Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย: ว่าด้วยการเมืองของความรู้และระบบการจัดการ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงด้านสังคม-สิ่งแวดล้อมระดับโลกที่ร้ายแรงที่สุดประการหนึ่งในศตวรรษที่ 21  งานเขียนหลายชิ้นที่ได้รับการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญล้วนยืนยันว่า เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (extreme weather event) การสูญเสียถิ่นที่อาศัย ภัยพิบัติต่อพืชผลทางการเกษตร ชายฝั่งและเกาะที่จมลงใต้ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นถี่กว่าเดิมและมีขนาดใหญ่กว่าเดิม  ภายใต้การแนะแนวทางของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change–UNFCCC) เพื่อรักษาความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศให้มีค่าคงที่และรักษาความสามารถในการฟื้นคืนสู่สภาพปรกติจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ประเทศไทยตอบรับแนวทางนี้เป็นอย่างดีด้วยการจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2558-2593 (Thailand Climate Change Master Plan 2015–2050—TCCMP) 1 แผนแม่บทนี้น่าชื่นชมในระดับนโยบายระหว่างประเทศ แต่การที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสและโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยและภัยแล้งขั้นร้ายแรงมีเพิ่มขึ้น 15% สภาพเช่นนี้ส่งผลกระทบจริงๆ ต่อคนไทยอย่างไรกันแน่?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือในภาษาอังกฤษคือ Climate Change เป็นประเด็นที่ทำความเข้าใจได้จากหลายแง่มุม  แทนที่จะนับค่าความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศแบบนักวิทยาศาสตร์  ในมุมมองของเกษตรกรคนหนึ่ง เขาอาจรู้จักการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภัยพิบัติต่อพืชผลทางการเกษตรสืบเนื่องจากสภาพของฤดูกาลที่ไม่เอื้ออำนวย  การแก้ปัญหาอาจต้องอาศัยพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อเอาใจเทวดาฟ้าดินหรือซื้อปุ๋ยเพิ่มขึ้น  สำหรับพระในศาสนาพุทธ วิธีการแก้ไขสภาพอากาศไม่ดีต้องอาศัยการชำระล้างจิตใจเพื่อฟื้นฟูศีลธรรมกลับคืนสู่ธรรมชาติ  พวกเขาเชื่อว่าปัญหาของสภาพอากาศที่แปรปรวนสามารถแก้ไขได้ในท้องถิ่น แก้ได้ด้วยตัวเองและไม่ต้องพึ่งพาองค์กรระหว่างประเทศใดๆ  อีกทั้งไม่เกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบายคาร์บอนต่ำ (Vaddhanaphuti 2020) 2 คำถามก็คือ วิถีปฏิบัติที่ได้แรงบันดาลใจจากศาสนาเช่นนี้สมควรนับว่ามีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ที่จะเป็นวิธีการแก้ไขบรรเทาปัญหาหรือไม่?

บทความนี้จะชี้ให้เห็นภูมิทัศน์ของความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศและการจัดทำนโยบายในประเทศไทย  ผู้เขียนจะสำรวจดูพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศ รวมทั้งการรับรู้และปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมุมมองต่างๆ  ในขณะที่คนกลุ่มต่างๆ มีการอธิบายความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย แต่ดูเหมือนความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศของไทยกลับถูกลดทอนเหลือแค่การลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ระบบการจัดการภูมิอากาศเชิงเทคโนแครตในระดับชาติและนานาชาติเท่านั้น  ส่วนความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศในรูปแบบอื่นๆ ถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบ  ผู้เขียนสรุปบทวิเคราะห์ด้วยการสำรวจดูนัยยะทางจริยธรรมและการเมืองที่เกิดจากโครงร่างแบบนี้ เพื่อชี้ให้เห็นความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศในแบบพหุนิยมและความเป็นธรรมในการจัดทำนโยบายด้านภูมิอากาศ  เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด บทความนี้จึงมุ่งเน้นแค่บริบทของการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศเป็นหลัก

การสร้างความรู้และนโยบายเกี่ยวกับภูมิอากาศในประเทศไทย

ประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยเริ่มต้นจากวงการวิชาการในช่วงต้นทศวรรษ 2540 เนื่องจากความวิตกต่อผลกระทบทางกายภาพและเศรษฐกิจที่มีต่อความความหลากหลายทางชีวภาพของป่าและผลิตภาพของพืชผลทางการเกษตร  ประเด็นเหล่านี้ปรากฏในงานวิจัยที่นิยามว่าเป็นการศึกษาแบบ “ทำนายเพื่อปรับตัว” โดยมีจุดโฟกัสที่การปรับแต่งการคาดการณ์ภูมิอากาศที่จำเป็นต่อการทำนายสภาพอากาศให้แม่นยำ มากกว่าจะเป็นการสำรวจตรวจสอบสาเหตุทางสังคมและการเมืองอันเป็นต้นตอของความเปราะบางดังกล่าว (Chinvanno and Kersuk 2012) 3 การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมิติทางสังคมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคเมือง เกษตรกรรมและชายฝั่ง (โปรดดูได้จากเชิงอรรถนี้ 4)  ในปี 2554 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตีพิมพ์รายงานชื่อ “รายงานการสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 1” (Thailand’s First Assessment Report on Climate Change–TARC) 5 เพื่อทบทวนสถานะของความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศในประเทศไทย  รายงานของ TARC เป็นการเจริญรอยตามลักษณะและโครงสร้างรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change–IPCC) 6 ที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศในสังกัด UNFCCC ซึ่งมีเป้าหมายสังเคราะห์ความรู้เกี่ยวกับสภาพอากาศระดับโลก  รายงาน TARC ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมเขียนรายงานของ IPCC  “รายงานการสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2” ตีพิมพ์ออกมาในปี 2559 มีข้อสรุปว่า ยังมีการศึกษาวิจัยน้อยเกินไปในด้านการตอบสนองแบบข้ามมิติของขนาด (cross-scale) และหลากหลายทิศทาง (multidirectional) ต่อแรงกดดันด้านภูมิอากาศ นิเวศ สังคมและเศรษฐกิจ (โปรดดูตัวอย่างของงานศึกษาที่เป็นข้อยกเว้น อาทิ Forsyth and Evans 2013 7 และ Marks 2019 8)

ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาอยู่ในเวทีสาธารณะและสื่อไทยประมาณปี 2550 โดยได้รับแรงกระตุ้นจากการเผยแพร่รายงานของ IPCC ซึ่งมีการแปลออกเป็นหนังสือคู่มือภาษาไทยหลายเล่มและการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์หลายครั้ง รวมทั้งจากอิทธิพลของภาพยนตร์เรื่อง “An Inconvenient Truth” ของอัล กอร์  ยิ่งกว่านั้น โครงการเกี่ยวกับภูมิอากาศทั้งในระดับข้ามชาติ ระดับประเทศและข้ามมิติของขนาดก็เริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่าง ตัวอย่างเช่น START 9 มูลนิธิฮักเมืองน่าน 10 TEI 11 ACCRN 12 GIZ 13 USAID 14 CARE 15 เป้าหมายร่วมกันขององค์กรเหล่านี้ก็คล้ายคลึงกับนโยบายภูมิอากาศระดับชาติที่จะบรรยายถึงต่อไป นั่นคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มความยืดหยุ่นในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์อันหลากหลาย เช่น เมือง พื้นที่ชนบทและชายฝั่ง รวมทั้งในภาคเกษตรกรรม แหล่งน้ำ พลังงานและการวางนโยบาย

ประเทศไทยตอบรับเสียงเรียกร้องของ UNFCCC ด้วยการสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กับหน่วยงานด้านการพัฒนาของเยอรมนี Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ)  จากความร่วมมือนี้ทำให้มีการเปิดตัวแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2558-2593 (Thailand Climate Change Master Plan 2015–2050—TCCMP) 16 อย่างเป็นทางการ ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะสร้างสังคมคาร์บอนต่ำโดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% จากเส้นฐานคาดการณ์ “จากการดำเนินงานตามปรกติ” ในปี 2573 และพัฒนาแผนปฏิบัติการรองรับความเสี่ยงที่เกิดจากภูมิอากาศ พร้อมกับรักษาความสามารถในการแข่งขันในด้านความเติบโตทางเศรษฐกิจ การผลิตในภาคเกษตรกรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน  อย่างไรก็ตาม นโยบายเกี่ยวกับภูมิอากาศและ TCCMP ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าตั้งเป้าหมายสูงเกินจริง ไม่ชัดเจน ละเลยบริบททางสังคม สิ่งแวดล้อมและการเมืองที่ข้ามมิติของขนาด รวมทั้งมองข้ามกลุ่มคนชายขอบด้วย (Eucker 2014 17; Lebel et al. 2009 18;. Wongsa 2015 19)

แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับปัญหาภูมิอากาศที่กล่าวไปแล้วข้างต้น มีเป้าหมายที่จะยกระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิอากาศในหมู่ประชาชนไทยผ่านการสอนความแตกต่างระหว่างคำว่า “อากาศ” “ภูมิอากาศ” และ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”  ไม่ว่าจะเป็นภาษาท้องถิ่นของภูมิภาคใด คำศัพท์สองคำหลังจัดเป็นศัพท์เทคนิค ไม่ค่อยได้ใช้พูดกันจริงๆ ในภาษาประจำวัน  มันเป็นคำที่บัญญัติขึ้นเพื่อแปลศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงเป็นการจัดวางอากาศของท้องถิ่นลงในบริบทของการเปลี่ยนแปลงระยะยาวในระบบภูมิอากาศโลก (Vaddhanaphuti 2020 20)  เมื่อเปรียบเทียบกับคำบอกเล่าของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือของประเทศไทยที่กล่าวถึงไว้ในตอนต้นของบทความ สิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับภูมิอากาศทำก็คือลบบุคลิกลักษณะเชิงประสบการณ์ วัฒนธรรมและจิตวิญญาณออกจากอากาศ และเปลี่ยนให้อากาศกลายเป็นวัตถุนามธรรมที่วัดเชิงปริมาณได้

Forest fire, Mae Hong Son Province, 2010. Fires are deliberately set so Thai het pho, a fungus which fetches a high price on the Thai market, are easier to find. The fires completely denude the undergrowth and affects the wildlife. Wikipedia Commons

ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้เชี่ยวชาญปฏิบัติต่อความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศนอกแวดวงวิทยาศาสตร์แบบไหน  ในเวทีเสวนาสาธารณะที่จังหวัดน่านเมื่อปี 2557 (Vaddhanaphuti 2017 21) ตัวแทนจากชุมชนชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งอ้างว่า ภูมิปัญญาพื้นบ้านของเขาสามารถช่วยนักวิทยาศาสตร์สังเกตสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้  พร้อมกันนั้นก็โต้แย้งว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรกล่าวโทษวิถีการดำรงชีพเรียบง่ายของเขาว่าเป็นตัวการเผาป่าและสร้างมลพิษทางอากาศ  คำพูดของเขาได้รับการปรบมือจากผู้ฟัง  แต่ในคำให้สัมภาษณ์ของตัวแทนจากองค์กรด้านภูมิอากาศที่มีแนวทางเชิงเทคนิควิทยาศาสตร์สองแห่ง ซึ่งให้สัมภาษณ์แยกกันคนละครั้ง คนหนึ่งยินดีตอบรับหากจะมีการบูรณาการความรู้กัน  ส่วนอีกคนหนึ่งเห็นว่าความรู้ท้องถิ่นไม่มีประโยชน์ต่อโครงการของพวกเขา  สำหรับผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ มันง่ายกว่าที่จะสวมบทบาทเทคโนแครตนักวิชาการในการกำหนดว่าจะนิยาม เข้าใจและตอบสนองต่ออากาศและภูมิอากาศอย่างไร ขณะเดียวกันก็ลดทอนความน่าเชื่อถือของธรรมเนียมการปฏิบัติในท้องถิ่นและความเชื่อที่ไม่เป็นไปตามตรรกวิทยา

ถึงที่สุดแล้ว ความเป็นจริงอันหลากหลายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยมีการถ่ายทอดบอกเล่าแตกต่างกันไปเสมอ ขึ้นอยู่กับว่ามาจากมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ ตัวแทนสื่อ ชาวบ้าน ผู้ปฏิบัติงานด้านภูมิอากาศ พระ ฯลฯ   ความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงแตกต่างหลากหลายอย่างยิ่ง อาทิ มันคือความเป็นจริงที่สังเกตได้และจัดการได้  มันเป็นแนวคิดที่มาจากตะวันตกและอธิบายโดยผู้เชี่ยวชาญ  มันเป็นปัญหาใหญ่ที่จำเป็นต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน มันเป็นโอกาสใหม่ในการพัฒนา  มันเป็นตัวอย่างของการทำลายธรรมชาติที่เป็นผลจากความเสื่อมโทรมของศีลธรรม และมันเป็นปัญหาท้องถิ่นที่ต้องอาศัยการแก้ไขทางจิตวิญญาณ (Vaddhanaphuti 2020 22)  อย่างไรก็ตาม ควรบันทึกไว้ด้วยว่าเรื่องเล่าแม่บทเหล่านี้สร้างขึ้นด้วยอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน  เรื่องเล่าแม่บทหรือหลักปฏิบัติเกี่ยวกับภูมิอากาศหนึ่งๆ จะได้รับการยอมรับอย่างดีหรือถูกปิดปากให้เงียบไปย่อมขึ้นอยู่กับอำนาจของผู้ปฏิบัติการ ผู้พูดกับผู้ฟัง  ในภูมิทัศน์ของความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศในประเทศไทยในปัจจุบัน ดูเหมือนความรู้เชิงวิทยาศาสตร์และการแทรกแซงแบบบริหารจัดการจะเป็นผู้ชนะ

เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?  แน่นอน การที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีสถานะเหนือกว่าไม่พึงเป็นเรื่องที่ยอมรับกันโดยไม่ตั้งคำถาม ตรงกันข้าม ที่มันเป็นเช่นนี้เป็นผลมาจากชุดการปฏิบัติงานในสถานการณ์ในหลายพื้นที่ที่แตกต่างกันไป (Mahony and Hulme 2018 23)  ความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศเกิดมาจากการรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติของอากาศที่ผันแปรตลอดเวลาทั่วโลก  แนวทางนี้จึงตัดขาดจากศีลธรรม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์  ความเบี่ยงเบนระยะยาวจาก “สภาพปรกติ” ทำให้ UNFCCC มีกรอบการมองว่ามันเป็นปัญหาสากลระดับโลก  แนวทางที่ค่อนข้างลดทอนและเน้นการบริหารจัดการเช่นนี้แทบไม่เหลือที่ทางให้ความรู้และปฏิบัติการแบบท้องถิ่นที่นอกเหนือจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสั่งสมความสามารถในการฟื้นคืนสู่สภาพปรกติเพื่อรองรับผลกระทบต่างๆ (Hulme 2015 24)  การทำงานของความร่วมมือเชิงนโยบายด้านภูมิอากาศระหว่างไทย-เยอรมันก็เช่นกัน รวมทั้งองค์กรด้านภูมิอากาศบางองค์กรที่ดึงประเทศไทยเข้าไปเป็นสมาชิกระบอบภูมิอากาศโลก พร้อมกับปฏิบัติตัวเป็นผู้เล่นสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนาด้านภูมิอากาศ (Ober and Sakdapolrak 2020 25) แนวทางนี้บรรลุผลสำเร็จได้ในสองระดับ กล่าวคือ อาศัยการประชุมเชิงปฏิบัติการหลายๆ ครั้ง ทำให้มีการสอนศัพท์เทคนิคและแผนภาพซ้ำๆ และอาศัยงานด้านเอกสารต่างๆ ที่มีการรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อยื่นให้ GIZ และ UNFCCC ประเมินตรวจสอบ  กระบวนการจัดการพื้นที่และการสร้างความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศโลกเกิดขึ้นภายใต้การก่อตัวของระบอบเทคโนแครตที่ครอบงำความคิดทั้งในระดับนานาชาติและระดับชาติ  ในทางกลับกัน ระบอบความรู้นี้ก็ย้อนไปปั้นแต่งกำหนดความหมายของความรู้และการตอบสนองต่ออากาศที่ผันแปรในบริบทของท้องถิ่น

Rice farmer from Ubon Ratchathani, Thailand

ระบบการจัดการภูมิอากาศอันยุ่งเหยิง: ข้อคำนึงด้านจริยธรรมและการเมือง

Klenk et al. (2017 26) แนะนำว่า การสะท้อนทบทวนตัวเองในด้านจริยธรรมและการเมืองควรเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตความรู้ในการจัดทำนโยบายด้านภูมิอากาศ  ความหมายก็คือแทนที่จะกำหนดนิยามล่วงหน้าว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืออะไรและควรตอบสนองรับมืออย่างไรจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ที่คับแคบเพียงอย่างเดียว บางทีอาจมีประโยชน์มากกว่าหากความรู้ด้านภูมิอากาศในประเทศไทยจะวางรากฐานอยู่ในท้องถิ่น ปลดแอกจากตรรกะแบบตะวันตกและใช้ความรู้ที่มีอยู่ให้เต็มศักยภาพที่แท้จริง  การบรรลุสิ่งนี้ได้จำเป็นต้องอาศัยการปรับโครงสร้างการจัดการเชิงสถาบันให้สอดคล้องกับสิ่งที่อาจเคยคิดกันว่าอยู่นอกขอบเขตหรือพ้นไปจากนโยบายภูมิอากาศ

หากประชาชนกับสภาพอากาศมีความเกี่ยวร้อยกันอย่างแยกไม่ออก  การทำลายชั้นบรรยากาศก็คือการสูญเสียทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง  ในขณะเดียวกัน การละเลยความหลากหลายด้านชาติพันธุ์เท่ากับละเลยความรู้ที่ผู้คนใช้เพื่อมีชีวิตอยู่ร่วมและจัดการธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงสภาพอากาศด้วย  พหุนิยมทางความรู้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขช่องว่างนี้  ยกตัวอย่างเช่น การสังเกตสภาพอากาศของชนพื้นเมืองน่าจะช่วยเติมเต็มความรู้ในสถานที่ที่สถานีตรวจวัดขาดหายไป (Lebel 2013 27)  หากมองในแง่ดียิ่งกว่านั้น ความรู้ด้านภูมิอากาศของคนไทยทั่วไปอาจช่วยส่งสัญญาณให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในกล่องดำ นำไปสู้การก่อเกิดความรู้ที่ผลิตร่วมกันซึ่งตอบโจทย์ให้ลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น (Lane et al. 2011 28)  การปรับตำแหน่งของคนธรรมดากับผู้เชี่ยวชาญเสียใหม่ในกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมจะเป็นหลักประกันให้มีการรับฟังเสียงของคนในและคนชายขอบ  อีกทั้งความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศบางรูปแบบไม่ถูกละเลยหรือตีความผิด  หน่วยงานนโยบายวิทยาศาสตร์ระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ ( Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services – IPBES 29) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติและเป็นองค์กรที่เปรียบเสมือนน้องของ IPCC เริ่มดำเนินการตามแนวทางนี้แล้วและพยายามให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในขอบเขตที่กว้างกว่าเดิม อันกอปรด้วยผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์และตัวแทนชาวพื้นเมืองที่ได้รับเชิญให้มาร่วมสังเคราะห์ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ (Beck et al. 2014 30)  บางทีการถือกำเนิดใหม่ของการวิจัยไทบ้านที่มีจุดมุ่งเน้นด้านสภาพอากาศ ภูมิอากาศและการดำรงชีพอาจดูน่าเชื่อถือมากขึ้น  งานวิจัยของชาวบ้านแบบนี้ ซึ่งเคยมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น อาจช่วยเปิดพื้นที่ให้ชาวเมือง เกษตรกรหรือพระนักนิเวศ 31 ได้บอกเล่าถึงวิถีความรู้และการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงด้านสังคมสิ่งแวดล้อมที่คาดทำนายไม่ได้ในแบบของตนเอง  เพื่อให้แนวทางนี้เกิดขึ้น จำต้องอาศัยการจัดการเชิงสถาบันที่มีการสะท้อนทบทวนตัวเองให้มากกว่านี้  รวมทั้งต้องทำให้รูปแบบความรู้ต่างๆ และผู้กระทำการที่ผลิตความรู้เหล่านั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นคู่สนทนาทางปัญญาที่ชอบธรรมและเท่าเทียมกันด้วย

The Master Plan utilises the Driving Forces-Pressure-State-Impact-Response (DPSIR) framework. The framework works by focusing first on the current environmental problems (e.g. climate change) and then by analysing the surrounding factors comprehensively in order to identify the causes and reach effective solutions.

ระบบการจัดการชั้นบรรยากาศรูปแบบต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกลายเป็นโอกาสที่รัฐเทคโนแครตและรัฐบาลที่ถือหางข้างวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยพยายามเข้ามาควบคุมและแปรทรัพยากรธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้า โดยมีระบบราชการเป็นศูนย์กลางและมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Forsyth and Walker 2008 32)  การขยายอำนาจของรัฐบาลไทยจากพื้นที่ราบต่ำขึ้นสู่พื้นที่สูงและไปจนถึงท้องฟ้าคือการพยายามเปลี่ยนทั้งชาวบ้านคนธรรมดาสามัญและอากาศในชีวิตประจำวันของพวกเขาให้กลายเป็นวัตถุที่บริหารจัดการได้ อีกทั้งยังผลักไสพวกเขาไปอยู่ชายขอบของการผลิตความรู้ด้านภูมิอากาศ ทำให้พวกเขามีปากเสียงน้อยมากในการวางนโยบาย  ชั้นบรรยากาศจึงกลายเป็นพื้นที่ของการช่วงชิง ครอบงำและเบียดขับทางการเมือง

ในกรณีนี้ การตรวจสอบและทบทวน TCCMP ที่มีลักษณะแยกส่วนและมีเป้าหมายเฉพาะกิจที่คับแคบ (Wongsa 2015 33) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง  หากเรามองว่า TCCMP เป็นเสมือนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อีกโครงการหนึ่ง จุดมุ่งเน้นของ TCCMP ก็ต้องขยายให้ครอบคลุมมากกว่าประเด็นด้านภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว  แทนที่จะลดทอนทุกกิจกรรมในทุกภาคส่วนให้เหลือแค่เป้าหมายการปล่อยก๊าซระดับประเทศ การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากมุมมองรากหญ้าขึ้นมาหมายถึงการเข้าไปคลี่คลายประเด็นปัญหาที่ไม่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ แต่เป็นเรื่องที่พัวพันกับอำนาจอย่างยิ่ง อาทิ การพัฒนาที่เหลื่อมล้ำและการขูดรีดของระบบทุนนิยม ความไม่เท่าเทียมและการถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบ ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง กรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพศภาวะและชาติพันธุ์ ฯลฯ (Forsyth and Evans 2013 34)  แนวทางนี้จะช่วยเพิ่มอำนาจให้กลุ่มชาวบ้านท้องถิ่นในการรับมือกับปัญหาด้านสังคมสิ่งแวดล้อมจากมุมมองของพวกเขาเอง ซึ่งอาจมีคุณูปการโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อการบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศและมาตรการปรับตัวต่างๆ   การทำความเข้าใจมิติทางจริยธรรม วัฒนธรรม จิตวิญญาณและอารมณ์ ซึ่งเป็นความเปราะบางของปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อม ยังขาดหายไปในงานวิจัยและนโยบายปรับตัวด้านภูมิอากาศของไทย  เพื่อรับมือกับปัญหาซับซ้อนที่เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับแนวทางนี้มากขึ้น แทนที่จะใช้แต่สูตรสำเร็จทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาของชั้นบรรยากาศแบบปัจจุบันทันด่วน  มิฉะนั้นแล้ว ก็อาจเสี่ยงต่อการผลิตซ้ำสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ทั้งด้านสังคม สถาบันและการเมืองเหมือนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังตอกย้ำความเปราะบางข้ามมิติของขนาดด้วย (Lebel et al. 2011 35; Scoville et al. 2020 36)

ชยา วรรธนะภูติ
อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Notes:

  1. https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/07/CCMP_english.pdf
  2. https://www.taylorfrancis.com/books/e/9780429276453/chapters/10.4324/9780429276453-8
  3. https://www.weadapt.org/sites/weadapt.org/files/legacy-new/knowledge-base/files/1145/51219c4e349ddthailand-web.pdf
  4. http://www.thailandadaptation.net/
  5. https://www.trf.or.th/div3download/default.html
  6. https://www.ipcc.ch/
  7. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0305750X12002896
  8. https://assets.ctfassets.net/4wrp2um278k7/2YNi3VyBXZjxDC04a3HaJM/cd763836b1292548a4a0857539b3ebeb/9789048544912_ToC_Intro.pdf
  9. http://www.start.chula.ac.th/start/index.php
  10. https://www.hugmuangnan.org/
  11. http://www.tei.or.th/en/area_project.php?area_id=1
  12. https://www.acccrn.net/country/thailand
  13. https://www.thai-german-cooperation.info/en_US/topic/topic-climate-change/
  14. https://www.iucn.org/asia/thailand/countries/thailand/usaid-mekong-adaptation-and-resilience-climate-change
  15. https://careclimatechange.org/where-we-work/thailand/
  16. https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/07/CCMP_english.pdfp
  17. https://brill.com/view/book/edcoll/9789004273221/B9789004273221_012.xml
  18. https://www.taylorfrancis.com/books/e/9781849770743/chapters/10.4324/9781849770743-18
  19. https://brill.com/view/book/edcoll/9789004274204/B9789004274204-s014.xml
  20. https://www.taylorfrancis.com/books/e/9780429276453/chapters/10.4324/9780429276453-8
  21. https://kclpure.kcl.ac.uk/portal/en/theses/experiencing-and-knowing-in-the-fields(bde5ab82-6082-4a32-870a-b1b2b3095c7c).html
  22. https://www.taylorfrancis.com/books/e/9780429276453/chapters/10.4324/9780429276453-8
  23. https://journals.sagepub.com/doi/abs/10.1177/0309132516681485
  24. https://www.journals.uchicago.edu/doi/10.1086/661274
  25. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/sjtg.12309
  26. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1002/wcc.475
  27. https://link.springer.com/article/10.1007/s11027-012-9407-1
  28. https://rgs-ibg.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1475-5661.2010.00410.x
  29. https://ipbes.net/
  30. https://www.ingentaconnect.com/content/oekom/gaia/2014/00000023/00000002/art00004;jsessionid=g5jhf7dssqqf4.x-ic-live-01
  31. https://news.mongabay.com/2018/08/ecology-monks-in-thailand/
  32. https://silkwormbooks.com/products/forest-guardians-forest-destroyers
  33. https://brill.com/view/book/edcoll/9789004274204/B9789004274204-s014.xml
  34. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0305750X12002896
  35. https://link.springer.com/article/10.1007/s10113-010-0118-4
  36. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0305750X19303316
Exit mobile version