Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

การจัดการด้านความมั่นคงในทะเลจีนใต้: จาก DOC ถึง COC

ถึงแม้ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea -DOC) ได้รับการยกย่องว่าเป็นหมุดหมายสำคัญระหว่างชาติอาเซียนกับประเทศจีนที่ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 2002 แต่ทว่าปฏิญญาฉบับนี้ก็ยังไม่บรรลุภารกิจในการสร้างความไว้วางใจมากขึ้นระหว่างรัฐที่อ้างสิทธิ์เหนือดินแดน และป้องกันมิให้ข้อพิพาทบานปลายไปกว่านี้ ปฏิญญาฉบับนี้ทำได้เพียงบทบาทของการเรียกร้องให้คู่กรณีมีความยับยั้งชั่งใจต่อกัน  อย่างไรก็ตาม เราอาจโต้แย้งได้ว่า อย่างน้อยที่สุด ปฏิญญาฉบับนี้ก็ยังมีประโยชน์ในแง่ของการเป็นบรรทัดฐานอ้างอิงเมื่อเกิดปัญหาและความตึงเครียด รวมทั้งเป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจาโดยถือเป็นระเบียบปฏิบัติ (Code of Conduct – COC) อย่างเป็นทางการ

ในเมื่อขณะนี้กลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศจีนได้เริ่มต้นกระบวนการ COC แล้ว เรื่องสำคัญสำหรับทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็คือการแก้ไขช่องโหว่ของ DOC เมื่อมีการหารือและเจรจาเกี่ยวกับ COC

กระบวนการ DOC บอกอะไรบ้าง

ชาติสมาชิกอาเซียนและจีนลงนามในปฏิญญา DOC เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2002 ในประเทศกัมพูชาหลังจากเจรจายืดเยื้อกันมาหลายปี ในทัศนะของนักวิเคราะห์หลายคน โดยเนื้อแท้แล้ว DOC เป็นการประนีประนอมระหว่างจุดยืนสองประการ นั่นคือการไม่ทำอะไรเลยกับการมีข้อตกลงที่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย เนื้อหาของ DOC สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงวัตถุประสงค์สามประการคือ ส่งเสริมมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่น สร้างความร่วมมือของปฏิบัติการในภาคพื้นทะเล และกำหนดขั้นตอนสำหรับการหารือและการทำ COC อย่างเป็นทางการและมีผลผูกมัด

ผู้สันทัดกรณีบางคนเชื่อว่า DOC ไม่ได้ล้มเหลวทั้งหมด ในฐานะการแสดงออกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรถึงความปรารถนาที่จะมีความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีต่อกันของทุกฝ่าย ปฏิญญา DOC ก็นับว่าช่วยรักษาความมั่นคงโดยรวมในทะเลจีนใต้เอาไว้ มันยังทำหน้าที่เป็นแนวทางหลักที่คอยกำกับคู่พิพาททุกฝ่ายในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น บ้างเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด DOC ก็ช่วยควบคุมให้รัฐต่างๆ ที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้มีความยับยั้งชั่งใจ ผู้สันทัดกรณีบางคนยืนยันด้วยว่า DOC มีคุณูปการอย่างแท้จริงในการส่งเสริมความร่วมมือหลายกรณีในทะเลจีนใต้ เช่น โครงการศึกษาแผ่นดินไหวไตรภาคีร่วมกันระหว่างประเทศจีน เวียดนามกับฟิลิปปินส์ระหว่าง ค.ศ. 2005-2008 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เกือบทั้งหมดรู้สึกผิดหวังที่ DOC ขาดประสิทธิภาพในการบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งสามประการข้างต้น จนกระทั่งบัดนี้ ไม่มีรัฐที่อ้างสิทธิ์เหนือดินแดนรัฐใดเลยที่ปฏิบัติตาม DOC อย่างเคร่งครัด ถึงแม้การละเมิดบทบัญญัติใน DOC จะเกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ หลังจากทำ DOC แล้ว มีโครงการความร่วมมือทวิภาคีหรือพหุภาคีเกิดขึ้นน้อยมากในทะเลจีนใต้ อีกทั้งก่อน ค.ศ. 2011 การหารือเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติก็ชักช้าและไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

มีเหตุผลสองสามประการที่อธิบายความล้มเหลวดังกล่าวได้ นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า DOC เองนั้นมีข้อบกพร่องแฝงอยู่ในตัวมันเอง เพราะมันไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการยับยั้งพฤติกรรมของฝ่ายที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้  DOC ขาดกลไกการสอดส่องดูแล ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงการบังคับให้ปฏิบัติตาม นักวิเคราะห์บางคนให้เหตุผลว่า จีนไม่ค่อยให้ความสนใจในกระบวนการ DOC มากนักและไม่มีความตั้งใจที่จะนำ DOC ไปปฏิบัติ ด้วยเกรงว่าจะส่งผลเสียต่อการอ้างอำนาจอธิปไตยในทะเลจีนใต้ ประเด็นที่เจาะจงลงไปยิ่งกว่านั้นก็คือ เชื่อกันว่า จีนไม่กระตือรือร้นในการผลักดันความร่วมมือในทะเลจีนใต้ เพราะจีนไม่พอใจที่มีการปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการในสี่ประเทศอาเซียนที่อ้างสิทธิ์ก่อนการประชุมอาเซียนกับจีน ว่าด้วยความร่วมมือตามปฏิญญา DOC  ยิ่งกว่านั้น เราสามารถให้เหตุผลได้ว่า สภาพการณ์ที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ก่อน ค.ศ. 2008 ทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่อ้างสิทธิ์มีแรงจูงใจค่อนข้างน้อยในการดำเนินการอย่างจริงจังที่จะนำ DOC มาใช้ปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติเพียงฝ่ายเดียวหรือเป็นกลุ่มก้อนก็ตาม

เนื้อหาใน DOC ให้ข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการนำมาตรการสร้างความเชื่อมั่นไปปฏิบัติในรายละเอียด รวมทั้งความร่วมมือรูปแบบอื่น ๆ ในทะเลจีนใต้ด้วย ความเข้าใจในเวลานั้นก็คือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพึงสานต่อด้วยการหารือต่อไปเกี่ยวกับขอบเขต กรอบการเจรจาในรายละเอียดและมาตรการเชิงนโยบายในการผลักดันความร่วมมือ

ในช่วงสองสามปีแรกหลักจากมีการลงนามในปฏิญญา DOC ชาติสมาชิกอาเซียนกับจีนพยายามผลักดันความร่วมมือทางทะเลให้เกิดขึ้น ใน ค.ศ. 2003 ประเทศทั้งหมดตัดสินใจจัดให้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีน (ASEAN-China Senior Officials’ Meeting –SOM) เป็นประจำเพื่อกำกับดูแลการนำ DOC ไปใช้ปฏิบัติและก่อตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อจัดการกับกรณีเฉพาะต่างๆ  ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีการจัดประชุม SOM ว่าด้วยปฏิญญา DOC เป็นครั้งแรก และประเทศที่เข้าร่วมประชุมตัดสินใจก่อตั้งกลไกคณะทำงานร่วมเพื่อหารือถึงการนำ DOC มาใช้ปฏิบัติ นอกจากนี้ยังนำเสนอเอกสารที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้าง บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะทำงานร่วมด้วย  คณะทำงานร่วมมีภาระหน้าที่ในด้านการศึกษาและวางมาตรการเชิงนโยบายที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการนำ DOC ไปใช้ปฏิบัติ รวมทั้งระบุชี้พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปมข้อพิพาทหรือการบานปลาย คาดหวังว่าจะมีการเสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้การสนับสนุนด้านเทคนิคหรือข้อแนะนำเชิงนโยบาย  ควรมีการจัดประชุมอย่างน้อยปีละครั้งและเสนอรายงานต่อ SOM หลังการประชุมแต่ละครั้ง หัวข้อความร่วมมือประกอบด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ภาคพื้นสมุทร การเดินเรือที่ปลอดภัย การค้นหา การกู้ชีพและปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ

 การประชุมคณะทำงานร่วมครั้งแรกจัดขึ้นในกรุงมะนิลาระหว่างวันที่ 4-5 สิงหาคม ค.ศ. 2005 อาเซียนนำเสนอร่างเอกสารแนวทางเจ็ดข้อในการนำ DOC มาใช้ปฏิบัติ ข้อที่สองมีความว่า “อาเซียนจะยังคงปฏิบัติตามแนวทางปัจจุบันในการหารือกันเองก่อนจัดประชุมกับจีน” ประเทศจีนคัดค้านข้อนี้ โดยอ้างว่าทะเลจีนใต้ไม่ใช่ปัญหาของชาติสมาชิกอาเซียนทุกชาติ แต่เกี่ยวข้องกับประเทศสมาชิกอาเซียนแค่สองสามชาติเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น จีนจึงยืนยันว่าตนต้องการหารือกับ “ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” ในอาเซียนมากกว่า ไม่ใช่หารือกับประเทศอาเซียนทั้งกลุ่ม ความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับประเด็นพิธีการนี้เองที่สร้างความอึมครึมให้แก่บรรยากาศการประชุมต่อ ๆ มาทุกครั้ง ในการประชุมคณะทำงานร่วมครั้งที่สองที่เมืองซานย่าใน ค.ศ. 2006 มีความคืบหน้าเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ทุกฝ่ายตกลงที่จะมุ่งเน้นหัวข้อความร่วมมือหกด้านด้วยกัน

ในที่สุด อาเซียนกับจีนก็ตัดสินใจจัดทำแนวทางการนำ DOC มาใช้ปฏิบัติได้สำเร็จในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจีน-อาเซียนเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 ทั้งสองฝ่ายยอมผ่อนปรนในประเด็นเอกภาพของอาเซียน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2011 นายเหวินเจียเป่า อดีตนายกรัฐมนตรีของจีน กล่าวว่าจีนจะยังคงเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มิตรที่ดีและหุ้นส่วนที่ดีของอาเซียน เขายืนยันว่าจีนเต็มใจทำงานกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อก้าวไปสู่การนำ DOC มาใช้ปฏิบัติอย่างครอบคลุม เขาเสริมว่าจีนเต็มใจที่จะหารือเกี่ยวกับการร่าง COC ด้วย นายเหวินเจียเป่ายังรับปากว่าจะจัดสรรเงินกู้จำนวน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (รวมวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 4 พันล้านดอลลาร์) เพื่อโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มประเทศอาเซียน

นับตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2011 จนถึงกลางปี ค.ศ. 2012 เจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนร่วมกันร่างเอกสารที่วางเค้าโครงองค์ประกอบสำคัญของ COC ในอนาคต  เนื่องจากกลุ่มประเทศอาเซียนจัดทำร่างนี้โดยที่ประเทศจีนไม่มีส่วนร่วมโดยตรง จีนจึงไม่ค่อยพึงพอใจนัก แต่ก็มิได้ประท้วงอย่างเปิดเผยต่อการดำเนินการที่แสดงออกถึงความสามัคคีในกลุ่มอาเซียน ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในกรุงพนมเปญเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2012 เมื่ออาเซียนนำเสนอเอกสารที่บรรจุองค์ประกอบสำคัญของ COC ต่อประเทศจีน จีนก็ยังแสดงความเต็มใจที่จะร่วมมือกับอาเซียนต่อไปเพื่อเริ่มต้นกระบวนการ COC

ในขณะที่ปักกิ่งไม่คัดค้านการเริ่มต้นกระบวนการเจรจา COC  นายหยางเจี๋ยฉือ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เน้นย้ำว่าการประชุมหารือเกี่ยวกับ COC ควรวางพื้นฐานอยู่บนการอนุโลมตาม DOC อย่างเต็มที่ของทุกฝ่าย เขาเสริมว่า “จีนหวังว่าทุกฝ่ายจะดำเนินการมากกว่านี้เพื่อขยายความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ส่งเสริมความร่วมมือและสร้างเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อการวางกรอบ COC” 1

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2013 นายหวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของจีน ได้เสนอทัศนะสี่ประการเกี่ยวกับกระบวนการ COC  ประการแรก มันต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะจัดทำ COC เสร็จสิ้น ทั้งนี้เพราะความซับซ้อนของปัญหา ประการที่สอง กระบวนการควรคำนึงถึงฉันทามติให้มากที่สุดและเคารพความสบายใจของแต่ละฝ่ายที่อ้างสิทธิ์เหนือดินแดน ประการที่สาม ควรหลีกเลี่ยงการแทรกแซงอื่น ๆ  ประการที่สี่ การเจรจาควรดำเนินไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยพื้นฐานแล้ว กระบวนการ COC ควรดำเนินไปควบคู่กับการนำ DOC มาใช้ปฏิบัติ 

ในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 2013 มีการจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสจีน-อาเซียนว่าด้วย COC ครั้งแรกขึ้นในเมืองซูโจว ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะเริ่มกระบวนการ COC บนหลักการของการคำนึงถึงฉันทามติและใช้วิธีการแบบค่อยเป็นค่อยไป แน่นอน กระบวนการ COC ย่อมดำเนินไปอย่างชักช้าหรือยากลำบาก ซึ่งตรงกันข้ามกับความคาดหวังของหลายรัฐในภูมิภาคนี้และมหาอำนาจนอกภูมิภาคอย่างสหรัฐอเมริกา

Boat anchored in the South China sea in Malaysia

COC สามารถเรียนรู้อะไรจาก DOC บ้าง

ข้อบกพร่องของกระบวนการ DOC มีมากมาย ประการแรก โชคร้ายที่นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 จนถึง ค.ศ. 2002  ฝ่ายต่าง ๆ ที่เจรจาต่อรองกัน ต่างก็ตกอยู่ภายใต้แรงชักจูงที่จะประนีประนอมเพื่อให้การจัดทำเอกสารที่ไม่มีผลผูกมัดตามกฎหมายเสร็จสิ้นออกมา ผลที่ตามมาก็คือการอนุโลมตามของทุกฝ่ายจะคงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีต่อกันเท่านั้น ทว่าความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีต่อกันอาจถดถอยได้ง่ายภายใต้สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกประเทศที่แตกต่างกันไป การขาดอำนาจผูกมัดทางกฎหมายนั้น ยังหมายถึงการขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานภายในประเทศของฝ่ายต่าง ๆ ที่อ้างสิทธิ์เหนือดินแดน ปัจจัยนี้เป็นต้นตอของข้อพิพาทและความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเช่นกัน

DOC ไม่ได้กำหนดโทษปรับหรือค่าชดใช้การไม่ปฏิบัติตาม ไม่มีแม้กระทั่งกลไกที่จะติเตียนหรือประณามฝ่ายที่ไม่ปฏิบัติตาม แทนที่จะปฏิบัติตาม DOC กลับดูเหมือนรัฐที่อ้างสิทธิ์พยายามแข่งขันกันในการละเมิดเจตนารมณ์ของ DOC

เนื่องจาก DOC ไม่ระบุบริเวณทางภูมิศาสตร์ของบทบัญญัติต่าง ๆ  จึงไม่มีความชัดเจนว่าครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ใดบ้าง ด้วยเหตุนั้น รัฐที่อ้างสิทธิ์จึงโต้แย้งเสมอว่า ปฏิบัติการของตนในทะเลจีนใต้เกิดขึ้นในอาณาเขตทางทะเลของตนเองที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อพิพาท นอกเหนือจากความคลุมเครือของบริเวณทางภูมิศาสตร์แล้ว การขาดการนิยามชี้ชัดว่าปฏิบัติการใดเป็นการไม่ปฏิบัติตาม DOC ก็ยิ่งทำให้การนำ DOC มาปฏิบัติใช้มีความซับซ้อนสับสนยิ่งขึ้น ฝ่ายที่อ้างสิทธิ์ต่างก็ช่วงชิงกันที่จะปฏิบัติการเพียงฝ่ายเดียวในทะเลจีนใต้ ด้วยเกรงว่าปฏิบัติการของอีกฝ่ายหนึ่งอาจทำลายการอ้างสิทธิ์และผลประโยชน์ของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการไม่ปฏิบัติตาม DOC ไม่ส่งผลให้มีโทษปรับหรือค่าชดใช้

 กระบวนการผลักดันโครงการความร่วมมือบางโครงการที่ถือว่ามีความสำคัญใน DOC กลับดำเนินไปอย่างล่าช้ามาก การวิเคราะห์ข้างต้นชี้ให้เห็นชัดว่า การยืนยัน “เอกภาพของอาเซียน” ของประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศโดยเป็นปฏิปักษ์ต่อจีนนั้น เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ขัดขวางการริเริ่มโครงการเหล่านี้  นอกจากนั้น ข้อพิพาทเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกิดขึ้นไม่หยุดหย่อนในหมู่ประเทศที่อ้างสิทธิ์ทั้งหลาย ก็เป็นปัจจัยที่ขัดขวางความร่วมมือในหัวข้อที่กำหนดไว้ด้วย

นับตั้งแต่ ค.ศ. 2002-2009 ดูเหมือนประเทศมหาอำนาจภายนอกภูมิภาคไม่เข้ามามีบทบาทพัวพันในปัญหาทะเลจีนใต้ กลุ่มประเทศที่มีอิทธิพลภายนอกภูมิภาควางตัวห่างเหินในระดับหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมในทะเลจีนใต้ค่อนข้างสงบมาหลายปี ทว่านับตั้งแต่ ค.ศ. 2009 เป็นต้นมา ประเทศมหาอำนาจนอกภูมิภาคดูเหมือนพยายามก้าวเข้ามาจัดการข้อพิพาทด้านความมั่นคงในทะเลจีนใต้มากขึ้น ทั้งยังดูเหมือนว่าการเข้ามาพัวพันของมหาอำนาจเหล่านี้สร้างแรงกดดันให้คู่พิพาทฝ่ายต่าง ๆ เร่งการนำ DOC มาใช้ปฏิบัติให้มากขึ้น

เมื่อพิจารณากระบวนการ DOC ก็พอมีเหตุผลที่จะสรุปว่า กระบวนการ COC ก็คงลุล่วงไม่ง่ายเช่นกัน เป็นไปได้อย่างยิ่งที่การเจรจาเกี่ยวกับการร่าง COC คงเป็นไปอย่างยากลำบาก และมีหลายเหตุผลให้เชื่อว่า แม้กระทั่ง COC ก็อาจไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงการคลี่คลายข้อพิพาท

แต่โชคดีที่ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศที่อ้างสิทธิ์ฝ่ายต่าง ๆ ได้พัฒนาหรือเห็นพ้องต้องกันอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับหลักการและบรรทัดฐานบางอย่างในการจัดการข้อพิพาทในทะเลจีนใต้  หลักการเหล่านี้มีการแจกแจงไว้อย่างดีแล้วใน DOC และเอกสารการเจรจาอาเซียน-จีนฉบับอื่น ๆ  ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นพ้องต่อหลักการของการระงับข้อพิพาทอย่างสันติ ทุกประเทศตกลงกันที่จะยึดตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) และกฎหมายระหว่างประเทศฉบับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดการและคลี่คลายข้อพิพาท ทุกประเทศเห็นพ้องที่จะใช้วิธีการทวิภาคีเมื่อพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับสองประเทศ ใช้วิธีการพหุภาคีหากข้อพิพาทนั้นพัวพันมากกว่าสองประเทศขึ้นไป แม้จะมีการปะทะและวิวาทกันเนือง ๆ แต่ดูเหมือนว่ารัฐที่อ้างสิทธิ์เหนือดินแดนก็ยังเต็มใจที่จะจับมือกันจัดการข้อพิพาทที่เกิดขึ้น

ข้อสรุป

เรายังต้องติดตามต่อไปว่า กระบวนการ COC จะคืบหน้าไปได้เร็วแค่ไหน และข้อตกลงฉบับใหม่จะช่วยควบคุมปฏิบัติการของฝ่ายที่อ้างสิทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน เพื่อผลดีของสันติภาพและเสถียรภาพระยะยาวในทะเลจีนใต้ เป็นเรื่องสำคัญที่ COC พึงมีประสิทธิภาพในการสร้างหลักประกันว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะรู้จักยับยั้งชั่งใจ ส่งเสริมมาตรการสร้างความเชื่อมั่นและผลักดันกิจกรรมความร่วมมือในพื้นที่ที่ไม่อ่อนไหว ส่วนข้อบกพร่องของ DOC อีกหลายปัจจัยที่หน่วงเหนี่ยวการนำ DOC มาใช้ปฏิบัติจำเป็นต้องมีการแก้ไขให้ลุล่วง เพื่อให้ COC มีผลบังคับอย่างแท้จริง

โดย ดร หลี่ หมิงเจียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง สิงคโปร์
Dr. Mingjiang Li ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ S. Rajaratnam School of International Studies (RSIS) มหาวิทยาลัย Nanyang Technological University

Translated by ภัควดี วีระภาสพงษ์ (Pakavadi Veerapaspong)

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 15 (March 2014). The South China Sea

Notes:

  1. http://www.china.org.cn/world/2012-07/13/content_25897836.htm.
Exit mobile version