การ์ตูนช่อง (Komiks) เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฟิลิปปินส์มายาวนานทีเดียว อัมเบธ โอคัมโปและเดนนิส วีเญกาสเคยชี้ว่าโฮเซ่ ริซัลคือหนึ่งในคนฟิลิปปินส์รุ่นแรกสุดที่วาดการ์ตูนช่อง(Villegas, 2011) (Ocampo, 1990) จอห์น เอ. เลนท์เชื่อว่า ชาวฟิลิปปินส์ชื่นชอบภาพวาดการ์ตูนช่องมานมนาน ตั้งแต่สมัยที่นิตยสารตีพิมพ์ภาพการ์ตูนในยุคอาณานิคมสเปน (Lent, 2004)ผู้สันทัดกรณีระบุว่า ทศวรรษ 1930 เป็นจุดเริ่มต้นของการ์ตูนช่องในฟิลิปปินส์เมื่อมีการตีพิมพ์การ์ตูนช่องเรื่อง “Mga Kabalbalan ni Kenkoy” ของโทนี เวลาสเกซ ด้วยเหตุนี้ เวลาสเกซจึงได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งการ์ตูนช่องฟิลิปปินส์” (Roxas & Arevalo, 1985) อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการตีพิมพ์หนังสือของเวลาสเกซ ชาวฟิลิปปินส์รู้จักการวาดและการชมภาพการ์ตูนมาตั้งแต่ทศวรรษ 1900 (McCoy & Roces, 1985)
เนื่องจากการ์ตูนเป็นเครื่องมือวิพากษ์ปัญหาสังคมได้แนบเนียน การ์ตูนช่องจึงเป็นรูปแบบความบันเทิงที่เข้าถึงได้ ซึ่งชาวฟิลิปปินส์เสพย์เพื่อหลีกหนีจากความเป็นจริงในชีวิตจำเจ อย่างไรก็ตาม เรเยสเล็งเห็นว่า แก่นเรื่องหลักในการ์ตูนช่องมิได้เชื่อมโยงกับความเพ้อผันเท่านั้น แต่ครอบคลุมความจริงในแง่มุมต่างๆไว้ด้วย ศิลปินแปรเปลี่ยนสื่อตัวนี้จากสิ่งที่ให้ความขบขันกลายเป็นการเล่าเรื่องประเภทหนึ่งที่มีความซับซ้อนละเอียดอ่อน จากทศวรรษ 1930 จนถึงทศวรรษ 1980 มีการสอดแทรกแนวทางวรรณกรรมหลากหลายประเภทเข้ากับความคมคายฉับไวของการ์ตูนช่อง อาทิเช่น นิยายรัก นิยายวิทยาศาสตร์ นิยายกามารมณ์ จนสามารถเข้าไปแทนที่วรรณกรรมของฟิลิปปินส์ เช่น ตำนาน มหากาพย์ นวนิยาย เรื่องสั้น awit 1และ corrido 2เสน่ห์ของการ์ตูนช่องไม่ได้มาจากความเข้าถึงง่ายเท่านั้น แต่อยู่ที่การใช้ภาษาและภาพวาดที่หนุนเสริมเนื้อหาด้วย (Reyes, 1985)
เมื่อสื่อการ์ตูนเติบโตมากขึ้น มันก็เริ่มขยายเข้าไปในแวดวงการศึกษา พ้นจากยุคการยึดครองของญี่ปุ่นแล้ว ศิลปินเริ่มสร้างการ์ตูนช่องเล่าเรื่องราวของสงคราม ผลงานรุ่นแรกสุดชิ้นหนึ่งคือเรื่อง “Lakan Dupil: Ang Kahanga-hangang Gerilya” ของอันโตนิโอ ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร Liwayway ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1947 ถึงแม้ซีรีย์ชุดนี้มีศูนย์กลางเป็นตัวละครที่จินตนาการขึ้นมา แต่เนื้อเรื่องวางฉากหลังอยู่ในยุคการยึดครองของญี่ปุ่น รวมทั้งเล่าถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น กิจกรรมของขบวนการใต้ดิน การทรยศชาติของพรรค KALIBAPI 3และการทรมานนักโทษของตำรวจลับเคมเปไต 4สำนักพิมพ์ Ace Publications, Inc. ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์การ์ตูนช่องแห่งใหญ่ที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์ วางตลาดหนังสือการ์ตูนช่องเล่มที่ 6 ในชื่อ Educational Klasiks เมื่อวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1960 โดยมีวัตถุประสงค์สำหรับเป็นหนังสืออ่านเสริมความรู้ในโรงเรียนรัฐและเอกชน (Komiklopedia, 2007)
ถึงแม้มีการ์ตูนช่องอิงประวัติศาสตร์แบบนี้วางขายในตลาด ก็ต้องรอให้เวลาผ่านไประยะหนึ่งกว่าผู้อ่านจะเริ่มใช้หนังสือเหล่านี้เพื่อจุดประสงค์ด้านการศึกษา หนังสือเล่มหนึ่งที่ถูกนำไปใช้เพื่อการนี้ครั้งแรกสุดน่าจะเป็นการ์ตูนช่องที่ดัดแปลงมาจากผลงานของบาลักตาสเรื่อง “Florante at Laura” 5 ผู้ดัดแปลงเนื้อเรื่องคือเพด เซ. ตีอังโกและวาดภาพโดยไมค์ เซ. ลอมโบใน ค.ศ. 1965 (Balagtas, 1965) ต่อมาการ์ตูนช่องประเภทนี้มีการดัดแปลงนวนิยายของริซัลเรื่อง “Noli Me Tangere” 6และ “El Filibusterismo” ในขณะที่นวนิยายต้นฉบับเขียนด้วยภาษาสเปน การ์ตูนช่องเรื่อง “Noli Me Tangere” ได้รับการดัดแปลงเป็นภาษาตากาล็อก ส่วนเรื่อง “El Filibusterismo” แปลเป็นภาษาอังกฤษ (Rizal, Noli Me Tangere, 1961) (Rizal, El Filibusterismo, 1956) จุดประสงค์อย่างหนึ่งของผลงานเหล่านี้ก็เพื่อให้ประชากรในวงกว้างขึ้นได้สัมผัสวรรณคดีคลาสสิก เนื่องจากหนังสือที่แปลงเป็นการ์ตูนช่องมีราคาถูกกว่า (ราคาอยู่ระหว่าง 30-60 บาท ในขณะที่นวนิยายมีราคาระหว่าง 300-600 บาทต่อเล่ม) จุดประสงค์อีกประการคือเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้อ่านและหวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านไปอ่านต้นฉบับดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อเรากล่าวถึงการใช้การ์ตูนช่องเพื่อการศึกษาในปัจจุบัน การ์ตูนช่องประเภทนี้ทำหน้าที่เสมือน “คู่มือ” (“cliffnotes”) 7สำหรับเยาวชนนักเรียนนักศึกษาที่ไม่ต้องการอ่านภาษาโบราณของต้นฉบับ การจัดหน้าเป็นช่อง ๆ และมีภาพประกอบช่วยให้เนื้อหาย่อยง่ายขึ้นสำหรับนักศึกษา กระทั่งทำให้เกิดเยาวชนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมอ่านผลงานต้นฉบับ
การ์ตูนช่องเพื่อการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งคือการ์ตูนช่องอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของบุคคลในประวัติศาสตร์ให้นักเรียนนักศึกษาอ่าน หนังสือประเภทนี้ทำหน้าที่แบบเดียวกับประเภทที่เพิ่งกล่าวถึง กล่าวคือเอื้อให้นักเรียนนักศึกษาได้รู้จักบุคคลและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์โดยไม่ต้องพากเพียรอ่านตำราที่มักจะ “แห้งแล้ง” ตัวอย่างของการ์ตูนช่องประเภทนี้ ได้แก่ ผลงานของโคชิงเรื่อง “Lapu-Lapu” ซึ่งตีพิมพ์เป็นตอนๆ รวม 25 ตอนในนิตยสาร Pilipino Komiks ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1953 ถึงกันยายน 1954 ต่อมาได้รวมเล่มและตีพิมพ์ซ้ำโดยสำนักพิมพ์ Atlas Publishing ใน ค.ศ. 2009(Samar, 2013) สำนักพิมพ์ National Bookstore ตีพิมพ์ผลงานชื่อ “Filipino Heroes Comic Series” ออกมาในช่วงทศวรรษ 1970 นำเสนอชีวประวัติวีรบุรุษเช่น มาร์เซโล เอช. เดล ปีลาร์, ดาตู ปูตี และนักการเมืองอย่างโฮเซ่ อะบาด ซานโตส, เซอร์คิโอ ออสเมนา ทุกเล่มเป็นผลงานการเขียนของ เอ็มเม ฟรังโก ความนิยมในซีรีย์ชุดนี้ช่วยกระตุ้นอีกสำนักพิมพ์หนึ่ง นั่นคือสำนักพิมพ์ Merrian Webster ที่ตีพิมพ์ซีรีย์ของตัวเอง โดยเป็นผลงานการเขียนของมาริโอ “เกเซ” ตุงโกล ใน ค.ศ. 1988
ในระยะหลัง มีการ์ตูนช่องเพื่อการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งปรากฏให้เห็น ตัวอย่างหนึ่งก็คือผลงานของอาเรในชื่อ “Mythology Class” ซึ่งนำเสนอตำนานเทพปกรณัมของฟิลิปปินส์ตามชื่อหนังสือนั่นเอง อาเรใช้มโนทัศน์ทางวัฒนธรรมในฉากหลังที่จินตนาการขึ้นมาเพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้ผู้อ่านอยากกลับไปค้นหาความจริงของเรื่องราวดั้งเดิม “Mythology Class”
ใช้สิ่งมีชีวิตในตำนานจากนิทานพื้นบ้านและอภิปรายว่าความเชื่อเหล่านี้ถูกลืมเลือนไปเพราะการเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอย่างไร ตอนแรกการ์ตูนช่องชุดนี้เผยแพร่ใน ค.ศ. 1999 และรวมเล่มเป็นนิยายภาพใน ค.ศ. 2005 อีกทั้งได้รับรางวัล National Book Awards สาขาหนังสือการ์ตูนช่องจากชมรมนักวิจารณ์มะนิลาใน ค.ศ. 1999
ผลงานประเภทนี้เริ่มถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ดังเช่นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า “สมรภูมิแห่งแมคตาน” 8 ถูกนำมาตีความใหม่เป็นการ์ตูนช่องโดยฮวน เปาโล เฟร์เรและเชสเตร์ โอคัมโปในผลงานชื่อ “Defiant: The Battle of Mactan” ซึ่งได้รับรางวัลที่สามในการจัดมอบรางวัล Philippine Graphic / Fiction Awards ครั้งที่หนึ่ง
สถาบันวิทยาภูเขาไฟและวิทยาแผ่นดินไหวแห่งฟิลิปปินส์ (Philippine Institute of Volcanology and Seismology–PHILVOLCS) และองค์กร JICA-Manila ร่วมกันผลิตการ์ตูนช่องด้วยเป้าหมายเพื่อให้การศึกษาเกี่ยวกับภัยพิบัติ โดยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ที่ประสบเหตุมหาภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในภาคตะวันออกของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การ์ตูนช่องเพื่อการศึกษาเหล่านี้ล้วนประสบความสำเร็จ แต่ผลงานประเภทนี้กลับไม่ได้นำไปใช้แพร่หลายในโรงเรียนดังความตั้งใจของผู้สร้างงาน ในขณะที่นักวิชาการอย่างโซเลดัด เรเยสและศิลปินอย่างเคร์รี อาลันกีลาน เล็งเห็นคุณค่าและเขียนถึงความมีประโยชน์ของการ์ตูนช่องในด้านการศึกษา แต่คงต้องใช้เวลากว่าภาคการศึกษาเองจะหันมาพิจารณาใช้ประโยชน์จากการ์ตูนช่อง
ทว่า อุปสรรคนี้ก็มิได้ทำให้ศิลปินย่อท้อจากการสร้างสรรค์การ์ตูนช่องเพื่อการศึกษามากขึ้น Black Ink Comics สำนักพิมพ์หนังสือการ์ตูนช่องแห่งใหม่ได้วางตลาดหนังสือชื่อ “Pepe: The Lost Years of Rizal” จากผลงานของรอน เมนโดซา ซึ่งนำริซัลในวัยหนุ่มมาเป็นตัวละครเอกในเรื่องราวที่จินตนาการขึ้น ในขณะที่เคร์รี อาลันกีลานสร้างผลงานแนวสตีมพังค์ 9 ชื่อ “The Marvelous Adventures of the Amazing Dr. Jose Rizal” ซึ่งเขาเริ่มลงมือมาตั้งแต่ ค.ศ. 2007 นอกเหนือจากนี้ เตปัย ปาสกวาลก็นำเรื่องราวของ Lapu-Lapu มาตีความใหม่ในผลงานชื่อ Maktan 1521 ของเธอ
เมื่อไม่นานมานี้ เว็บไซท์การ์ตูนช่องออนไลน์ชื่อ “Dead Balagtas” เผยแพร่การ์ตูนช่องที่ผสมผสานอารมณ์ขัน เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และการอ้างอิงวัฒนธรรมป๊อบเข้าด้วยกัน ผลงานชิ้นนี้เป็นของเอมิเลียนา คัมปิลานและผู้ดูแลเว็บไซท์คือเพื่อนของเธอชื่อมาเรีย โลเรนซาและเวร์นิเช่ เดล โรซาริโอ ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับการ์ตูนช่องชุดนี้คือทั้งหมดเป็นผลงานของผู้หญิง ซึ่งเคยเป็นคนกลุ่มน้อยในวงการการ์ตูนช่องมาตลอดจนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ นอกเหนือจากนั้น เว็บไซท์นี้ยังแสดงความคารวะแด่รากเหง้าของการ์ตูนช่องฟิลิปปินส์ด้วยการเผยแพร่การ์ตูนมุกตลกจบในตอน (non-sequitur gag komiks) 10 คล้ายกับการ์ตูนช่องชุด Kenkoy 11เมื่อผู้อ่านอ่านไปเรื่อย ๆ เขาจะพบว่าผู้สร้างการ์ตูนช่องชุดนี้ไม่ยึดติดกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่กลับพาดพิงถึงวัฒนธรรมป๊อบอย่างมาก จนดูเหมือนผลงานชุดนี้ไม่มีคุณค่าด้านการศึกษา จนกว่าผู้อ่านจะตระหนักว่าการพาดพิงเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อทำให้เหตุการณ์และบุคคลต่าง ๆ เกิดความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้อ่านที่ไม่เคยสนใจประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์มาก่อน การแสดงความคิดเห็นของผู้สร้างงานจะกระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจค้นคว้าเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือบุคคลเหล่านั้นมากขึ้น โดยเฉพาะหากผู้อ่านไม่เข้าใจความหมายของมุกตลกที่นำเสนอ
ซีรีย์ชุดนี้หยิบยกเหตุการณ์ตั้งแต่ยุคอาณานิคมสเปนไปจนถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เช่นเดียวกับศิลปินส่วนใหญ่ที่สร้างการ์ตูนช่องเพื่อการศึกษา ริซัลย่อมเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่ศิลปินหญิงผู้นี้นำมาใช้ ในวันครบรอบการรำลึกถึงริซัลเมื่อ ค.ศ. 2013 กล่าวคือวันที่ 29 ธันวาคม เธอเขียนล้อเลียนความพยายามของริซัลที่จะผ่าตัดดวงตาให้มารดา อย่างไรก็ตาม เธอเขียนไว้ในส่วนแสดงความคิดเห็นว่าริซัลศึกษากับดร.หลุยส์ เดอ เวคเคอร์ 12 และเขาเคยผ่าตัดดวงตาให้มารดาจริง ๆ ถึงสองครั้งด้วยกัน (Kampilan, Rizal’s Super Advanced Surgery Skillz, 2013)
วีรบุรุษอีกคนหนึ่งที่เธอหยิบยกมานำเสนอคืออันเดรส โบนิฟาเซียว 13 เธอเขียนภาพเล่าเรื่องราวที่โบนิฟาเซียวกับขบวนการ Katipunanพยายามขอความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นโดยขอซื้ออาวุธเพื่อปฏิวัติปลดแอกจากสเปน ทว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม โชคร้ายที่การซื้ออาวุธครั้งนี้ล้มเหลว นอกเหนือจากการเขียนเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว เธอยังแสดงความคิดเห็นสั้นๆเกี่ยวกับโฮเซ่ โมริทาโร ทากาวะ ชาวญี่ปุ่นที่ช่วยเป็นคนกลางในการเจรจาซื้อขายอาวุธด้วย(Kampilan, Ibang tulong ang kailangan namin Kongo, 2013)
อีกหัวข้อที่เธอนิยมเขียนถึงก็คือสงครามโลกครั้งที่สองกับการยึดครองของญี่ปุ่น ลักษณะเด่นที่น่าสนใจก็คือเธอมักหยิบยกประเด็นอ่อนไหวเกี่ยวกับการที่ชาวฟิลิปปินส์กลุ่มหนึ่งทรยศเพื่อนร่วมชาติชาวฟิลิปปินส์ด้วยกันเองในช่วงเวลานั้น อีกทั้งเธอมักพาดพิงถึงวัฒนธรรมป๊อบของญี่ปุ่น เช่น อนิเมะ อย่างในการ์ตูนช่องของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2014 ซึ่งช่วยเจือจางความหนักหน่วงของประเด็นให้ผู้อ่านรับได้(Kampilan, Luis Taruc x Otaku, 2014)
คัมปิลานบันทึกไว้ว่า แรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่ทำให้เธอสนใจประวัติศาสตร์มาจากคุณยายที่เป็นนักประวัติศาสตร์ นี่อธิบายว่าทำไมเธอมักนำเสนอบุคคลในประวัติศาสตร์ที่เป็นผู้หญิงหลายคนในการ์ตูนช่อง เธอเคยใช้เฟลิปา คูลาลา ผู้บัญชาการกองทหารม้าฮุคบาลาฮัพ 14ถึงสองครั้ง (Kampilan, Showa Whitewash, 2013) (Kampilan, Abante Culala!, 2013)ผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่เธอนำเสนอคือโฮเซฟา ญาเนส เอสโคดา 15 ผู้ก่อตั้งลูกเสือหญิงแห่งฟิลิปปินส์และเป็นผู้สนับสนุนสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิง เอสโคดาเป็นที่รู้จักในฟิลิปปินส์ด้วยฉายา “ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลแห่งฟิลิปปินส์” (Kampilan, Surgery Mano Mano, 2014) นอกจากนี้ เธอยังเคยนำเสนอมาร์เชลา มาริโน เด อากอนชีโญ 16, เมลโชรา อาคีโน 17และกาบรีเอลา ซีลัง 18
ลักษณะเด่นที่น่าทึ่งอีกประการหนึ่งคือการที่เธอผสมผสานผลงานวรรณคดีลงไปด้วย ผลงานชิ้นหนึ่งของเธอมีการพาดพิงถึงมหากาพย์ของกลุ่มชาติพันธุ์โญคาโนเรื่อง Biag ni Lam-ang (Kampilan, Untitled, 2013)เธอนำนวนิยายของริซัลมาดัดแปลงด้วยเช่นกัน (Kampilan, Clara, Join the Darkside of the Force, 2014) รวมทั้งบอกผู้อ่านว่าถ้าไม่เข้าใจการ์ตูนช่องของเธอ ก็ควรไปอ่านผลงานต้นฉบับ
ในขณะที่ฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์อาจมองว่าการ์ตูนช่องไม่มีความลึกซึ้งหรือสร้างความเข้าใจไขว้เขวให้แก่ผู้อ่าน แต่ผลงานการ์ตูนประเภทนี้ไม่ได้ตั้งใจที่จะให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่แม่นยำเที่ยงตรง 100% อยู่แล้ว การ์ตูนช่องเหล่านี้ไม่มีวัตถุประสงค์ให้นำไปใช้ในชั้นเรียน ถึงแม้ศิลปินคงพอใจหากสิ่งนี้เกิดขึ้น การ์ตูนช่องทำให้ผู้เขียนนึกถึงคอลัมน์ของอัมเบธ โอคัมโปที่เผยแพร่ทุกสองสัปดาห์ในหนังสือพิมพ์ Philippine Daily Inquirer ซึ่งให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์แก่ผู้อ่านในสัดส่วนกะทัดรัดที่จะนำไปขบคิดต่อ ถึงแม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์โอคัมโปว่าเขาค้นคว้ามาแค่ผิวเผิน แต่เขาก็มีฐานผู้อ่านคอลัมน์จำนวนมาก กลุ่มผู้อ่านของเขาครอบคลุมประชาชนจากทุกฐานะทุกอาชีพ และส่งผลให้ชาวฟิลิปปินส์ขบคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตนมากยิ่งขึ้น โอคัมโปทำให้ประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่แค่นักวิชาการเท่านั้น
คัมปิลานทำอย่างเดียวกันด้วยการ์ตูนช่องของเธอ การ์ตูนช่องไม่ทำให้ผู้อ่านขยาดแขยงต่อศัพท์แสงวิชาการดัดจริต อีกทั้งเธอยังผสมผสานภาษาตากาล็อก ภาษาอังกฤษและศัพท์สะแลงลงในบทสนทนา ซึ่งช่วยดึงดูดผู้อ่านให้ติดใจมากขึ้น นอกเหนือจากมุกตลก เธอยังสร้างสรรค์การ์ตูนช่องโดยทุ่มเทความคิดและการวิจัยอย่างหนัก นี่คือเหตุผลที่ผู้อ่านไม่ได้อ่านการ์ตูนช่องของเธอแค่จบแล้วจบกัน แต่อาจนำไปสู่การขบคิดและการค้นคว้าเองมากขึ้น
การ์ตูนช่องเพื่อการศึกษาก้าวมาไกลแล้ว และสิ่งที่เราได้เห็นคือลำดับตอนของความเปลี่ยนแปลงที่มุ่งไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานประเภทนี้มากขึ้น ถึงแม้เว็บไซท์ Dead Balagtas ของคัมปิลานยังเยาว์วัย แต่มันก็ทำให้ผู้เขียนตื่นเต้นตั้งตารอดูว่าผลงานสร้างสรรค์ประเภทนี้จะขยายออกไปและปรับปรุงให้ดีขึ้นในอนาคตอย่างไรบ้าง ไม่เพียงแค่ในด้านการสร้างสรรค์ผลงานเท่านั้น แต่รวมถึงในด้านการใช้ประโยชน์ด้วย
โดย Karl Ian Uy Cheng Chua ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Ateneo de Manila ประเทศฟิลิปปินส์
Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 16 (September 2014) Comics in Southeast Asia: Social and Political Interpretations
Reference
Balagtas, F. (1965). Florante at Laura. (P. C. Tiangco, Trans.) (Quezon City: Manlapaz Publishing Company).
Kampilan, E. (2013, December 29). Rizal’s Super Advanced Surgery Skillz. Dead Balagtas. Philippines.
_____(2013, November 30). Ibang tulong ang kailangan namin Kongo. Dead Balagtas . Philippines.
_____(2014, February 2). Luis Taruc x Otaku. Dead Balagtas. Philippines.
_____(2013, October 28). Showa Whitewash. Dead Balagtas. Philippines.
_____(2013, November 9). Abante Culala! Dead Balagtas. Philippines.
_____(2014, January 26). Surgery Mano Mano. Dead Balagtas. Philippines.
_____(2013, August 22). Untitled. Dead Balagtas. Philippines.
Komiklopedia. (2007, April 8). Educational Klasiks. Retrieved January 30, 2014, from Snapshot from .
Lent, J. (2004). From 1928 to 1993: The First 75 Years of Philippine Komiks.Comic Book Artist , 2 (4), pp. 74-95.
McCoy, A. W., & Roces, A. (1985). Philippine Cartoons: Political Caricature of the American Era, 1900-41. (Manila: Vera-Reyes).
Ocampo, A. (1990). Rizal: Father of Philippine Comics. In A. Ocampo, Rizal Without the Overcoat. (Pasig: Anvil Publishing).
Reyes, S. S. (1985). Romance and Realism in the Komiks. In J. Cynthia Roxas and Joaquin Arevalo, A History of Komiks of the Philippines and Other Countries (Quezon City: Islas Filipinas Publishing Co., Inc), pp. 47-52.
Rizal, J. P. (1956). El Filibusterismo. (G. R. Miranda, Trans.) (Mandaluyong National Book Store Publications).
_____(1961). Noli Me Tangere. (L. M. Dumaraos, Trans.) (Mandaluyong: National Book Store Publications).
Roxas, C., & Arevalo, J. J. (1985). A History of Komiks of the Philippines and Other (R. R. Marcelino, Ed.) (Quezon: Islas Filipinas Publishing Co., Inc.).
Samar, E. C. (2013, April 3). History and Heroism in Francisco V. Coching’s “Lapu-Lapu”. Retrieved January 31, 2014, from <http://www.goodreads.com/author_blog_posts/3969661-history-and-heroism-in-francisco-v-coching-s-lapu-lapu-1953-1954>.
Villegas, D. (2011, June 12). Jose Rizal: Komikero. Retrieved January 23, 2014, From <http://myrizal150.com/2011/06/jose-rizal-komikero/>.
Notes:
- กวีนิพนธ์รูปแบบหนึ่งของฟิลิปปินส์ มีลักษณะคล้ายเพลงยาวหรือลำนำกวี (ผู้แปล) ↩
- เพลงและกวีนิพนธ์รูปแบบหนึ่งในภาษาสเปน มีลักษณะแบบ ballad มักเล่าเรื่องราวของชาวบ้านชนชั้นล่าง การกดขี่ ประวัติศาสตร์ ปัญหาสังคม จนเดี๋ยวนี้ยังเป็นรูปแบบที่นิยมประพันธ์ในเม็กซิโกและละตินอเมริกาบางประเทศ (ผู้แปล) ↩
- ชื่อย่อของพรรคการเมือง The Kapisanan ng Paglilingkod sa Bagong Pilipinas (ภาษาอังกฤษคือ Association for Service to the New Philippines) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวในยุคการยึดครองของญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นสนับสนุนให้ก่อตั้งขึ้นและใช้แนวทางชาตินิยม (ผู้แปล) ↩
- Kempeitai กองกำลังตำรวจลับของญี่ปุ่น มีลักษณะคล้ายเกสตาโปของกองทัพนาซี (ผู้แปล) ↩
- Francisco Balagtas หรือ Francisco Baltazar (1788-1862) กวีชาวฟิลิปปินส์ผู้มีชื่อเสียง (ผู้แปล) ↩
- นวนิยายของริซัลเรื่องนี้มีแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ อันล่วงละเมิดมิได้ (จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล แปล) กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548. (ผู้แปล) ↩
- Cliffnotes หรือ CliffsNotes มาจากคำดั้งเดิมคือ Cliff’s Notes คือหนังสือชุดคู่มือสำหรับนักศึกษาที่ตีพิมพ์ออกมาในสหรัฐอเมริกา คำคำนี้มาจากชื่อของ Cliff Hillegas ชาวอเมริกันที่ทำงานในแวดวงสำนักพิมพ์ เขาได้ลิขสิทธิ์การทำหนังสือคู่มือมาจากชาวแคนาดาอีกทีหนึ่งและเริ่มต้นธุรกิจด้วยการออกหนังสือคู่มือสำหรับอ่านวรรณกรรมของวิลเลียม เช็คสเปียร์ หนังสือคู่มือสำหรับนักศึกษานี้ได้รับความนิยมมากจนคำว่า Cliff’s Notes กลายเป็นคำสามัญสำหรับเรียกหนังสือประเภทนี้ (ผู้แปล) ↩
- Battle of Mactan คือการสู้รบที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 27 เมษายน 1521 ก่อนที่ฟิลิปปินส์จะตกเป็นอาณานิคมของสเปน นักรบของผู้นำชื่อ Lapu-Lapu ซึ่งเป็นหัวหน้าชนเผ่าบนเกาะแมคตานสามารถสู้รบชนะกองกำลังสเปนภายใต้การนำของเฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน มาเจลลันถูกฆ่าตายในสมรภูมินี้ (ผู้แปล) ↩
- Steampunk เป็นประเภทย่อยของนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งมักมีองค์ประกอบเด่นที่เครื่องจักรไอน้ำ โดยมีฉากหลังที่ได้แรงบันดาลใจจากยุคที่กำลังก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมตะวันตกในศตวรรษที่ 19 ฉากและตัวละครมักมีลักษณะล้ำยุคแบบย้อนยุค (futuristic retro) ตัวอย่างผลงานในแนวนี้มีอาทิ หนังการ์ตูนของดิสนีย์เรื่อง Atlantis: The Lost Empireอนิเมะของจิบลิเรื่อง Howl’s Moving Castleเป็นต้น (ผู้แปล) ↩
- Non-sequitur หรือที่เรียกกันแพร่หลายคือ comic strip ก็คือการ์ตูนช่องที่มักลงตามหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเสียดสีการเมืองหรืออาจเป็นแค่มุกตลกล้วน ๆ ก็ได้ มักมีตัวละครชุดเดิมที่ปรากฏทุกตอน ตัวอย่างของการ์ตูนช่องประเภทนี้ของไทยมีอาทิ การ์ตูนของชัย ราชวัตร เป็นต้น (ผู้แปล) ↩
- Kenkoy คือตัวละครการ์ตูนช่องอันโด่งดังของฟิลิปปินส์ ชื่อเต็มของตัวละครนี้คือ Francisco “Kenkoy” Harabas เป็นตัวการ์ตูนที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1929 โดยเป็นผลงานของ Romualdo Ramos และ Tony Velasquez (ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งการ์ตูนช่องฟิลิปปินส์) ตัวการ์ตูนนี้โด่งดังจนคำว่า kenkoy กลายเป็นคำในภาษาตากาล็อกมีความหมายว่า ตัวตลก (ผู้แปล) ↩
- หมายถึง Louise De Wecker (1832-1906) จักษุแพทย์ชื่อดังเชื้อสายฝรั่งเศส แต่เกิดในประเทศเยอรมนี (ผู้แปล) ↩
- Andrés Bonifacio (1863-1897) นักชาตินิยมและนักปฏิวัติชาวฟิลิปปินส์ ผู้ก่อตั้งขบวนการ Katipunanที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยฟิลิปปินส์จากอาณานิคมสเปน (ผู้แปล) ↩
- Hukbalahap เป็นชื่อเรียกย่อของขบวนการในฟิลิปปินส์ที่มีชื่อเต็มคือ Hukbong Bayan Laban sa mga Hapon(กองทัพต่อต้านญี่ปุ่นแห่งชาติ) ซึ่งเป็นขบวนการจรยุทธ์ต่อต้านญี่ปุ่นของชาวนาในภาคกลางของเกาะลูซอน มีบทบาทอยู่ในช่วง ค.ศ. 1940-1965 โดยมีอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ Felipa Culala เป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการกลางของกองทัพจรยุทธ์นี้ (ผู้แปล) ↩
- Josefa Llanes Escoda(1898-1945) ↩
- Marcela Marino de Agoncillo(1860-1946) ผู้เย็บธงชาติฟิลิปปินส์ผืนแรก โดยเย็บตามการออกแบบของนายพลเอมิลิโอ อากีนัลโด ซึ่งต่อมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (ผู้แปล) ↩
- Melchora Aquino (1812-1919)นักปฏิวัติหญิง ผู้มีฉายาว่า “Tandang Sora” (แม่เฒ่าโซรา) เพราะเมื่อเกิดการปฏิวัติฟิลิปปินส์เพื่อปลดแอกจากอาณานิคมสเปนนั้น เธอมีอายุถึง 84 ปีแล้ว เธอยังมีฉายาอื่นอีกคือ “ผู้หญิงผู้ยิ่งใหญ่แห่งการปฏิวัติ” และ “แม่แห่งบาลินตาวัก” บาลินตาวัก (Balintawak) คือชื่อหมู่บ้านที่เป็นบ้านเกิดของเธอ (ปัจจุบันอยู่ในกรุงเกซอนซิตี้) อาคีโนเป็นลูกสาวชาวนา ไม่เคยเข้าโรงเรียน แต่อ่านออกเขียนได้ มีความสามารถในการร้องเพลงและเป็นนักร้องประจำโบสถ์ เธอแต่งงานกับหัวหน้าหมู่บ้านและมีลูกด้วยกันหกคน ต่อมาสามีของเธอเสียชีวิต ทิ้งให้เธอดูแลลูกตามลำพัง เธอเปิดร้านค้าในหมู่บ้านและบ้านของเธอกลายเป็นสถานที่รักษาพยาบาล หลบภัยและประชุมของนักปฏิวัติขบวนการ Katipunan จนทำให้เธอได้รับชื่อฉายาดังกล่าว ต่อมาเธอถูกรัฐบาลสเปนจับกุมและเนรเทศไปไว้ที่เกาะกวม จนกระทั่งได้กลับมาบ้านเกิดหลังจากฟิลิปปินส์ตกอยู่ใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา เธอเป็นสตรีคนแรกที่ได้ปรากฏบนธนบัตรของฟิลิปปินส์ (ผู้แปล) ↩
- Gabriela Silang (1731-1763) ภรรยาของผู้นำฝ่ายกบฏต่อต้านอาณานิคมสเปน Diego Silang หลังจากสามีถูกลอบสังหาร เธอรับหน้าที่ผู้บังคับบัญชากองกำลังกลุ่มกบฏแทนและได้รับฉายาว่า “La Generala” โดยมีภาพพจน์เป็นที่กล่าวขวัญถึงคือการแกว่งพร้าบนหลังม้า เธอต่อสู้กับรัฐบาลอาณานิคมสเปนในเมืองวีแกนหลายครั้ง จนในที่สุดถูกจับได้และถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ (ผู้แปล) ↩