Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

อิทธิพลของท้องถิ่นในการเมืองไทย

ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ สังศิต พิริยะรังสรรค์
Corruption and Democracy in Thailand
(คอร์รัปชั่นกับประชาธิปไตยไทย)
Chiang Mai / Silkworm Books / 1994

Ruth McVey, editor
Money and Power in Provincial Thailand
(เงินและอำนาจในภูมิภาคท้องถิ่นของไทย)
Honolulu / University of Hawaii Press / 2000

บทความชิ้นนี้เป็นการวิจารณ์หนังสือสองเล่ม  ซึ่งอธิบายและวิเคราะห์สามปรากฏการณ์ทางสังคมในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่นานมานี้  นั่นคือ การเกิดขึ้นของกลุ่มอันธพาลท้องถิ่นที่เรียกกันว่า เจ้าพ่อ  การเติบโตของนายทุนและชนชั้นกลางท้องถิ่นที่เข้ามามีบทบาททางการเมือง   และระดับของการคอร์รัปชั่นที่เพิ่มขึ้น   หนังสือ คอร์รัปชั่นกับประชาธิปไตยไทย  ให้ความสนใจด้านเลวร้ายที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นไทย เช่น  การคอร์รัปชั่น  ฆาตกรรมและการใช้ความรุนแรง   ซึ่งผู้เขียนทั้งสองเห็นว่าเป็นผลมาจากการส่งเสริมการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง   ส่วนหนังสือ  Money and Power in Provincial Thailand  สำรวจว่า  การครอบงำทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบใหม่ มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับท้องถิ่นในวิถีทางอย่างไรบ้าง   เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกัน  หนังสือสองเล่มนี้ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า  ท้องถิ่นได้เข้ามามีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยโดยรวมมากขึ้น

หนังสือทั้งสองเล่มต่างก็ตั้งคำถามกับกรอบการมองทางทฤษฎีสองแบบที่เป็นกระแสหลักในขณะนี้ว่า  ยังใช้ได้กับการเมืองไทยต่อไปหรือไม่   ไม่ว่าจะเป็นกรอบการมองในแบบ  “องค์กรรัฐข้าราชการ”  หรือ   “องค์กรรัฐธุรกิจ-เสรีนิยม”   อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์กรอบการมองในทางทฤษฎีทั้งสองแบบนี้ควรมีการขยายความให้มากขึ้น   ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่บรรยายถึง  -ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของ เจ้าพ่อ ท้องถิ่น   ความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ที่มีกับนักการเมืองระดับชาติ   ความรุนแรงที่ขยายวงกว้างมากขึ้นในการเลือกตั้ง และการแพร่ระบาดของคอร์รัปชั่น-  ชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวของ  “ระบอบประชาธิปไตยแบบสืบทอดอำนาจ”   อันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้รัฐไทยยังเต็มไปด้วยการเล่นพรรคเล่นพวกและระบบเครือญาติ   และอำนาจรัฐยังคงถูกควบคุมโดยความสัมพันธ์ส่วนบุคคล   แม้ว่ารูปแบบของการแข่งขันทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปจากการต่อสู้แย่งชิงในระบบราชการ  มาเป็นการต่อสู้แย่งชิงในการเลือกตั้ง   แต่เนื้อแท้ของการแข่งขันยังคงเหมือนเดิม

นักวิชาการไทยมักจะวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์นี้จากจุดยืนทางศีลธรรม  แต่เราก็ควรตระหนักด้วยว่า  ผลประโยชน์มหาศาลที่นักการเมืองได้รับจากระบอบประชาธิปไตยแบบสืบทอดอำนาจต่างหาก  ที่ทำให้พฤติกรรมของพวกนักการเมืองเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก กล่าวง่าย ๆ คือ  ผลประโยชน์ของพวกผู้ปกครองยังอิงอยู่กับการรักษารูปแบบประชาธิปไตยอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเอาไว้นั่นเอง

Nishizaki Yoshinori วิจารณ์
Read the full unabridged version of the article (in English) HERE

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 1 (March 2002). Power and Politics

Exit mobile version