Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

อัตลักษณ์และความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคม

Shan State, Myanmar. Local village woman with son pose for a photo. Natalia Davidovich / Shutterstock.com

ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์และความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคม (social inclusion) เป็นเรื่องที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกันมานานภายในสังคมเมียนมา  เมียนมาเป็นประเทศที่มีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์-ภาษามากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ 135 กลุ่มและภาษาประมาณ 107 ภาษา 1  ชุมชนทางศาสนา 2จำนวนมากดำรงอยู่ร่วมกันภายในพรมแดนของประเทศ ประกอบด้วยศาสนาพุทธ (87.9%)  คริสต์ (6.2%) อิสลาม (4.3%) ฮินดู (0.5%) และคติการนับถือผี (0.8%)  ท่ามกลางภูมิหลังเช่นนี้ การแบ่งแยกที่เป็นซากตกค้างจากยุคอาณานิคมและประวัติศาสตร์ ซึ่งชนกลุ่มใหญ่ชาติพันธุ์ชาวบะหม่ามีอำนาจครอบงำเหนือกลุ่มอื่น ก่อให้เกิดปัจจัยที่นำไปสู่ความแตกแยกทางด้านชาติพันธุ์และศาสนา ซึ่งยังคงทำให้สังคมเมียนมาแตกเป็นเสี่ยงๆ จนถึงทุกวันนี้

บทความนี้จะกล่าวถึงภาพกว้างๆ ว่าปัญหาอัตลักษณ์และความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคมมีการคลี่คลายอย่างไรบ้างในช่วงสิบปีที่เมียนมาอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบระหว่างปี 2011-2021  ในช่วงแรก เมียนมาอยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party—USDP) และหลังปี 2016 อยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy—NLD) ซึ่งได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งท่วมท้น  แนวคิดเกี่ยวกับความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคมจะพิจารณาจากสามมิติด้วยกัน กล่าวคือ ชาติพันธุ์ ศาสนา และเพศสภาพกับเพศวิถี  ถึงแม้มีความคาดหวังในทางที่ดีว่ารัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบน่าจะนำมาซึ่งความครอบคลุมทุกกลุ่มคนมากขึ้นภายในสังคมเมียนมา ทว่าความก้าวหน้าไปในทิศทางนั้นกลับค่อนข้างจำกัด  อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารของกองทัพเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 สร้างจุดหักเหที่มีศักยภาพขึ้น ความสมานฉันท์แบบใหม่ๆ เริ่มก่อตัวขึ้นระหว่างฝ่ายต่างๆ ซึ่งเคยแตกแยกกันจนเชื่อมต่อไม่ติดมาก่อน  กระนั้นก็ตาม ยังต้องจับตาดูต่อไปว่า ความสมานฉันท์ที่เพิ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างนี้จะยืนยงคงทนหรือไม่ ในขณะที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่มต้องบุกบั่นฝ่าฟันท่ามกลางภูมิประเทศที่ยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ

อัตลักษณ์และความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในบริบททางประวัติศาสตร์ของเมียนมา

ภายใต้การปกครองระบอบอาณานิคม (1824-1948) นโยบายแบ่งแยกและปกครองของอังกฤษผลักให้ชนกลุ่มใหญ่ชาติพันธุ์ชาวบะหม่าเป็นปฏิปักษ์กับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์  เมื่อขาดไร้อัตลักษณ์ที่จะยึดโยงความเป็นชาติให้เหนียวแน่น ในช่วงเวลาปั่นป่วนหลังจากได้รับเอกราช จึงได้เห็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ หลายกลุ่มก่อตั้งกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations–EAOs) ขึ้นเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการปกครองตัวเองมากขึ้น  หลังการรัฐประหารของกองทัพในปี 1962 รัฐยิ่งส่งเสริมการกดขี่ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนามากกว่าเดิม  ยิ่งรัฐบาลทหารประกาศใช้กฎหมายสัญชาติพม่า (Burma Citizenship Law) ในปี 1982 ซึ่งกฎหมายนี้ยังคงไม่มีการแก้ไขจนถึงปัจจุบัน ก็ยิ่งมีการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มต่างๆ ซึ่งรวมถึงชาวมุสลิม ฮินดูและชาวจีน กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองอย่างเต็มที่บนพื้นฐานว่าพวกเขาไม่จัดเป็นชนพื้นเมือง (Taing Yin Thar) ของเมียนมา  ชาวมุสลิมยิ่งถูกกีดกันและถูกไล่ออกจากตำแหน่งในรัฐบาลและกองทัพ 3 กองทัพเองก็เลือกปฏิบัติในทางให้สิทธิพิเศษแก่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์บางกลุ่ม พร้อมกับกดขี่กลุ่มอื่นอย่างสาหัสสากรรจ์ระหว่างปฏิบัติการทางทหารเชิงรุกครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1990

การเลือกปฏิบัติภายใต้การปกครองระบอบทหารครอบคลุมถึงการเลือกปฏิบัติต่อเพศด้วย  ตะมะดอว์ (ชื่อเรียกกองทัพพม่า) มีทัศนะหัวโบราณและมองว่าการที่ผู้หญิงเป็นผู้นำถือเป็นเรื่องต้องห้าม  ผู้นำระดับสูงยึดถือตามคำพังเพยของพม่าว่า “เวลาเช้ามาถึงต่อเมื่อไก่ตัวผู้ขัน ไม่ใช่ไก่ตัวเมีย” มีความหมายว่าประเทศจะเข้มแข็งต่อเมื่อผู้ชายเป็นผู้ปกครอง  นอกจากนี้ ตะมะดอว์ยังส่งเสริมเรื่องเล่าแม่บทเกี่ยวกับภาวะผู้นำที่ไร้ประสิทธิภาพของผู้หญิง โดยปั้นแต่งเรื่องราวว่าเป็นเพราะการปกครองที่ไม่ปรีชาสามารถของราชินี Suphayarlat ทำให้ราชอาณาจักรพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ  ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญ 2008 ที่กองทัพประกาศใช้จึงสงวนตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญบางตำแหน่งไว้ให้ผู้ชายเท่านั้น 4  เนื่องจากผู้หญิงเพิ่งได้รับอนุญาตให้เป็นทหารในกองทัพได้เมื่อไม่นานนี้เอง 5 ผู้หญิงจึงดำรงตำแหน่งน้อยมากทั้งในกองทัพและในทางการเมือง

National League for Democracy’s headquarters in Yangon (before reconstruction). Wikipedia Commons

การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้พรรค USDP (2010-2015) และพรรค NLD (2016-2021): ความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคมมีความก้าวหน้าเพียงจำกัด

ความครอบคลุมทุกกลุ่มคนด้านชาติพันธุ์

ภายหลังจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในปี 2011  รัฐบาลพรรค USDP ใช้แนวทางแบ่งแยกและปกครองในหมู่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ด้วยการกีดกันบาง EAOs ออกจากข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement–NCA) ซึ่งเป็นขั้นตอนเบื้องต้นสุดที่จะนำไปสู่การสานเสวนาสันติภาพที่ครอบคลุมทุกฝ่าย  เมื่อพรรค NLD ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งปี 2015 จึงเกิดความคาดหวังขึ้นมาใหม่ว่าจะได้เห็นความครอบคลุมทุกกลุ่มคนด้านชาติพันธุ์และการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันมากขึ้น  ในแถลงการณ์หลังจากได้รับเลือกตั้ง พรรค NLD สัญญาว่าจะดำเนินการสานเสวนาทางการเมืองเพื่อหาทางแก้ไขสาเหตุรากเหง้าของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และเดินหน้าสู่การสร้างสหภาพสหพันธรัฐที่แท้จริงบนหลักการของสิทธิอันเท่าเทียม สิทธิในการกำหนดการปกครองของตัวเองและการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน  กระนั้นก็ตาม ตลอดช่วงเวลาห้าปีที่เป็นรัฐบาลนั้น พรรค NLD ไม่สามารถผลักดันให้เกิดความคืบหน้าตามที่สัญญาไว้มากนัก  พรรค NLD จะแก้ตัวเกี่ยวกับความล้มเหลวนี้ในภายหลังโดยอ้างว่าเป็นเพราะถูกจำกัดจากรัฐธรรมนูญปี 2008

จากมุมมองของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ความล้มเหลวนี้เกิดมาจากความเชื่อเชิงคลั่งชาติ-ชาติพันธุ์นิยมของพรรค NLD เอง กล่าวคือความเชื่อว่าชนกลุ่มใหญ่ชาติพันธุ์บะหม่าควรเป็นผู้นำคณะรัฐบาลปกครองประเทศนี้เสมอ  กลุ่มผู้นำชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์วิพากษ์วิจารณ์การที่รัฐบาลพรรค NLD มีสายสัมพันธ์สนิทแนบแน่นกับตะมะดอว์ด้วย  รวมทั้งการที่พรรค NLD อิดเอื้อนไม่ยอมเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุดตั้งแต่แรก ทั้งยังคัดค้านการแก้ไขมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งสรรปันอำนาจอย่างเท่าเทียมกับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ทั้งหลาย

ความครอบคลุมทุกกลุ่มคนด้านศาสนา

ถึงแม้ศาสนาพุทธไม่ได้เป็นศาสนาประจำชาติตั้งแต่ปี 1962 แล้ว แต่มาตรา 361 6 ในรัฐธรรมนูญปี 2008 กำหนดให้ศาสนาพุทธมี “สถานะความเลื่อมใสศรัทธาเป็นพิเศษ” ภายในสังคมเมียนมา  ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเมียนมาทุกชุดจึงยังให้อภิสิทธิ์แก่ศาสนาพุทธโดยกีดกันกลุ่มศาสนาอื่นๆ  การเลือกปฏิบัตินี้ประกอบด้วยนโยบาย กฎหมายและการปฏิบัติที่ขัดขวางความครอบคลุมทุกกลุ่มคนด้านศาสนาทั้งในระดับชุมชนและปัจเจกบุคคล  ตัวอย่างที่ชัดเจนประการหนึ่งคือ การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันต่อกลุ่มศาสนาต่างๆ ในด้านการสร้างสถานที่สักการะทางศาสนา  ชาวพุทธมีเสรีภาพในการสร้างเจดีย์ วัด หรือสิ่งก่อสร้างทางศาสนาประเภทต่างๆ ที่ไหนก็ได้ตามความพอใจ  ตรงกันข้าม กลุ่มชนชาวคริสต์ ฮินดู อิสลาม กว่าจะขออนุญาตซ่อมแซมปฏิสังขรณ์สถานสักการะที่มีอยู่แล้วหรือสร้างแห่งใหม่ได้กลับยากลำบากมาก

Ashin Wirathu, a Burmese Buddhist monk, leader of the Myanmar’s extremist 969 Movement. He has been accused of conspiring to persecute Muslims in Myanmar through his speeches, although he claims to be a peaceful preacher – a claim disputed by others. Wikipedia Commons

รัฐบาลพรรค USDP (และตะมะดอว์) กระพือลัทธิชาตินิยมพุทธศาสนาโดยตรงด้วยการปลุกระดมเครือข่ายและกลุ่มนักเคลื่อนไหวฝ่ายขวา  เครือข่ายเหล่านี้ประกอบด้วยขบวนการชาตินิยมพุทธศาสนา 969 และสมาคมคุ้มครองเชื้อชาติและศาสนา (Association for Protection of Race and Religion–MaBaTha) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อปกป้องเชื้อชาติพม่าและศาสนาพุทธ  ชุมชนศาสนาอิสลามตกเป็นเป้าจากกฎหมายเลือกปฏิบัติของรัฐและความเกลียดชังของชุมชนชาวพุทธมากเป็นพิเศษ  ในเดือนเมษายนและสิงหาคม 2015 รัฐบาล USDP ประกาศใช้กฎหมาย 4 ฉบับที่เรียกรวมกันว่า กฎหมายคุ้มครองเชื้อชาติและศาสนา 7 กฎหมายสี่ฉบับนี้มีเจตนาที่จะกีดกันชุมชนศาสนาอิสลามจากการมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนชาวพุทธทั่วประเทศ  นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา กลุ่มชาตินิยมล้นเกินชาวยะไข่ร่วมกับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่นๆ ลงมือเผาหรือรื้อทำลาย 8สิ่งปลูกสร้างทางศาสนาอิสลามหลายร้อยแห่ง ทั้งมัสยิดและโรงเรียนสอนศาสนา (มัดเราะซะฮ์) ตามเมืองต่างๆ หลายเมืองในรัฐยะไข่  มีรายงานจำนวนมากระบุว่า รัฐบาลรัฐยะไข่ โดยเฉพาะกระทรวงกิจการความมั่นคงและชายแดน คอยสนับสนุนการทำลายสิ่งปลูกสร้างทางศาสนาของชุมชนมุสลิม  ทุกวันนี้ มีมัสยิดหลงเหลือเพียงแค่สองสามแห่งที่ชุมชนชาวมุสลิมสามารถใช้ละหมาดและประกอบพิธีทางศาสนาได้อย่างเปิดเผย

รัฐบาลพรรค NLD ล้มเหลวค่อนข้างมากในการแก้ไขปัญหาการกีดกันชุมชนชาวมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลนี้ไม่ได้ดำเนินการจริงจังที่จะยับยั้งการเล่นการเมืองของพรรค USDP ที่ปลุกระดมนักเคลื่อนไหวด้านศาสนาฝ่ายขวา ซึ่งคอยปลุกปั่นให้เกิดความรู้สึกต่อต้านชาวมุสลิม รวมทั้งไม่ได้ยกเลิกเพิกถอนการเลือกปฏิบัติต่างๆ ที่กีดกันชุมชนชาวมุสลิมจากสิทธิพลเมืองหลายประการ อาทิ สิทธิในสัญชาติที่เท่าเทียมและเสรีภาพในการเดินทางเคลื่อนย้ายออกนอกเขตปกครองหรือหมู่บ้าน  รัฐบาลพรรค NLD ยังล้มเหลวในการปรับปรุงให้ชุมชนชาวมุสลิมเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ เช่น การศึกษาและการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในรัฐยะไข่

ความตึงเครียดระหว่างศาสนาปรากฏในความสัมพันธ์กับชุมชนศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ชาวพุทธด้วย  อัตราการเข้ารีตมานับถือศาสนาคริสต์ที่เพิ่มขึ้นในหมู่ชาวพุทธและผู้นับถือผีในรัฐยะไข่ยิ่งขยายความตึงเครียดในชุมชน  เพื่อตอบโต้ต่อปรากฏการณ์นี้ ชุมชนชาวพุทธพยายามจำกัดจำนวนคณะเผยแพร่คริสต์ศาสนาและการสร้างโบสถ์คริสต์  ในพื้นที่อื่นๆ ความตึงเครียดระหว่างศาสนาเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความรุนแรง แม้กระทั่งภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน  ตัวอย่างที่เห็นชัดมากตัวอย่างหนึ่งจากที่มีอยู่มากมายหลายกรณี ซึ่งสะท้อนถึงความขัดแย้งด้านศาสนาภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ก็คือ ความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Christian Karen National Union–KNU) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ กับกองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ (Democratic Karen Buddhist Army–DKBA) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  ความขัดแย้งของสองกลุ่มนี้มี “ประเด็นแฝงทางศาสนาเข้มข้น” 9 แม้ว่าทั้งสองกลุ่มมีอัตลักษณ์ด้านชาติพันธุ์ร่วมกันก็ตาม

ความครอบคลุมทุกกลุ่มคนด้านเพศสภาพและเพศวิถี

การกีดกันด้วยเหตุผลด้านอัตลักษณ์ทางเพศสภาพและเพศวิถียังเป็นปัญหาต่อเนื่องในเมียนมาเช่นกัน  ลัทธิชายเป็นใหญ่ฝังรากลึกในสังคมเมียนมาไม่ว่าในกลุ่มชาติพันธุ์ใด  สถาบันทางสังคม วัฒนธรรมและศาสนาที่ถูกครอบงำโดยเพศชายมีประวัติศาสตร์ที่กีดกันผู้หญิงและ LGBTQ+ จากสิทธิพลเมืองหลายประการ  การกีดกันผู้หญิงปรากฏเด่นชัดเป็นพิเศษในชุมชนชาวบะหม่าที่นับถือศาสนาพุทธ  พุทธศาสนิกชนทั้งชายและหญิงส่วนใหญ่ยอมรับว่า ผู้ชายมีจิตวิญญาณเหนือกว่า เพราะพวกเขาเชื่อว่าผู้ชายมีคุณสมบัติที่ติดตัวมาแต่เกิดเรียกว่า hpon 10  ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงจึงไม่ได้รับอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุนี ห้ามเข้าใกล้รูปพระพุทธเจ้าบางรูป หรือห้ามอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าผู้ชาย

Do Aung San Suu Ky at a forum in Prague in September 2013. Photo: Nadezda Murmakova / Shutterstock.com

หลังจากการลุกฮือเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1988 ผู้หญิงค่อยๆ มีส่วนร่วมในการเมืองมากขึ้น พร้อมกับมีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและผู้นำหญิงเกิดขึ้นหลายคน  ผู้หญิงที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในรัฐสภา 11ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงที่พรรค NLD ได้เป็นรัฐบาล กล่าวคือ จากน้อยกว่า 5% ในการเลือกตั้งปี 2010 เพิ่มเป็น 13% ในการเลือกตั้งปี 2015 และ 15% ในการเลือกตั้งปี 2020  กระนั้นก็ตาม ถึงแม้มีกระแสส่งเสริมบทบาทของผู้หญิง แต่ก็มีผู้หญิงน้อยคนได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้นำท้องถิ่น/ชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน (Village Tract Administrators–VTAs) ผู้อาวุโสของชุมชน และผู้นำองค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organization–CSO)/องค์กรชุมชน (Community-Based Organization—CBO)  ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพของประเทศในสัดส่วนค่อนข้างน้อยเช่นกัน โดยมีตัวแทนอยู่ในคณะเจรจาไกล่เกลี่ยของ NCA แค่ 4 คนจาก 67 คน 12 (6%)  ทั้งหมดเป็นตัวแทนมาจาก EAOs และไม่มีผู้หญิงเป็นตัวแทนของรัฐบาล ตะมะดอว์หรือ CSO ท้องถิ่นเลยแม้แต่คนเดียว

นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในปี 2010  บุคคลที่เป็น LGBTQ+ ค่อยๆ มีสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ปลอดภัยมากขึ้น พร้อมกับได้รับการยอมรับทางสังคมเพิ่มมากกว่าเดิม  อย่างไรก็ตาม พวกเขายังคงเผชิญกับการเลือกปฏิบัติทั้งในระดับสังคมและนโยบาย  ยกตัวอย่างเช่น การมีเพศสัมพันธ์ในเพศเดียวกันยังผิดกฎหมาย  ส่วนการแสดงตัวตนข้ามเพศยังมีความผิดทางอาญาภายใต้มาตรา 377 13ของประมวลกฎหมายอาญา  นอกจากนี้ บุคคลที่เป็น LGBTQ+ แทบไม่มีตัวแทนในรัฐสภา รัฐบาลหรือตำแหน่งผู้นำชุมชนเลย

People of Myanmar protest calling for freedom and release of Myanmar’s ousted civilian leader Aung San Suu Kyi, against a military coup in Mandalay, Myanmar, on July 18.2021. Photo: Sai Han One / Shutterstock.com

รัฐประหารของกองทัพ 1 กุมภาพันธ์ 2021: จุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน?

การรัฐประหารของกองทัพ 14เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคมในเมียนมา  ในช่วงเวลาสี่เดือนตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ดูเหมือนมีความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนอย่างมีนัยสำคัญ   ทั้งๆ ที่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ โดยเฉพาะที่อาศัยตามพื้นที่ชายแดน ตกเป็นเหยื่อความโหดร้ายทารุณของตะมะดอว์มาหลายสิบปี แต่ชาวบะหม่าจำนวนมากเพิ่งได้ประสบพบเห็นการใช้ความรุนแรงของตะมะดอว์กับตัวเองเป็นครั้งแรก  เรื่องนี้กระตุ้นให้เกิดการย้อนคิดทบทวนในหมู่ชาวบะหม่า หลายคนแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อชะตากรรมอันทุกข์ยากของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์มากขึ้น รวมทั้งออกมาขอโทษสาธารณะต่อการที่ตนเองไม่เคยตระหนักรับรู้และไม่เคยแสดงความสนใจไยดีต่อความเจ็บปวดของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ซึ่งรวมถึงชุมชนชาวโรฮิงญาด้วย

ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยยังเสนอโอกาสให้กลุ่มที่ถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบได้ออกมาท้าทายลำดับชั้นทางสังคม พร้อมกับเรียกร้องให้สาธารณชนสนใจการต่อสู้ของพวกเขา  ผู้หญิงก้าวมาอยู่แถวหน้าของขบวนการประท้วง อาทิ การประท้วงต่อต้านรัฐประหารครั้งแรกในเมืองย่างกุ้งก็มีนักเคลื่อนไหวหญิงสาวสองคนเป็นแกนนำ  นอกจากนี้ ชุมชน LGBTQ+ ก็เป็นผู้มีส่วนร่วมโดดเด่นเป็นที่จับตามองในการประท้วงตามท้องถนน  ทั้งหมดนี้ส่งผลให้มีการยกระดับความรับรู้ของสาธารณชนและการยอมรับในชุมชนกระแสหลัก

อย่างไรก็ตาม คงเร็วเกินไปที่จะบอกว่า ผลดีเหล่านี้จะยืนยงคงทนไปนานแค่ไหน  ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์จำนวนมากเชื่อว่า ความเห็นอกเห็นใจที่ชาวบะหม่ามีให้พวกเขามากขึ้นจะคงอยู่ไม่นานนักและจะจางหายไปเมื่อชาวบะหม่าไม่ต้องเผชิญการกดขี่อีก  พวกเขายังคลางแคลงในความจริงใจของชาวบะหม่า ทั้งนี้เนื่องจากชาวบะหม่าต้องอาศัยความร่วมมือของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในการโค่นล้มระบอบทหาร  ถ้าเมื่อไรกองทัพถูกขับไล่ออกจากการเมืองได้จริง ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ก็ขาดความเชื่อมั่นว่าชาวบะหม่าจะยึดมั่นในการสร้างสหภาพสหพันธรัฐประชาธิปไตยที่ครอบคลุมทุกกลุ่มคนอย่างแท้จริงไปตลอดรอดฝั่ง  พร้อมกันนั้นก็ยังมีชาวบะหม่าจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า ชนกลุ่มใหญ่ชาวบะหม่าควรมีบทบาทนำในการเมืองของประเทศต่อไป  ถึงแม้ทั้งชาวบะหม่าและชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างมองว่าตะมะดอว์เป็นศัตรูร่วมกันของตนและต่างมีเป้าหมายเดียวกันในการล้มล้างเผด็จการ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางความสัมพันธ์ที่จะเชื่อมโยงกลุ่มต่างๆ ระหว่างชนกลุ่มใหญ่ชาวบะหม่ากับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาเหล่านี้มิใช่ไม่มีทางคลี่คลาย  ผู้นำของพรรคการเมือง EAOs และ CSOs ควรทำงานร่วมกันเพื่อให้สำนึกในความสมานฉันท์ที่เพิ่มพูนขึ้นหลังการรัฐประหารเกิดประโยชน์ผลดีมากที่สุด  ถึงแม้ว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พรรคการเมืองและ EAOs ต่างเคยฉวยโอกาสใช้เส้นแบ่งทางชาติพันธุ์มาปลุกปั่นทางการเมืองจนทำให้การร่วมมือกันเป็นไปได้ยาก แต่ในระยะหลังมี CSOs หลายองค์กรเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นสถาบันเชื่อมต่ออำนวยความสะดวกแก่การสร้างปฏิสัมพันธ์ในหมู่ผู้นำของพรรคการเมืองและ EAOs ต่างๆ  ส่วน CSOs ของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ก็อาศัยแนวทางจากกฎบัตรสหพันธรัฐประชาธิปไตย (Federal Democracy Charter) 15 และอำนวยการสานเสวนาระหว่างคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพเมียนมา (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw—CRPH) ที่มีชาวบะหม่ากุมอำนาจนำกับพรรคการเมืองของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์  รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government—NUG) 16 ก็ดึงผู้นำจากพรรคการเมืองของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ EAOs, CSOs และกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่างๆ มาเข้าร่วม  ทั้งหมดนี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นประชากรที่หลากหลายของเมียนมา แต่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้การนำอย่างเป็นหมู่คณะด้วย  ท้ายที่สุดแล้ว การที่เมียนมาจะก้าวหน้าไปสู่การเป็นสังคมที่ครอบคลุมทุกกลุ่มคนมากขึ้นย่อมขึ้นอยู่กับว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีมากมายหลายฝ่ายสามารถบ่มเพาะความไว้เนื้อเชื่อใจและทะนุถนอมความร่วมมือกันไว้ได้มากน้อยแค่ไหนท่ามกลางอนาคตอันไม่แน่นอน

Htet Paing Oo
Senior Research Consultant and Senior Program Manager
Center for Diversity and National Harmony (CDNH), Myanmar

Photo collage of events from the Center for Diversity and Social Harmony

Notes:

  1. http://factsanddetails.com/southeast-asia/Myanmar/sub5_5c/entry-3032.html
  2. https://culturalatlas.sbs.com.au/burmese-myanmar-culture/myanmar-burmese-culture-religion
  3. https://www.hrw.org/legacy/backgrounder/asia/burma-bck3.htm
  4. https://www.socialwatch.org/sites/default/files/B15Burma2010_eng.pdf
  5. https://theconversation.com/the-exclusion-of-women-in-myanmar-politics-helped-fuel-the-military-coup-154701
  6. https://www.myanmar-law-library.org/law-library/laws-and-regulations/constitutions/2008-constitution.html
  7. https://www.loc.gov/law/foreign-news/article/burma-four-race-and-religion-protection-laws-adopted/
  8. https://www.voanews.com/east-asia/mosques-madrasas-be-razed-myanmars-rakhine-state
  9. https://2009-2017.state.gov/j/drl/rls/irf/2003/23823.htm
  10. http://www.ipcs.org/issue_briefs/issue_brief_pdf/CR44-InsideMyanmar.pdf
  11. https://data.ipu.org/women-ranking?month=1&year=2021
  12. https://www.prio.org/utility/DownloadFile.ashx?id=1758&type=publicationfile
  13. https://www.humandignitytrust.org/country-profile/myanmar/
  14. https://www.bbc.com/news/world-asia-55902070
  15. https://crphmyanmar.org/wp-content/uploads/2021/04/Federal-Democracy-Charter-English.pdf
  16. https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/myanmar-national-unity-government-pm-mahn-winn-khaing-thann-urges-asean-to-engage-with
Exit mobile version