Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

การแปลงเปลี่ยนชนชั้นของย่านในเมืองด้วยข้ออ้างด้านสิ่งแวดล้อมและลัทธิอำนาจนิยมเชิงนิเวศวิทยา: การฟื้นฟูคลองภายใต้รัฐบาลทหารในประเทศไทย

อุทกภัยเป็นปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย  น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อหลายจังหวัดเกือบทุกปี  เพียงแค่ฝนตกตามปรกติสักหนึ่งชั่วโมงก็ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพและในย่านชานเมืองได้  โครงการป้องกันน้ำท่วมหลายโครงการของรัฐบาลไทยมักตั้งเป้าที่การเคลื่อนย้ายชุมชนที่อาศัยตามแนวฝั่งลำคลองออกไป  ทั้งๆ ที่ปัญหาน้ำท่วมมีสาเหตุซับซ้อนหลายประการ แต่ชุมชนเหล่านี้มักถูกกล่าวโทษว่าเป็นตัวการที่ทำให้กระแสน้ำอุดตัน  บทความนี้จะใช้มุมมองจากด้านนิเวศวิทยาการเมือง 1 เพื่อพิจารณาความสัมพันธ์ที่คัดง้างกันระหว่างแม่น้ำลำคลอง ปัญหาน้ำท่วมและคนจนเมือง  บทความจะชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารหรือรัฐบาลภายใต้อิทธิพลของกองทัพได้ใช้มาตรการเข้มงวดบังคับให้ชุมชนริมคลองต้องย้ายออกไปโดยอาศัยการอ้างเหตุผลหลังเกิดสาธารณภัย  มาตรการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากชาวกรุงเทพชนชั้นกลาง ซึ่งไม่ต้องการให้มีชุมชนคนจนเมืองตั้งอยู่ใกล้ย่านที่อยู่อาศัยของตน  ด้วยเหตุนี้ การจับไล่ชุมชนริมคลองภายใต้รัฐบาลทหารจึงเป็นผลพวงจากสองกระบวนการผสมผสานกัน นั่นคือ การแปลงเปลี่ยนชนชั้นของย่านในเมืองด้วยข้ออ้างด้านสิ่งแวดล้อมและลัทธิอำนาจนิยมเชิงนิเวศวิทยา  คำศัพท์คำแรก (การแปลงเปลี่ยนชนชั้นของย่านในเมืองด้วยข้ออ้างด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Gentrification) หมายถึงกระบวนการผลักดันขับไสคนจนเมืองออกไปด้วยข้ออ้างว่าเป็นการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม 2 คำศัพท์คำที่สอง (ลัทธิอำนาจนิยมเชิงนิเวศวิทยา หรือ Eco-authoritarianism) หยิบยกประเด็นปัญหาที่รัฐบาลอำนาจนิยมมีบทบาทในการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการที่แตกต่างจากรัฐบาลประชาธิปไตย  ทั้งนี้เพราะรัฐบาลอำนาจนิยมสามารถเพิกเฉยต่อการอ้างสิทธิ์ของคนจนที่ต้องการริเริ่มโครงการด้านสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเอง 3

การเจรจาต่อรองเกี่ยวกับชุมชนริมคลองที่ดำเนินมายืดเยื้อยาวนาน

กรุงเทพอยู่ในพื้นที่ที่ยากจะหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วม  เมืองหลวงของไทยตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่เมืองส่วนใหญ่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล  ในอดีต กรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียงสามารถรับมือกับอุทกภัยได้เพราะระบบแม่น้ำและคูคลอง ซึ่งช่วยรองรับน้ำฝนระหว่างฤดูมรสุม 4 อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ถูกทำลายลงเนื่องจากการขยายเมืองอย่างรวดเร็ว  การตัดถนน ทางด่วนและการก่อสร้างตึกอาคารทำให้จำนวนและขนาดของคลองลดลงอย่างมาก 5 ยิ่งกว่านั้น จำนวนประชากรอย่างเป็นทางการของกรุงเทพเพิ่มขึ้นจาก 2,150,000 คนในปี 2503 เป็น 10,539,000 คนในปี 2563 6 ดังนั้น การที่กรุงเทพสามารถดูดซับน้ำได้น้อยลงจึงมิใช่เป็นเพราะประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองสร้างปัญหากีดขวางการไหลของกระแสน้ำเพียงฝ่ายเดียว  ตรงกันข้าม เราต้องพิจารณาปัญหาน้ำท่วมในฐานะส่วนหนึ่งของชุดกระบวนการการแปรเปลี่ยนด้านสังคม-สิ่งแวดล้อมที่เป็นภาพใหญ่กว่า

ในประเทศไทย มีการเจรจาต่อรองยืดเยื้อยาวนานในประเด็นความชอบธรรมของการผลักดันโยกย้ายชุมชนแออัดตามแนวชายฝั่งคลองเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม  ในด้านหนึ่ง จากมุมมองด้านนิเวศวิทยาที่มีเป้าหมายรักษาระบบคลองให้ใสสะอาด การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตามริมคลองควรเป็นเรื่องต้องห้าม  หน่วยงานรัฐบาลบางแห่ง โดยเฉพาะสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีมุมมองเชิงวิศวกรรมที่ยืนยันว่า การขยายคลองให้กว้างขึ้นจะช่วยให้น้ำระบายเร็วขึ้น  ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานดังกล่าวจึงยืนยันว่า ชุมชนแออัดริมคลองเป็นตัวการกีดขวางทางน้ำและเป็นสาเหตุทำให้น้ำท่วมกรุงเทพ ดังนั้นควรถูกรื้อย้ายออกไป

ทัศนะนี้ลงเอยในภาคปฏิบัติด้วยการบังคับรื้อไล่ชุมชนคลองบางอ้อหลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพเมื่อปี 2526  ชุมชนบางอ้อตั้งอยู่ริมคลองบางอ้อในเขตพระโขนงของกรุงเทพ  ชุมชนนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการขวางทางน้ำที่จะไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ทั่วทั้งเมืองหลวง  เพื่อแก้ไขปัญหาตามทัศนะนี้ หน่วยตำรวจคอมมานโดติดอาวุธจำนวนสองร้อยนายจึงบุกเข้ารื้อทำลายบ้านเรือนของชาวบ้าน 80 ครอบครัวในชุมชนบางอ้อ 7 ต่อมาปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพยังเกิดขึ้นเนืองๆ แต่ไม่สาหัสเท่ากับในปี 2526  กทม.จึงหันไปให้ความสนใจปัญหาหาบเร่แผงลอยและรถติดแทน  ด้วยเหตุนี้ แผนการรื้อไล่ชุมชนริมคลองจึงพับเก็บไปก่อน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการรื้อไล่ชุมชนริมคลองถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในช่วงที่พิจิตต รัตตกุลเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (2539-2546)  พิจิตตได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นกลางกรุงเทพเพราะเขารณรงค์ให้กรุงเทพเป็นเมืองน่าอยู่ อีกทั้งมีภาพพจน์เป็นคนที่ใส่ใจปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อม  เขาสัญญาจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพและฟื้นฟูคุณภาพน้ำตามคูคลองต่างๆ  การหาเสียงของเขาถูกใจชนชั้นกลาง ซึ่งจินตนาการถึงภาพเมืองใหญ่ในประเทศเจริญแล้ว เช่น เกียวโตของญี่ปุ่น ซึ่งมีคลองน้ำใสขนาบด้วยทางเท้าใต้ร่มเงาต้นไม้ ไม่ใช่มีแต่ชุมชนแออัดแบบในกรุงเทพ  เมื่อผู้ว่าฯ พิจิตตพยายามผลักดันโครงการตามคำสัญญาระหว่างการหาเสียงของตน จึงเป็นสาเหตุให้เจ้าหน้าที่ในบางเขตลงมือรื้อไล่ชุมชนสลัมริมคลอง

Slums along a canal (Khlong Toei) full of mud and rubbish in Bangkok’s Khlong Toei District. Photo: David Bokuchava / Shutterstock.com

ชุมชนสลัมและพันธมิตร อาทิ องค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) และนักวิชาการ ช่วยกันตอบโต้ข้อกล่าวหาว่าชาวสลัมเป็นตัวการทำให้คลองสกปรกและเป็นสาเหตุของน้ำท่วม  ในวันที่ 1 กันยายน 2541 สมาชิกชุมชนแออัดประมาณ 1,000 คน นำโดยเครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งเป็นเครือข่ายชุมชนสลัมระดับชาติที่ครอบคลุมทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย ได้จัดชุมนุมหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 8 พวกเขายืนยันว่า ชาวสลัมที่อาศัยริมริมคลองไม่ได้ทิ้งขยะลงในทางน้ำและทำให้เกิดน้ำท่วม  ตรงกันข้าม พวกเขาชี้ให้เห็นว่าขยะลอยมาจากที่อื่น  อีกทั้งชุมชนสลัมเคยร่วมแรงร่วมใจกันเก็บขยะจากลำคลอง  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พวกเขาโต้แย้งว่าชาวสลัมต่างหากที่แสดงความรับผิดชอบในการปรับปรุงฟื้นฟูลำคลอง  กทม.จึงควรเลิกกล่าวโทษพวกเขาว่าเป็นสาเหตุของน้ำท่วมเสียที  เครือข่ายสลัม 4 ภาคเป็นผู้นำเสนอวาทกรรมสำคัญว่า “ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับแม่น้ำลำคลอง” โดยอ้างเหตุผลย้อนว่าชาวบ้านไทยในอดีตก็เคยอาศัยตามแม่น้ำลำคลองมาหลายศตวรรษ  ผลจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้ผู้ว่าฯ พิจิตตยอมรับข้อเรียกร้องของชุมชน พร้อมกับประกาศว่าชุมชนสามารถอยู่อาศัยตามแนวฝั่งคลองและคำว่า “รื้อไล่” ต้องถูกลบออกจากพจนานุกรม  ในช่วงเวลาที่เหลือที่พิจิตตดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. ไม่มีการรื้อไล่เกิดขึ้นอีก 9

ท่าทีตอบรับของผู้ว่าฯ พิจิตตมีความหมายอย่างยิ่ง  เครือข่ายสลัม 4 ภาคถึงกับตีพิมพ์โปสเตอร์มีรูปผู้ว่าฯ พิจิตตพร้อมกับคำสัญญานี้แจกจ่ายให้แก่สมาชิกในชุมชนเพื่อใช้ป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่เขตเข้ามาข่มขู่ว่าจะรื้อไล่  ข้อโต้แย้งของชุมชนและการตัดสินใจของผู้ว่าฯ พิจิตตสะท้อนให้เห็นว่า การจัดการสิ่งแวดล้อมมิอาจพึ่งพิงแต่ความรู้เชิงเทคนิคเพียงอย่างเดียว  แต่ต้องพิจารณาความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมด้วย 10 ยิ่งกว่านั้น ประวัติศาสตร์ช่วงตอนนี้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความสัมพันธ์นี้  เนื่องจากผู้ว่าฯ พิจิตตเป็นเจ้าหน้าที่ที่มาจากการเลือกตั้ง เขาจึงต้องประนีประนอมทั้งกับชนชั้นกลางและคนจนเมือง  ในยุคเผด็จการ สถานการณ์จะพลิกเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

การฟื้นฟูคลองภายใต้รัฐบาลทหาร

แผนการรื้อย้ายประชาชนที่อาศัยตามแนวริมคลองถูกพับเก็บไปในปี 2541  อย่างไรก็ตาม หลังจากประเทศไทยประสบอุทกภัยขั้นร้ายแรงในปี 2554 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 815 รายและประชาชนได้รับผลกระทบ 13.6 ล้านคน สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ก็เสนอแผนการครั้งใหม่ที่จะรื้อย้ายประชาชนที่อยู่อาศัยตามแนวฝั่งคลองหลัก 9 สายในกรุงเทพ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชน 12,307 ครัวเรือน  แผนการนี้ยังไม่ถูกนำมาปฏิบัติจนกระทั่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ผู้นำรัฐบาลทหารอ้างว่า เขาต้องล้มล้างรัฐบาลจากการเลือกตั้งเพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ล้มเหลวในการควบคุมความขัดแย้งทางการเมือง  พลเอกประยุทธ์เน้นย้ำว่าการรัฐประหารเป็นไปเพื่อนำเสถียรภาพกลับคืนสู่ประเทศด้วยการฟื้นฟูการจัดระเบียบ  รัฐบาลประกาศนโยบายฉุกเฉิน 18 นโยบายเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดระเบียบทางเท้า การจัดระเบียบรถตู้ การทวงคืนผืนป่าและการฟื้นฟูคลอง 11 เราต้องวิเคราะห์การรื้อไล่ชุมชนริมคลองเพื่อป้องกันน้ำท่วมในฐานะส่วนหนึ่งของนโยบายใหญ่ของกองทัพที่พยายามฟื้นฟูระเบียบการเมือง  วลีที่ว่า “จัดระเบียบชุมชนริมคลอง” มีนัยยะว่าชุมชนที่รุกล้ำเข้าไปในคลองคือการสร้างความวุ่นวายทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและการเมือง

ข้าราชการมักนำเสนอแต่ทัศนะด้านบวกของนโยบายนี้ด้านเดียว ดังเช่นในกรณีคลองลาดพร้าว ซึ่งชาวชุมชนจำนวนมากยอมร่วมมือกับโครงการของรัฐบาลโดยขยับย้ายบ้านเรือนของตนจากที่ตั้งเหนือลำคลองเข้ามาอยู่บนผืนดินริมลำคลอง  อย่างไรก็ตาม คลองลาดพร้าวเป็นกรณีเดียวที่ประชาชนได้รับอนุญาตให้ย้ายบ้านมาสร้างใกล้ตำแหน่งเดิม  นอกจากนี้ ชาวบ้านริมคลองลาดพร้าวยังได้รับเงินชดเชยค่อนข้างมากแลกกับความร่วมมือครั้งนี้ เช่น บ้านที่ยอมย้ายได้รับเงินชดเชย 80,000 บาทต่อหลัง  พวกเขาได้รับสิทธิประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงที่รัฐบาลให้การสนับสนุนด้วย

แต่ประชาชนริมคลองสายอื่นๆ ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการพิเศษของรัฐบาลเช่นนี้เมื่อถูกสั่งให้ย้ายออกไป  ยกตัวอย่างเช่น กองทัพและเจ้าหน้าที่ กทม. ข่มขู่ชาวสลัมที่สร้างเพิงอยู่อาศัยในชุมชนแบนตาโพ เขตคลองสามวา 12 กองทัพอ้างว่าได้รับคำร้องเรียนจากผู้อยู่อาศัยในบ้านจัดสรรบริเวณใกล้เคียงที่มีฐานะดีกว่าขอให้รื้อย้ายชุมชนสลัมออกไป  ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ชุมชนชนชั้นกลางไม่ชอบการมีชุมชนคนจนเมืองตั้งอยู่ใกล้ย่านที่อยู่อาศัยของตน เนื่องจากเพิงที่อยู่อาศัยตามมีตามเกิดของคนจนทำให้ย่านนั้นดูไม่เจริญตา  ในทำนองเดียวกัน ชุมชนคลองเป้งในเขตวัฒนา (หนึ่งในย่านธุรกิจของกรุงเทพ) ก็เผชิญกับคำข่มขู่ว่าจะรื้อไล่จากเจ้าหน้าที่ กทม. 13 เช่นกัน  ชุมชนคลองเป้งตั้งอยู่ในพื้นที่การค้าที่มีโชว์รูมรถยนต์หรู โรงแรมและห้างสรรพสินค้า  อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก กทม. ไม่มีงบประมาณพอจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านที่ถูกไล่ที่  บริษัทเอกชนเหล่านี้จึงบริจาคเงินช่วยจ่ายค่าชดเชยให้ชุมชนย้ายออกไป

Officials visit Bangkok’s Khlong Peng community

การแปรรูปเงินชดเชยค่ารื้อย้ายเผยให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการแปลงเปลี่ยนชนชั้นของย่านในเมืองด้วยข้ออ้างด้านสิ่งแวดล้อมและลัทธิอำนาจนิยมเชิงนิเวศวิทยา  ถึงแม้การรื้อไล่ชุมชนได้รับการนำเสนอในฐานะวิธีการป้องกันน้ำท่วม แต่โครงการนี้ก็ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งต้องการสร้างความสวยงามให้ภูมิทัศน์แวดล้อมห้างร้านของตนด้วยการกำจัดเพิงกระต๊อบอันไม่เจริญตาของคนจน  ถึงที่สุดแล้ว การรื้อไล่กลายเป็นจริงขึ้นมาได้เพราะลัทธิอำนาจนิยมเชิงนิเวศวิทยา  กล่าวคือ ข้าราชการภายใต้ระบอบทหารดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและไม่สนใจไยดีแง่มุมอื่นใดในสถานการณ์นี้ เช่น คนจนเมืองที่ถูกรื้อไล่จะย้ายไปอยู่ที่ไหน เป็นต้น

ภายหลังการรัฐประหาร 2557 คลองนอกกรุงเทพก็ถูกบริหารจัดการในแบบเดียวกัน  ยกตัวอย่างเช่น ภายหลังเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเชียงใหม่เมื่อปี 2543 เทศบาลนครเชียงใหม่ไม่ได้กดดันประชาชนที่อยู่อาศัยริมคลอง  ในตอนนั้น เครือข่ายชุมชนของเชียงใหม่แสดงให้เห็นว่า สมาชิกของชุมชนสามารถดูแลคูคลองและปรับปรุงสภาพแวดล้อมในเมืองได้  กระนั้นก็ตาม การรื้อไล่ย้อนกลับมาเป็นนโยบายที่ใช้ในเชียงใหม่ภายหลังการรัฐประหารของกองทัพในปี 2557  เนื่องจากรัฐบาลทหารมีคำสั่งเลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นออกไปก่อน รัฐบาลทหารจึงมีอำนาจเหนือส่วนปกครองท้องถิ่นอย่างมาก  ในบริบทนี้ ส่วนปกครองท้องถิ่นได้รับคำสั่งให้ผลักดันนโยบายของรัฐบาลทหารแทนที่จะฟังเสียงประชาชนท้องถิ่น  ด้วยเหตุนี้ นโยบายจัดระเบียบคลองจึงถูกนำมาใช้ในเชียงใหม่เช่นกัน  ในเดือนพฤษภาคม 2561 ทหารกลุ่มหนึ่งเข้าไปข่มขู่ชาวบ้านที่ปลูกบ้านรุกล้ำคลองเงินว่าจะจับตัวไปเข้าคุกเพราะละเมิดกฎหมายและบังคับให้พวกเขารื้อถอนบ้านออกไป 14

บทความนี้ต้องการเปรียบเทียบการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมของประเทศไทยภายใต้รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยกับการบริหารจัดการภายใต้เผด็จการทหาร  ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลชุดต่างๆ อ้างความกังวลเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมเพื่อรื้อไล่ประชาชนที่อาศัยตามแนวริมคลองมาตั้งแต่ปี 2526  ถึงแม้แผนการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางและภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง แต่ในช่วงที่ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ชาวชุมชนสามารถจัดตั้งรวมตัว มีส่วนร่วมและประท้วงคัดค้านโครงการต่างๆ ที่มุ่งรื้อถอนทำลายชุมชนของพวกเขา  ตรงกันข้าม รัฐบาลทหารชุดล่าสุดได้เชื่อมโยงการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับความพยายามจัดระเบียบสังคม  การทำเช่นนี้มิได้ช่วยป้องกันน้ำท่วมหรือปรับปรุงสภาพแวดล้อมแต่อย่างใด ทว่าส่วนใหญ่เป็นการตอบสนองต่อผลประโยชน์ของกลุ่มพลเมืองที่มีฐานะมั่งคั่งแลกด้วยความลำบากยากแค้นของคนจน  ประวัติศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้เผยให้เห็นว่า กองทัพนำกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้อย่างได้ผลเพื่อตอกย้ำอำนาจของตน ไม่ใส่ใจเสียงของชาวชุมชนและบีบบังคับให้พวกเขาต้องรื้อถอนทำลายบ้านเรือนในกระบวนการนี้

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Notes:

  1. Stott, P.A. and S. Sullivan, Political ecology: science, myth and power. 2000.
  2. Checker, M., Wiped out by the “greenwave”: Environmental gentrification and the paradoxical politics of urban sustainability. City & Society, 2011. 23(2): p. 210-229.
  3. Middeldorp, N. and P. Le Billon, Deadly environmental governance: authoritarianism, eco-populism, and the repression of environmental and land defenders. Annals of the American Association of Geographers, 2019. 109(2): p. 324-337.
  4. Tohiguchi, M., et al., Transformation of the canal-side settlements in Greater Bangkok. Journal of Architecture and Planning (Transactions of AIJ), 2002. 67(551): p. 245-252.
  5. Limthongsakul, S., V. Nitivattananon, and S.D. Arifwidodo, Localized flooding and autonomous adaptation in peri-urban Bangkok. Environment and Urbanization, 2017. 29(1): p. 51-68
  6. https://www.macrotrends.net/cities/22617/bangkok/population
  7. Chitniratana, C. Khon Cha Theong Thi Mai: Prasobkan Sib Hok Pi Nai Ngan Patthana Salam. [Before Arriving the End: Sixteen-year Experience in Slum Community Development]. 1995.
  8. Chantharapha, Apphayut. Khrekhai Salam Si Phak: Tuaton Lae Prasobkan Kan Khreanwai [Four Region Slum Network: Identity and Its Movement Experiences]. 2009.
  9. Ibid. p47
  10. Heynen, N., M. Kaika, and E. Swyngedouw, In the nature of cities: urban political ecology and the politics of urban metabolism. Vol. 3. 2006: Taylor & Francis.
  11. https://www.isranews.org/main-thairefom/52562-44h-52562.html
  12. Thaitribune-27 April 2016.
  13. http://frsnthai.blogspot.com/2018/09/blog-post_28.html
  14. Workpoint News-16 May 2018.
Exit mobile version