Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

วิถีของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านกับความคับข้องใจในอินโดนีเซีย

ผ่านมายี่สิบปีหลังจากซูฮาร์โตสิ้นอำนาจ ประเทศอินโดนีเซียจัดการอย่างไรกับนโยบายและการกดขี่ที่ตกทอดจากระบอบเผด็จการในยุคระเบียบใหม่?  เรื่องราวของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) หรือการทบทวนอดีต คือความล้มเหลวอันน่าใจหายประการหนึ่ง ไม่มีการตัดสินลงโทษที่มีนัยสำคัญหรือการรับผิดอย่างชัดเจนต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกาลก่อน  ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นเรื่องราวของปณิธานมุ่งมั่นไม่ลดละ  เมื่อเส้นทางสู่ความยุติธรรมผ่านกระบวนการของรัฐมีแต่ความล้มเหลว กลุ่มนักกิจกรรมและภาคประชาสังคมจึงหันมาบุกเบิกเส้นทางใหม่ที่พึ่งพิงรัฐน้อยลงและพึ่งพิงสังคมมากขึ้น  กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ การเมืองเกี่ยวกับอดีตของอินโดนีเซียยังไม่จบ วิถีทางของมันแค่ย้ายจากวิถีแบบบนลงล่างมาสู่วิถีแบบล่างขึ้นบน จากช่องทางที่เป็นทางการสู่ช่องทางไม่เป็นทางการ และจากการแก้ไขเยียวยามาสู่การตระหนักรับรู้

ถึงแม้กระบวนการผ่านช่องทางของรัฐไม่มีความก้าวหน้า  แต่แท้ที่จริงยังมีข้อเสนอและความริเริ่มมากมายหลากหลายที่จะแก้ไขทบทวนอดีต มีการผลักดันและวิวาทะกันตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งด้านการดำเนินคดีอาญา การค้นหาข้อมูล คณะกรรมการค้นหาความจริง การปฏิรูปกฎหมาย การชดเชย การจัดทำเอกสารและอนุสรณ์สถาน (ICTJ-Kontras 2011)  ความหลากหลายแม้น่าประทับใจ แต่ส่วนหนึ่งก็สะท้อนถึงจำนวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคเผด็จการของอินโดนีเซีย อันกอปรด้วยการสังหารหมู่ การปราบปรามความไม่สงบ การจำคุกประชาชนจำนวนมาก การบังคับเกณฑ์แรงงาน การบังคับกักขังหน่วงเหนี่ยว การลักพาตัว การใช้ความรุนแรงตามท้องถนน การทรมานและการประหารชีวิต

ในขณะเดียวกัน ความหลากหลายนี้มีแบบแผนและวิถีทางอยู่ในพื้นที่หลักสามประการของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน กล่าวคือ เส้นทางการลงโทษ เส้นทางสมานฉันท์และเส้นทางการเยียวยา  ในแต่ละเส้นทางตั้งต้นด้วยการริเริ่มจากสถาบันของรัฐ จากนั้นก็ล้มเหลว ตามมาด้วยเส้นทางไม่เป็นทางการนอกระบบรัฐ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทับซ้อนกันระหว่างมาตรการของรัฐและของสังคมในการผลักดันความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน

วิถี 1: เส้นทางตุลาการ

สำหรับนักกิจกรรมและผู้สนับสนุนความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน  การนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีในศาลถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเยียวยาแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีต

มาตรการอย่างเป็นทางการของความยุติธรรมเชิงแก้แค้นทดแทน (retributive justice) หลังยุคซูฮาร์โตเริ่มต้นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปกฎหมาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายฉบับใหม่ที่กำหนดว่า “การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงทั้งหมดจะถูกดำเนินคดีในศาลสิทธิมนุษยชน” (Law 39, 1999)  อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับเดียวกันกลับยืนยันว่า “สิทธิที่จะไม่ถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายย้อนหลัง” คือ “สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ไม่อาจลดทอนภายใต้เงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น” (Law 39, 1999)  ข้อความวรรคนี้ในกฎหมาย ดังที่เรียกกันว่าหลักการย้อนหลัง เปรียบเสมือนพันธนาการมัดความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านไว้ไม่ให้ออกจากประตูและถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างต่อต้านการนำตัวผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตมาดำเนินคดี

กฎหมายฉบับต่อมาเปิดช่องให้ศาลสิทธิมนุษยชนเฉพาะกิจดำเนินคดีย้อนหลังได้ แต่เนื่องจากการบัญญัติกฎหมายมีข้อจำกัดมาก จึงมีแค่ไม่กี่คดีที่ขึ้นศาลจริงๆ และบรรดาคดีที่ขึ้นศาลก็ไม่บรรลุความยุติธรรมอย่างมีนัยสำคัญใดๆ  ยกตัวอย่างเช่น ศาลสิทธิมนุษยชนเฉพาะกิจในจาการ์ตาที่พิจารณาคดีความรุนแรงในติมอร์ตะวันออก ศาลตัดสินจำเลยแค่ 6 คนจากทั้งหมด 18 คนว่ามีความผิด ทั้งๆ ที่มีหลักฐานมากมาย  มิหนำซ้ำ จำเลยทั้งหกคนยังหลุดพ้นความผิดเมื่อศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสินในภายหลัง (Cohen 2003)  ในกรณีของศาลเฉพาะกิจที่พิจารณาคดีสังหารหมู่ Tanjung Priok ซึ่งมีการยื่นฟ้องดำเนินคดีกองทัพกับกองกำลังความมั่นคงที่กราดยิงใส่ผู้ประท้วงในเขตทางตอนเหนือของกรุงจาการ์ตาเมื่อปี 1984  ศาลตัดสินจำเลย 12 คนจากทั้งหมด 14 คนว่ามีความผิด  แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด (New York Times 2005)

เมื่อผิดหวังกับศาลและตุลาการในอินโดนีเซีย นักกิจกรรมและกลุ่มสนับสนุนความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านจึงหันไปหาศาลระหว่างประเทศและในบางกรณีก็อาศัยศาลของประเทศอื่นในการดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด  คณะลูกขุนพิเศษของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออกคือตัวอย่างอันโดดเด่น  แต่นักกิจกรรมก็อาศัยกระบวนการยุติธรรมที่อื่นด้วย เช่น ศาลสหรัฐอเมริกาและศาลออสเตรเลีย (Center 1992; ABC News 2007)  การดำเนินคดีแบบนี้ลงเอยด้วยการตัดสินความผิดในบางคดี  แต่ทุกคดีขาดเขตอำนาจศาลและกลไกการบังคับใช้กฎหมายในการลงโทษผู้กระทำความผิดระดับสูงที่อยู่ในอินโดนีเซีย

 เมื่อมีข้อจำกัดเช่นนี้ ในระยะหลัง นักกิจกรรมจึงหันไปบุกเบิกเส้นทางที่สาม ซึ่งใช้รูปแบบจำลองเชิงกฎหมาย ถึงแม้ทำได้ในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น  ในปี 2015 ในวาระครบรอบ 50 ปีของการสังหารหมู่ปี 1965  นักกิจกรรมอินโดนีเซียจัดกิจกรรม “ศาลประชาชนระหว่างประเทศ” (International People’s Tribunal—IPT) ขึ้น โดยใช้เป็นวิธีการหนึ่งในการถ่ายทอดประสบการณ์จริงของผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ปี 1965 ให้ประชาคมระหว่างประเทศได้รับรู้ (Palatino 2015)  IPT เชิญผู้รอดชีวิต ประจักษ์พยาน ผู้เชี่ยวชาญและนักประวัติศาสตร์มาให้การเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมในปี 1965 พร้อมกับเชิญบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงในชุมชนนักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งนักกฎหมายและทนายความ มานั่งเป็นผู้พิพากษา  หลังจากเบิกความหลายวัน ศาลก็พิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ชนะถึงเก้าคดี อันประกอบด้วยการสังหารหมู่ การบังคับให้เป็นทาส การทรมาน การบังคับให้สูญหาย ความรุนแรงทางเพศ การลี้ภัยและการโฆษณาชวนเชื่อ (IPT 1965)

วิถี 2:   การปรองดอง

ตัวแบบที่สองภายในกรอบความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านของอินโดนีเซียเน้นไปที่การปรองดอง  นิยามอย่างกว้างๆ ของการปรองดองคือ แนวคิดที่จะนำฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกันมาสร้างการยอมรับซึ่งกันและกันและคลี่คลายความขัดแย้งแตกต่างในอดีต

ในอินโดนีเซีย รัฐบาลสามารถสร้างมาตรการที่ใกล้เคียงกับการทำให้การปรองดองเป็นสถาบันอย่างเป็นทางการมากที่สุดคือในปี 2012 เมื่อรัฐบาลของนายซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ประธานาธิบดีในสมัยนั้น ส่งสัญญาณว่าประธานาธิบดีมีความตั้งใจที่จะแถลงคำขอโทษอย่างเป็นทางการต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงที่สุดของประเทศนี้ที่เกิดขึ้นสมัยยุคระเบียบใหม่ (Jakarta Post 2012)  แต่ทันทีที่ข่าวเล็ดลอดออกมา ฝ่ายตรงข้ามก็เริ่มระดมมวลชน จัดแถลงการณ์และข่มขู่ไม่ให้มีการแถลงขอโทษ กระทั่งทำให้การริเริ่มนี้สะดุดหยุดลง  ประธานาธิบดีโจโกวีก็สนใจแนวคิดที่จะแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการเช่นกันก่อนที่จะล้มเลิกเพราะถูกต่อต้านอย่างหนัก

อีกครั้งที่ความคับข้องใจในความล้มเหลวของกลไกรัฐทำให้กลุ่มกิจกรรมต่างๆ แสวงหาหนทางปรองดองในแบบของตัวเอง  ตัวอย่างหนึ่งก็คือองค์กรของอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ครอบครัวของนายพลหลายคนที่ถูกสังหารในปี 1965 และเหยื่อของความขัดแย้งคนอื่นๆ ได้รวมตัวกันก่อตั้งองค์กรชื่อ Children of the Nation Gathering Forum (FSAB, Forum Silaturahmi Anak Bangsa)  องค์กรนี้จัดประชุมกันเป็นระยะและพยายามหาหนทางจัดสานเสวนาและการปรองดองระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่พัวพันกับเหตุโศกนาฏกรรมปี 1965 (Lowry 2014)

การริเริ่มอีกเส้นทางหนึ่งมาจากองค์กร Syarikat  สมาชิกหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าขององค์กรอิสลาม NU พยายามสนับสนุนการปรองดองของฝ่ายต่างๆ ในเหตุการณ์ปี 1965 โดยจัดประชุมสานเสวนาและโครงการร่วมระหว่างอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียกับสมาชิกของชุมชน NU  มีการสร้างกลุ่มช่วยเหลือและสมาคมสำหรับผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ ร่วมมือกันกดดันสภานิติบัญญัติให้ยกเลิกการปฏิบัติแบ่งแยกกีดกันอดีตนักโทษการเมืองและครอบครัวของพวกเขา รวมทั้งผลักดันมาตรการฟื้นฟูสิทธิของอดีตนักโทษการเมืองด้วย (McGregor 2009)  ตัวอย่างอื่นๆ มีอาทิ การใช้ “islah” หรือการไกล่เกลี่ยตามรูปแบบของศาสนาอิสลามระหว่างกองทัพกับเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อในเหตุการณ์สังหารหมู่ Tanjung Priok และในอาเจะห์  การใช้ “diyat” ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามที่ให้จ่ายค่าชดเชยแก่ญาติใกล้ชิดที่สุดของผู้ถูกสังหารหรือถูกบังคับให้สูญหายระหว่างเกิดความขัดแย้ง (Kimura 2015)  วิธีการเชิงวัฒนธรรมและสังคมเช่นนี้ช่วยบุกเบิกช่องทางให้เกิดการปรองดอง แต่ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาและสร้างความไม่พอใจแก่เหยื่อจำนวนมาก 

การเมืองของความจริง

ถ้าตัวแบบการแก้แค้นทดแทนเชิงกฎหมายและการริเริ่มปรองดองบรรลุผลสำเร็จน้อยมากสำหรับความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน แล้วในด้านการแสวงหาความจริงและการบอกเล่าความจริงเป็นอย่างไรบ้าง?

การแสวงหาความจริงรูปแบบแรกๆ คือการค้นหารวบรวมข้อเท็จจริง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ปี 1998 รวมทั้งความรุนแรงในอาเจะห์  ภารกิจเบื้องต้นและรายงานที่จัดทำในภายหลังได้รับความชื่นชมจากประชาคมสิทธิมนุษยชนและนานาชาติในแง่ของการนำเสนอลำดับเหตุการณ์ที่ครอบคลุมและเจาะลึก  มีการระบุว่ากลไกความมั่นคงของรัฐอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในผู้ก่อความรุนแรง  แต่แบบแผนนี้กลับไม่เดินหน้าต่อ  การค้นหาข้อเท็จจริงที่กระทำในภายหลังมีปัญหาจากการขาดความน่าเชื่อถือ มีแนวโน้มที่จะทำแบบขอไปที และสุดท้ายแล้วขาดแนวทางปฏิบัติหลังจากค้นพบความจริง

ความจริงและการปรองดอง

กลไกภาครัฐอีกกลไกหนึ่งในการแสวงหาความจริงคือ คณะกรรมการค้นหาความจริงและการปรองดอง (Truth and Reconciliation Commission–TRC) ซึ่งรัฐบาลประกาศในปี 2000 และก่อตั้งในปี 2004  เอ็นจีโอและองค์กรภาคประชาสังคมร่วมกันผลักดันกฎหมายฉบับนี้อย่างแข็งขันและตอนแรกมีความคาดหวังว่า คณะกรรมการจะมีอำนาจในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง  แต่ไม่นานหลังจากนั้น องค์กรเหล่านี้ก็ตาสว่างเมื่อพบว่า กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจ TRC ที่จะนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิด สกัดไม่ให้คดีต่างๆ ที่เข้าสู่ TRC ต้องขึ้นศาล และเปิดช่องให้เหยื่อยอมรับค่าชดเชยเพื่อแลกกับการนิรโทษกรรม  กลุ่มนักกิจกรรมพยายามแก้ไขช่องโหว่ของกฎหมายฉบับนี้ จึงทำเรื่องฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ  เรื่องที่เหนือความคาดหมายคือศาลสั่งยกเลิกกฎหมายทั้งฉบับ ปล่อยให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนเคว้งคว้าง ถึงแม้ชนะในเชิงกฎหมาย แต่กลับไม่มีกฎหมาย TRC เหลืออยู่เลย (Kimura 2015)

ปีแห่งความจริง

เพราะความคับข้องใจกับรัฐบาล  อีกทั้งความล้มเหลวของการกระบวนการค้นหาข้อเท็จจริงของภาครัฐและคณะกรรมการค้นหาความจริงและการปรองดอง  องค์กรภาคประชาสังคมจึงพยายามส่งเสริมการตระหนักรู้ความจริงในหนทางของตนเอง  เอ็นจีโอและกลุ่มประชาสังคม เช่น Coalition for Justice and Truth (KKPK) เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของความทรงจำทางประวัติศาสตร์และความทุกข์ที่เกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีต โดยใช้วิธีการระดมทรัพยากรและประสานความพยายามที่จะ “ขยายเสียงของเหยื่อในยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โต” ด้วยการจัดให้มีการเบิกความสาธารณะในชื่อ “การประชุมรับฟังคำให้การสาธารณะ” (Ajar 2012)

การบอกเล่าความจริงยังปรากฏผ่านวัฒนธรรมมวลชนด้วย ตัวอย่างที่โด่งดังที่สุดคือภาพยนตร์เร้าอารมณ์ เช่น “The Act of Killing” และ “The Look of Silence”  นอกจากนั้น ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ปี 1965 ซึ่งเป็นผู้หญิงหลายคน เขียนและตีพิมพ์หนังสือออกมาหลายสิบเล่ม  ในขณะเดียวกัน ผลงานวิชาการเกี่ยวกับปี 1965 ก็แพร่หลายเฟื่องฟูในหมู่นักวิชาการทั้งชาวอินโดนีเซียและต่างชาติ  มีการขุดคุ้ยเอกสารค้นพบใหม่เกี่ยวกับบทบาทของกองทัพหรือบทบาทของประชาคมระหว่างประเทศที่พัวพันในเหตุการณ์ปี 1965 ด้วย

เวทีเสวนาแห่งชาติ

ตัวอย่างล่าสุดและน่าประหลาดใจที่สุดในด้านการแสวงหาความจริงคือการที่รัฐบาลจัดเวทีเสวนาครั้งใหญ่เกี่ยวกับมุมมองที่แตกต่างกันต่อเหตุการณ์ปี 1965 ในชื่อ “เวทีเสวนาแห่งชาติ: วิเคราะห์โศกนาฏกรรม 1965 มุมมองเชิงประวัติศาสตร์” (Jakarta Post 2016)  การประชุมครั้งนี้โดดเด่นเพราะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดเสวนาแบบนี้ กล่าวคือเป็นการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับปี 1965 ที่รัฐบาลอนุมัติให้จัดอย่างเป็นทางการ  ถึงแม้มีผลพวงตามมาจากการประชุมครั้งนี้น้อยมาก แต่มันมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะผู้จัดงานฝ่ายรัฐบาลคนหนึ่งยอมรับว่ารัฐมีบทบาทในการสังหารหมู่  เวทีเสวนาครั้งนี้กระตุ้นให้กลุ่มที่เชื่อมโยงกับกองทัพและองค์กรอิสลามอนุรักษ์นิยมตอบโต้ด้วยการจัดเวทีเสวนาเพื่อวิพากษ์ประณามพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียบ้าง (Kompas 2016)

Truth Telling: “The Act of Killing” 2012, and “The Look of Silence” 2014

บทสรุป

ช่องทางสำหรับความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านในอินโดนีเซียในวันนี้มืดมนกว่าช่วงเวลาใดๆ นับตั้งแต่การสิ้นอำนาจของซูฮาร์โต  ท่ามกลางบริบทของสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดและบีบคั้นมากมาย กลุ่มประชาสังคมเปลี่ยนจุดโฟกัสของตน ส่วนใหญ่ละทิ้งช่องทางใหญ่ที่เป็นกลไกของรัฐระดับชาติและหันมาจัดการปัญหาด้วยตัวเอง  เมื่อพึ่งพาอาศัยการเคลื่อนไหวเชิงสถาบันที่เป็นทางการน้อยลง  ผู้สนับสนุนความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านจึงพยายามสร้างการริเริ่มด้วยตัวเอง ทั้งในด้านการแสวงหาความจริง การบอกเล่าความจริงและรูปแบบความยุติธรรมเชิงสัญลักษณ์  จุดสนใจในตอนนี้อยู่ที่การสร้างความตระหนักรู้มากกว่าการเยียวยาแก้ไขและหันมาเรียกร้องการสนับสนุนจากสังคมมากกว่ามาตรการของภาครัฐ

รัฐไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะผลักดันกระบวนการความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านที่มีความหมายไม่ว่าในด้านใด  การไม่ให้ความร่วมมือแบบนี้เกิดขึ้นในทุกด้านของการแสวงหาความยุติธรรม ทั้งด้านกฎหมาย/ศาล การปรองดองและการแสวงหาความจริง  กระนั้นก็ตาม การเมืองของอดีตยังคงวนเวียนอยู่ในวาทกรรมทางสังคมและการเมืองอินโดนีเซีย  นับวันจะยิ่งมีการอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับอดีตมากขึ้น  นักกิจกรรม นักวิชาการ เหยื่อและครอบครัวของเหยื่อ นักเขียนและนักทำสารคดี ช่วยกันเก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพิ่มขึ้น  ในสามวิถีทางของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านนั้น วิถีของการแสวงหาความจริงและการบอกเล่าความจริงเป็นด้านที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด แม้จะเป็นแค่ “การลอยคอ” รอไปก่อนจนกว่าความยุติธรรมแบบอื่นจะเป็นไปได้ก็ตาม

Ehito Kimura
Associate Professor
Department of Political Science
University of Hawai’i at Manoa, Hawai’i

Reference

“Balibo 5 Deliberately Killed, Coroner Finds.” ABC News, November 16, 2007. http://www.abc.net.au/news/2007-11-16/balibo-5-deliberately-killed-coroner-finds/727656.
Cohen, David, Seils, Paul, and International Center for Transitional Justice. Intended to Fail: The Trials before the Ad Hoc Human Rights Court in Jakarta. New York, N.Y.: International Center for Transitional Justice, 2003.
“Concerning Human Rights, Pubic Law No. 39 (1999).” The House of Representatives of the Republic of Indonesia. Accessed May 25, 2018.
England, Vaudine. “Indonesian Acquittal Has Shades of the Past.” The New York Times, July 13, 2005, sec. Asia Pacific. https://www.nytimes.com/2005/07/13/world/asia/indonesian-acquittal-has-shades-of-the-past.html.
Findings and documents of the International People’s Tribunal on crimes against humanity in Indonesia, 1965. Jakarta and The Hague: IPT 1965 Foundation, 2017.
Hermansyah, Anton. “1965 Symposium Indonesia’s Way to Face Its Dark Past.” The Jakarta Post, April 19, 2016. http://www.thejakartapost.com/news/2016/04/19/1965-symposium-indonesias-way-to-face-its-dark-past.html.
“Helen Todd v. Sintong Panjaitan.” Center for Constitutional Rights. Accessed May 25, 2018. https://ccrjustice.org/node/1638.
ICTJ, and Kontras. Indonesia Derailed : Transitional Justice in Indonesia since the Fall of Soeharto : A Joint Report. Jakarta  Indonesia: International Center for Transitional Justice  ;Komisi untuk orang Hilang dan Korban Tindak Kekerasan, 2011.
Kimura, Ehito. “The Struggle for Justice and Reconciliation in Post-Suharto Indonesia.” Southeast Asian Studies 4, no. 1 (2015): 73–93.
Lowry, Bob. “Review: Coming to Terms with 1965.” Inside Indonesia. August 2, 2014. Accessed May 24, 2018. http://www.insideindonesia.org/review-coming-to-terms-with-1965.
McGregor, E. Katharine. “Confronting the Past in Contemporary Indonesia: The Anticommunist Killings of 1965–66 and the Role of the Nahdlatul Ulama.” Critical Asian Studies 41, no. 2 (2009): 195–224.
Nur Hakim, Rakhmat. “Ini Sembilan Rekomendasi Dari Simposium Anti PKI – Kompas.Com.” Accessed May 24, 2018. https://nasional.kompas.com/read/2016/06/02/17575451/ini.sembilan.rekomendasi.dari.simposium.anti.pki.
Palatino, Mong. “International Court Revisits Indonesia’s 1965 Mass Killings.” The Diplomat. Accessed May 25, 2018. https://thediplomat.com/2015/11/international-court-revisits-indonesias-1965-mass-killings/.
Pramudatama, Rabby. “SBY to Apologize for Rights Abuses.” The Jakarta Post. Accessed May 24, 2018. http://www.thejakartapost.com/news/2012/04/26/sby-apologize-rights-abuses.html.
“The ‘Year of Truth’ Campaign in Indonesia.” AJAR (blog). Accessed May 24, 2018. http://asia-ajar.org/the-year-of-truth-campaign-in-indonesia/.

Exit mobile version