Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

การจัดการป่าชายเลนแบบยั่งยืนเป็นไปได้หรือไม่

        

บทความนี้รายงานการศึกษาศักยภาพของสถาบันในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติชุมชนในป่าชายเลนของเวียดนาม  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติชุมชนดังกล่าวนี้ได้รับความสนใจและเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในระดับนานาชาติ   แต่ยังไม่ได้มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในประเทศเวียดนาม  ซึ่งกลยุทธ์หลัก ๆ ยังคงอาศัยการจัดการแบบรวมอำนาจ  โดยหน่วยงานรัฐหรือสหกรณ์หมู่บ้าน และการจัดการโดยครัวเรือนโดด ๆ ซึ่งเริ่มมีขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980เป็นต้นมา  บทความนี้เสนอข้อคิดเห็นว่าการโอนกิจการเป็นของรัฐหรือการแปรรูปวิสาหกิจต่างไม่สามารถแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรจนเกินขอบเขต  และมีหลาย ๆ กรณีที่การแปรรูปวิสาหกิจทำให้ครอบครัวชนบทต้องไร้ทางทำมาหากิน

ข้อคิดเห็นดังกล่าวนี้จะแสดงไว้ในกรณีศึกษาของการจัดการป่าชายเลนในหมู่บ้านเกียวลัค  อำเภอ เกียวทาย จังหวัดนำดินห์ ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของยุคอาณานิคม ชาวบ้านรู้จักวิธีใช้ทรัพยากรแบบยั่งยืน แม้ว่าจะปราศจากการควบคุมดูแลของทางการ   เมื่อมาถึงยุคร่วมมือ (1956-1975) เจ้าหน้าที่ของอำเภอได้จัดการป่าชายเลนเพื่อที่จะปกป้องกำแพงกั้นน้ำของส่วนกลาง ชาวบ้านไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใช้ไปประโยชน์จากป่าอีกต่อไปทำให้เกิดการลักลอบจับสัตว์ขึ้นเป็นครั้งแรก การปฎิรูปทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า Doi Moi ซึ่งเริ่มดำเนินมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจตลอดจนการทำลายถิ่นที่อยู่ของพืชและสัตว์ ผู้ที่มีเงินทุน ความชำนาญในการจัดการ และอำนาจทางการเมืองสามารถหาผลประโยชน์จากทรัพยากรที่มาจากป่าชายเลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำฟาร์มกุ้งและฟาร์มหอยกาบ ผู้ได้รับประโยชน์น้อยที่สุดได้แก่คนยากจน ซึ่งต้องเสียแหล่งรายได้เสริมการทำนาข้าว   การปฏิรูป Doi Moi มีผลทำให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยและมีหัวหน้าครอบครัวเป็นสตรีถูกละเลย

นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นแม้จะมีโครงการที่ได้รับเงินทุนช่วยเหลือจากองค์กรนอกภาครัฐสากลซึ่งมุ่งช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมและคนยากจนแล้วก็ตาม   โครงการดังกล่าวได้ช่วยฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนในบริเวณหมู่บ้าน แต่เนื่องจากโครงการจะสิ้นสุดลงในปี 2005 จึงควรมีการเริ่มวางแผนให้มีระบบจัดการที่จะช่วยส่งเสริมให้มีความเท่าเทียมทางสังคม ปริมาณการผลิต และความสามารถในการทำให้ยั่งยืน ขั้นแรกคือระดมความร่วมมือจากสมาคมและกองทุนหมุนเวียนต่าง ๆ ที่มีอยู่ โดยส่วนรวมวิธีที่ปฏิบัติได้คือรวมกลยุทธ์ทั้งสามเข้าด้วยกัน นั่นคือการโอนเป็นของรัฐ การแปรรูปวิสาหกิจ และการจัดการชุมชน โดยให้หน่วยงานรัฐดูแลระบบกำแพงกั้นน้ำ  ในขณะที่แต่ละครัวเรือนดูแลรับผิดชอบบ่อกุ้งของตน  ส่วนชุมชนทั้งหมดก็ร่วมกันคุ้มครองป่าชายเลนที่อยู่ในบริเวณบ่อกุ้งหรือใกล้เคียง

Le Thi Van Hue

Read the full unabridged article (in English) HERE 

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 2 (October 2002). Disaster and Rehabilitation

Exit mobile version