นความเสี่ยงที่อาจทำลายการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 และตามมาด้วยปัญหาด้านมนุษยธรรมอื่นๆ ที่น่าวิตก

สำหรับประชาชนชาวเมียนมา ช่างน่าเศร้าที่แม้แต่การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่หลักแหลมที่สุด ไม่ว่าด้วยฝีมือของใครหรือฝ่ายไหน ก็ดูเหมือนไม่สามารถสกัดผลกระทบอันเลวร้ายสาหัสที่เกิดจากความเป็นไปในระยะหลัง

Moe Thuzar
Fellow and Co-coordinator
Myanmar Studies Programme, ISEAS – Yusuf Ishak Institute, Singapore

Notes:

  1. รัฐบาลนี้มีชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่า สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council) หรือสลอร์ก (SLORC) ตั้งแต่ปี 1988-1997.
  2. https://journals.sagepub.com/doi/full/10.1177/186810341703600104
  3. https://fulcrum.sg/myanmar-at-the-icj-intent-and-implications-by-moe-thuzar/
  4. https://www.aspistrategist.org.au/what-to-expect-from-myanmars-post-election-foreign-policy/
  5. https://www.iseas.edu.sg/images/pdf/ISEAS_Perspective_2019_90.pdf
  6. Global New Light of Myanmar, 27 April 2021.
Exit mobile version