Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

กระบวนการสันติภาพของเมียนมา: 2010-2021

Sittwe, Rakhine State, Myanmar, 2015: Rohingya child selling watermelon in street. Photo: Suphapong Eiamvorasombat / Shutterstock.com

ประวัติศาสตร์ของเมียนมานับตั้งแต่ปี 1957 จนถึงปี 2010 มีจุดเด่นอยู่ที่ความขัดแย้งทางอาวุธที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องระหว่างกองทัพพม่า (ชื่อในภาษาท้องถิ่นคือตะมะดอว์) กับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations–EAOs) ที่มีมากมายหลายกลุ่ม  ถึงแม้ตะมะดอว์บรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับบางกลุ่มเป็นครั้งคราวระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว  แต่การเปลี่ยนผ่านที่ริเริ่มในปี 2010 มีประเด็นสำคัญคือ เป้าหมายชัดเจนที่จะบรรลุข้อตกลงสันติภาพที่ครอบคลุมมากกว่าเดิม  ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement–NCA) ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party—USDP) ซึ่งกองทัพให้การสนับสนุนและขึ้นครองอำนาจในปี 2011 ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นเครื่องมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  บทความนี้จะพิจารณาถึงวิวัฒนาการของกระบวนการสันติภาพ  นับตั้งแต่การใช้แนวทางใหม่ๆ เพื่อบรรลุการเจรจาหยุดยิงของพรรค USDP ไปจนถึงการเจรจาทางการเมืองที่อยู่ภายใต้ระบบราชการมากขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy—NLD) (2016-2021)  จากนั้นจะอภิปรายว่าการรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ส่งผลกระทบต่อจุดยืน การรับรู้และความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการสันติภาพอย่างไรบ้าง  ข้อพิจารณาเหล่านี้นำไปสู่ข้อสรุปที่น่าเสียดายว่า ในขณะที่ทุกฝ่ายมีความรู้สึกว่า ตนเอง “กำลังชนะ” แต่แท้ที่จริงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าการเจรจาสันติภาพน่าจะหยุดชะงักลง  ยิ่งกว่านั้น ต่อให้กลับมาเจรจากันอีก ข้อตกลง NCA อาจมิใช่เครื่องมือเพื่อบรรลุสันติภาพที่ใช้การได้อีกต่อไป

ประเทศรวมศูนย์อำนาจที่ปราศจากสัญญาทางสังคม

เมียนมาเป็นดินแดนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายมาก มีภาษาพูดทั้งภาษาพม่า ภาษาตระกูลจีน-ทิเบต ไทย มอญ ตระกูลสันสกฤต ฯลฯ  ภายใต้การปกครองยุคอาณานิคมอังกฤษ การควบคุมพื้นที่ชายแดนที่เป็นเทือกเขาอาศัยข้อตกลงหลวมๆ กับผู้ปกครองชาติพันธุ์ท้องถิ่น  ในขณะที่ดินแดนใจกลางประเทศพม่าถูกอังกฤษปกครองโดยตรง

ในปี 1947 มีการผูกพันธมิตรกันหลวมๆ ระหว่างชนกลุ่มใหญ่ชาวบะหม่ากับผู้นำของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น ฉานและชิน เพื่อขับไล่เจ้าอาณานิคมออกไป  อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขของข้อตกลงนี้ที่สัญญาว่าจะมีการทำประชามติในอีกสิบปีข้างหน้าเพื่อก่อตั้งสหพันธรัฐไม่เคยมีการนำมาปฏิบัติ  ในปี 1962 ตะมะดอว์ยึดอำนาจและปกครองเมียนมาจนกระทั่งมีการริเริ่มเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เศรษฐกิจและสันติภาพในปี 2010  หลังจากนั้น ตะมะดอว์ยังรักษาอิทธิพลของตนด้วยอำนาจเฉพาะกิจในการร่วมบริหารประเทศกับรัฐบาลพลเรือน

ช่วงเวลานับตั้งแต่ปี 1957 จนถึง 2010 มีเหตุการณ์เด่นๆ อยู่ที่กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธก่อกบฏแข็งข้อต่อการปกครองระบอบทหารเป็นวงกว้าง  เป้าหมายหลักของกลุ่มชาติพันธุ์คือการปกครองตัวเองหรือเอกราชสำหรับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์และขับไล่ตะมะดอว์จากพื้นที่ของตน  ถึงแม้บาง EAOs อาจก่อตั้งโดยมีอุดมการณ์บางอย่าง แต่กล่าวได้ว่าส่วนใหญ่ไม่มี “โลกทัศน์” คอยชี้นำความคิดทางการเมืองของตน

ตลอดระยะเวลาที่ปกครองประเทศ ตะมะดอว์พยายามหารือเรื่องการหยุดยิงกับกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มเพื่อสงบศึก  สถิติมีทั้งสำเร็จและล้มเหลว  ตะมะดอว์สามารถสงบศึกกับบางกลุ่มได้ยาวนานหลายทศวรรษ (เช่น รัฐมอญ ชินและว้า)  ในขณะที่รัฐอื่นๆ (เช่น รัฐคะฉิ่น) สถานการณ์ล่อแหลมกว่าและมีการสู้รบเกิดขึ้นเป็นระยะๆ  ข้อตกลงหยุดยิงเหล่านี้เป็นแค่สัญญาสุภาพบุรุษ  มันไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเจรจาคืบหน้าเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนระบบการเมืองเพื่อบรรเทาความเจ็บช้ำน้ำใจที่เป็นเชื้อไฟของความขัดแย้ง  รวมทั้งไม่มีการพูดคุยหารือเกี่ยวกับอัตลักษณ์แห่งชาติและแนวคิดในการสร้างความครอบคลุมทุกกลุ่มคนเพื่อให้ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เข้ามาอยู่ร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ไม่มีการเปลี่ยนแปลงความเป็นศูนย์กลางเชิงสัญลักษณ์ของชนกลุ่มใหญ่ชาติพันธุ์บะหม่า  ในขณะเดียวกัน กลุ่มชาติพันธุ์ก็มองว่านโยบาย “การทำให้เป็นพม่า” (Burmanisation) (ทั้งที่นึกคิดเอาเองและที่เป็นจริง) คือภัยคุกคามการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ที่พวกเขาต่อสู้รักษาไว้แทบเป็นแทบตาย

Map of armed conflict zones in Myanmar (Burma). States and regions affected by fighting during and after 1995 are highlighted in yellow. Wikipedia Commons

กระบวนการสันติภาพระยะที่หนึ่ง (2010-2015)

หลังจากเริ่มเปิดกว้างทางการเมืองในปี 2010 พรรค USPD ซึ่งมีกองทัพหนุนหลังก็ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจในฐานะรัฐบาลกึ่งพลเรือนชุดแรกนับตั้งแต่ปี 1962  ในบรรดาการปฏิรูปมากมายหลายอย่างที่รัฐบาลนี้ลงมือทำ มีความพยายามครั้งใหม่ที่จะสงบศึกในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย  รัฐบาล USPD ใช้วิธีการแก้ปัญหานี้ด้วยแนวทางใหม่ๆ อย่างถึงรากฐาน  กล่าวคือ ในขณะที่การเจรจาก่อนหน้านี้มักเป็นแค่การพูดคุยกันเฉพาะกิจและจัดขึ้นระหว่างผู้บัญชาการกองทัพตะมะดอว์ในท้องถิ่นนั้นๆ กับ EAOs  การเจรจาครั้งใหม่นี้นำโดยบุคลากรระดับรัฐมนตรีและมีการประสานส่วนต่างๆ มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ผู้ดำเนินการเจรจาตัวหลักของรัฐบาล (นายอูอ่องมิน อดีตนายทหารยศพลโท) แสดงท่าทีให้รับรู้ทั่วกันว่า เขาเต็มใจที่จะพบปะกับกลุ่มติดอาวุธทุกกลุ่มโดยไม่มีเงื่อนไขล่วงหน้า ตราบใดที่กลุ่มเหล่านั้นเต็มใจมาพบปะกับเขาด้วยความตั้งใจจริง  เพื่อแสดงให้เห็นความจริงใจและสนับสนุนการเจรจา เขาก่อตั้งศูนย์สันติภาพเมียนมา (Myanmar Peace Center—MPC) ขึ้น โดยมีคณะทำงานและที่ปรึกษาเป็นพลเรือน ประกอบด้วยชาวพม่าหลายคนที่ย้ายกลับมาจากต่างประเทศ  ที่ปรึกษาเหล่านี้สามารถติดต่อเชื่อมโยงกับผู้เชี่ยวชาญและผู้ให้ทุนระหว่างประเทศได้ง่ายกว่าตัวนายพลเอง  เขาสนับสนุนการสร้างสายสัมพันธ์เหล่านี้และเปิดกว้างรับฟังคำแนะนำ ถึงแม้เขายืนยันว่านี่คือกระบวนการของเมียนมาที่ต้องให้ประชาชนชาวเมียนมาเป็นผู้ชี้นำ  นอกจากนี้ เขายังแสดงความพยายามอย่างตั้งใจที่จะหารือกับที่ปรึกษาของ EAOs เพื่อเป็นหนทางหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นชัดเจนว่า กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ไว้วางใจได้

นายพลอูอ่องมินได้รับมอบหมายอำนาจค่อนข้างมากสำหรับการเจรจาและเข้าถึงประธานาธิบดีได้โดยตรงเมื่อต้องมีการตัดสินใจที่เกินขอบเขตอำนาจของเขา  ตัวประธานาธิบดีเองก็สามารถเจรจาโดยตรงกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพื่อขอแรงสนับสนุนจากกองทัพ

ความพยายามในการเจรจาบรรลุผลลัพธ์เป็นข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement–NCA)  ถึงแม้ในบรรดา 13 EAOs ที่เข้าร่วมการเจรจา มีเพียง 8 องค์กร (ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มผู้ถืออาวุธราว 30%) ที่ยอมลงนามเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2015  ส่วนกลุ่มอื่นๆ นั้น บางกลุ่มถูกกองทัพกีดกันไม่ให้ลงนาม และบางกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตามพรมแดนที่ติดกับประเทศจีน ถูกกดดันไม่ให้ลงนาม

NCA มีความริเริ่มเป็นครั้งแรกหลายประการด้วยกัน อาทิ มันเป็นข้อตกลงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร  มันเป็นข้อตกลงพหุภาคี โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นข้อตกลงระหว่างกองทัพกับ EAO ทั้งหมด (เป็นข้อตกลงเสริมจากข้อตกลงหยุดยิงทวิภาคีก่อนหน้านี้)  เป็นข้อตกลงที่มีประจักษ์พยานนานาชาติ 6 ประเทศร่วมลงนาม (จีน อินเดีย ไทย ญี่ปุ่น สหประชาชาติ สหภาพยุโรป)  มีกลไกตรวจสอบการหยุดยิงอย่างเป็นทางการ และวางรากฐานให้แก่การสานเสวนาทางการเมืองโดยมีเป้าหมายชัดเจนที่จะสร้าง “สหภาพสหพันธรัฐประชาธิปไตย” ขึ้นมา  ซึ่งเท่ากับปูทางไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ  การประชุมสันติภาพในระดับสหภาพครั้งแรกจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2016  ไม่นานก่อนหน้าที่พรรค NLD จะเข้ามาเป็นรัฐบาลภายหลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2015 อย่างถล่มทลาย

Leader of the National League for Democracy in Myanmar, Aung Sang Suu Kyi, at the 21st Century Panglong Conference. Wikipedia Commons

กระบวนการสันติภาพระยะที่ 2:  กระบวนการเจรจาที่อยู่ภายใต้ระบบราชการมากขึ้น (2016-2020)

คนจำนวนมากมองว่ารัฐบาล NLD คือชัยชนะของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย  อย่างไรก็ตาม มีความกังวลแต่แรกว่า การพลิกขั้วทางการเมืองอาจกลายเป็นประเด็นสำคัญมากกว่าประเด็นอื่นๆ จนส่งผลกระทบด้านลบต่อการเจรจาสันติภาพ  การณ์ปรากฏว่าความวิตกนี้มีมูลจริงๆ  ถึงแม้ไม่ใช่ในลักษณะที่คาดหมายไว้

รัฐบาลชุดใหม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเจรจาอย่างสิ้นเชิง  MPC ถูกรื้อทิ้งและแทนที่ด้วยศูนย์สันติภาพและการปรองดองแห่งชาติ  (National Reconciliation and Peace Centre) โดยมีคณะทำงานกอปรด้วยข้าราชการล้วนๆ  คณะเจรจาและคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลชุดก่อนถูกปลดออก และมีการแต่งตั้งหัวหน้าคณะเจรจาชุดใหม่คือ ดร.ทินเมียววิน ซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพหรือกลุ่มชาติพันธุ์น้อยมาก  นี่หมายความว่าคณะเจรจาของรัฐบาลชุดใหม่ไม่มีความทรงจำหรือความเข้าใจในเชิงสถาบันว่าประเด็นอะไรที่เคยเจรจาไปแล้วก่อนหน้านี้ (หรือเจรจากันอย่างไร) แตกต่างจากคณะทำงานเดิมที่มาจากกองทัพและ EAOs (ฝ่ายหลังยังใช้คณะเจรจาชุดเดิมซึ่งมีประสบการณ์)

หัวหน้าคณะเจรจาชุดใหม่ของรัฐบาล NLD ไม่มีอำนาจตัดสินใจได้เอง  ถึงแม้เขามีช่องทางโดยตรงในการเข้าถึงอองซานซูจี ผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาลโดยพฤตินัย  แต่สำนักงานของเธอ (ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาของการขาดความไว้วางใจกันและแย่งชิงอำนาจกันเอง) กลายเป็นคอขวดของการตัดสินใจ  ทั้งเทคโนแครตรุ่นเก่าหัวโบราณและกลุ่มแกนนำ NLD ที่อ่อนประสบการณ์ พวกเขาประเมินความเจ็บช้ำน้ำใจที่ฝังลึกมานานของ EAOs และความไม่ไว้วางใจในรัฐบาล “บะหม่า” ต่ำเกินไป  ต่อให้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็ตาม  ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลพรรค NLD เสียเวลากับความไว้วางใจอันมีค่าไปก่อนจะเข้าใจว่า กระบวนการนอกรัฐสภาไม่ใช่ภัยคุกคามต่อการครองเสียงข้างมากในรัฐสภาของตน

ความแตกแยกที่เพิ่มขึ้นและความไม่ไว้วางใจยืดเยื้อระหว่างรัฐบาลพรรค NLD กับตะมะดอว์ส่งผลให้มีการสื่อสารที่ขัดแย้งกันและประสิทธิภาพของการสานเสวนาทางการเมืองยิ่งลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ  การที่รัฐบาลพรรค NLD พยายามตีตัวเองออกห่างจากสิ่งที่เรียกว่า “ประเด็นด้านการทหาร” และชิงการนำใน “ประเด็นด้านการเมือง” ส่งผลให้มีการลดความสำคัญของกระบวนการสันติภาพลง  แทนที่จะทวงคืนพื้นที่นี้มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพลเรือน รัฐบาล NLD กลับปล่อยให้ตะมะดอว์มีอำนาจอิสระมากพอควร  ในจังหวะก้าวที่หลายคนมองว่าเป็นความพยายามที่จะ “ข้ามหน้าข้ามตา” ตะมะดอว์  คณะเจรจาที่มีแกนนำมาจากพรรค NLD หันมาให้ความสำคัญแก่การเปิดโอกาสให้กลุ่มที่ยังไม่ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศก่อนหน้านี้ได้ลงนามมากกว่าการสร้างกระบวนการทางการเมืองที่น่าเชื่อถือ

หลังจากความพยายามอย่างยากลำบากถึงสี่ปี ก็มี EAOs เล็กๆ สองกลุ่มยอมลงนามในข้อตกลง NCA  ในระหว่างนั้น การเจรจาทางการเมืองได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมน้อยมาก  ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากรูปแบบของการประชุมสันติภาพปางโหลง (ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 800 คน) ไม่เอื้อต่อการเจรจาหรือการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด  ตรงกันข้าม กระบวนการสันติภาพกลับถูกลดทอนจนเหลือแค่การพูดคุยหารือลอยๆ เกี่ยวกับระบอบสหพันธรัฐ รวมทั้งการปลดอาวุธ สลายกำลังทหารและกลับคืนสู่สังคม (Disarmament, Demobilization, Reintegration–DDR)  การไม่มีผลลัพธ์ที่ชัดเจนเช่นนี้ทำให้แกนนำ EAOs ที่ร่วมลงนามตกอยู่ใต้แรงกดดันอย่างมหาศาลและทำให้พวกเขาเสียความเชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพของรัฐบาล NLD มากขึ้นเรื่อยๆ  ฝ่าย EAOs รู้สึกว่า รัฐบาลหรือตะมะดอว์ไม่มีความจริงจังจริงใจที่จะสร้างสหภาพสหพันธรัฐที่กระจายอำนาจ ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยรับประกันมิให้เกิด “การบุกรุกของชาวบะหม่าและการยึดครองของตะมะดอว์”

Taunggyi, Myanmar, March 2021: Myanmar military cracks down on peaceful protesters. Photo: R. Bociaga / Shutterstock.com

ย้อนกลับไปสู่ภาวะอนาธิปไตยของกองกำลังติดอาวุธ (ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021)

ขณะที่เขียนบทความอยู่นี้ ยังเร็วเกินไปที่จะคาดทำนายว่าการรัฐประหารจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาสันติภาพอย่างไรบ้าง   อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ชัดเจนก็คือในสายตาของ EAOs ตะมะดอว์ได้เปลี่ยนสถานะจากแหล่งอำนาจที่มีศักยภาพในการคลี่คลายปัญหากลายมาเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของประชาชน  การรัฐประหารครั้งนี้อาจเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ แต่มันยืนยันความระแวงแคลงใจของ EAOs ทุกกลุ่มว่าไว้ใจตะมะดอว์ไม่ได้ และยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่าตะมะดอว์ไม่เคยจริงใจ ทั้งในเรื่องการสานเสวนา เรื่องสันติภาพ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

EAOs ทุกกลุ่มต่างปวารณาตนว่าจะปกป้องประชาชนที่หนีการปราบปรามของตะมะดอว์มาหาความคุ้มครองในพื้นที่ของตน  พวกเขายังเต็มใจช่วยฝึกอบรมคนหนุ่มสาวในเมืองบางส่วนให้รู้จัก “การป้องกันตัว” แต่ไม่รับอาสาสมัครหน้าใหม่เหล่านี้เข้ามาอยู่ในกองกำลังของตน (ซึ่งแตกต่างจากเมื่อปี 1988)

กลุ่ม EAOs ที่ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงรีบให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐประหาร  ในขณะที่ปากบอกว่ายึดมั่นในข้อตกลง NCA แต่พวกเขาก็ลังเลที่จะเข้าร่วมการเจรจาทางการเมืองกับตะมะดอว์   การริเริ่มที่นำโดยโครงข่ายที่คอยประสานกลุ่มกองกำลังที่ลงนามแล้ว ซึ่งเสนอให้มีการเจรจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายภายใต้การสังเกตการณ์ของประจักษ์พยาน NCA ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากตะมะดอว์ปฏิเสธไม่ยอมให้มีคนกลางจากภายนอกและกลุ่มที่แสดงความแข็งข้อในบรรดา EAOs ที่ลงนามแล้วมาเข้าร่วมประชุมด้วย  ยิ่งกว่านั้น ปฏิกิริยาที่แตกต่างกันไปของ EAOs กลุ่มต่างๆ (ซึ่งมีตั้งแต่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือ NUG ที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยไปจนถึงเข้าร่วมในสภาบริหารรัฐหรือ SAC ที่มีกองทัพเป็นผู้นำ) ยิ่งทำให้โครงข่ายประสานงานเหล่านั้นหมดบทบาทไปโดยปริยาย

ส่วน EAOs ที่ไม่ได้ลงนาม รัฐประหารครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำความไม่มีผลบังคับใช้ของข้อตกลง NCA  พวกเขาต่างเลื่อนการเจรจากับตะมะดอว์ และการปะทะอย่างดุเดือดกว่าเดิมเกิดขึ้นอีกครั้งในรัฐคะฉิ่น ตอนเหนือของรัฐฉานและรัฐกะยา

รัฐบาล NUG เรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธป้องกันตัวเองร่วมกันสร้างองค์กรเจ้าภาพเพื่อรวบรวมกลุ่มติดอาวุธเกิดใหม่จำนวนมากไว้ภายใต้ร่มธงของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Forces—PDFs)  NUG กำลังพยายามรวบรวม EAOs ที่มีอยู่แล้วกับกลุ่มติดอาวุธเกิดใหม่เหล่านี้มารวมกันเพื่อสร้าง “กองทัพสหภาพแห่งสหพันธรัฐ” (Federal Union Army)  ความริเริ่มนี้กลายเป็นที่ระแวงแคลงใจของ EAOs ส่วนใหญ่  อีกทั้งยังขาดการบังคับบัญชาและโครงสร้างควบคุมที่ชัดเจน  เวลาจะบอกให้รู้ว่าเรื่องนี้จะพัฒนาไปในทิศทางใด

มองไปข้างหน้า: กระบวนการใหม่ต้องเกิดขึ้น แต่ยังไม่ถึงเวลาสุกงอม

ก่อนรัฐประหาร ความเชื่อมั่นในข้อตกลง NCA ว่าเป็นความคืบหน้าในทางที่ดีเริ่มลดน้อยถอยลง เหตุการณ์ในระยะหลังยิ่งบั่นทอนความมั่นใจมากขึ้นกว่าเดิม  ต่อให้ตะมะดอว์เต็มใจพิจารณากระบวนการหยุดยิงในอนาคต ยังไม่ต้องพูดถึงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เปิดกว้างแก่ทุกฝ่าย ข้อตกลง NCA ก็อาจไม่ใช่เครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวอีกต่อไป

การมีกลุ่มติดอาวุธเกิดใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในรูปของ PDFs และมีความแข็งกร้าวมากขึ้น (โดยเฉพาะในรัฐกะยา เขตซะไกง์หรือจักกาย และเขตมะกเว) ยิ่งทำให้สถานการณ์มีความซับซ้อนกว่าเดิม  อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การรัฐประหารส่งผลให้กลุ่มองค์กรต่างๆ มีเป้าหมายเดียวกันในการต่อต้านตะมะดอว์ แต่ทศวรรษที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า การมีศัตรูร่วมกันไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การมีเอกภาพ  ความซับซ้อนของตัวกระทำจำนวนมากในเมียนมาและการมีความไว้วางใจในระดับต่ำเตี้ยเรี่ยดินในหมู่พวกเขาเอง  หมายความว่ากระบวนการที่ไม่มีคนกลางจากภายนอกน่าจะประสบความสำเร็จได้ยาก

ณ เวลานี้ ทุกฝ่ายมีความรู้สึกว่าตน “กำลังชนะ” จึงไม่เต็มใจเข้าสู่กระบวนการเจรจาแบบใด  กระนั้นก็ตาม ประวัติศาสตร์ของเมียนมาแสดงให้เห็นแล้วว่า บางครั้งมีความแตกต่างน้อยมากระหว่างการทำทุกอย่างเพื่อมิให้อีกฝ่ายได้ชัยชนะกับสงครามบั่นทอนกำลังกันไปมาช้าๆ ซึ่งทุกฝ่ายพ่ายแพ้หมด  ตอนนี้ดูเหมือนนี่จะเป็นฉากเหตุการณ์ในอนาคตที่มีแนวโน้มมากที่สุด จนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือหลายฝ่ายตระหนักว่า การสานเสวนาต่างหากคือทางออกเดียวที่จะนำไปสู่ผลลงเอยที่ดีกว่าเดิม

Claudine Haenni
Director, Bridging-Changes
Thailand

Exit mobile version