Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

ความตายของเกย์มาลาเต: อดีตเมืองหลวงเกย์แห่งฟิลิปปินส์

เขตมาลาเตในมหานครมะนิลาเคยเป็นเมืองหลวงเกย์ของนครหลวงแห่งนี้ อีกทั้งกล่าวได้ว่าเป็นเมืองหลวงเกย์ของทั้งหมู่เกาะประเทศฟิลิปปินส์ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 จนกระทั่งต้นศตวรรษนี้ อย่างไรก็ตาม แค่เดินเร็ว ๆ ผ่านท้องถนนที่เงียบสงัดในปัจจุบันก็ยืนยันแน่ชัดได้ทันทีว่า เมืองหลวงเกย์มาลาเตตายแล้ว ปัจจัยที่เกี่ยวพันหลายประการเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งจุดสิ้นสุดของมาลาเตในฐานะพื้นที่ของเกย์ บทความนี้คือความพยายามขั้นต้นในการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้

วัฒนธรรมเกย์ของฟิลิปปินส์เฟื่องฟูในช่วงทศวรรษ 1970 ระหว่างยุคเผด็จการของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส วาทกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการรักเพศเดียวกันเริ่มปรากฏเป็นวงกว้าง 1 การสำรวจตรวจสอบชีวิตของคนรักเพศเดียวกันกลายเป็นแกนเรื่องในภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ บาร์เกย์ 2 เช่น Coco Banana ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในย่านมาลาเต อย่างไรก็ตาม จวบจนกระทั่งทศวรรษ 1990 ขบวนการเกย์และเลสเบี้ยนที่มีสำนึกทางการเมืองจึงเติบโตขึ้นในประเทศ และเมืองที่ได้เป็นประจักษ์พยานต่อหมุดหมายต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวลและคนข้ามเพศ (LGBT) ในฟิลิปปินส์ก็คือกรุงมะนิลานั่นเอง

ในช่วงต้นถึงกลางทศวรรษ 1990 สี่แยกที่ถนนอาเดรียอาติโกตัดกับถนนนักปิลในเขตมาลาเตกลายเป็นย่านบันเทิงพลุกพล่านที่รองรับทั้งคนรักเพศเดียวกันและคนรักต่างเพศ 3 แหล่งชุมนุมเกย์แห่งแรกแห่งหนึ่งบนถนนนักปิลก็คือร้าน Blue Café ซึ่งมีการแสดงของกระเทยทุกคืนวันพุธ ถนนโอโรซาซึ่งตัดกับถนนนักปิล เริ่มมีชีวิตชีวาขึ้นมาเช่นกันและมีบาร์ ร้านอาหารและร้านรวงหลายแห่งเปิดทำการ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ธุรกิจร้านค้าของเกย์ทั้งหมดที่เคยเปิดในย่านสี่แยกโอโรซา-นักปิลปิดตัวลงหมดแล้ว ยกเว้นกิจการเดียวคือ Chelu Bar ปัจจัยอะไรที่นำไปสู่จุดสิ้นสุดของย่านเกย์มาลาเต? ในที่นี้ ผู้เขียนจะอภิปรายถึงประเด็นที่พัวพันกันหลายประการที่อาจให้ความกระจ่างต่อปรากฏการณ์นี้ กล่าวคือ เทคโนโลยี ตำแหน่งที่ตั้งในเมือง เศรษฐกิจและสำนึกทางการเมือง 4

Post-Pride March 2010 Party (White Party) on the Corner of Nakpil and Orosa Streets in Malate Photo by DENNIS CORTEZA

 

เทคโนโลยีและการเสาะหาคู่ในโลกจริงกับโลกเสมือน

เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ได้เปลี่ยนแปลงพิธีกรรมเสาะหาคู่นอนของเกย์ทั่วทั้งโลก เว็บไซท์จับคู่และแอพ (โปรแกรมที่สร้างขึ้นเพื่อใช้บนมือถือหรือแท็บเล็ต) อย่างเช่น Planet Romeo และ Grindr เข้ามาครอบครองตลาดการเสาะหาคู่ อีกทั้งในประเทศฟิลิปปินส์นั้น แอพพลิเคชั่นพวกนี้ช่วยให้เกย์สามารถหาคู่ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ก่อนที่จะมีเว็บไซท์เครือข่ายสังคมออนไลน์เกิดขึ้น โรงหนังราคาถูก สวนสาธารณะและโรงอาบน้ำคือสถานที่ยอดนิยมที่ชายเกย์ในมะนิลาใช้เสาะแสวงหาคู่ กระนั้นก็ตาม แหล่งพบปะเหล่านี้มีความเสี่ยงตามมา โรงภาพยนตร์และโรงอาบน้ำมักถูกตำรวจบุกเข้าตรวจค้นบ่อย ๆ และผู้ชายที่เตร็ดเตร่ตามท้องถนนอาจถูกตั้งข้อหาเร่ร่อน ไม่มีโรงอาบน้ำแห่งใดในฟิลิปปินส์ที่รอดปลอดพ้นจากการตรวจค้นของตำรวจ บาร์เกย์กลับเป็นสถานที่ที่ค่อนข้างปลอดภัยกว่าในการพบปะกับชายเกย์คนอื่น เพราะเท่าที่ผู้เขียนทราบ บาร์เกย์ไม่เคยถูกตำรวจบุกตรวจค้นเลย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บาร์เกย์จะเป็นทางเลือกของการสังสรรค์สมาคมที่ปลอดภัยกว่าก็จริง แต่ก็มีเกย์ชาวฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมไปเที่ยวตามแหล่งเหล่านี้ เนื่องจากกริ่งเกรงว่าจะเป็นการ “เปิดตัว” หรือถูกชี้ตัวว่าเป็นเกย์ ในบริบทนี้ เทคโนโลยีสื่อสารในโลกเสมือนกลายเป็นทางออกที่ใช้การได้ดีในการแก้ปัญหาที่เกิดจากความสุ่มเสี่ยงของพื้นที่เชิงกายภาพและปัญหาการยอมรับตัวตนที่คอยหลอกหลอนเกย์ที่ไม่ต้องการเปิดตัว แอพของโทรศัพท์มือถือและเว็บไซท์จับคู่เกย์แบบสมัครสมาชิกฟรีที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในฟิลิปปินส์น่าจะเป็น Planet Romeo (PR) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2011 Planet Romeo มีสมาชิกชาวฟิลิปปินส์ประมาณ 97,000 คน จากข้อมูลบนหน้าแรกของเว็บไซท์ สมาชิกชาวฟิลิปปินส์ที่ออนไลน์ในทุกช่วงเวลามีจำนวนถึงร้อยละ 4 ถึงร้อยละ 5 ของประชากรออนไลน์ทั่วโลกทั้งหมดของ Planet Romeo การเสาะหาคู่โดยช่องทางอินเทอร์เน็ตเป็นทางเลือกที่ดีเยี่ยมและคุ้มค่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแอพแบบนี้ส่งผลกระทบทางลบต่อรายได้ของบาร์เกย์ ซึ่งหลายแห่งต้องปิดกิจการไปในเวลาต่อมา

Planet Romeo (PR): Gay dating site in the Philippines

 

เกย์รุ่นใหม่ พื้นที่ใหม่ในเมืองของเกย์

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ควรคำนึงถึงในความรุ่งโรจน์และร่วงโรยของมาลาเตในฐานะพื้นที่ของเกย์ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงของสถิติประชากรของคนที่ไปเที่ยวบาร์เกย์ บาร์แต่ละแห่งดึงดูดลูกค้าจากภูมิหลังทางสังคมเศรษฐกิจที่แตกต่างกันและบาร์เกย์ในมะนิลาก็แบ่งตามชนชั้น บางแห่งรองรับลูกค้าชนชั้นสูงและบางแห่งรองรับชนชั้นกลางระดับล่างกับชนชั้นแรงงาน

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นความเติบโตอย่างทวีคูณของอุตสาหกรรมการรับเหมาช่วงกระบวนการธุรกิจ (Business Process Outsourcing–BPO) ในฟิลิปปินส์ 5 กลุ่มเกย์เป็นกำลังแรงงานสัดส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมบริการที่กำลังเติบใหญ่นี้ กลุ่มเกย์ในธุรกิจ BPO ส่วนใหญ่ทำงานในสำนักงานรับสายโทรศัพท์ (call-centre) และเป็นกำลังซื้อที่มีจำนวนมากพอสมควรในตลาดบาร์เกย์และร้านอาหาร ตารางการทำงานที่ไม่แน่นอน (ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงดึก) และชีวิตการทำงานที่ค่อนข้างย่ำแย่ของแรงงาน BPO ทำให้การพบปะสังสรรค์ในบาร์เป็นรูปแบบการพักผ่อนหย่อนใจอย่างหนึ่งโดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่ย่านมาลาเตไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตธุรกิจ BPO เนื่องจากสำนักงาน BPO ส่วนใหญ่ตั้งอยู่นอกกรุงมะนิลาในย่านธุรกิจของเมืองเกซอนซิตี, ออร์ติกัสและมากาตี

การจราจรที่ติดขัดแออัดจนขึ้นชื่อของย่านมาลาเตกลายเป็นปัญหาคับข้องอย่างหนึ่งสำหรับลูกค้าบาร์เกย์ เนื่องจากเวลาว่างก็มีจำกัดอยู่แล้ว ตำแหน่งที่ตั้งเชิงภูมิศาสตร์ในย่านจราจรคับคั่ง บวกกับแบบแผนการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปในหมู่เป้าหมายทางการตลาดของบาร์เกย์ จึงเป็นปัจจัยอีกประการที่สาปให้ย่านเกย์มาลาเตต้องถึงกาลสิ้นสุด

Pride March Program 2011 on the Nakpil-Orosa Strip of Malate, Manila. Photo by Dennis Corteza

 

การเมืองของพื้นที่เกย์ในเมือง

ในส่วนสุดท้ายของบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนขอเสนอเหตุผลอีกประการหนึ่งที่เป็นสาเหตุความตายของย่านเกย์มาลาเต นั่นคือ การขาดความตระหนักทางการเมืองในหมู่ชาวเกย์ส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ถึงแม้ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1990 จนถึงต้นศตวรรษที่ 21 แต่มาลาเตก็ยังถือเป็นพื้นที่ที่มีปัญหา ในด้านหนึ่ง มันเป็นสัญลักษณ์ความภาคภูมิใจของการเป็นเกย์ แต่ช่วงห่างระหว่างจำนวนคนที่เข้าร่วมขบวนพาเหรด Gay Pride March ที่จัดเป็นประจำทุกปีในสถานที่สาธารณะเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนคนที่เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองในแหล่งพบปะของเกย์หลังการเดินพาเหรดชี้ให้เห็นว่า มีเควียร์ (queers) จำนวนค่อนข้างน้อยในกรุงมะนิลาที่พร้อมจะเปิดเผยเพศวิถีของตน หากผู้ไปเที่ยวบาร์เข้าร่วมขบวน Gay Pride March ที่จัดเป็นประจำทุกปีในที่สาธารณะ กิจกรรมนี้ย่อมมีจำนวนผู้เข้าร่วมมากขึ้น คำว่า “ความภาคภูมิใจในความเป็นเกย์” (gay pride) แท้จริงแล้วมีความหมายอะไรสำหรับคนที่ไปร่วมเฉพาะงานเลี้ยงเฉลิมฉลองหลังขบวนพาเหรดที่บาร์เกย์จัดขึ้นเท่านั้น? พวกเขาตระหนักถึงนัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์และการเมืองของย่านมาลาเตหรือเปล่า? ในขณะที่ “ความภาคภูมิใจในความเป็นเกย์” ย่อมครอบคลุมถึงการยืนยันอัตลักษณ์ความเป็นเกย์ของตนเช่นเดียวกับการยอมรับการดำรงอยู่ของชุมชนชาวเกย์และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้น ผู้เขียนขอแย้งว่ามิติของเจตจำนงทางการเมืองและปฏิบัติการทางการเมืองเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในงานเลี้ยงเฉลิมฉลองของกลุ่มเกย์และในย่านมาลาเตทั้งย่าน ความภาคภูมิใจในความเป็นเกย์ในบาร์เกย์ที่มาลาเตถูกลดทอนลงจนเหลือแค่ธุรกิจการค้าล้วน ๆ ซึ่งปราศจากสาระหรือความหมายทางการเมือง

อันที่จริง นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา มาลาเตเปรียบเสมือนห้องปิดตัว (closet) ขนาดใหญ่ มันเป็นสถานที่สำหรับชาวเกย์ที่ต้องการเปิดตัวเฉพาะต่อกลุ่มคนที่เขาคัดสรรและในขณะเดียวกันก็ยังคงเหมือนปิดตัวอยู่ดี สิ่งที่ขัดแย้งกันก็คือ การเชิญชวนให้เปิดตัว กล่าวคือ ยืนยันความเป็นเกย์อย่างเปิดเผยในมาลาเต เช่น ในขบวนพาเหรด Gay Pride March เป็นต้น กลับวางอยู่บนความเป็นไปได้ที่จะกลับไปสู่ความรโหฐานของห้องปิดตัว ซึ่งเห็นได้จากบันเทิงสถานของชาวเกย์ในย่านมาลาเต ดังที่จูดิธ บัทเลอร์ (1991) กล่าวไว้ว่า การเปิดตัวจำเป็นต้องอาศัยการมีห้องปิดตัวเพื่อออกปฏิบัติการ/แสดง ห้องปิดตัวที่คนผู้นั้นสามารถออกมาเปิดตัวหรือย้อนกลับไปปิดตัวได้ บัทเลอร์กล่าวว่า

เพราะการ “เปิด” ต้องอาศัยการ “ปิด” ในระดับหนึ่งเสมอ มันจะมีความหมายก็ต่อเมื่ออยู่ภายในขั้วตรงกันข้ามนั้น ด้วยเหตุนี้ การ “เปิด” จึงต้องสร้างห้องปิดตัวขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อรักษาตัวมันเองในฐานะของการ “เปิด” เอาไว้ ในแง่นี้ การเปิดจึงสร้างความทึบแบบใหม่ขึ้นมาเท่านั้นเอง และห้องปิดตัวจึงสร้างคำมั่นสัญญาถึงการเปิดเผยที่ไม่เคยเกิดขึ้นอย่างแท้จริง (1999: 16)

มาลาเตเป็นแค่ห้องปิดตัวดังกล่าวนั่นเอง 6 การเมืองเรื่องเพศที่ก้าวหน้าอย่างถึงรากถึงโคนในฟิลิปปินส์ยังเกิดขึ้นไม่ได้ ก็เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของบาร์เกย์ในมาลาเตไม่สนใจการต่อสู้ของเกย์และเลสเบี้ยน กระทั่งไม่สนใจแม้แต่ประวัติศาสตร์ LGBT การปรากฏตัวในพื้นที่เกย์ในเมืองไม่ได้แปรไปสู่การเมืองหรือการเคลื่อนไหวของเกย์เสมอไป

Pride March 2007 in Manila, along Mabini Street. On the foreground wearing pink is Glenn Cruz, development worker and former Executive Director of TLF SHARE Collective, Inc. Photo by DENNIS CORTEZA
Pride March 2000, along Taft Avenue, Manila, with LGBT Movement Veterans Danton Remoto (2nd from left), Malu Marin (middle), Jesus Federico Hernandez (fourth from left), and Jack Hernandez (right-most). Photo by JUNG VALIENTES

พื้นที่ของเกย์จะคงทนยาวนานได้ต้องอาศัยความสมานฉันท์ทางการเมืองและความภาคภูมิใจในตัวเอง นี่เป็นสิ่งที่ยังไม่ปรากฏเด่นชัดในฟิลิปปินส์ ณ ขณะนี้ ตัวอย่างชัดเจนกรณีหนึ่งคือความล้มเหลวขององค์กร LGBT Ang Ladlad ซึ่งเสนอตัวลงสมัครชิงเก้าอี้สภาคองเกรสของฟิลิปปินส์เมื่อปี 2013 Ang Ladlad ต้องการแค่ร้อยละสองของคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเพื่อได้ที่นั่งอย่างน้อยหนึ่งที่ แต่ดังที่คาดการณ์กันไว้ล่วงหน้า Ang Ladlad ไม่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว 7 ประชากรเกย์ในฟิลิปปินส์ (ไม่ต้องเอ่ยถึงชุมชนเลสเบี้ยน ไบเซ็กชวลและคนข้ามเพศ) ถูกแบ่งแยกจากการตีตราที่แตกต่างกันเป็นสองขั้ว เช่น “ยั้งคิด” กับ “เปิดตัว” “ความเป็นชาย” กับ “กระตุ้งกระติ้ง” และ “ล่ำ” กับ “พลุ้ย” เกย์ยังมีความแบ่งแยกจากความแตกต่างทางชนชั้น ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่พวกเขาจะเชื่อมโยงรวมตัวกันทางการเมืองได้ การแบ่งขั้วที่แสดงถึงโฮโมโฟเบียและมีปัญหาเป็นพิเศษในวาทกรรมร่วมสมัยเกี่ยวกับเกย์ชาวฟิลิปปินส์ก็คือ “ยั้งคิด” กับ “เปิดตัว” การ “ยั้งคิด” มีความหมายถึงการแสดงตัวเป็นชาย ไม่เป็นเป้าสายตาและเลือกอยู่ในห้องปิดตัว (แม้ว่าไม่เสมอไป) ในขณะที่การ “เปิดตัว” หมายถึงการแสดงออกแบบกระตุ้งกระติ้งและขาดความน่านับถือ ความแตกต่างทางชนชั้นและการนำเสนอเพศสภาพยังส่งอิทธิพลที่สร้างความแตกแยกในวัฒนธรรมเกย์ของฟิลิปปินส์

หากวัฒนธรรมเกย์ในฟิลิปปินส์ต้องการมีพื้นที่ที่ยั่งยืนของตัวเอง วัฒนธรรมของความเพิกเฉยทางการเมืองของบาร์เกย์ต้องเปลี่ยนแปลงก่อน ย่านเกย์มาลาเตล้มหายตายจากไปเพราะชาวเกย์ฟิลิปปินส์ไม่แยแสสนใจจริงจังมากพอต่อประวัติศาสตร์ของตนเองและที่สำคัญกว่านั้นคือต่อผู้คนในกลุ่มของตัวเอง มาลาเตซึ่งครั้งหนึ่งเคยเปรียบเสมือนนครเมกกะแห่งกรุงมะนิลาและสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ได้จบสิ้นลงแล้ว เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ชาวเกย์จำนวนมากในประเทศนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นลูกค้าประจำของบาร์เกย์ ไม่แยแสสนใจและไม่ไยดีแม้แต่น้อย

Ronald Baytan, Ph.D.
Department of Literature
De La Salle University, Manila

Issue 18, Kyoto Review of Southeast Asia, September 2015.

The writer would like to thank Dennis Corteza and Jung Valientes for the photographs on the Philippine Pride March events and nightlife shots used in this piece.

Banner image: Post-Pride March 2010 Party (White Party) on Orosa Street, Manila. Photo by DENNIS CORTEZA
Pride March 2000, along Nakpil Street, Manila. Photo by JUNG VALIENTES
One of the floats in Pride March 2011, Manila. Photo by DENNIS CORTEZA
Red Party (Valentine’s) 2013 along Orosa Street in Malate, Manila. Photo by DENNIS CORTEZA

Reference:

Butler, Judith. 1991. “Imitation and Gender Insubordination.” Inside/Out: Lesbian Theories, Gay Theories, ed. Diana Fuss New York: Routledge, 13-31.
De Vera, Ben O. 2014. “Employment in BPO Sector Hits 1-M Mark.” Inquirer.Net, accessed 22 Aug. 2014. 
Garcia, J. Neil C. 2009. Philippine Gay Culture: The Last Thirty Years, Binabae to Bakla, Silahis to MSM. Revised edition. Hong Kong: Hong Kong University Press.
Leach, Ann. 2013. “World’s Only LGBT Party Fails to Win Seat in Election.” Gay Star News. Gaystarnews.com, accessed 15 May 2013.
Pascual, Patrick King. 2013. “The Slow and Painful Death of Malate.” Outrage Magazine. Outragemag.com, accessed 20 May 2013
Remoto, Danton F. 1997. “Gays: From the Underground to the Mainstream.” X-Factor: Tales Outside the Closet: Essays. Mandaluyong: Anvil, 88-92.
Sedgwick, Eve Kosofsky. 1990. Epistemology of the Closet. Berkeley: University of California Press.

Notes:

  1. โปรดดู Garcia (2009) สำหรับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเกย์ในฟิลิปปินส์
  2. ในวัฒนธรรมเกย์ของชาวฟิลิปปินส์ คำว่า “บาร์เกย์” หมายถึงสถานบันเทิงที่มีการเต้นอะโกโก้ของชายหนุ่มที่เป็นแรงงานขายบริการทางเพศไปพร้อมกัน ซึ่งรองรับความต้องการทางกามารมณ์ของเกย์ (ส่วนใหญ่เป็นเกย์กลุ่ม bakla ที่กระตุ้งกระติ้งเหมือนผู้หญิง) อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ ผู้เขียนใช้คำว่า “บาร์เกย์” เพื่อหมายถึงสถานบันเทิงใด ๆ ก็ตามที่ชาวเกย์ไปใช้บริการโดยไม่จำเป็นต้องมีการซื้อบริการทางเพศ  
  3. สำหรับข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานบันเทิงของชาวเกย์ที่ได้รับความนิยมในทศวรรษ 1990 โปรดดู Remoto (1997), pp. 88-92.  
  4. โปรดดู Patrick King Pascual (2013) ซึ่งเล่าถึงการล้มหายตายจากของย่านมาลาเตเช่นกัน นอกจากนี้ โปรดดู Outrage Magazine สำหรับบทความเกี่ยวกับวัฒนธรรม LGBTQ ร่วมสมัยในฟิลิปปินส์
  5. ข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรม BPO ในประเทศฟิลิปปินส์ ดูได้จาก Ben O. De Vera, “Employment in BPO Sector Hits 1-M Mark”. Inquirer.Net, accessed 22 August 2014.
  6. การอภิปรายเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับ “การเปิดตัว” และ “ห้องปิดตัว” ดู Butler (1991) และ Sedgwick (1990).
  7. ปรดดู Ann Leach. “World’s Only LGBT Party Fails to Win Seat in Election.” Gay Star News. Gaystarnews.com, accessed 15 May 2013.
Exit mobile version