Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

แนวโน้มของการ์ตูนช่องในสิงคโปร์ยุคปัจจุบัน: เมื่ออัตชีวประวัติกลายเป็นกระแสหลัก

ถ้าใช้รางวัลเป็นเครื่องบ่งชี้ ก็ดูเหมือนการ์ตูนช่อง (comics) ของสิงคโปร์กำลังประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 การ์ตูนช่องเรื่อง Ten Sticks and One Rice ที่เขียนเนื้อเรื่องโดยโอยงฮวีและวาดภาพโดยโก๊ะฮงเติงเพิ่งได้รับรางวัลเหรียญทองแดงจาก International Manga Awardรางวัล International Manga Awardเป็นการแจกรางวัลที่กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นริเริ่มขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ศิลปินมังงะที่มีคุณูปการส่งเสริมมังงะในต่างประเทศ การแจกรางวัลของ International Manga Award ครั้งที่ 7 มีผู้เข้าร่วมประกวด 256 รายจาก 53 ประเทศ การ์ตูนช่องเรื่อง Ten Sticks and One Rice เป็นการ์ตูนช่องจากสิงคโปร์เพียงเรื่องเดียวที่ได้รับรางวัล 1 นี่หมายความว่า สำนักพิมพ์ Epigram Comics ซึ่งเป็นผู้จัดพิมพ์การ์ตูนช่องเรื่องนี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง  ใน ค.ศ. 2013 การ์ตูนช่องอีกเล่มหนึ่งที่สำนักพิมพ์แห่งนี้ตีพิมพ์ออกมาในชื่อเรื่อง Monsters, Miracle and Mayonnaise ของแอนดรูว์ ตัน (นามปากกา drewscape) ก็มีเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ได้รับเสนอชื่อชิงรางวัล Eisner Award สาขาเรื่องสั้นยอดเยี่ยม ถึงแม้ไม่ชนะรางวัลก็ตาม

Ten Sticks and One Rice, เนื้อเรื่องโดย Oh Yong Hwee และวาดภาพโดย Koh Hong Teng

ความเป็นจริงของหนังสือการ์ตูนช่องที่ตีพิมพ์ในสิงคโปร์ก็คือ การได้รางวัลหรือได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลไม่ได้หมายถึงตัวเลขยอดขายที่เพียงพอต่อการอยู่รอดในฐานะศิลปินเต็มเวลา ทั้งๆที่ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์มากมาย แต่จำนวนพิมพ์ทั้งหมด 1,000 เล่มของ Ten Sticks and One Rice ก็ขายได้เพียง 650 เล่มเท่านั้น  (Nanda, 2014)  โก๊ะฮงเติงพยายามวาดการ์ตูนหาเลี้ยงชีพเต็มเวลา แต่เนื่องจากยอดขายเพียงน้อยนิด เขาจึงต้องหารายได้เสริมจากงานรับจ้างอิสระและงานสอนพิเศษในโรงเรียนศิลปะ  ส่วนโอยงฮวีเป็นเจ้าของบริษัทออกแบบเว็บไซท์ เขาจึงสามารถเขียนการ์ตูนช่องเป็นงานอดิเรกได้  ส่วนเรื่อง Monsters, Miracle and Mayonnaise นั้น ยอดพิมพ์ 1,000 เล่มขายหมดเกลี้ยงและกำลังพิมพ์ครั้งที่สอง แอนดรูว์ ตัน เป็นศิลปินรับจ้างอิสระที่มีงานชุกและเขียนการ์ตูนช่องเป็นงานเสริม

Monsters, Miracle and Mayonnaise โดย Andrew Tan

 ประวัติศาสตร์ของการ์ตูนช่องในสิงคโปร์มีลักษณะเฉพาะคือผู้สร้างงานไม่ได้เลี้ยงชีพด้วยการวาดการ์ตูนช่อง  ตัวอย่างเด่นในประเด็นนี้มีอาทิ เอริค คู เจ้าของผลงานชื่อ Unfortunate Lives: Urban Stories and Uncertain Tales ซึ่งเป็นนิยายภาพ (graphic novel) รวมเรื่องสั้นเล่มแรกในสิงคโปร์ที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อ ค.ศ. 1989 (Lim, 2013)  เอริค คูมีพื้นเพมาจากครอบครัวฐานะดีและเป็นผู้กำกับภาพยนตร์มือรางวัล  การที่ศิลปินไม่สามารถเลี้ยงชีพด้วยการวาดการ์ตูนช่องทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในวงการการ์ตูนช่องของสิงคโปร์ กล่าวคือ ผู้สร้างงานส่วนใหญ่เลือกเล่าเรื่องของตัวเองแทนที่จะสนองตอบต่อรสนิยมของคนส่วนใหญ่หรือถูกกำกับชี้นำด้วยแรงจูงใจเชิงพาณิชย์ สมมติฐานก็คือต่อให้พวกเขาทำงาน “กระแสหลัก” พวกเขาก็ไม่มีทางอยู่รอดทางเศรษฐกิจอยู่ดี เนื่องจากขนาดตลาดที่เล็กมากในสิงคโปร์  ดังที่ศิลปินคนหนึ่งอธิบายว่า “ปัญหาที่เป็นลักษณะเฉพาะยิ่งกว่านั้นก็คือ สิงคโปร์เป็นเกาะเล็กที่มีประชากรหลากหลาย  ศิลปินท้องถิ่นจึงต้องเผชิญกับสนามรบที่เอาชนะได้ยากลำบาก นั่นคือ การหาเรื่องราวและตัวละครที่ถูกใจประชากรท้องถิ่นที่แตกต่างหลากหลายให้มากเพียงพอจนขายได้”  มีข้อยกเว้นเกี่ยวกับกรณีนี้ ซึ่งผู้เขียนจะย้อนกลับมากล่าวถึงทีหลัง

ยกตัวอย่างเรื่อง Ten Sticks and One Rice มันเป็นเรื่องราวของพ่อค้าเร่ที่พยายามทำความเข้าใจกับการมีชีวิตอยู่ในสิงคโปร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง  มันเป็นเรื่องราวเชิงอัตชีวประวัติที่ได้เค้าเรื่องมาจากชีวิตจริงของผู้ค้าเร่ที่เป็นพ่อแม่ของผู้สร้างงานชิ้นนี้  เราอาจกล่าวได้ว่า งานประเภทอัตชีวประวัติเป็นแนวโน้มกระแสหลักในวงการการ์ตูนช่องของสิงคโปร์  ลักษณะนี้แตกต่างจากในสหรัฐอเมริกา ซึ่งงานประเภทอัตชีวประวัติจัดเป็นงานนอกกระแสหลัก (Hatfield, 2005) งานอัตชีวประวัติชิ้นสำคัญในแวดวงการ์ตูนช่องของสิงคโปร์ในระยะหลังมีอาทิ The Resident Tourist 2 ผลงานความยาวห้าเล่มของทรอย ชิน  นิยายการ์ตูนช่องเรื่อง The Resident Tourist เป็นเสมือนบทเพลงสรรเสริญหญิงสาวที่เขาหลงรัก เนื้อเรื่องเป็นเรื่องราวของทรอย ชินที่กลับมาสิงคโปร์หลังจากหมดไฟกับการทำงานเป็นผู้บริหารในธุรกิจดนตรีที่นิวยอร์ก  เนื้อเรื่องเล่าสลับไปมาถึงช่วงวัยเด็กและมิตรภาพในปัจจุบัน  ผู้เขียนได้ปรากฏตัวในนิยายการ์ตูนช่องเรื่องนี้เมื่อทรอย ชินเล่าถึงเหตุการณ์ในปัจจุบัน  ด้วยผลงานสร้างสรรค์และการทุ่มเทจิตใจลงในลายเส้นส่งผลให้ทรอย ชินได้รับรางวัลจากสภาศิลปะแห่งชาติ (National Arts Council–NAC) สาขา Young Artist Award ใน ค.ศ. 2011

The Resident Tourist โดย Troy Chin

การละทิ้ง “กระแสหลัก” และหันมาเน้นเรื่องส่วนตัวกลายเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ด้วยการรับทุนสนับสนุนจาก NAC และองค์การพัฒนาสื่อแห่งสิงคโปร์ (Media Development Authority of Singapore—MDA)  โก๊ะฮงเติง และทรอย ชิน รวมทั้งศิลปินคนอื่น ๆ ได้รับทุนอุดหนุนจากองค์กรเหล่านี้  การรับทุนช่วยแบ่งเบาต้นทุนการพิมพ์โดยที่ต้นทุนการพิมพ์หนังสือบางส่วนได้รับทุนสนับสนุนจาก NAC และ MDA  ในแง่นี้ การพิมพ์หนังสือจึงคุ้มทุนในตัวมันเอง  ข้อนี้อาจส่งผลลบที่ลดทอนแรงจูงใจของสำนักพิมพ์ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้หนังสือกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ต้นทุนสูง  เรื่องนี้อธิบายตัวเลขพิสดารของจำนวนพิมพ์ 1,000 เล่ม  ถึงแม้จำนวนพิมพ์ที่มากกว่านี้จะช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลงและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร แต่ต้นทุนในการเก็บสินค้าคงเหลือเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่า เนื่องจากสิงคโปร์ไม่มีจำนวนผู้อ่านขั้นต่ำมากพอ  นี่เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงที่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์เกิดมาจากขนาดประเทศที่เล็ก ซึ่งเอื้อต่อการปรับตัวอย่างรวดเร็วทั้งในแง่ของนโยบายและการปฏิบัติตามนโยบายของประชากร  แต่มันกลับไม่มีตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่พอสำหรับการผลิตดนตรี หนังสือและการ์ตูนช่องของตัวเอง

Singapore’s art deco Tanjong Pagar Railway Station, closed in 2011, is the starting point of Koh’s new comic that ties the writer’s personal with his country’s economic development.

มีผลลัพธ์ที่ตามมาสองประการจากพัฒนาการข้างต้น ประการแรก ผลงาน “เชิงศิลปะ” ถูกผลิตออกมามากกว่าเพราะศิลปินไม่ต้องคำนึงถึงยอดขายหนังสือ ด้วยจำนวนพิมพ์ต่ำเพียง 1,000 เล่ม ศิลปินย่อมไม่มีทางเลี้ยงตัวเองด้วยการวาดการ์ตูนช่องอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น หนังสือของสำนักพิมพ์ Epigram ขายที่ราคา 18.90 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเล่ม ต่อให้ขายหมดเกลี้ยงทั้ง 1,000 เล่ม ค่าลิขสิทธิ์ที่ศิลปินได้ยังน้อยกว่า 18,900 ดอลลาร์สิงคโปร์ หลังจากหักต้นทุนการผลิตและส่วนต่างที่จ่ายให้แก่ร้านขายหนังสือและสายส่ง  หนังสือการ์ตูนช่องแต่ละเล่มอาจใช้เวลาตั้งแต่ 4 เดือนจนถึงครึ่งปีในการผลิต  จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเลี้ยงชีพด้วยการสร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนช่องเพียงอย่างเดียว  เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ ศิลปินส่วนใหญ่ในสิงคโปร์จึงไม่ได้ทำเช่นนั้น นี่อธิบายทัศนคติที่พวกเขามีต่อการเล่าเรื่อง  ในนิยายการ์ตูนช่องเรื่องใหม่ของโก๊ะฮงเติง ซึ่งเขาใช้เวลาเขียนและวาดกว่าหนึ่งปี เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับรถไฟเที่ยวสุดท้ายที่เดินทางจากสถานีรถไฟตันจงปาการ์ที่ยกเลิกการใช้งานแล้วในสิงคโปร์  นี่เป็นผลงานชิ้นเอกที่เกี่ยวร้อยประวัติชีวิตส่วนตัวกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศ  ในฐานะอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ ผู้เขียนชอบเรื่องนี้มาก  แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่านิยายการ์ตูนช่องเรื่องนี้จะถูกใจคนอ่านทั่วไป หลังจากผลงานชิ้นนี้ โก๊ะฮงเติงจะทำงานร่วมกับโอยงฮวีอีกครั้งในนิยายการ์ตูนช่องเกี่ยวกับไร่เงาะ โดยได้เค้าเรื่องมาจากบทความวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะ  ทั้งสองโครงการได้รับทุนสนับสนุนจาก NAC ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนศิลปะท้องถิ่น  ทว่ายุทธศาสตร์การให้ทุนสนับสนุนเช่นนี้อาจไม่ได้ช่วยให้ศิลปินมีแฟนหนังสือหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

ความเป็นไปข้างต้นนำเรามาสู่ผลพวงประการที่สอง กล่าวคือ นักเขียนและศิลปินส่วนใหญ่สร้างผลงานการ์ตูนช่องเป็นงานอดิเรก  พวกเขามีงานประจำอย่างอื่นและสร้างผลงานการ์ตูนช่องเมื่อมีเวลาว่าง  ในขณะที่ลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องราวชีวิตส่วนตัวมากขึ้นและสร้างปรากฏการณ์น่าสนใจที่งานประเภทอัตชีวประวัติกลายเป็นกระแสหลัก แต่มันไม่ช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมการ์ตูนช่องพัฒนาในแง่ของความเป็นมืออาชีพ  มันอาจกลายเป็นสถานการณ์ย้อนแย้งแบบนิยายเรื่อง Catch-22 3 กล่าวคือความลึกซึ้งและประเภทของเรื่องราวที่นำมาเล่าถูกจำกัดด้วยเวลาที่ผู้สร้างงานมีให้แก่การสร้างสรรค์งานการ์ตูนช่อง   ศิลปินที่เป็นข้อยกเว้นคือคนที่ทำงานการ์ตูนช่องเต็มเวลาโดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องการเงิน เช่น โก๊ะฮงเติงและทรอย ชิน 

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ผู้สร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนช่อง 10 คนในสิงคโปร์  จากการสัมภาษณ์แสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่มีความคิดเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าผู้อ่านชาวสิงคโปร์ต้องการอะไรจากการอ่านการ์ตูนช่อง  คำตอบที่ผู้เขียนได้รับมีตั้งแต่คำตอบพื้น ๆ ว่า “เนื้อเรื่องที่ดีควบคู่กับงานศิลปะชั้นเลิศ” ไปจนถึงอารมณ์ขันและประเด็นปัญหาท้องถิ่น  บางคนเน้นความสนใจที่รูปแบบ กล่าวว่าผู้อ่านชาวสิงคโปร์สนใจลีลาแบบมังงะและเนื้อหาที่นำเสนอด้วยสื่อผสมหลายรูปแบบมากกว่า  ปัญหาที่ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งชี้ให้เห็นก็คือ การขาดงานวิจัยตลาดที่ค้นหาว่าผู้อ่านต้องการอะไรจริงๆ  หากจะขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ “การ์ตูนช่องส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือแสดงออกส่วนบุคคลของศิลปินหรือนักเขียน ไม่ได้มุ่งเป้าที่ผู้บริโภค ไม่มีแผนการตลาด ไม่มีความร่วมมือในวงการ ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีโครงสร้างชัดเจน ไม่มีผู้นำ”  ไม่มีการพบกันครึ่งทางกับผู้อ่านในความหมายที่ว่าผู้อ่านอยากอ่านอะไรในการ์ตูนช่องของสิงคโปร์  (ศิลปินคนหนึ่งกล่าวว่า “ฉันไม่รู้ว่าผู้อ่านต้องการอะไร ฉันแค่รู้ว่าฉันต้องการอะไร”)  ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดอคติแง่ลบในหมู่ผู้อ่านการ์ตูนช่องที่คิดว่าการ์ตูนช่องของสิงคโปร์ไม่ค่อยดีหรือไม่ค่อยน่าสนใจสักเท่าไร  พอถามว่าเคยอ่านการ์ตูนช่องของสิงคโปร์บ้างไหม คำตอบส่วนใหญ่คือไม่เคย

มีผู้สร้างงานไม่กี่คนที่จับตาดูตลาดอย่างจริงจัง แต่พวกเขาหันไปเน้นตลาดต่างประเทศแทน  การ์ตูนช่องเรื่อง The Celestial Zone ของหวีเทียนเปิง ซึ่งดำเนินเรื่องติดต่อกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1999 เป็นซีรีส์การ์ตูนช่องของสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเรื่องหนึ่ง  ซีรีส์ชุดนี้จัดจำหน่ายระหว่างประเทศโดยสำนักพิมพ์ Diamond และได้รับความนิยมถึงขนาดถูกนำไป “สแกนและแปล” (scanlation) ในเว็บไซท์มังงะออนไลน์ 4  เนื่องจากสามารถก้าวพ้นตลาดสิงคโปร์ หวีเทียนเปิงและ TCZ Studio ของเขาจึงสามารถเอาชนะอุปสรรคของจำนวนพิมพ์น้อยนิดที่ผู้เขียนกล่าวถึงข้างต้น  The Celestial Zone ที่ออกมาแต่ละตอนสามารถขายได้หลายพันเล่มและมีแฟนคลับติดตามอ่านในประเทศอื่นๆ ทั้งในเอเชีย ยุโรปและอเมริกา  หวีเทียนเปิงเริ่มขายเรื่อง The Celestial Zone ในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-books) ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีนเพื่อเพิ่มรายได้จากต่างประเทศ  อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการแก้ไขปัญหาด้านจัดจำหน่าย/จำนวนพิมพ์อย่างหนึ่งเท่านั้น  หากเนื้อเรื่องและลายเส้นไม่ดึงดูดใจ ผู้อ่านก็ไม่หยิบจับซื้อหา  ดังที่หวีเทียนเปิงชี้ให้เห็นว่า “ผู้สร้างงานในสิงคโปร์มีความรู้เกี่ยวกับการ์ตูนช่องเชิงพาณิชย์น้อยมาก”

The Celestial Zone Vol. 1 โดย Wee Tian Beng

อาจเพราะเหตุผลนี้กระมังที่ทำให้ซอนนี่ ลิว ศิลปินการ์ตูนช่องที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของสิงคโปร์ ไม่วาดการ์ตูนช่องเพื่อขายในตลาดสิงคโปร์  ซอนนี่ ลิวสามารถฝ่าฟันเข้าสู่ตลาดการ์ตูนช่องในสหรัฐอเมริกาได้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันวาดงานให้ค่าย DC/Vertigo, Marvel, Image และ First Second  เนื่องจากเขามีฐานการผลิตงานอยู่ในสิงคโปร์ เขาจึงสามารถหารายได้เลี้ยงชีพอย่างสบายจากผลงานที่วาดให้ค่ายการ์ตูนอเมริกัน  แต่สำหรับผลงานส่วนตัวของเขาที่ขายในสิงคโปร์ มันกลับมีลักษณะนอกขนบ ทดลองและเล่นกับหัวข้อหนัก ๆ เช่น ประวัติศาสตร์และการเมือง การ์ตูนช่องเรื่อง The Art of Charlie Chan Hock Chye ที่จะตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ Epigram Books ก็ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กร MDA ในสิงคโปร์เช่นกัน  หนังสือเล่มนี้เป็นที่ตั้งตารอคอยในหมู่นักอ่านการ์ตูนช่องกลุ่มที่ชอบเนื้อหาหนักๆในสิงคโปร์ เพราะมันเลื่อนการตีพิมพ์มามากกว่าหนึ่งปีแล้วเนื่องจากซอนนี่ ลิวมัวติดภาระงานอื่น  แต่กลุ่มผู้อ่านทั่วไปในวงกว้างจะยอมรับการ์ตูนช่องเรื่องนี้หรือไม่ยังเป็นสิ่งที่ต้องรอดูต่อไป  การคุกคามรังควานเลสลี่ ชู นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองทางอินเทอร์เน็ตเมื่อปีที่แล้วเป็นข้อเตือนใจอีกประการหนึ่งว่า การเสียดสีทางการเมืองยังเป็นเรื่องต้องห้าม (Wong, 2013)  สิงคโปร์เคยมีการ์ตูนล้อการเมืองที่มีชีวิตชีวาในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960  แต่การ์ตูนประเภทนี้หายสาบสูญไปหมดเมื่อรัฐบีบให้สื่อวางบทบาทเป็นผู้สร้างฉันทามติแทนที่จะมีบทบาทเป็นฐานันดรที่ห้า (Lim, 1997)

 นี่อธิบายว่าทำไมเรื่องราวชีวิตส่วนตัวจึงถูกหยิบจับมาเล่าถึงมากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะหนทางแสดงออกทางการเมืองถูกปิดกั้นนั่นเอง  ศิลปินจึงแสวงหาทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า  เนื่องจากประเทศสิงคโปร์ให้ความสำคัญด้านการศึกษามาก การ์ตูนช่องด้านการศึกษาจึงเป็นผลงานกระแสหลักอีกประเภทหนึ่งในสิงคโปร์  การ์ตูนช่องชุด Sir Fong’s Adventures in Science ของอ๊อตโต ฟง ตีพิมพ์ออกมาสี่เล่มแล้ว ได้รับการพิมพ์ซ้ำและขายไปรวมทั้งหมดกว่า 10,000 เล่ม  พ่อแม่ชาวสิงคโปร์เต็มใจจ่ายเงินก้อนโตเพื่อการเรียนพิเศษและซื้อหนังสือแบบฝึกหัดต่างๆ เพื่อให้ลูกเรียนได้คะแนนดีๆที่โรงเรียน  เงินก้อนนี้จำนวนหนึ่งไหลมาถึงการ์ตูนช่องด้านการศึกษาด้วย  อ๊อตโต ฟงเองก็ตระเวนจัดพูดคุยตามโรงเรียนเพื่อประชาสัมพันธ์หนังสือเล่มนี้ ซึ่งเขียนขึ้นจากพื้นฐานหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์ที่สอนในสิงคโปร์

 หวีเทียนเปิง ซอนนี่ ลิวและอ๊อตโต ฟง เป็นตัวอย่างของศิลปินการ์ตูนช่องจำนวนน้อยคนที่สามารถเลี้ยงชีพได้ตามสมควรจากการสร้างงานการ์ตูนช่องในสิงคโปร์ ศิลปินคนอื่นๆจำนวนมากที่ตีพิมพ์ผลงานกับสมาคมศิลปินการ์ตูนช่องแห่งสิงคโปร์ (Association of Comic Artists(Singapore)–ACAS) ล้วนสร้างผลงานเป็นงานอดิเรกในยามว่าง  หนังสือของ ACAS ได้รับทุนสนับสนุนจาก NAC เช่นกัน

 ดูเหมือนการ์ตูนช่องก็ตกอยู่ในสภาวะเดียวกับศิลปะแขนงอื่นๆในสิงคโปร์ กล่าวคือการได้รับรางวัลหรือได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเป็นเครื่องหมายรับรองที่สำคัญกว่าจำนวนผู้อ่านหรือยอดขาย การเป็นศิลปินที่ได้รับรางวัลในสิงคโปร์มีข้อได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด  ศิลปินที่ได้รับรางวัลจะได้รับทุนสนับสนุนสำหรับการเดินทาง การประชุมและแม้กระทั่งการศึกษาต่อมากกว่า  หนังสือเล่มต่อไปก็อาจได้รับทุนสนับสนุนจนคุ้มทุนในตัวมันเอง ซึ่งหมายความว่าสำนักพิมพ์ก็มีความสุขและคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะก็บรรลุภารกิจในการสนับสนุนศิลปะด้วยการให้ทุนช่วยเหลือทางการเงิน  แต่สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่ลางที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมในระยะยาวหรือสำหรับตัวการ์ตูนช่องเองในแง่ของการเล่าเรื่องที่จะทำตลาดได้ดีในเชิงพาณิชย์และเชื่อมโยงกับผู้อ่านวงกว้าง  หนังสือที่ผู้เขียนร่วมเป็นบรรณาธิการ นั่นคือ Liquid City Volume 2 (สำนักพิมพ์ Image Comics, 2010) ซึ่งเป็นหนังสือประชุมผลงานการ์ตูนช่องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัล Eisner Awards ประจำ ค.ศ. 2011 ในสาขาหนังสือประชุมบทนิพนธ์ยอดเยี่ยม  ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่ามันไม่ชนะรางวัลและผู้เขียนยังคงเลี้ยงชีพด้วยการทำงานประจำเช่นเดิม

โดย Lim Cheng Tju นักศึกษาศาสตร์ สิงคโปร์

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 16 (September 2014) Comics in Southeast Asia: Social and Political Interpretations

Liquid City 2, บรรณาธิการโดย Sonny Liew และ Cheng Tju Lim

References

 Chin, Troy. The Resident Tourist. 5 vols. (Singapore: Self-published, 2008-2011).
Fong, Otto. Sir Fong’s Adventures in Science. 4 vols. (Singapore: Ottonium Comics, 2008-2012).
Hatfield, Charles. Alternative Comics: An Emerging Literature. (Jackson: University Press of Mississippi, 2005).
Liew, Sonny, and Cheng Tju Lim, eds. Liquid City Volume 2. Vol. 2. (Berkeley, CA: Image Comics, 2010).
Lim, Cheng Tju. “Singapore Political Cartooning.” Southeast Asian Journal of Social Science 25.1 (1997): 125-5
_____”The Early Comics of Eric Khoo.” S/Pores: New Directions In Singapore Studies.11 (2012).
Nanda, Akshita. “Local Comic Book Wins Manga Award.” The Straits Times (2014).
Oh, Yong Hwee, and Hong Teng Koh. Ten Sticks and One Rice. (Singapore: Epigram Books, 2012).
Tan, Andrew (drewscape). Monsters, Miracles and Mayonnaise. (Singapore: Epigram Books, 2012).
Wee, Tian Beng. The Celestial Zone. (Singapore: TCZ Studio, 1999).
Wong, Chun Han. “Singapore Cartoonist Apologizes for Court Lampoon.” The Wall Street Journal (2013).

Notes:

  1. เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนช่องของโก๊ะฮงเติงและโอยงฮวี โปรดดู
  2. <http://www.drearyweary.com/TheResidentTourist/index.html>. (นิยายการ์ตูนช่องเรื่องนี้มีแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ทรอย ชิน, ศิลปินป่วนกรุง (สำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม: 2010) –ผู้แปล)
  3. นวนิยายเรื่อง Catch -22 เป็นผลงานของ Joseph Heller เนื้อเรื่องเกี่ยวกับตัวเอกที่เป็นนักบินทิ้งระเบิดของกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามโลกครั้งที่สอง  เขาพยายามหลีกเลี่ยงการออกไปปฏิบัติการที่เขาเชื่อว่าจะทำให้ตัวเองตายฟรีในสงครามที่ไร้สาระ เขาจึงแกล้งเป็นบ้า แต่การแกล้งเป็นบ้าเพื่อหลีกเลี่ยงภารกิจกลับยิ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้เป็นบ้า  ภาวะขัดแย้งที่ไม่มีทางออกเช่นนี้กลายเป็นสำนวนที่เรียกกันว่าสถานการณ์ย้อนแย้งแบบ Catch-22 (ผู้แปล)
  4. เว็บไซท์เหล่านี้นำการ์ตูนช่องไปเผยแพร่ฟรีโดยละเมิดลิขสิทธิ์ก็จริง แต่การ “สแกนและแปล” ต้องอาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญพอสมควร ทั้งด้านภาษาและด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิก  ส่วนใหญ่ทำด้วยความรักชอบของแฟนคลับการ์ตูนช่องเรื่องนั้นๆ   การถูกนำไป “สแกนและแปล” สามารถเป็นเครื่องชี้วัดความนิยมได้ระดับหนึ่งทีเดียว (ผู้แปล)
Exit mobile version