ขับร้องแสดงความเป็นสมัยใหม่แบบอิสลาม : สร้างสรรค์นัสยิดขึ้นใหม่ในมาเลเซีย

Tan Sooi Beng

      

ตั้งแต่พรรคฝ่ายค้าน “ปาร์ตี้อิสลามเซมาเลเซีย” (พรรคอิสลามแห่งมาเลเซียหรือ PAS) ได้เป็นรัฐบาลท้องถิ่นปกครองรัฐกลันตันในปี ค.ศ.1990 พรรคเห็นว่าการแสดงละครพื้นเมืองอย่าง “วายังกูลิต” (หนังตะลุง) และ “มักยง” (ละครมาเลย์ชนิดหนึ่ง) ในที่สาธารณะและการจัดคอนเสิร์ตเพลงร็อคไม่มีความเป็นอิสลามและสั่งห้ามจัดการแสดงดังกล่าว สำหรับชาวมุสลิมที่มีทรรศนะดั้งเดิม ละครพื้นเมืองเป็นเรื่อง “ฮารัม” (ต้องห้าม) เพราะเป็นการแสดงที่จัดขึ้นในโอกาสที่มีความสำคัญในเชิงจิตวิญญาณ อาทิเพื่อการรักษา เชื่อกันว่ามีการเรียกวิญญาณขณะแสดงและยังแสดงเรื่องราวที่ไม่ใช่อิสลามอีกด้วย (อย่างเช่นมหากาพย์รามายนะและมหาภารตะของอินเดีย) ยิ่งไปกว่านั้นปะก์ โดกล ตัวตลกของวายังกลันตันไม่เพียงแต่เป็นผู้รับใช้ของพระราม ตัวเอกของละครหุ่นในเรื่องนี้แต่ยังเป็นกึ่งคนกึ่งเทพตามความเชื่อของฮินดูอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการห้ามสตรีเข้าร่วมในการแสดงคอนเสิร์ตและการแสดงสดเพื่อความบันเทิงทุกชนิดในรัฐกลันตันตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 เนื่องจากถือว่าเสียงของสตรีนั้น “เอารัต” เป็นส่วนของร่างกายซึ่งต้องปกปิด (Star 19 กันยายน 2002)

สื่อได้เลือกเน้นการเสนอการดำเนินการเช่นนี้ของชาวมุสลิมอนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ตามมาเลเซียก็เหมือนในโลกมุสลิมส่วนอื่น ๆ กล่าวคือมีชาวมุสลิมหลายประเภทในมาเลเซียซึ่งยอมรับการตีความการปฏิบัติและวัฒนธรรมอิสลามต่าง ๆ กันออกไป (Hefner 1997: 6–7) กว่าสองทศวรรษมานี้ ในมาเลเซียมีชนชั้นกลางซึ่งเป็นอิสลามสมัยใหม่จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งยอมรับความท้าทายของความเป็นสมัยใหม่อย่างมีความแตกต่าง อย่างที่ Gole (2002) กล่าวไว้ว่าชาวมุสลิมเหล่านี้กำลังแสดงลักษณะวัฒนธรรมที่เป็นสมัยใหม่แต่ยังคงเป็นอิสลาม สำหรับชาวมุสลิมสมัยใหม่กลุ่มนี้  ดนตรีมีบทบาทสำคัญไม่เพียงเฉพาะในการเผยแพร่คำสอนของอิสลามเท่านั้นแต่ยังแสดงให้เห็นว่าอิสลามเป็นศาสนาที่สามารถปรับเข้ากับโลกปัจจุบันได้

บทความนี้ศึกษาพัฒนาการของ “ป๊อปนัสยิด” ดนตรีป๊อปของอิสลามประเภทหนึ่งซึ่งทำให้ผู้แสดงและผู้ชมได้มีบทสนทนากันเกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่แบบอิสลามในมาเลเซีย ป๊อปนัสยิดถูกรสนิยมของชาวมุสลิมรุ่นหนุ่มสาวเนื่องจากแสดงให้เห็นความเป็นสมัยใหม่ของมาเลเซียโดยไม่ต้องเป็นตะวันตกแม้เมื่อได้ปรับให้เข้ากับกระแสนิยมทางดนตรีป๊อปทั่วโลก ทั้งยังมีการนำเทคโนโลยี สื่อ และกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ ๆ มาใช้ นอกจากนี้นักดนตรีป๊อปนัสยิดยังมีอัตลักษณ์ร่วมกับขบวนการความเคลื่อนไหวของอิสลามทั่วโลกผ่านทางเนื้อร้อง องค์ประกอบทางดนตรี ภาพวิดีโอและเครื่องแต่งกาย ในขณะเดียวกันนักดนตรีเหล่านี้ได้สร้างการตีความอิสลามสมัยใหม่ขึ้นใหม่ในท้องถิ่นและใช้องค์ประกอบทางดนตรีท้องถิ่นของมาเลเซียในบทเพลงด้วย

พัฒนาการของ “นัสยิด” ในมาเลเซีย

คำว่า “นัสยิด” มีที่มาจากคำว่า “อันสยาดา” ซึ่งหมายความว่า “การขับร้องบทกวี” เชื่อกันว่าเมื่อศาสดามูฮัมหมัดเดินทางจากเม็กกะไปเมดีนาเป็นครั้งแรก ชาวเมดีนาได้ขับร้องเพลงนัสยิดชื่อ “โตลา อัล บาดรู อาไลนา” (ในที่สุดพระจันทร์ได้ปรากฏขึ้นท่ามกลางหมู่เราแล้ว ฟังได้ที่ หรือแทรกแก่นความคิดทางศาสนาอื่น ๆ เช่นความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ หลักศีลธรรมอันดี หรือภราดรภาพในอิสลาม 1

เริ่มมีการขับร้องนัสยิดในมาเลเซียอย่างไม่เป็นทางการโดยคณาจารย์และนักเรียนชาวมุสลิมแทรกสลับการอ่านคัมภีร์โกหร่านมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เพลงนัสยิดมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่คำสอนของอิสลามและศาสดามูฮัมหมัดทั้งยังส่งเสริมหลักจริยธรรมและการปฏิบัติของอิสลาม เพลงนัสยิดจะขับร้องประสานเสียงโดยไม่มีดนตรีประกอบแบบอะคาเพลลาหรือมีการตีกลองหนังประกอบ กลองที่ใช้เช่นเรบานาหรือกมปัง เดิมมีเนื้อร้องเป็นภาษาอารบิกซึ่งต่อมาค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นภาษามาเลย์ ในทศวรรษ 1950 และ 1960 มีการสนับสนุนให้ขับร้องนัสยิดกันที่โรงเรียนและในงานประกวดการอ่านคัมภีร์โกหร่านซึ่งจัดโดยกรมการศาสนาทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ ผู้ขับร้องนัสยิดในงานประกวดเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เคร่งครัด กล่าวคือคณะนักร้องประกอบด้วยชายล้วนหรือหญิงล้วนเท่านั้น ไม่อนุญาตให้มีชายและหญิงอยู่ในคณะเดียวกัน ผู้ขับร้องหญิงต้อง “ตูตุป เอารัต” (ปกปิดร่างกาย) นักร้องชายต้องสวม “ซงกก” หรือ “โกปีอะห์” ที่ศีรษะ นักร้องทุกคนยืนนิ่ง มือประสานหรือปล่อยข้างลำตัวขณะขับร้อง เนื้อร้องต้องเป็นภาษาอารบิกหรือมาเลย์เท่านั้นและห้ามใช้เครื่องดนตรีอื่นใดนอกจากกลองหนัง ในช่วงนี้มีการขับร้องนัสยิดในงานฉลองทางศาสนาด้วย เช่นอัววัล มูฮาร์รัม และไอดิล ฟีตรี (Matusky and Tan 2004: 263–264)

การฟื้นฟูอิสลามและพัฒนาการของ “นัสยิดเอราบารู”

ในทศวรรษ 1970 การฟื้นฟูอิสลาม (รู้จักกันในชื่อว่าขบวนการ “ดักวาห์”) เริ่มขึ้นในมาเลเซีย “ดักวาห์” หมายถึง “เรียก” หรือ “ตอบการเรียก” งานเผยแพร่ศาสนาเป็นวัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งของขบวนการนี้ นักวิเคราะห์สรุปว่าสาเหตุของการฟื้นฟูอิสลามคือการตอบสนองนโยบายพัฒนาของรัฐซึ่งมีความเป็นตะวันตกสูง การที่ชนชั้นกลางชาวมาเลย์ที่กังวลเกี่ยวกับความไม่สมดุลทางสังคมมีอำนาจมากขึ้น  และสำนึกเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติที่ฝังรอยลึกขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างชาวจีนและชาวมาเลย์ (Shamsul 1997) 3การปฏิวัติในอิหร่าน การเจริญเติบโตของอำนาจทางเศรษฐกิจในตะวันออกกลางและการเลิกหลงใหลลัทธิชาตินิยมทางโลกของโลกอิสลามล้วนส่งผลให้เกิดการฟื้นฟูอิสลามในมาเลเซีย ผู้ที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศรวมทั้งจากตะวันออกกลางกลับมามาเลเซียพร้อมกับอุดมคติใหม่ ๆ ของอิสลามองค์กรดักวาห์หลายแห่งก่อตัวขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กันแต่มีเป้าหมายหลักในการฟื้นฟูอิสลามร่วมกัน องค์กรเหล่านี้สนับสนุนให้มีการยึดปฏิบัติตามคำสอนของคัมภีร์โกหร่านและฮาดิตห์ (คำพูดของศาสดามูฮัมหมัด) อย่างเคร่งครัดขึ้นเพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตแบบอิสลามมากขึ้น

องค์กรดักวาห์หลายแห่งก่อตัวขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กันแต่มีเป้าหมายหลักในการฟื้นฟูอิสลามร่วมกัน องค์กรเหล่านี้สนับสนุนให้มีการยึดปฏิบัติตามคำสอนของคัมภีร์โกหร่านและฮาดิตห์ (คำพูดของศาสดามูฮัมหมัด) อย่างเคร่งครัดขึ้นเพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตแบบอิสลามมากขึ้น 4

การฟื้นฟูอิสลามในมาเลเซียเกิดขึ้นในเมืองและโดยชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ นักศึกษามหาวิทยาลัยในท้องถิ่นเป็นสาวกดักวาห์ที่กระตือรือร้นเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับในโลกมุสลิมส่วนอื่นๆ “ความเด่นชัดของอิสลาม” รูปแบบใหม่ ๆ ปรากฏให้เห็นในสังคม อย่างเช่นผ้าคลุมหน้า (ฮีจาบ) สวมใส่โดยสตรีมุสลิม ซึ่งรู้จักกันในท้องถิ่นว่า “ตูดุง” หรือ “เทเลกุง” สั้นและหนังสือ นิตยสารและเทปคาสเซ็ทเกี่ยวกับอิสลาม (Gole 2002)  ชนชั้นกลางชาวมุสลิมที่ได้รับการศึกษาดีเริ่มอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญในสมัยปัจจุบัน เช่นการกำจัดความยากจน ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี บทบาทของสตรีในสังคม พหุนิยม และความไม่สมดุลทางสังคม ชาวมุสลิมเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากความคิดของนักปฏิรูปชาวมุสลิมรุ่นก่อนผู้ซึ่งพยายามเสนอการตีความแบบใหม่และทำให้อิสลามสนองตอบต่อความต้องการของโลกปัจจุบันได้มากขึ้น (Helfner 1997: 5) 5

ในขณะเดียวกันเริ่มมีการใช้นัสยิดเป็นสื่อของดักวาห์ ในทศวรรษ 1980 กลุ่มดักวาห์ต่าง ๆ เช่นดารุล อาร์คัมทำให้นัสยิดได้รับความนิยมผ่านทางการแสดงสดในคอนเสิร์ตของวงดนตรีซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่ม คือ นาดา มูร์นี และเดอะซิกร์ซึ่งใส่ความเป็นสมัยใหม่ลงในนัสยิดโดยใช้เครื่องเคาะจังหวะต่าง ๆ วงดนตรีทั้งสองนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์แต่จะเปิดการแสดงสดที่งานแสดงวัฒนธรรมชองดารุล อาร์คัมและแจกเทปคาสเซ็ทเพลงของตนเพื่อให้แฟนเพลงนำไปแจกจ่ายต่อไป (Ahmad Fauzi 2005: 17, n46)

นัสยิดยังได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลกลางอีกด้วยเมื่ออิสลามเริ่มเป็นองค์ประกอบสำคัญของนโยบายวัฒนธรรม 6

มีการจัดการประกวดขึ้นตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยและการแสดงถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ ผู้เข้าร่วมรายการขับร้องเพลงภาษามาเลย์ที่มีเนื้อร้องสรรเสริญพระอัลเลาะห์ ให้คำแนะนำแก่สาวกในการรับใช้พระอัลเลาะห์และปฏิบัติตามคัมภีร์โกหร่าน ทั้งยังเน้นความสำคัญของการพัฒนาประเทศผ่านทางอิสลาม (Tan 1990: 143) นัสยิดจึงได้เป็นวิธีส่งเสริมอิสลามตามแนวทางสายกลาง อย่างไรก็ตามไม่อนุญาตให้มีชายและหญิงอยู่ในคณะขับร้องเดียวกัน ห้ามการเต้นประกอบเพลงและห้ามการใช้เครื่องดนตรีสมัยใหม่เช่นเดียวกับในทศวรรษ 1950 และ 1960

ในทศวรรษ 1990 กรมการอิสลามแห่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้มีการจัดโครงการสร้าง “นัสยิดเอราบารู” (นัสยิดยุคใหม่) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการเล่าขานความเป็นสมัยใหม่ ที่เรียกว่าวาวาซัน 2020 (วิสัยทัศน์ 2020) ซึ่งริเริ่มขึ้นโดยดร. มหาธีร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (Mahathir 1991) ตามแนวคิดวิสัยทัศน์ 2020 นั้น สิ่งนำทางให้มาเลเซียก้าวไปสู่ความทันสมัยคือจิตสำนึกเชิงจิตวิญญาณ ศาสนา และศีลธรรม อิสลามต้องมีบทบาทสำคัญในการทำแนวคิดนี้ให้เป็นจริง

แนวคิดนัสยิดเอราบารูปรากฏเป็นภาพขึ้นในการแสดงถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์จากงานประกวดนัสยิด แห่งชาติ ปี ค.ศ. 1994 การแสดงนี้มีขึ้นอีกครั้งในพิธีปิดการแข่งขันการอ่านคัมภีร์โกหร่าน ประจำปี ค.ศ. 1995 คณาจารย์ชาวมาเลเซียของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมารา (UiTM) และคณะที่ปรึกษาชาวต่างชาติจากประเทศอียิปต์ทำงานร่วมกันในโครงการนี้ นัสยิดเอราบารูเป็นการแสดงรวบยอดมีทั้งเพลงนัสยิด การเต้นรำ ละคร กวีนิพนธ์และเพลงสวด โดยใช้เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ประกอบ จากคำบอกเล่าของฟาคารีอะห์ ดาตุก์ ลกมัน อาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมาราผู้ซึ่งเกี่ยวข้องในการผลิตและประพันธ์เพลงนัสยิดที่ใช้ในการแสดงนี้  “การใช้สื่อใหม่ ๆ รวมทั้งระบบแสงสีเสียงดิจิทัลและการใช้รูปแบบศิลปะร่วมสมัยแสดงให้เห็นว่าอิสลามไม่หยุดอยู่กับที่และมีความสามารถในการปรับตัวและการผสมกลมกลืนเพื่อดำรงอยู่ต่อไปในสภาพของโลกปัจจุบันได้ รูปแบบใหม่นี้เป็นสากล ถ่ายทอดอุดมคติอิสลาม ส่งเสริมความเข้าใจโลกทัศน์อิสลาม และก่อให้เกิดเอกภาพในหมู่ชาติต่าง ๆ ในโลก” (บทสนทนา 5 กุมภาพันธ์ 2005)

เพลงเปิดการแสดงที่ชื่ออะห์ลัน (ยินดีต้อนรับ) ประพันธ์โดยศาสตราจารย์ ดร. อับเดล-ฮามิด มาแชล จากอียิปต์มีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นว่าอิสลามก้าวข้ามเรื่องอายุ เชื้อชาติ และเพศสถานะ เนื้อร้องเป็นภาษาอารบิก มาเลย์ อังกฤษ จีนกลาง และทมิฬ มีการเน้นคำว่า “ยินดีต้อนรับ” ในภาษาต่าง ๆ เหล่านี้ (อะลันห์/ ซาลามัท ดาตัง/ เวลคัม/ ฮวน ยิง/ วาเนเคม) ผู้ขับร้องซึ่งเป็นตัวแทนจากเชื้อชาติต่าง ๆ อยู่ในชุดเครื่องแต่งกายประจำชาติ ผู้ขับร้องหญิงยืนขับร้องข้าง ๆ ผู้ขับร้องชายในสถานที่สาธารณะเป็นครั้งแรก

บทเพลงอื่น ๆ เน้นเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญในสมัยปัจจุบันและปัญหาสังคม (เช่นยาเสพติด โรคเอดส์ และสงคราม) และเรียกร้องให้มุสลิมผู้ซึ่งได้ออกนอกลู่นอกทางกลับมามีความเชื่อและอุดมคติแบบอิสลาม (สูจิบัตร 11 มกราคม 1995) เพลงเสียงร้องจากบอสเนีย (The Cry of Bosnia) โดยศาสตราจารย์ ดร. อับเดล-ฮามิด     มาแชลเช่นกันเป็นเพลงนัสยิดต่อต้านสงครามซึ่งขับร้องเป็นภาษาอังกฤษ อารบิก และมาเลย์:

ด้วยโลหิตของชาวมุสลิมที่หลั่งไหลในดินแดนบอสเนีย เฮอร์เซโกวินา … ขอแสดงความเสียใจต่อโลกอิสลาม … ด้วยน้ำตาของมารดาที่ร่ำไห้คร่ำครวญ (เนื่องจากสูญเสียบุตรชาย) … ด้วยโลหิตของสาวพรหมจรรย์ที่ถูกขืนใจ … ด้วยเสียงร้องของเด็กทารก … การถอนหายใจอันเจ็บปวดของผู้ชราที่ตื่นตระหนก … ด้วยการทำลายมัสยิด …ขอแสดงความเสียใจต่อโลกอิสลาม …

การแสดงปิดท้ายด้วยเพลงวาวาซัน 2020 ประพันธ์โดยฟาคารีอะห์ ลกมัน ขับร้องเป็นภาษาอังกฤษ เช่นเดียวกับเพลงเปิดการแสดง นักร้องทุกเพศทุกวัยจากเชื้อชาติต่าง ๆ ร่วมกันขับร้องเป้าหมายแห่งวิสัยทัศน์ 2020:

ประชาชาติมาเลเซียซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมีความรู้สึกว่ามีจุดมุ่งหมายร่วมกัน … สังคมมาเลเซียซึ่งเป็นอิสระทางจิตใจ  มีความมั่นคงปลอดภัย  และพัฒนาแล้ว … สังคมซึ่งเจริญเต็มที่และเป็นประชาธิปไตย … สังคมซึ่งเปี่ยมด้วยศีลธรรมและจริยธรรม … สังคมซึ่งเจริญเต็มที่ ให้อิสระทางความคิด และมีขันติ … สังคมซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์และก้าวหน้า … สังคมซึ่งเปี่ยมด้วยความใส่ใจและวัฒนธรรมซึ่งเปี่ยมด้วยความใส่ใจ … สังคมซึ่งมีความเป็นธรรมในเชิงเศรษฐกิจ … และสังคมซึ่งเจริญรุ่งเรือง

นักวิจารณ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ชื่นชมการแสดงนัสยิดเอราบารูว่า “มีความเป็นสมัยใหม่และให้ความบันเทิง” เนื่องจากเพลงใหม่ ๆ เหล่านี้มี “เครื่องดนตรีประกอบการขับร้องนัสยิด ผู้เป่าโออุด (ขลุ่ยตะวันออกกลาง) ขับร้องเพลงภาษาอารบิกที่ไพเราะ … [และ] … นักร้องเพลงป๊อปอย่างเฟาซีอะห์ ลาติฟ ชาริฟะห์ อีนี และนิง ไบซูรา สวมใส่เครื่องแต่งกายแบบอิสลามทันสมัย” (New Straits Times  [NST] 12 กุมภาพันธ์ 1994) นักวิจารณ์อื่น ๆ เขียนว่าการแสดงดนตรีครั้งนี้เป็นวิธีการเผยแพร่ศาสนาอิสลามอย่างได้ผล (Utusan Malaysia 13 มกราคม 1995)

collage

กระบวนการสร้างป๊อปนัสยิด: มีความเป็นสากล อิสลาม และท้องถิ่น

นัสยิดเชิงพาณิชย์รูปแบบใหม่หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ป๊อปนัสยิด” ได้กำเนิดขึ้นในมาเลเซียในทศวรรษ 1990 โดยตามแบบอย่างของวงนาดา มูร์นีของดารุล อาร์คัม เนื้อร้องยังคงสรรเสริญพระอัลเลาะห์ ค่านิยมของอิสลาม และคำสอนของพระศาสดา เพลงป๊อปนัสยิดเชิงพาณิชย์ขับร้องแบบอะคาเพลลา (โดยมีผู้ประสานเสียง 2 หรือ 3 คน) หรือโดยมีเสียงดนตรีประกอบ มีการผลิตและจัดจำหน่ายเพลงเหล่านี้ไปสู่ผู้ฟังจำนวนมากโดยบริษัทบันทึกเสียงหลายแห่ง ดนตรีแนวใหม่นี้ประยุกต์จากดนตรีป๊อปหลากหลายรูปแบบของอังกฤษและอเมริกา (เช่นดนตรีของวงวัยรุ่นชายล้วนเวสต์ไลฟ์และแบ็คสตรีทบอยส์) ในขณะเดียวกันได้มีการนำดนตรีที่เป็นการผสมดนตรีพื้นเมืองกับดนตรีจากวัฒนธรรมอื่น (world beat) และจังหวะท้องถิ่นใส่เข้ามา มีการใช้เครื่องเคาะจากมาเลเซียและส่วนอื่น ๆ ของโลกด้วย

ผู้บุกเบิกป๊อปนัสยิดเชิงพาณิชย์คือวงไรฮัน (กลิ่นไอแห่งสวรรค์) จากคำบอกเล่าของฟารีฮิน อับดุล ฟัตตะห์ ผู้ผลิตอัลบั้มแรกของวงไรฮันที่ชื่อว่าปูจี-ปูจียัน (Praises,1997ฟังได้ที่ www.raihan.com.my, songs/lyrics) บริษัทบันทึกเสียงวอร์เนอร์ได้ตัดสินใจที่จะ “เพิ่มสีสันให้ดนตรีนัสยิด” โดยใส่การเคาะจังหวะเข้าไปในเพลงเพื่อให้เกิดเสียงใหม่ ฟารีฮินอธิบายว่าสตีฟ ฮัสสัน ธอร์นตัน นักเคาะจังหวะชาวอเมริกันซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงการเคาะจังหวะและเล่นเครื่องเคาะต่าง ๆ ให้นักดนตรีพื้นบ้านมาเลย์และนักดนตรีป๊อปอื่น ๆ “รับผิดชอบเครื่องเคาะละติน ส่วนผมเล่นเครื่องเคาะมลายูเสียมากกว่า” (NST 17 มีนาคม, 19 กรกฎาคม 1997)

หลังจากวงไรฮัน (วอร์เนอร์) ได้มีวงป๊อปนัสยิดอื่น ๆ เกิดขึ้นอีกในมาเลเซีย วงป๊อปนัสยิดที่เด่น ๆ มีฮิจจัซ (ฮิจจัซเร็คคอร์ด ก่อนหน้านี้คือบีเอ็มจี) รับบานี (เคอาร์ยูมิวสิค – อีเอ็มไอ) บราเธอร์ส (อัมบังคลาซิก์) และอิน-ทีม  (ฮิจจัซเร็คคอร์ด) วงหญิงล้วนมีเอชเอดับเบิ้ลยูเอ (จูอาราเร็คคอร์ด) โซเลห์อะห์ (โพลีแกรม) และมาวัดดาห์ (มาวัดดาห์โปรดักชั่น) แม้แต่นักเรียนยังมีการตั้งวงของตนเอง (Star 1 สิงหาคม 1997) และนักร้องเพลง     ป๊อปอย่างวาเฮเอดา มาวี และรัมลี ซาริปก็หันมาร้องเพลงป๊อปนัสยิด

บทความในส่วนต่อไปจะแสดงให้เห็นว่าป๊อปนัสยิดเป็นที่นิยมในหมู่ชาวมุสลิมหนุ่มสาวเนื่องจากเป็นดนตรีที่มีความเป็นสมัยใหม่ มีความเป็นอิสลามแต่ยังแสดงความเป็นมาเลเซีย รูปแบบใหม่ของดนตรีดักวาห์นี้ยังเป็นเวทีให้ผู้ขับร้องและผู้ชมชาวมุสลิมได้ถกเถียงอภิปรายกันถึงความเป็นสมัยใหม่โดยไม่เป็นตะวันตกอีกด้วย

กระแสดนตรีป๊อปของโลก

ป๊อปนัสยิดได้นำกระแสสากลของดนตรีป๊อปสมัยใหม่มาใช้และได้ปรับตัวให้เข้ากับกระแสดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในวงดนตรีวัยรุ่นชายล้วนของอังกฤษและอเมริกา โครงสร้างของดนตรีโดยรวมของป๊อปนัสยิด ประกอบด้วยเสียงร้องเดี่ยว เสียงร้องประสาน และเสียงดนตรีช่วงสั้น ๆ สลับกันไป ช่วงประสานเสียงจะมี 2 หรือ 3 เสียง วงดนตรีอย่างดีโวทีส์ เฟอร์เดาส์ และเมสทิกาทดลองใช้รูปแบบและจังหวะฮิปฮ็อป ร็อค และจังหวะพื้นบ้านของวัฒนธรรมอื่นตามลำดับ มีการผสมผสานใช้เครื่องดนตรีต่างชาติเช่นกลองคองก้า กระดึงวัว        เชคเกอร์ คีย์บอร์ด หรือซินธิไซเซอร์เข้ากับกลองหนังและกลองยาวในท้องถิ่น มีการแสดงสดจัดขึ้นในสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ตซึ่งใช้ระบบแสงสีเสียงดิจิทัลรุ่นล่าสุด

มีการทำให้ป๊อปนัสยิดเป็นเรื่องเชิงพาณิชย์และอยู่ในรูปแบบที่เหมาะจะออกจำหน่ายในตลาดโดยบริษัทบันทึกเสียงเช่น บริษัทย่อยข้ามชาติของวอร์เนอร์ อีเอ็มไอ และบีเอ็มจี การจำหน่ายป๊อปนัสยิดทำในรูปของซีดี วีซีดี และเทปคาสเซ็ท กลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทข้ามชาติดังกล่าวคือ การแสดงสด คลิปวิดีโอ เว็บไซต์ นิตยสารแฟนเพลง การแจกลายเซ็น โปสเตอร์ เสื้อยืด และของที่ระลึกอื่น ๆ การส่งเสริมการขายลักษณะนี้ทำให้อัลบั้มแรกของวงไรฮันที่ชื่อ ปูจี-ปูจียัน (1997) มียอดขายกว่า 650,000 แผ่น ติดอันดับหนึ่งอัลบัมขายดีที่สุดในมาเลเซียในขณะนั้น (NST 24 มีนาคม 2000) ในปี ค.ศ. 2000 วงไรฮันมีภาพยนตร์เรื่องแรกออกฉายชื่อ ซยูกุร์ 21 (ขอบคุณ 21) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้ผลดีอีกวิธีหนึ่งสำหรับนัสยิดและสาร      ดักวาห์

คลิปวิดีโอป๊อปนัสยิดมีลักษณะเหมือนกับมิวสิควิดีโอของวัฒนธรรมอื่น ๆ ในโลกเช่นกัน กล่าวคือมีภาพสีและขาวดำสลับกันไป รูปแบบของมิวสิควิดีโอนัสยิดที่ใช้กันมากที่สุดคือผู้ขับร้องลิปซิงค์ในฉากที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ซึ่งรวมถึงภาพภูเขา แม่น้ำ และทะเลทราย ซึ่งล้วนเป็นสรรพสิ่งที่พระอัลเลาะห์ทรงสร้างขึ้น และภาพมุสลิมสวดละหมาดในมัสยิด มีการฉายมิวสิควิดีโอนัสยิดเป็นประจำทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ เหมือนกับดนตรีป๊อปแบบอื่นๆ ในโลก ส่วนวีซีดีสามารถหาซื้อได้ทั่วไปเพื่อการชมหรือขับร้องคาราโอเกะภายในบ้า

มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเช่นคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการผลิตและการตลาด ซึ่งเป็นไปตามกระแสดนตรีป๊อปของโลก วงนัสยิดที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง แฟนเพลงจะลงบันทึกเข้าเว็บไซต์เพื่อฟังหรือดาวน์โหลดเพลงโปรดและเนื้อเพลง สนทนากับแฟนเพลงคนอื่น ๆ ดูรูปและคลิปวิดีโอของนักร้อง และอ่านประวัติชีวิตของสมาชิกในวง (ดูตัวอย่างได้ที่ www.raihan.com.my, www.rabbani.com.my, www.hijjaz.com.my และ www.mawaddah.com.my) มีอีโซน  เว็บศูนย์รวม บลอก กระดานสนทนา และเว็บไซต์อื่น ๆ เกี่ยวกับนัสยิดเช่นกัน (ตัวอย่างเช่น www.nasyeed.com.my และ www.liriknasyid.com) 7เพลงนัสยิดยังสามารถดาวน์โหลดเข้าโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้เป็นเสียงเรียกเข้าอีกด้วย Sarkissian (2005: 145) ชี้ให้เห็นได้อย่างถูกต้องว่า “อินเทอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทั้งในการเผยแพร่นัสยิดและการสร้างความรู้สึกการเป็นสมาชิกชุมชนเดียวกันขึ้นระหว่างวงดนตรีและแฟนเพลง”

อิสลามสากลสมัยใหม่

นอกจากจะปรับให้เข้ากับกระแสดนตรีป๊อปสากลแล้ว ผู้ขับร้องและผู้ชมนัสยิดยังรู้สึกมีอัตลักษณ์เดียวกับมุสลิมสมัยใหม่ทั่วโลกผ่านทางแก่นความคิดอิสลามที่เป็นสากลในเนื้อเพลงและการใช้คำอารบิก ลักษณะดนตรีแบบตะวันออกกลางและการใช้คุณลักษณะเฉพาะของเสียงในการขับร้อง มีการใช้ภาพมุสลิมสวดละหมาดในมัสยิดจากส่วนต่าง ๆ ของโลกและภาพมุสลิมแสวงบุญที่เมืองเม็กกะเป็นฉากหลังอีกด้วย ผู้ขับร้องชายหลายคนสวมใส่เสื้อเชิร์ตอิสลามแบบสากลหรือบาจูเมลายู (เสื้อเชิร์ตยาวของมาเลย์) ยาวคลุมเข่า และโกปีอะห์ (หมวกผ้าไม่มีปีก) สีพาสเทลหรือสีเข้ม ต่อมาวงดนตรีอย่างดีร์วานา นาวซีฮาร์ทและอิน-ทีมสวมใส่เสื้อเชิร์ตลำลองหรือเสื้อคอโปโลและแจ๊คเก็ตแบบตะวันตก

กฎระเบียบเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการแต่งกายของผู้ขับร้องหญิงแสดงอัตลักษณ์เดียวกับมุสลิมทั่วโลกเช่นกัน มีวงดนตรีหญิงอยู่บ้างแต่เป็นส่วนน้อย และไม่เหมือนกับนัสยิดเอราบารูตรงที่ไม่มีชายและหญิงในวงดนตรีเดียวกัน นักดนตรีและผู้ขับร้องหญิงคลุมศีรษะอย่างที่หญิงสาวในหลาย ๆ ส่วนของโลกมุสลิมปฏิบัติเมื่อปรากฏตัวในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตามเครื่องแต่งกายที่ใช้สวมใส่เป็นเสื้อเชิร์ตยาว สีสันสดใส ที่เรียกว่าบาจูคูรุง (ชุดยาวมาเลย์) และมีการใช้ผ้าโพกศีรษะอย่างสร้างสรรค์และทันสมัย Gole (2002: 177, 180) ชี้ให้เห็นว่าผ้าคลุมหน้าหรือคลุมศีรษะนั้น “สตรีรุ่นใหม่นำมาใช้ … เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แสดงความแตกต่างในบริบทความเป็นสมัยใหม่แบบที่ไม่ใช่ตะวันตก” ในบริบทมุสลิม การที่สตรีมีส่วนร่วมในการแสดงและการสวมใส่เทเลกุงถือว่ามีความเป็นสมัยใหม่ ถึงแม้ว่ามีข้อจำกัดต่าง ๆ ในเรื่องการมีส่วนร่วมของสตรี นัสยิดเสนอแนวทางใหม่ ๆ ที่สตรีมุสลิมใช้แสดงออกในที่สาธารณะ

เพื่อเป็นการแสดงความห่วงใยพี่น้องมุสลิมในส่วนอื่น ๆ ของโลก วงดนตรีนัสยิดอย่างไรฮัน รับบานี บราเธอร์ส เซาจานา ฮิจจัซ และนาวซีฮาร์ทได้บันทึกอัลบัมเพื่อหารายได้สำหรับผู้ลี้ภัยชาวโคโซโวในปี ค.ศ. 1999 ในลักษณะเดียวกัน มีการนำรายได้ส่วนหนึ่งของอัลบัมอามัน (สันติภาพ) ของรับบานีไปช่วยผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถาน (NST 16 พฤศจิกายน 2001) วงดนตรีหญิงล้วนมาวัดดาห์ยังได้แต่งเพลงหลายเพลงเกี่ยวกับภัยธรรมชาติจากคลื่นยักษ์สึนามิในหมู่บ้านอาเจะ (ดู www.mawaddah.com.my)

ป๊อปนัสยิดใหม่นี้ยอมรับว่ามุสลิมชนชาติต่าง ๆ และผู้นับถือศาสนาอื่นอยู่ร่วมกันได้ เช่นเดียวกับในนัสยิดเอราบารู มีการขับร้องป๊อปนัสยิดเป็นภาษาต่าง ๆ เช่นมาเลย์ อารบิก จีนกลาง  และอูรดูเพื่อดึงดูดผู้ชมชนชาติและเชื้อชาติต่าง ๆ กัน อัลบั้มซยูกุร์ (ขอบคุณ ปี 1997) ของวงไรฮันมียูซุฟ อิสลาม (ก่อนหน้านี้ชื่อแคท สตีเว่นส์) มาร่วมร้อง และมีบางเพลงร้องเป็นภาษาอังกฤษ เพลงภาษาอังกฤษเพลงหนึ่งชื่อพระเจ้าคือความสว่าง แต่งโดยยูซุฟ อิสลาม ร้องโดยยูซุฟ อิสลามและวงไรฮัน มีการใช้กลองกมปังและเรบานาของมาเลย์ และเครื่องเคาะอื่น ๆ ประกอบ ส่วนเนื้อเพลงเป็นการสรรเสริญพระอัลเลาะห์ดังนี้

มหัศจรรย์แห่งสวรรค์ช่างยิ่งใหญ่ … และความงามไร้กาลเวลาแห่งราตรี … ถ้าเป็นเช่นนั้นพระผู้สร้างช่างยิ่งใหญ่อะไรเช่นนี้ … และดวงดาวเป็นดั่งอัญมณีล้ำค่าเกินเอื้อมหัตถ์ของกษัตริย์ใด …

อัลบัมเกมาอลัม (เสียงสะท้อนของโลก) ของวงไรฮันในปี ค.ศ. 2003 มีเพลงภาษาจีนกลางเพลงหนึ่งชื่อซิงไอ้ซิงไอ้ (ความรักที่มีต่อพระเจ้า) คณะผู้ขับร้องได้แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงภาษาจีนกลางเพราะ “วงไรฮันมีแฟนเพลงในชุมชนมุสลิมทางตอนใต้ของประเทศจีน เห็นได้ชัดว่าแฟนเพลงกลุ่มนี้ชอบดนตรีแม้จะไม่เข้าใจเนื้อร้องมาเลย์” (Star 5 กุมภาพันธ์ 2003) เพลงที่ได้รับความนิยมล่าสุดของวงไรฮันชื่ออัลลาฮู (พระอัลเลาะห์ของฉัน) ขับร้องเป็นภาษาอูรดูและมาเลย์ โดยปรับมาจากเพลงคาวัลลี (ดนตรีทางศาสนาของกลุ่มซูฟีในอินเดียและปากีสถาน) ขับร้องโดยนุซรัต ฟาเตะห์ อาลี คาน มีเนื้อร้องสรรเสริญพระเจ้า (Star 11 มิถุนายน 2004)

ผู้ขับร้องเพลงนัสยิดกำลังสร้างความสัมพันธ์อันมั่นคงกับมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมุสลิมในส่วนอื่น ๆ ของโลกผ่านทางความร่วมมือและการแสดงในชุมชนมุสลิมหลายแห่ง วงไรฮันได้บันทึกเสียงร่วมกับยูซุฟ อิสลาม แสดงร่วมกับวงดนตรีป๊อปชื่อชีล่าออนเซเว่นและวงนัสยิดชื่อซนาดาของอินโดนีเซีย และเคยได้รับเชิญไปแสดงในคูเวตและประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ อังกฤษ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และแคนาดา วงมาวัดดาห์ออกทัวร์คอนเสิร์ตในเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และออสเตรเลีย (NST 6 พฤศจิกายน 2004) วงดนตรีมาเลเซียอย่างไรฮันและรับบานีและวงดนตรีอินโดนีเซียอย่างซนาดาและฮัดดัดอัลวีได้รับความนิยมในทั้งสองประเทศ ซีดีและวีซีดีของวงเหล่านี้มีวางจำหน่ายในทั้งสองประเทศ (Barendregt 2003) สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ยืนยันว่ามีการสร้างชุมชนอิสลามของโลกขึ้นแล้ว

อัตลักษณ์ท้องถิ่น

วงดนตรีป๊อปนัสยิดได้พยายามแสดงอัตลักษณ์ของมาเลเซียท้องถิ่นในบทเพลงของตนด้วยเช่นกัน อัลบัมปูจี-ปูจียันของวงไรฮันใช้กลองหนังมาเลย์เช่นกมปังและเรบานาซึ่งมักใช้ตีประกอบเพลงอิสลามบางประเภท กลองเหล่านี้ใช้ระหว่างจังหวะพื้นฐานมาซรีซึ่งใช้ประกอบการเต้นรำเพื่อความเพลิดเพลินในมาเลเซียและคล้ายกับจังหวะที่ใช้ในการเต้นรำเบเลดีในตะวันออกกลาง นอกเหนือจากภาพของอิสลามในบริบทนานาชาติ คลิปวิดีโอของวงไรฮันหลาย ๆ คลิปยังแสดงทัศนียภาพในท้องถิ่น อาทิตึกระฟ้าทันสมัยในกรุงกัวลาลัมเปอร์และมัสยิดในเมืองเล็ก ๆ ของมาเลเซีย

วงรับบานีได้ทดลองใช้เสียงใหม่ ๆ เรื่อยมาและใส่เพลงชาวบ้านของมาเลเซีย อาทิลากูอูลิคมายัง (เพลงจากละครอูลิคมายัง) และเวาบูลัน (ว่าวพระจันทร์) ไว้ในอัลบัมของตนด้วย (www.utusan.com.my 29 กุมภาพันธ์ 2000) วงรับบานีได้เชิญนักแต่งเพลงอย่างบง (ผู้ผลิตของอามุก) ปัก งะห์ (มีชื่อเสียงทางด้านดนตรีพื้นเมือง) และเคอาร์ยู (วงป๊อปแร็พ) ให้มีส่วนร่วมในอัลบัมอินตีฟาดา (ความรุ่งเรือง อีเอ็มไอ 2001) ซึ่งผสมผสานกันระหว่างดนตรีพื้นเมือง ดนตรีป๊อป และดนตรีพื้นเมืองจากวัฒนธรรมอื่น เนื้อร้องของเพลงซึ่งเป็นชื่ออัลบัมเป็นเรื่องของการก้าวขึ้นสู่ความมีชื่อเสียงของวงรับบานีในวงการดนตรีจนพัฒนามาถึงสถานภาพในปัจจุบัน จังหวะของอัลบัมนั้นคึกคักกว่าป๊อปนัสยิดอื่น ๆ และปิดท้ายด้วยท่อนดนตรีซึ่งบรรเลงโดยกาเมลัน เซรูไน และกลองของมาเลเซีย อัลบัมเอ็มทีวีคีบลัต (2547) ของวงรับบานีได้นำอีนังซึ่งเป็นจังหวะเต้นรำเพื่อความเพลิดเพลินของมาเลเซียและดังดุทซึ่งเป็นดนตรีป๊อปแบบหนึ่งมาใช้ มีการผสมผสานการเล่นเครื่องดนตรีอย่างตาบลาของอินเดียเข้ากับกมปังและเรบานาของมาเลเซียและกลองคองก้า

ผู้ขับร้องนัสยิดมาเลเซียเล่าเรื่องต่าง ๆ ในบทเพลงเกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่แบบอิสลาม การตีความแบบท้องถิ่นปรากฏขึ้นเมื่อสารอิสลามสากลมีปฏิสัมพันธ์กับวาทกรรมระดับชาติเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศและการทำให้ทันสมัย ได้มีการวาดภาพสารวิสัยทัศน์ 2020 และการสร้างชาติเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้มีอัตลักษณ์ด้านจิตวิญญาณและวัฒนธรรมเป็นของตนเองในภาพยนตร์ของเมโทรเวลธ์มูวี่เรื่องซยูกุร์ 21 ซึ่งใช้ทุนสร้าง 1.8 ล้านริงกิต เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นในคริสตศตวรรษที่ 21 ที่เมืองไฮเทคในจินตนาการชื่อเราดาห์ซึ่งมีเขตที่อยู่อาศัย เขตพักผ่อนหย่อนใจ ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา และหน่วยงานราชการเป็นของตนเอง (ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2021 หนึ่งปีหลังจากมาเลเซียมุ่งหวังว่าจะบรรลุวิสัยทัศน์ 2020 และไม่ใช่เรื่องบังเอิญเช่นกันที่การถ่ายทำมีขึ้นที่เมืองปุตราจายา เมืองหลวงใหม่ของมาเลเซีย ซึ่งมีความทันสมัยและเป็นที่ตั้งสถานที่ราชการ) เมืองเราดาห์มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและใช้ระบบคอมพิวเตอร์อันซับซ้อนในการดำเนินการต่าง ๆ คามัล วิศวกรชาวมาเลเซียซึ่งทำงานกับองค์การนาซาในนิวยอร์คมาเป็นเวลา 30 ปีถูกส่งตัวมาที่นี่ในโครงการแลกเปลี่ยน หายนะอุบัติขึ้นเมื่อกลุ่มคนท้องถิ่นนำโดยอัซมีพยายามทำลายล้างโครงการของคามัล ผลคือวาตภัย อุทกภัย และการสูญเสียชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างจบลงด้วยดีเมื่อกลุ่มของอัซมีกลับใจ ขอให้คามัลให้อภัยและอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระอัลเลาะห์ สารของไรฮันกล่าวไว้อย่างชัดเจนในเพลงปิดท้ายเรื่อง

โอ พระเจ้า ข้าไม่คู่ควรกับความรักของพระองค์ … โปรดทรงอภัยให้ข้าและยอมรับการกลับใจของข้า … พระองค์ทรงมีพระเมตตาสูงสุด … พวกเราเป็นข้ารับใช้ของพระองค์ … อภัยโทษจากพระเจ้า … ไม่ว่าผู้ใดจะทำการทางวิทยาศาสตร์ใดสำเร็จ ก็ไม่มีผู้ใดยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้า … กฏแห่งวิทยาศาสตร์คือกฎแห่งพระอัลเลาะห์ …

ผู้อำนวยการของเมโทรเวลธ์มูวี่ โมฮัมหมัด อาลิฟ นัจมีกล่าวว่า “ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เรากำลังอาศัยอยู่ในโลกยุคใหม่ซึ่งไม่ได้สูญเสียเรื่องความเป็นมนุษย์และความรัก (NST 24 มีนาคม 2000 และดู www.movies.mwig.com)

หลังจากนั้นวงมาวัดดาห์ได้ออกอัลบัมชื่ออิสลามฮัจจารี (อิสลามอารยะ) พร้อม ๆ กับที่อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้เริ่มเผยแพร่หลัก 10 ประการในชื่อเดียวกัน หลัก 10 ประการอิสลามฮัจจารี “มุ่งที่จะให้มุสลิมชาวมาเลเซียมีความสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก” และประกอบด้วย “ความเชื่อและความศรัทธาในพระอัลเลาะห์ รัฐบาลที่เที่ยงธรรมและไว้วางใจได้ ชนชาติที่เป็นไท การมีความรู้ที่นำไปใช้ได้ การพัฒนาเศรษฐกิจโดยสมดุลและทั่วถึง คุณภาพชีวิตที่ดี การปกป้องสิทธิ์ของสตรีและชนกลุ่มน้อย ความยึดมั่นในวัฒนธรรมและศีลธรรม การรักษาสิ่งแวดล้อม และการป้องกันประเทศอย่างเข้มแข็ง (Star 24 กันยายน 2004) ตัวอย่างเพลงในอัลบัมของมาวัดดาห์คือมัสยารากัตฮาร์โมนี (สังคมสามัคคี) มาเลเซียอินดาห์ (มาเลเซียสวยงาม) และอิสลามยังเตลาห์เคมบัง (อิสลามที่รุ่งเรือง) เพลงซึ่งเป็นชื่ออัลบัมเรียกร้องให้มุสลิมรุ่นใหม่สร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ที่เน้นความมีขันติธรรม การร่วมมือกับผู้อื่น ความเชื่อในพระเจ้า และความขยันขันแข็ง (ดูเนื้อเพลงได้ที่ www.mawaddah.com.my)

ความตึงเครียดเชิงศิลปะ

นัสยิดใหม่ซึ่งมีรูปแบบเชิงพาณิชย์แต่ยังคงความเป็นอิสลามแสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดต่าง ๆ ที่เป็นหัวข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ และนิตยสารแฟนเพลง ในขณะที่นักวิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับการนำดนตรีดักวาห์ของอิสลามมาค้าขายเชิงพาณิชย์ นักดนตรีกลับรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่พึงทำได้ตราบใดที่มีการแสดงสารของอิสลาม วงไรฮันกล่าวว่า “ความสำเร็จทำให้เราถ่อมตัวถ่อมใจมากขึ้นไปอีก เราเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าความสำเร็จมีอยู่ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น” (Star 11 มิถุนายน 2004)

นักวิจารณ์และนักดนตรียังเห็นไม่ตรงกันในเรื่องรูปแบบของป๊อปนัสยิดอีกด้วย (Malay Mail 6 เมษายน 2004) วงรับบานีถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ออกนอกลู่นอกทางและหันเหออกจากบรรทัดฐานของนัสยิด” บางคนเห็นว่าเพลงอินตีฟาดาของวงรับบานี “ฟังดูเป็นเพลงป๊อปมากเกินกว่าที่จะสื่อสารของอิสลาม” (Star 9 เมษายน 2001) นักดนตรีอื่น ๆ กล่าวว่าดนตรีรูปแบบต่าง ๆ อาจนำมาใช้ได้ตราบใดที่มีการสื่อสารที่ต้องการออกมา วงดนตรีอย่างรับบานีเห็นว่า “การทำนัสยิดให้เป็นสากลและเป็นเรื่องพาณิชย์จะช่วยให้ความฝันของพวกเขาในการเผยแพร่สารของอิสลามเป็นจริง” (NST 13 มกราคม 2001)

นอกจากนี้ความตึงเครียดยังมีขึ้นเมื่ออิสลามอนุรักษ์นิยมโต้เถียงว่าการขับร้องของสตรีในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เพราะเสียงของสตรีนั้น “เอารัต” ดซุลกีฟลี อับดุล ราซัก ผู้ผลิตของวงมาวัดดาห์ แสดงความไม่เห็นด้วยโดยกล่าวว่า “ตราบใดที่ [การขับร้องของสตรี] … ไม่ได้ทำให้แฟนเพลงหลงใหลในตัวผู้ขับร้องหรือชักนำให้ออกนอกลู่นอกทาง การขับร้องของสตรีย่อมเป็นเรื่องยอมรับได้” เขาชี้แจงต่อไปว่านักร้องในวงมาวัดดาห์ทุกคนต้อง “ใช้ชีวิตแบบอิสลาม … มีการสอนไม่ให้แสวงหาชื่อเสียง แต่ให้อุทิศตัวกับการเผยแพร่สารของอิสลาม” มูร์ชีดาห์ มุซตาฟา ผู้จัดการวงมาวัดดาห์อธิบายว่านักร้องวัยรุ่นหญิงในวงนำโดยเคาลาห์ อัซฮาอารี บุตรีของ อัซฮาอารี มูฮัมหมัด อดีตผู้นำดารุลอาร์คัมได้ “เลิกสวมใส่ผ้าคลุมหน้าและเสื้อผ้าสีเข้มซึ่งเป็นลักษณะของสตรีดารุลอาร์คัมรุ่นก่อนแล้ว … เครื่องแต่งกายแบบเก่าไม่เหมาะสมอีกต่อไป … เราต้องการแสดงภาพของอิสลามว่าเป็นศาสนาซึ่งงดงาม รูปลักษณ์ซึ่งดึงดูดใจเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง อย่างไรก็ตาม เราต้องแน่ใจว่านักร้องของเราไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดรูปหรือเปิดเผยมากเกินไป (NST 6 พฤศจิกายน 2004 ดูภาพเครื่องแต่งกายของวงมาวัดดาห์ได้ที่ห้องภาพใน www.mawaddah.com.my)

ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปในแวดวงอิสลามอนุรักษ์นิยมว่าควรอนุญาตให้มีการแสดงดนตรีสดหรือไม่ ชาวอิสลามอนุรักษ์นิยมหลายคนมองว่าดนตรีป๊อปอาจทำให้ผู้คนลืมหน้าที่ทางศาสนาของตน ในรัฐกลันตันซึ่งมีการห้ามการแสดงศิลปะพื้นเมืองและดนตรีร็อค รัฐบาลพรรคอิสลามแห่งมาเลเซียดูเหมือนจะมีท่าทีอ่อนลงเกี่ยวกับการแสดงคอนเสิร์ตดนตรีที่ได้รับความนิยม เพื่อเรียกคะแนนเสียงกลับคืนมาหลังจากที่เสียไปให้แก่พรรคสหมาเลเซีย (UMNO) ที่ปกครองประเทศในการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2004 ทั้ง ๆ ที่มีความเห็นไม่ตรงกันในหมู่ผู้ขับร้อง การแสดงสดในคอนเสิร์ตโดยนักร้องเพลงป๊อปขวัญใจประชาชนที่เป็นผู้ชนะมาจากรายอะคาเดมีแฟนเตเชีย ชื่อ อัซมาอาวี อานี (รู้จักกันทั่วไปในชื่อว่ามาวี) นักร้องลายคราม เอ็ม นาซีร์ วงนัสยิดรับบานีและนักดนตรีร็อคที่เปลี่ยนมาร้องแนวดักวาห์ที่ชื่อ อาคิล ฮัยย์ ได้จัดให้มีขึ้นเป็นการแสดงปิดท้ายอย่างยิ่งใหญ่ในงานเฉลิมฉลองการประกาศรัฐกลันตันเป็นเมืองอิสลาม เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2005 อย่างไรก็ตาม ในการจัดคอนเสิร์ตนี้มีสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดคือไม่ให้มีการเต้นหรือเคลื่อนไหวร่างกายประกอบเพลงมากเกินไป ไม่มีการแสดงของผู้ขับร้องสตรี เพลงที่นำมาขับร้องต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับอิสลามเท่านั้น และผู้ชมชายหญิงต้องนั่งแยกกัน (Sunday Star 18 กันยายน 2005)

ในการศึกษาพัฒนาการดนตรีนี้ ข้าพเจ้าได้พยายามแสดงให้เห็นว่ามีการทำให้นัสยิดมีหลายรูปแบบและมีความเป็นสากลในสองทศวรรษที่ผ่านมา ป๊อปนัสยิดดึงดูดอิสลามรุ่นใหม่ผู้ซึ่งกระตือรือร้นที่จะปรับความเชื่อทางศาสนาให้เข้ากับเสน่ห์ดึงดูดของความเป็นสมัยใหม่และดนตรีป๊อป ป๊อปนัสยิดมีบทบาทสำคัญในการสร้างมุสลิมยุคใหม่และเป็นเวทีให้ชาวมุสลิมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่แบบของอิสลามในมาเลเซีย นักดนตรีพยายามแสดงภาพอิสลามสายกลางสมัยใหม่ผ่านป๊อปนัสยิด ในขณะที่พรรคการเมืองอย่างพรรคอิสลามแห่งมาเลเซียใช้ป๊อปนัสยิดเพื่อการหาเสียงในกลุ่มคนรุ่นใหม่และเพื่อแสดงให้คนต่างศาสนาเห็นว่าพรรคไม่ได้แข็งกร้าวและล้าสมัยอย่างที่มีผู้วิจารณ์ไว้

โดยตันโซยเบ็ง

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 8 (March 2007)


ปาฐกถาของโฆเซ ดาลิเซย์ จูเนียร์* ที่กล่าวในการสัมมนานานาชาติ ครั้งที่ 4 เรื่องวรรณกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน ค.ศ.2005

บรรณานุกรม

Ahmad Fauzi Abdul Hamid. 2005. “Contestations and Peace Building between the State and Autonomous Islam in Malaysia.” Paper presented at the Regional Workshop, “Peace Building in Multi-Ethnic, Multi-Religious Southeast Asia,” School of Social Sciences, Universiti Sains Malaysia, in collaboration with The Ford Foundation, Jakarta, 29 April-1 May 2005, City Bayview Hotel, Penang.
Al Faruqi, Lois Ibsen Lamya. 1985. “Music, Musicians and Muslim Law.” Asian Music 17(1): 2-36.
Barendregt, Bart. 2003. “Nasyid in the Making: Transnational Soundscapes for Muslim Southeast Asia.” Paper presented at the KITLV International Workshop on Southeast-East Asian Studies, South-East Asian Pop Music in a Comparative Perspective, 8-12 December 2003, Leiden.
Barendregt, Bart, and Wim van Zanten. 2002. “Popular Music in Indonesia; Mass-mediated Fusion, Indie and Islamic Music since 1998.” Yearbook for Traditional Music 34: 67-113.
Gole, Nilufer. 2002. “Islam in Public: New Visibilities and New Imaginaries.” Public Culture 14(1): 173-190.
Hefner, Robert. W. 1997. “Islam in an Era of Nation-States: Politics and Religious Renewal in Muslim Southeast Asia.” In Islam in an Era of Nation-States: Politics and Religious Renewal in Muslim Southeast Asia, ed. Robert W. Hefner and Patricia Horvatich, 3-42. Honolulu: University of Hawaii Press.
Kahn, Joel. 2003. “Islam, Modernity, and the Popular in Malaysia.” In Virginia Hooker and Noraini Othman, ed., Islam, Society and Politics. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.
KKBS (Kementerian Kebudayaan, Belia dan Sukan Malaysia or Ministry of Culture, Youth and Sports Malaysia). 1973. Asas Kebudayaan Kebangsaan [Basis of National Culture]. Kuala Lumpur.
Mahathir Mohamad. 1991. Malaysia: The Way Forward. Vision 2020. Kuala Lumpur: Centre for Economic Research and Services, Malaysian Business Council.
Matusky, Patricia, and Tan Sooi Beng. 2004. The Music of Malaysia: The Classical, Folk and Syncretic Traditions. Aldershot: Ashgate Press.
Performance Booklet. 1995. Special Performance Presentation (Closing Night), An Islamic Performance, Mashaaliman Concept, With the Cooperation of Institut Teknologi Mara, 11 January, PWTC, Kuala Lumpur.
Roff, William. 1967. The Origins of Malay Nationalism. Kuala Lumpur: University of Malaya Press.
Sarkissian, Margaret. 2005. “Religion Never Had It So Good: Contemporary Nasyid and the Growth of Islamic Popular Music in Malaysia.” Yearbook for Traditional Music 37: 124-152.
Shamsul A. B. 1997. “Identity Construction, Nation Formation, and Islamic Revivalism in Malaysia.” In Islam in an Era of Nation-States: Politics and Religious Renewal in Muslim Southeast Asia, ed. Robert W. Hefner and Patricia Horvatich, 207-231. Honolulu: University of Hawaii Press.
Tan Sooi Beng. 1990. “The Performing Arts in Malaysia: State and Society,” Asian Music, 21 (1): 137-171.

Websites (last accessed 26 January 2014)

 www.hijjaz.com.mywww.mawaddah,com.my,  www.nasyeed.com.my, www.liriknasyid.com

 

Notes:

  1. Al Faruqi (1985) กล่าวว่าการแสดงดนตรีในอิสลามมี 3 ประเภทคือ (1) ประเภทถูกต้อง (ฮาลัลหรืออนุญาต) ประกอบด้วยดนตรีรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายการสวดคัมภีร์โกหร่าน ที่เรียกว่านนมูซีกา (ไม่ใช่ดนตรี) (2) ประเภทซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงว่าถูกต้องหรือไม่ (ฮาลัลหรืออนุญาต มูบาอะห์หรือไม่มีความเห็น มากรูอุห์หรือไม่ชื่นชอบ และฮารัมหรือต้องห้าม) ซึ่งถือว่าเป็นมูซีกา และ (3) ประเภทไม่ถูกต้อง (ฮารัม) ถือว่าเป็นมูซีกาซึ่งใช้ประกอบพิธีกรรมซึ่งไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของอิสลาม นัสยิดเป็นการอ่านโคลงซึ่งมีแก่นเรื่องสูงส่ง จึงจัดว่าเป็นฮาลัล นนมูซีกา
  2. Al Faruqi (1985) กล่าวว่าการแสดงดนตรีในอิสลามมี 3 ประเภทคือ (1) ประเภทถูกต้อง (ฮาลัลหรืออนุญาต) ประกอบด้วยดนตรีรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายการสวดคัมภีร์โกหร่าน ที่เรียกว่านนมูซีกา (ไม่ใช่ดนตรี) (2) ประเภทซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงว่าถูกต้องหรือไม่ (ฮาลัลหรืออนุญาต มูบาอะห์หรือไม่มีความเห็น มากรูอุห์หรือไม่ชื่นชอบ และฮารัมหรือต้องห้าม) ซึ่งถือว่าเป็นมูซีกา และ (3) ประเภทไม่ถูกต้อง (ฮารัม) ถือว่าเป็นมูซีกาซึ่งใช้ประกอบพิธีกรรมซึ่งไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของอิสลาม นัสยิดเป็นการอ่านโคลงซึ่งมีแก่นเรื่องสูงส่ง จึงจัดว่าเป็นฮาลัล นนมูซีกา
  3. นักเรียนนับพัน ๆ คนรวมถึงสมาชิกดักวาห์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ร่วมประท้วงต่อต้านความหิวโหยและความยากจนของชาวนาในปี ค.ศ. 1974
  4. องค์กรดักวาห์ที่สำคัญ 2 องค์กรคือ ดารุลอาร์คัมและเอบีไอเอ็ม ดารุลอาร์คัมเป็นองค์กรที่เน้นการอยู่เป็นชุมชนบนที่ดิน ทำงานเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้ทางเศรษฐกิจและถูกปิดตัวลงในปี ค.ศ. 1994 ส่วนเอบีไอเอ็ม (อังกาตัน เบเลีย อิสลาม มาเลเซีย องค์กรเยาวชนอิสลามชาวมาเลเซีย ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1971) เป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยและมีสมาชิกซึ่งมีส่วนรวมในการเมืองระบบพรรคด้วย ดูการอภิปรายเพิ่มเติมได้ที่ Shamsul (1997)
  5. อก่อนหน้านี้มีการปฏิรูปอิสลามให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ในทศวรรษ 1920 และ 1930 โดยมีกลุ่มคาอุม มูดา (กลุ่มเยาวชน) เป็นหัวหอก (Roff 1967) และให้วิสัยทัศน์ของสังคมสมัยใหม่ที่ยังคงความเป็นอิสลามซึ่งจะนำความก้าวหน้ามาสู่ชาวมาเลย์
  6. ในปี ค.ศ.1971 มีการลงมติในสภาแห่งชาติว่าวัฒนธรรมแห่งชาติมาเลเซียควร “มีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมของผู้ที่เป็นคนพื้นเมืองในแถบนี้” และ “อาจมีการนำวัฒนธรรมอื่นในส่วนที่เหมาะที่ควรและสมเหตุสมผลมาผสมผสาน” และ “อิสลามจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ” (KKBS 1973: vii)

  7. ดูรายชื่อนิตยสารในอินเทอร์เน็ต เว็บศูนย์รวม กระดานสนทนาเกี่ยวกับนัสยิดในมาเลเซียได้ใน Barendregt and van Zanten (2002)