มองสถานการณ์ภาคใต้ผ่านแว่น “กบฏชาวนา”๑ พระเอกคือคนเล็กๆ

Nidhi Aeusrivongse

        

พระเอกคือคนเล็กๆ

ปฏิเสธได้ยากว่า สถานการณ์ที่เกิดในภาคใต้ในรอบปีนี้เป็นความเคลื่อนไหวทางสังคม มีคนร่วมอยู่ในเหตุการณ์นับเป็นร้อย ถ้ารวมคนที่อาจสนับสนุนให้สามารถปฏิบัติการได้ ก็นับได้เป็นพันหรืออาจจะมากกว่านั้น

ผมไม่สนใจว่าความเคลื่อนไหวทางสังคมที่กว้างใหญ่ไพศาลขนาดนี้ มีใครเป็นผู้นำ ใครเป็นผู้บงการ หรือได้รับการอุดหนุนจากใครบ้าง เพราะการมองหา “หัวโจก” ไม่ช่วยให้เราเข้าใจอะไรเลย นี่ไม่ใช่เหตุการณ์โดดๆ เช่น ปล้นปืนทหาร สังหารเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เผาโรงเรียน หรือใช้กองกำลังโจมตีหน่วยตำรวจ แต่เป็นความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ไม่มีใครสามารถบงการหรือล่อลวงคนจำนวนมากเช่นนี้ออกมาปฏิบัติการร้ายแรงเช่นนี้ได้ (แม้แต่อาศัยยาเสพติด) แต่ต้องมีปัจจัยบางอย่างที่ผลักดันให้ผู้คนเล็กๆ เหล่านี้เคลื่อนไหวเพื่อจุดประสงค์บางอย่างร่วมกัน จะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดในภาคใต้ได้ จำเป็นต้องเข้าใจปัจจัยเงื่อนไขที่แวดล้อมชีวิตของคนเล็กๆ เหล่านี้

รัฐอำนาจนิยมมักไม่สนใจคนเล็กๆ ที่ร่วมอยู่ในความเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะรัฐอำนาจนิยมไม่เคยคิดว่าประชาชนคนธรรมดาสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือสังคมได้ด้วยตัวเอง ต้องมีคนหรืออามิสหรือคำหลอกลวงเป็นผู้ชักจูงเสมอ

ถึงแม้จะมีคนหรืออามิสหรือคำหลอกลวงชักจูง ทั้งหมดเหล่านี้ก็ไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมของคนเล็กๆ ที่ร่วมอยู่ในขบวนการได้อยู่นั่นเอง เพราะมีคนเล็กๆ อีกจำนวนมากที่เลือกจะไม่ร่วม และอีกมากที่เลือกจะร่วม เหตุใดคนกลุ่มหนึ่งจึงเลือกอย่างหนึ่ง และอีกกลุ่มหนึ่งเลือกอีกอย่างหนึ่ง

พระเอกคือใคร

บังเอิญเหตุการณ์ในวันที่ ๒๘ เมษายนซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จึงทำให้เราพอรู้บ้างว่าคนเล็กๆ เหล่านี้คือใคร

ถ้าดูกำลังคนที่ถูกส่งมาปฏิบัติการในวันที่ ๒๘ เมษายน ส่วนใหญ่เท่าที่ปรากฏข้อมูลในสื่อสาธารณะ ล้วนเป็นคนมาจากชนบท ทั้งนี้ตรงกับคำสัมภาษณ์ของแม่ทัพภาค ๔ ที่ว่าคนเหล่านี้ได้รับการฝึกอาวุธที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา หรือที่อำเภอกาบัง, ยะหา, ธารโต, อัยเยอร์เวง, เบตง จังหวัดยะลา แม่ทัพกล่าวว่าพื้นที่เหล่านี้ล้วนเป็นป่าเขา เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ (มติชน, ๓ พ.ค.)

คำสัมภาษณ์ของแม่ทัพภาค ๔ ตรงกับแหล่งข่าวทางทหารว่า มีการฝึกอาวุธอย่างลับๆ ให้แก่วัยรุ่น (ไม่แน่ใจว่าแปลว่าอะไร เพราะในภายหลังแถลงว่าอายุของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือ ๒๕-๓๐ ซึ่งไม่น่าจะเรียกว่าวัยรุ่นได้) ใช้พื้นที่ป่าเขาหรือใกล้หมู่บ้านที่ห่างไกล ผู้รับการฝึกสามารถเลื่อนฐานะในกลุ่มได้จากการทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว (Perspective ใน Bangkok Post, ๒ พ.ค.)

ผู้เขียนพยายามหารายละเอียดปูมหลังของครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่พบว่าไม่ได้รับความสนใจจากสื่อเอาเลย จึงได้รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้น้อยมาก

หนึ่งในผู้บาดเจ็บคือนายอับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ ชาวบ้านอำเภอโคกโพธิ์ ปัตตานี ภรรยาของเขาให้การว่ามีอาชีพรับจ้างกรีดยาง (มติชน, ๒ พ.ค.) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงฐานะที่ค่อนข้างยากจนของครอบครัว เป็นแรงงานรับจ้างในชนบทโดยไม่มีทุนของตนเองเลย

กำนันตำบลธารคีรีซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านสุโสะอันเป็นภูมิลำเนาของผู้ปฏิบัติการบุกโจมตีโรงพักอำเภอสะบ้าย้อย และเสียชีวิต ๑๙ คน กล่าวว่า “ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือเรื่องการศึกษา เพราะเด็กๆ ที่นี่ส่วนมากจะว่างงาน ไม่มีงานทำ เพราะไม่มีความรู้ จบแค่ประถม ๖ และสูงสุดแค่ ม.๓ ก็ไปกรีดยางช่วยพ่อแม่ นอกนั้นไม่ได้ทำอะไร” (มติชน, ๒ พ.ค.) ทั้งระดับการศึกษาและงานที่ทำส่อให้เห็นทำนองเดียวกันว่าล้วนเป็นเหยื่อแห่งความล่มสลายของชนบท

แม้ว่าบางรายอาจไม่ใช่ เช่น นายสารภู หยงมะเกะ และนายมะรอนิง หยงมะเกะ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตทั้งคู่ พ่อของเขาแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับลูกชาย (ไม่ทราบคนใด) ที่เพิ่งเรียนจบชั้น ม.๖ จากโรงเรียนอิสลามวิทยา และสมัครเข้าเรียนตำรวจในปีนี้ ถึงกระนั้นก็มีข้อมูลอีกชิ้นหนึ่งที่ส่อว่าผู้ปฏิบัติการหรือแม้ขบวนการทั้งหมด ไม่น่าจะเกี่ยวกับชนชั้นนำตามจารีต (traditional elite) โดยเฉพาะผู้นำทางศาสนา Bangkok Post ฉบับวันที่ ๒๗ เมษายน รายงานว่าพบใบปลิวกระจายในสามจังหวัดภาคใต้ คือถนนดาลอฮาลอ-รามันในอำเภอรามันของยะลา, อำเภอโคกโพธิ์ของปัตตานี, และรือเสาะของนราธิวาส ใบปลิวนั้นแสดงภาพของผู้นำศาสนาคนหนึ่งกำลังส่งของให้ตำรวจในเครื่องแบบ มีข้อความเป็นภาษาไทยเรียกร้องให้ผู้นำศาสนาอิสลามยุติการให้ข่าวเกี่ยวกับความไม่สงบในภาคใต้แก่ตำรวจ

น่าสังเกตว่าการเรียกร้องนี้แสดงว่าส่วนใหญ่ของผู้นำทางศาสนาไม่เกี่ยวกับขบวนการ ไม่มีสายสัมพันธ์ที่แท้จริงกับผู้ปฏิบัติการหรือขบวนการ ผู้เขียนออกจะสงสัยว่าผู้ปฏิบัติการหรือขบวนการไม่มีสายสัมพันธ์กับชนชั้นนำตามจารีตอื่นๆ อย่างจริงจังด้วย อันที่จริงการจับกุมหรือตั้งข้อหา “หัวโจก” ของฝ่ายรัฐสืบมาจนทุกวันนี้ ยังพิสูจน์ให้น่าเชื่อถือไม่ได้สักรายเดียวว่าเป็นจริงดังคำกล่าวหา ผู้เขียนมีโอกาสอ่าน “รายงานการศึกษาเฉพาะกรณี…” สองกรณีซึ่งจัดทำขึ้นโดย ชกท.กอ.รมน.ภาค ๔ สย.๒ ซึ่งผูกเรื่องทั้งหมดให้เกี่ยวพันไปถึงชนชั้นนำตามจารีต ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ แต่พบว่าล้วนเลื่อนลอย คิดเอาเอง ระแวงโดยไร้เหตุ และอาจเจตนาตีความหลักฐานให้รองรับเรื่องที่ตนผูกขึ้นเอง (แต่กลับเป็นที่เชื่อถือของผู้นำรัฐบาลหลายคน) ฉะนั้นผู้เขียนจึงยังยืนยันว่า ความเคลื่อนไหวของคนเล็กๆ ผู้ปฏิบัติงานเป็นขบวนการที่ไม่สัมพันธ์กับชนชั้นนำตามจารีตในท้องถิ่น

แม้แต่ขบวนการต่อต้านรัฐไทยที่เรารู้จักกันมาก่อน เช่น PULO, BRN, Bersatu, ฯลฯ ก็น่าสงสัยอย่างมากว่า อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวในครั้งนี้มากอย่างที่ขบวนการเหล่านี้อยากแสดง๒ ขบวนการเหล่านี้ย่อมสนับสนุนและยกย่องความเคลื่อนไหวของคนเล็กๆ เหล่านี้อย่างแน่นอน แม้ตนมิได้เป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้นโดยตรง แต่ก็ถือได้ว่ามีผลสอดคล้องกับจุดประสงค์ทางการเมืองของตนเอง อันที่จริงแม้แต่ความเข้มแข็งในการจัดองค์กรของกลุ่ม เช่น PULO, BRN, ฯลฯ เหล่านี้ ก็ดูเหมือนมีไม่มากนัก แท้จริงแล้วองค์กรเหล่านี้ไม่เคยสามารถปฏิบัติการระดับกว้างและสืบเนื่องยืนนานได้ขนาดนี้ด้วยซ้ำ

สังเกตให้ดีว่าแถลงการณ์ของ PULO หลังเหตุการณ์วันที่ ๒๘ เมษายน ยังมิได้อ้างการกระทำในวันนั้นว่าเป็นผลงานของตนเอง และดูเหมือนจะส่อว่า PULO ไม่ได้รู้จัก “วีรบุรุษ” ที่ตนยกย่องความเสียสละและกล้าหาญเหล่านี้ดีสักเท่าไร เพราะแถลงการณ์ของ PULO ก็ยังปล่อยให้ “วีรบุรุษ” เหล่านี้เป็นบุรุษนิรนามอยู่นั่นเอง ทั้งๆ ที่น่าจะรู้ดีอยู่แล้วว่า ทางการไทยย่อมสามารถรู้นามและครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้ไม่ยาก

อุดมการณ์ของพระเอก

MalaysiaThailand_(en)สื่อซึ่งรับข้อมูลอย่างเซื่องๆ จากรัฐหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ชี้ให้เห็นว่าผู้ปฏิบัติการมีจุดประสงค์จะแยกดินแดน โดยสถาปนารัฐปัตตานีที่เป็นอิสระจากไทยขึ้น ในขณะเดียวกันก็ได้รับแรงบันดาลใจจากคำสอนอิสลามสายหนึ่งซึ่งนิยมความรุนแรงของผู้ปลุกระดม

หลักฐานที่ค้นพบในตัวผู้เสียชีวิตก็ตาม คำให้การของผู้ปฏิบัติการซึ่งถูกจับกุมได้ก็ตาม อาจตีความไปในทำนองนี้ได้จริง แต่ขอให้เราลงมาดูในรายละเอียดของอุดมการณ์ที่กล่าวถึงนี้บ้าง

แม้ผู้ปฏิบัติการและขบวนการของผู้ปฏิบัติการ (รวมไปถึงองค์กรที่เข้ามาสนับสนุน เช่น PULO) อาจต้องการสถาปนารัฐปัตตานีที่เป็นอิสระจากไทย แต่เท่าที่ผ่านมาจนถึงวันที่ ๒๘ เมษายน ขบวนการเหล่านี้ยังไม่ได้ทำอะไรสักอย่างเดียวที่จะช่วยให้การแยกดินแดนในโลกสมัยปัจจุบันเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ไม่ปรากฏความพยายามอย่างจริงจังที่จะทำให้หน่วยทางการเมืองซึ่งจะเกิดใหม่นี้ เป็นที่รับรู้ เข้าใจ และเห็นใจของมหาอำนาจระดับโลก ไม่มีแม้แต่การเผยแพร่ความเดือดร้อนอย่างเป็นรูปธรรมของชาวมุสลิมมลายูภายใต้การปกครองของไทยพุทธออกไปให้โลกได้รับรู้

ในโลกปัจจุบัน การแยกดินแดนโดยเฉพาะจากประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลกระดับประเทศไทย ไม่อาจทำได้เลยถ้าไม่ได้การรับรองอย่างน้อยก็โดยนัยะจากมหาอำนาจ ในแง่นี้สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น หรือแม้แต่อาเซียน ย่อมได้ประโยชน์จากประเทศไทยที่มีความมั่นคง บูรณภาพ และความสงบเรียบร้อย มากกว่าประเทศไทยที่แตกแยกและเป็นจลาจล

แม้การปฏิบัติการที่ใช้อยู่ เช่น สังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุกโจมตีกองกำลังขนาดเล็กของรัฐ เผาโรงเรียนและสถานที่ราชการ ก็ไม่ใช่หนทางที่เป็นไปได้สำหรับการสร้างรัฐอิสระขึ้น เป็นไปไม่ได้ที่กองกำลังของฝ่ายปฏิบัติการจะสามารถเอาชนะกองกำลังของรัฐไทยได้ ยิ่งใช้การต่อสู้ลักษณะนี้มากเท่าไร ก็มีแต่จะสูญเสียกำลังของฝ่ายตนไปมากเท่านั้น ซ้ำร้ายการปฏิบัติการยังไม่ระมัดระวังที่จะทำให้สูญเสียมวลชน เช่น การเผาโรงเรียน ก็ยิ่งไม่มีทางจะเอาชนะรัฐไทยด้วยกำลังขึ้นไปใหญ่ ในขณะที่ความสามารถในการก่อการจลาจลของฝ่ายตนก็ยิ่งจำกัดลง

สาธารณชนไทยไม่อาจเห็นชอบกับการปฏิบัติการเช่นนี้ได้ และการแยกตัวออกจากรัฐไทยนั้น ความยินยอมของสาธารณชนไทยมีความสำคัญ ฝ่ายแบ่งแยกดินแดนไม่เคยพยายามที่จะสื่อจุดยืนของฝ่ายตนให้แก่สาธารณชนไทยอย่างจริงจัง (เพิ่งมาระยะหลังที่แถลงการณ์ของบางองค์กรเขียนด้วยภาษาไทย แต่ก่อนนี้ล้วนเขียนในภาษามลายูท้องถิ่นและด้วยอักษรยาวีทั้งสิ้น) ฉะนั้นปฏิบัติการในลักษณะนี้ กลับจะยิ่งทำให้สาธารณชนไทยขัดขืนกับการแบ่งแยกดินแดนอย่างเข้มแข็งมากขึ้น

คำถามที่ควรถามก็คือ ขบวนการเหล่านี้คิดแบ่งแยกดินแดนอย่างจริงจังแน่หรือ หรือใช้การแบ่งแยกดินแดนเพื่อปลุกเร้าผู้คนเล็กๆ ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ในขณะที่เป้าหมายแท้จริงของขบวนการเป็นเพียงการได้พื้นที่ในการเจรจาต่อรองอย่างได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น

ขบวนการเหล่านี้ไม่เคยวางอนาคตของรัฐใหม่ที่เป็นไปได้ (viable) แถลงการณ์ของ PULO พูดถึงความมั่งคั่งของทรัพยากรในดินแดน “มลายูปัตตานี” ซึ่งก็เป็นความจริงที่ดินแดนแถบนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์นี้หมายถึงอะไร กลับไม่ปรากฏในแถลงการณ์ (PULO กลับกล่าวถึงเหมืองทองในอดีต) ทำให้เห็นว่า PULO เองก็ไม่มีแผนการที่ชัดเจนเช่นกันว่า ในรัฐปัตตานีที่เป็นเอกราชนั้น ใครจะเข้าถึงทรัพยากรอะไร และจะกระจายทรัพยากรนั้นให้ทั่วถึงผู้คนได้อย่างไร อีกทั้งประชากรเกือบ ๒๐% ที่ไม่ใช่มุสลิมมลายู แต่กุมเศรษฐกิจของเมืองไว้เป็นอันมากจะมีบทบาทในรัฐใหม่นี้อย่างไร ซ้ำนายทุนภายนอกที่เข้าไปลงทุนด้านการประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จะจัดการกับทุนเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้ทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์นั้นถูกใช้อย่างเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ยิ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของรัฐปัตตานีที่จะเกิดใหม่ ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจนมากไปกว่าการใช้ภาษาท้องถิ่น และการมีศาสนาอิสลามเป็นหลัก แต่รัฐใหม่นี้จะเป็นรัฐอิสลามหรือไม่ ที่เรียกว่ารัฐอิสลามก็มีความเข้มข้นต่างกัน จะทำให้รัฐปัตตานีเป็นอิสลามแค่ไหน

มีการพูดถึงความรุ่งเรืองของปัตตานีในอดีตอยู่พอสมควร แต่การรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ปัตตานีไม่ได้เกิดจากฝีมือของขบวนการ หนังสือฮิกกะยัต ปัตตานีภาคต่อเป็นผลงานของอิบรอฮิม ชูกรี ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนทราบ ไม่ปรากฏชื่อของเขาในขบวนการแบ่งแยกดินแดนใดๆ ยิ่งไปกว่านั้นต้นฉบับภาษามลายูที่เผยแพร่ในรูปของสิ่งพิมพ์โรเนียวเขียนด้วยอักษรรูมี และในภาษามลายูหลวง หมายความว่าส่วนใหญ่ของประชาชนระดับล่างไม่สามารถอ่านได้ อันที่จริงฉบับที่สถาบันวิชาการของรัฐไทยแปลเป็นภาษาไทยได้รับการพิมพ์เผยแพร่กว้างขวางกว่าต้นฉบับด้วยซ้ำ และถูกอ้างถึงในงานวิชาการของไทยแพร่หลายพอสมควร

ในท่ามกลางความว่างเปล่านี้ กรือเซะเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียวที่ชาวบ้านอาจจับต้องได้ง่าย ความพยายามจะรื้อฟื้นกริชปัตตานี หรือแม้แต่การสืบค้นและทำซ้ำซึ่งเทคโนโลยีโบราณ กระทำขึ้นโดยนักวิชาการไทย (ร่วมมือกับชาวบ้านในท้องถิ่น) และได้รับงบประมาณอุดหนุนจาก สกว. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ถูกนำเสนอในวงวิชาการไทยในฐานะวัฒนธรรมท้องถิ่นของรัฐไทย ไม่อยู่ในบริบทของรัฐปัตตานีที่เป็นอิสระจากไทยเลย ทั้งในอดีตและอนาคต

ผู้เขียนเชื่อว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนฝันถึงรัฐปัตตานีที่เป็นเอกราช หรืออย่างน้อยก็ปลอดจากการ “กดขี่” ของรัฐไทย แต่ขบวนการต่างๆ โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติการในพื้นที่มองภาพในความฝันได้อย่างเลือนรางเท่านั้น แต่นั่นก็ไม่สำคัญ เพราะรัฐปัตตานีที่ฝันถึงนั้นเป็นเพียงสัญลักษณ์ หรือจะกล่าวให้ชัดเป็นเพียงรัฐในอุดมคติ…อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ความเป็นจริงของปัจจุบัน ไม่มีใครคิดถึงรัฐที่มีความสามารถจะดำรงอยู่ได้จริง (a viable state) และด้วยเหตุดังนั้นจึงเป็นรัฐที่มีแต่ความฝัน ไม่มีอะไรที่จริงในอนาคต เพราะไม่มีหนทางที่จริงในปัจจุบันเพื่อบรรลุอุดมคตินั้น

แม้แถลงการณ์ของ PULO เองก็กล่าวว่า “แม้ทรัพยากรบนบกและในน้ำ [ก็] สามารถจะสร้างประเทศให้ร่ำรวยเสมือนพี่น้องบรูไนของเรา” ข้อความดังกล่าวดูจะส่อว่า ทั้งหมดเป็นเพียงรัฐในอุดมคติเท่านั้น

ในด้านศาสนาอิสลาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบางคน และรายงานลับของหน่วยสืบราชการลับบางหน่วย พยายามเชื่อมโยงความเคลื่อนไหวทางสังคมนี้กับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในต่างประเทศ ทั้งในด้านทุนทรัพย์และอุดมการณ์ แต่ที่จริงแล้วยังไม่มีใครสามารถเสนอหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความเพ้อฝันอันนี้ของตนได้สักรายเดียว รายงานของหน่วยสืบราชการลับบางแห่ง รวบรวมประวัติของชาวมุสลิมต่างประเทศที่เข้ามาสอนหนังสือตามโรงเรียนและปอเนาะในภาคใต้ ไม่มีรายใดที่หน่วยสืบราชการลับสามารถชี้ได้อย่างชัดเจนว่ามีอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตม. ให้อยู่ต่อ ก็ออกไปมาเลเซีย แล้วลอบกลับเข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยวเพื่ออยู่ต่อไปอย่างผิดกฎหมาย ไม่ต่างจากแรงงานอพยพที่หนีความยากจนในประเทศของตนมาหากินในเมืองไทย ชาวต่างประเทศรายหนึ่งที่ต้องสงสัยว่าบ่อนทำลายความมั่นคงของไทย แอบหลบกลับจากมาเลเซียเข้าไทย แล้วไม่สามารถหางานสอนในโรงเรียนได้อย่างเดิม จึงหันไปประกอบอาชีพลักลอบค้าเนื้อวัวเถื่อนจากมาเลเซีย แน่นอนเขาไม่ใช่ “อุลามะ” ที่คงแก่เรียนและเป็นที่ศรัทธาของผู้คน เขาไม่ใช่ผู้เจนจัดในอุดมการณ์ของแนวทางรุนแรงในศาสนาอิสลาม และเขาไม่น่าจะเป็นผู้ศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อแนวทางของกลุ่มหัวรุนแรงเช่นอัลกออิดะห์ แต่เขาคือผู้ดิ้นรนร่อนเร่เลี้ยงชีวิตที่อัตคัดขัดสนไปในโลกไร้พรมแดนของปัจจุบันเท่านั้น

และด้วยเหตุดังนั้น เมื่อลงไปพิจารณาอะไรที่ถือว่าเป็น “อิสลาม” ในพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติการ ก็จะพบว่าเป็นหลักการพื้นๆ ที่มุสลิมทุกคนรู้จักดี ไม่มีส่วนใดที่แสดงว่าผู้ปฏิบัติการหรือแม้แต่ขบวนการต่างๆ มีความรู้ศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้ง ตำรวจและทหารชอบพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการและผู้ปฏิบัติการกับโต๊ะครู หรือครูผู้ฝึกที่เชี่ยวชาญอิสลามจากนอกประเทศ ถ้าความสัมพันธ์นั้นมีจริง ก็ไม่ปรากฏคำสอนอิสลามที่ลึกซึ้งใดๆ ในความเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งนี้เลย ไม่มีเอกสารยึดได้ฉบับใดที่สามารถอธิบายเหตุผลของการแยกดินแดนด้วยข้อถกเถียงทางศาสนาที่ลึกซึ้ง แถลงการณ์ของ PULO อ้างคัมภีร์อัลกุรอานว่า “ห้ามไม่ให้อยู่ภายใต้การปกครองของกาฟีร์ (มิจฉาทิฐิ) แท้จริงบรรดาผู้ที่เอากาฟีร์เป็นผู้ปกครองนั้น จะไม่มีวันประสบความสำเร็จในโลกนี้และโลกหน้า” แต่ผู้รู้อิสลามที่ผู้เขียนสอบถามกล่าวว่าไม่มีข้อความนี้ในอัลกุรอาน ข้อความที่อาจถือว่าใกล้เคียงก็ตีความได้หลายนัยะ ซ้ำคำประกาศเรียกร้องของแถลงการณ์ยังมุ่งไปยัง “ลุกขึ้นเถิดพี่น้องมลายูปาตานีและพี่น้องมลายูทุกแห่ง ลุกขึ้นต่อสู้กับอธรรมสยามในทุกรูปแบบ” ไม่ได้มุ่งที่จะปราศรัยกับชาวมุสลิม

สื่อบางฉบับกล่าวว่า ผู้เสียชีวิตบางรายสวมเสื้อที่ด้านหลังมีข้อความภาษาอาหรับแปลความว่า There is no god but God ความในภาษาอาหรับข้อนี้เป็นที่คุ้นเคยของมุสลิมทุกคนเท่ากับนะโม ตัสสะของชาวพุทธ เพราะนี่คือครึ่งหนึ่งของคำกล่าวปฏิญาณตนเป็นภาษาอาหรับซึ่งมุสลิมทุกคนต้องกล่าว ความว่า “แท้จริงไม่มีพระเจ้าอื่นใดเว้นแต่อัลเลาะห์ แท้จริงท่านนบีมุฮัมมัดเป็นรอซูล” (แปลตามที่ชาวบ้านพูด ดังปรากฏใน “โครงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม กรณีศึกษาบ้านดาโต๊ะและบ้านภูมี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี” อันเป็นโครงการสร้างนักวิจัยชาวบ้านของท่านอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม, น.๓๒)

สื่ออีกบางฉบับพูดถึงข้อความภาษาอาหรับหลังเสื้อของผู้เสียชีวิต ซึ่งเข้าใจว่าแปลเอาตามสะดวกว่าขอตายให้พระเจ้า แท้จริงแล้ว “ลาอิลาฮาอิลลัลลอฮ์” มีความตามที่ชาวบ้านในบ้านดาโต๊ะแปลว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ได้รับการกราบไหว้ที่แท้จริง เว้นแต่อัลลอฮ์” (ที่จริงนี่คือครึ่งแรกของคำปฏิญาณเป็นมุสลิมตามที่กล่าวข้างต้น) ตามประเพณี เมื่อผู้ป่วยใกล้ตาย ญาติมิตรจะสอนให้ผู้ป่วยกล่าวคำปฏิญาณครึ่งแรกนี้ เพราะเชื่อกันว่าพระนบีมุฮัมมัดได้กล่าวคำนี้ก่อนจะสิ้นพระชนม์เช่นกัน (โครงการศึกษาฯ, น.๓๓)

ฉะนั้นอย่างมากที่สุดของความหมายภาษาอาหรับหลังเสื้อผู้ปฏิบัติการก็คือ เขาพร้อมจะตาย หรือมิฉะนั้น เขาอาจใช้คำกล่าวสำคัญสำหรับมุสลิมคำนี้ในเชิงคาถาอาคมก็ได้ เพราะจะหาคำภาษาอาหรับใดในชีวิตชาวบ้านมุสลิมที่จะ “ศักดิ์สิทธิ์” ยิ่งไปกว่านี้ได้เล่า

เช่นเดียวกับคำว่า “อัลละฮู อักบัร” (Allahu Akbar-God is great) อันเป็นคำที่สื่อบางฉบับรายงานว่า ผู้ปฏิบัติการร้องขึ้นขณะเข้าโจมตีฝ่ายตำรวจ คำสรรเสริญพระเจ้าคำนี้เป็นที่คุ้นเคยของมุสลิมทั่วโลก และได้เปล่งคำนี้กันมานานหลายศตวรรษแล้ว ในขณะเดียวกันจะถือเป็นคำ “ศักดิ์สิทธิ์” ก็ได้เหมือนกัน

ทั้งหมดนี้แสดงว่า ความรู้ความเข้าใจศาสนาอิสลามของผู้ปฏิบัติการล้วนเป็นความรู้พื้นๆ ไม่ต่างไปจากความรู้ที่ชาวบ้านมุสลิมทั่วไปมีอยู่เป็นปรกติ นอกจากนี้ยังอาจกล่าวได้ว่าสอดคล้องกับที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า ความเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งนี้ไม่สัมพันธ์กับกลุ่มชนชั้นนำตามจารีต ฉะนั้นความรู้ความเข้าใจของผู้ปฏิบัติการเกี่ยวกับอิสลามจึงไม่ได้ลึกซึ้งแตกฉานเหมือนโต๊ะครู

(อันที่จริงความสัมพันธ์กับปอเนาะที่ตำรวจและรัฐบาลชอบพูดถึงนั้น ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์สักชิ้นเดียว เช่น มีรายงานข่าวว่าอาวุธสงครามถูกซุกซ่อนอยู่ในปอเนาะบางแห่ง เมื่อส่งกำลังเฉพาะกิจเข้าตรวจค้นก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ แต่ฝ่ายรัฐมักสรุปว่าเพราะข่าวตรวจค้นรั่วไหล จึงทำให้จับอาวุธไม่ได้…จับได้ก็ตรงกับข้อสงสัย จับไม่ได้ก็ไม่พ้นข้อสงสัย เมื่อไรฝ่ายรัฐจะสงสัยกับข้อสงสัยของตนเสียที)

อีกเรื่องหนึ่งที่รายงานของสื่ออาจทำให้เข้าใจผิดได้ ชาวบ้านที่เป็นญาติของผู้เสียชีวิตไม่ยอมให้จัดการอาบน้ำศพ สื่อกล่าวว่าเพราะผู้ที่เสียชีวิตในหนทางของพระเจ้าย่อมไม่ถูกอาบน้ำศพก่อนส่งคืน แต่ในประเพณีของมุสลิมภาคใต้ เขาจะไม่อาบน้ำศพให้แก่คนที่จมน้ำตาย ถูกไฟครอก ถูกฆ่า,ถูกสัตว์กัดตาย ตายมาแล้วหลายวัน หรือตายเนื่องจากป้องกันประเทศหรือศาสนา (โครงการศึกษาฯ, น.๑๘) (ตรงกับถูกฆ่าอยู่แล้ว) ทั้งหมดนี้ดูเป็นเรื่องของความสะอาดซึ่งอิสลามมีสำนึกในเรื่องนี้สูงมาก ฉะนั้นการยืนยันมิให้อาบน้ำศพจึงเป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่ชาวมุสลิมปฏิบัติเป็นปรกติ ไม่จำเป็นต้องมีนัยะทางการเมืองแต่อย่างใด

ปฏิกิริยาที่ผู้ปฏิบัติงานมีต่อรัฐไทยจึงไม่ได้เกิดจากอุดมการณ์ใหม่ซึ่งเพิ่งถูกปลุกเร้าขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองหรืออุดมการณ์ทางศาสนา และดังที่บทความนี้หวังจะแสดงให้เห็นข้างหน้าว่า ความเปลี่ยนแปลงที่กระทบถึงชาวบ้านไม่ได้เกิดขึ้นจากอุดมการณ์ใดๆ มากไปกว่าความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่กระทบถึงชาวบ้านนั่นเอง

ตรงกันข้ามกับอิสลาม สังเกตให้ดีจากข่าวกระเส็นกระสายที่ปรากฏในสื่อ ผู้เขียนกลับรู้สึกว่ามีไสยศาสตร์ (ซึ่งอิสลามไม่รับรอง) แทรกอยู่ในการปฏิบัติการไม่น้อยทีเดียว

สื่อบางฉบับรายงานว่าผู้ปฏิบัติงานในวันที่ ๒๘ เมษายน สวมลูกประคำสีดำ (บางฉบับว่าสีขาว) และโพกผ้าสีแดง สื่อมัวสนใจแต่กับผ้าโพกศีรษะสีตารางแดง เพราะเปรียบเทียบได้กับกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ แต่ผู้เขียนสนใจลูกประคำมากกว่า เหตุใดจึงต้องสวมประคำซึ่งไม่ใช่ข้อบังคับของอิสลาม และอันที่จริงไม่ใช่เครื่องมือการสวดภาวนาของอิสลามด้วย นิกายอิสลามที่ใช้ลูกประคำมากคือซูฟี ซึ่งสุหนี่ที่เป็นทางการไม่สนับสนุนนัก และซูฟีในประวัติศาสตร์อิสลามเองก็เคยปฏิวัติต่อต้านอำนาจของกลุ่มผู้รู้และรัฐบาลสุหนี่มาหลายครั้ง รวมทั้งถูกสุหนี่ปราบปรามมาก็หลายครั้ง แต่ลูกประคำเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับทำสมาธิในลัทธิซูฟี ไม่ใช่เครื่องรางของขลังสำหรับติดตัว ที่ “ฤาษี” ซูฟีมีลูกประคำห้อยคอก็เพื่อเก็บไว้ใช้ ไม่ให้หาย

อย่างไรก็ตามดูเหมือนความรู้ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับซุฟีของผู้ปฏิบัติการก็มีไม่มากนัก เยาวชนที่สะบ้าย้อยให้การว่า พวกตนมีความเชื่อในลัทธิสุปรี (ขอให้สังเกตการออกเสียงคำนี้ ในภาษามลายูไม่มีเสียง f ฉะนั้นคำอาหรับที่ใช้เสียงนี้ มลายูจึงอนุญาตให้ออกเสียงได้สองอย่างคือ f หรือ p อันเป็นเสียงมลายูที่ใกล้ที่สุด คนมีการศึกษาจะออกเสียง f ชาวบ้านทั่วไปจะออกเสียง p เช่น faham แปลว่าเข้าใจ ชาวบ้านจะออกเสียงว่า paham การเรียกซูฟีว่าสุปรีหรือสุปี ก็สะท้อนให้เห็นระดับความใกล้ชิดกับตัวลัทธิซูฟีที่แท้จริงด้วย) เยาวชนเหล่านี้เล่าว่า ตามหลักของลัทธิดังกล่าว ก่อนออกปฏิบัติการต้องทำพิธี “มาอุมนะ” ประกอบด้วยการนั่งสมาธิ บริกรรมคาถา นับกาซาแบะหรือลูกประคำ พิธีกรรมนี้จะทำในถ้ำ ใช้เวลา ๑ เดือน ครั้นเมื่อพร้อมจะออกปฏิบัติการได้ ก็จะดื่มน้ำมนตร์ ๑ ถ้วย (มติชน, ๒ พ.ค.)

การท่องบทสวดมนตร์ในเชิงคาถาก่อนวิ่งเข้าโจมตี มีรายงานในสื่อเกือบทั้งหมด

ทีวีช่องหนึ่งรายงานว่า ตำรวจพบคาถาในศพของผู้ปฏิบัติการรายหนึ่ง ทำให้ตำรวจสืบสวนไปถึงต้นตอของคาถาดังกล่าวได้ ปรากฏว่าเป็นชายหนุ่มมุสลิมคนหนึ่งซึ่งไม่ได้ร่วมเป็นผู้ปฏิบัติการ ชายหนุ่มผู้นั้นยอมรับว่าตนเป็นเจ้าของคาถาดังกล่าวจริง แต่คาถานั้นเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็นตำรวจชั้นประทวนมาก่อน และได้เสียชีวิตไปแล้ว คาถาเหล่านี้เป็นคาถาอยู่ยงคงกระพัน เช่น กำบังกายมิให้ศัตรูมองเห็น หรือป้องกันมิให้อาวุธพ้องพานได้ เป็นต้น ผู้ปฏิบัติงานที่เสียชีวิตมาขอคาถาดังกล่าวจากตนไป โดยตนไม่ทราบว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร

ยังมีรายงานจากกรือเซะด้วยว่า ผู้ปฏิบัติงานทุกคนจะได้ดื่มน้ำสีน้ำเงินก่อนออกปฏิบัติการ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าเป็นน้ำมนตร์มากกว่าเป็นยาเสพติด๓

พลังความเชื่อทางไสยศาสตร์เหล่านี้ ทำให้ผู้ปฏิบัติการในวันที่ ๒๘ เมษายน กล้าหาญชาญชัยขนาดที่ ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ว่า “จากการปฏิบัติการรบมา เราไม่เคยเจอคนกล้าและบ้าบิ่น ผิดมนุษย์ธรรมดาอย่างนี้” (มติชน, ๒ พ.ค.) และเช่นเดียวกับกองกำลังที่อาศัยไสยศาสตร์ที่เคยผ่านมาในอดีต เมื่อปรากฏว่าเวทมนตร์คาถาไม่อาจป้องกันตนได้ ก็พากันแตกหนี ดังเช่นกรณี ๑๖ ศพที่สะบ้าย้อย ผู้ปฏิบัติการเหล่านี้สูญเสียเพื่อนในการโจมตี และพากันแตกหนีไปซ่อนตัวอยู่ในร้านอาหาร แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตามไปปลิดชีพลงทั้งหมด ในกรณีกรือเซะ เราไม่อาจทราบความจริงที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงได้ แต่การที่ผู้ปฏิบัติการยอมปล่อยตัวประกัน ๓ คนออกมา (Bangkok Post, ๒๙ เมษายน) ดูจะส่อให้เห็นว่าโอกาสที่จะเปิดการเจรจามีทางเป็นไปได้ ดูเหมือนความลังเลในประสิทธิภาพของไสยศาสตร์เริ่มจะเกิดขึ้นในหมู่ผู้ปฏิบัติการ

small_people

กบฏชาวนา

ผู้เขียนลำดับข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปว่า เราจะไม่มีทางเข้าใจความเคลื่อนไหวทางสังคมในภาคใต้ตอนล่างช่วงนี้ได้เลย ถ้าใช้ทฤษฎี (มุมมอง) ที่เพ่งเล็งแต่ตัว “หัวโจก” หรือทฤษฎีที่มุ่งจะอธิบายแต่เพียงบางอุบัติการณ์ โดยละทิ้งอุบัติการณ์อื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นเคียงคู่กันไปอีกมากมายทิ้งเสีย ฉะนั้นทฤษฎีที่ผู้นำรัฐบาลและราชการหลายท่านเสนอจึงขัดแย้งกันเอง (และบางครั้งขัดแย้งในตัวเองด้วย) และไม่อาจรวมเอาอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดไว้ภายในทฤษฎีนั้นๆ ได้

ผู้เขียนใคร่เสนอว่า ทฤษฎีที่จะสามารถอธิบายความเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้ครอบคลุมที่สุดต้องเพ่งเล็งที่คนเล็กๆ จำนวนมากซึ่งเข้ามาร่วมปฏิบัติการ แท้จริงเขาต่างหากที่เป็นแก่นแกนที่แท้จริงของความเคลื่อนไหวทางสังคม และจะเข้าใจความเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้ก็โดยการมองความเคลื่อนไหวทั้งหมดเหล่านี้ว่าเป็น “กบฏชาวนา” ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑

Millenarian Movements หรือที่มักจะเรียกกันในภาษาไทยว่ากบฏชาวนา หรือกบฏพระศรีอาริย์ คือความเคลื่อนไหวตอบโต้ของคนเล็กๆ ในระดับท้องถิ่น เช่น ชาวนา คนกรีดยางในป่าดงดิบ ชาวประมงชายฝั่ง คนเลี้ยงสัตว์พเนจร ชาวเหมือง, ชนเผ่า ฯลฯ เป็นต้น คนเหล่านี้ลุกขึ้นตอบโต้ความเปลี่ยนแปลงซึ่งเขาไม่สู้จะเข้าใจดีนัก แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายนอก และกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเขาอย่างร้ายกาจ พลังจากภายนอกที่เข้ามากระทำต่อเขามักเป็นรัฐบาลกลาง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง พ่อค้าภายนอก ทุนและนายทุนภายนอก (เพราะเขามักมีเครื่องมือสำหรับจัดการกับนายทุนภายในอยู่แล้ว เช่นกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ) องค์กรศาสนาใหม่ เป็นต้น

และเพราะความเปลี่ยนแปลงที่กระทบถึงคนเล็กๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมากทั่วโลกในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จึงเกิดกบฏชาวนาขึ้นมากมายในหลายประเทศทั่วโลกในศตวรรษนี้ และเพราะมีรายละเอียดเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางสังคมเช่นนี้ให้ศึกษาได้มาก กบฏชาวนาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จึงมักถูกใช้เป็นแม่แบบอธิบายความเคลื่อนไหวทำนองเดียวกันในศตวรรษอื่นไปด้วย อย่างไรก็ตามควรรำลึกไว้ด้วยว่า การอธิบายย้อนกลับไปสู่กบฏชาวนาของศตวรรษก่อน หรือของปัจจุบัน ย่อมมีความแตกต่างจากบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป เช่น การสื่อสารคมนาคมที่ดีขึ้นย่อมทำให้กบฏชาวนาสามารถปฏิบัติการในพื้นที่กว้างขวางกว่าท้องถิ่นระดับแคบๆ ตลอดจนสามารถจัดองค์กรให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่นับเทคโนโลยีด้านอาวุธยุทธภัณฑ์ซึ่งต้องร้ายแรงมากขึ้นเป็นธรรมดา

ดังที่กล่าวแล้วว่า คนเล็กๆ เหล่านี้ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่กระทบถึงเขาดีนัก ด้วยเหตุดังนั้นเขาจึงไม่รู้ว่าใครคือศัตรูที่แท้จริงของเขา การระดมกำลังกันต่อสู้อาจทำไปโดยหาเป้าที่แน่นอนไม่ได้ และส่วนใหญ่กระทำแก่สัญลักษณ์ของศัตรูมากกว่าฝ่ายที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูตัวจริง เพราะฝ่ายนั้นมักอยู่ภายนอก ไกลเกินเอื้อมของความโกรธแค้นที่คนเล็กๆ เหล่านี้จะส่งไปถึงได้ ตัวอย่างในประเทศไทยก็เช่นกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ มุ่งจะฆ่า “คนไทย” ในท้องถิ่นลงให้หมด ซึ่งหมายถึงข้าราชการที่ถูกส่งไปจากส่วนกลาง หรือในกรณีของภาคใต้ตอนล่างปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกทำร้ายคือตำรวจชั้นผู้น้อย ทหารชั้นผู้น้อย ครู กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน จนแม้แต่ยามเฝ้าประตูโรงพยาบาล เป็นต้น สถานที่ราชการที่ถูกเผาจำนวนมากคือป้อมยามร้าง หรือป้อมยามที่อยู่ห่างไกล ทั้งหมดเหล่านี้เล็กเสียจนแทบไม่ระคายรัฐไทยซึ่งพวกเขาคิดว่าเป็นศัตรูเลย ชาวบ้านในอำเภอยะหริ่งคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าอยากจะเผาโรงเรียนจริง เผาวันละหลังก็ได้ แต่เพราะต้องการเผาเป็นสัญลักษณ์ จึงเลือกเผาเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ริมถนน ไปมาสะดวก ซึ่งอันตรายกว่าการเผาโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลเป็นอันมาก เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากเจ้าหน้าที่รัฐ (บันทึกคำสนทนาระหว่างนักวิชาการและชาวบ้านในโครงการศึกษาฯ, น.๒๙)

ในแง่อุดมการณ์และการจัดองค์กร คนเล็กๆ เหล่านี้ไม่สามารถคิดถึงอุดมการณ์ที่สลับซับซ้อนได้มากนัก ส่วนใหญ่จะอิงอยู่กับหลักศาสนาที่ประชาชนยึดถือ (popular religion) แต่ไม่ค่อยสัมพันธ์กับองค์กรศาสนา จึงไม่ใช่ศาสนาแบบของนักปราชญ์ราชบัณฑิต แม้แต่กบฏชาวนาที่มีนักบวชเป็นผู้นำ เช่นกรณีเจ้าพระฝาง ก็มักจะมีวัตรปฏิบัติที่ผิดแปลกไปจากที่องค์กรศาสนายอมรับได้ เช่นกล่าวกันว่านุ่งห่มด้วยสบงจีวรสีแดงเป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มักมีลักษณะโน้มเอียงไปทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ทั้งนี้นับว่าสอดคล้องกับการจัดองค์กรของกบฏชาวนา ซึ่งมักอาศัยบารมีส่วนตัวของผู้นำ เช่นกบฏผีบุญในสมัยรัชกาลที่ ๕ ผู้นำมักเป็นผู้ที่เคยบวชเรียนมาแล้ว และสามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์บางอย่างได้ เช่นจุ่มมือลงไปในน้ำมันเดือดๆ เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับกำลังอาวุธซึ่งกบฏชาวนามักมีจำกัด และส่วนใหญ่เป็นอาวุธที่อาจหยิบฉวยได้ใกล้มือซึ่งก็คือเครื่องมือการเกษตรเท่านั้น

เพราะกบฏชาวนาเป็นการตอบโต้ต่อความเปลี่ยนแปลงที่ตนไม่พอใจ เช่นถูกเรียกเก็บภาษีเป็นตัวเงินแทนสินค้าหรือบริการ ถูกกีดกันมิให้เข้าถึงทรัพยากรที่เคยใช้อยู่ เป็นต้นว่าถูกห้ามมิให้ตัดไม้ในป่า อุดมการณ์ส่วนหนึ่งของกบฏชาวนาจึงมักจะเป็นคำสัญญาว่ายุคพระศรีอาริย์กำลังมาถึง หรือใฝ่ฝันถึงรัฐในอุดมคติ เช่นรัฐที่ทุกคนมีความเสมอภาคกัน ไม่แตกต่างแม้แต่หญิงและชาย หรือไม่มีทรัพย์สมบัติส่วนตัวอีกเลยเป็นต้น อุดมคติเหล่านี้มักจำลองมาจากอุดมคติของชุมชนการเกษตรขนาดเล็กที่ตัวเคยชิน และเป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่ “ชาวนา” ทั่วไปอยู่แล้ว

และเพราะกบฏชาวนาเกิดขึ้นจากคนเล็กๆ ที่ไม่มีเส้นสาย ส่วนใหญ่ของกบฏชาวนามักไม่สัมพันธ์กับชนชั้นนำตามจารีต เช่น ไม่สัมพันธ์กับนักบวชขององค์กรศาสนา ไม่สัมพันธ์กับปัญญาชน ไม่สัมพันธ์กับนักการเมืองในท้องถิ่น ไม่สัมพันธ์กับข้าราชการ และไม่สัมพันธ์กับพ่อค้านายทุน (แต่อาจได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ จากคนเหล่านี้ได้ เพื่อใช้ “กบฏชาวนา” เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจของตน กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ก็เชื่อกันว่า กลุ่มเจ้านายท้องถิ่นบางกลุ่มสนับสนุนอยู่อย่างลับๆ) ภาวะที่ว่างเปล่าจากชนชั้นนำตามจารีตเช่นนี้ ทำให้กบฏชาวนามักมีพื้นที่การต่อสู้แคบ ไม่ใช่ในเชิงภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่หมายรวมถึงพื้นที่การต่อสู้ทางการเมือง ทางสื่อสาธารณะ ทางวิชาการ ทางศาสนา ทางการศึกษา ทางเศรษฐกิจด้วย ส่วนใหญ่มักไม่มีพื้นที่เหล่านี้สักอย่างเดียว เหลืออยู่พื้นที่เดียวคือการแข็งข้อต่ออาญาสิทธิ์ หากมีการปราบปรามก็ถึงขั้นสู้รบกันเลย

ผู้เขียนคิดว่าจะอธิบายความเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งใหญ่ในภาคใต้ช่วงนี้ได้ ก็โดยการมองผ่านกบฏชาวนา ความแตกต่างจากแม่แบบในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกดังที่กล่าวแล้ว เช่นมีรายงานข่าวบางกระแสกล่าวว่า สัญญาณที่ฝ่ายผู้ปฏิบัติการในวันที่ ๒๘ ใช้ในการลงมือปฏิบัติการ คือรายการวิทยุรายการหนึ่งซึ่งแพร่หลายในบริเวณภาคใต้ตอนล่างทั่วไป การจัดองค์กรภายในของฝ่ายเคลื่อนไหวดูจะมีประสิทธิภาพมากกว่ากบฏชาวนาในศตวรรษที่ ๑๙ แต่ที่ทำเช่นนี้ได้ก็เพราะระบบสื่อสารคมนาคมสมัยใหม่

ความสัมพันธ์กับชนชั้นนำตามจารีต ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะครู อิหม่าม นักการเมืองท้องถิ่น หรือแม้แต่องค์กรที่เคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐที่มีอยู่เดิมมีเบาบาง หรือยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีมากกว่าระดับเบาบาง๔ การผูกความเคลื่อนไหวในครั้งนี้เข้ากับประวัติอันยืดยาวของ “การกบฏ” ที่เคยเกิดขึ้นในปัตตานีในรอบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา ไม่ช่วยอธิบายอะไรเลย เพราะความจริงแล้วความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการแตกหักจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งเคยมีมาก่อน เพราะความเคลื่อนไหวรุ่นก่อนนั้นล้วนมีชนชั้นนำตามจารีตเป็นผู้นำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายเจ้าเมือง โต๊ะอิหม่าม หรือนักการเมืองในท้องถิ่น (ซึ่งล้วนสังกัดชนชั้นนำของสังคมไทย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นฝ่ายได้เปรียบในสังคมไทยอยู่แล้ว…ลองหันไปดูประวัติของวันมูหะมัดนอร์ มะทา, เด่น โต๊ะมีนา, อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ฯลฯ คนเหล่านี้ได้ “ลงทุน” ไปกับสังคมไทยและระบบไทยมามาก อีกทั้งก็ได้เก็บเกี่ยว “ผลกำไร” ไปมากเช่นกัน ทำนองเดียวกับคนที่สามารถเล่าเรียนศาสนาได้นานๆ จนกลายเป็นโต๊ะครูหรือโต๊ะอิหม่าม ซึ่งในหลายท้องที่สืบกันอยู่ในตระกูลนาน หรือแม้แต่เคยเดินทางไปฮัจญ์แล้วกลับมาเป็นหะยี) จึงยากมากที่ชนชั้นนำ-ทั้งตามจารีตและเกิดขึ้นกับความเปลี่ยนแปลงในสมัยใหม่-เหล่านี้ จะเข้าไปร่วมกับความเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ไม่มีเป้าหมายชัดเจน ไม่มีหรือยังไม่มีหนทางที่ทำได้จริง อีกทั้งอะไรที่พอจะถือว่าเป็นเป้าหมายก็ไม่ใช่ผลประโยชน์ของตน ซ้ำยังอาจขัดแย้งกับผลประโยชน์ของตนด้วย

แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าระดับชาวบ้านไม่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์เพียงพอจะเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในอดีต ชาวบ้านก็มีประวัติศาสตร์ปัตตานีที่เขาจดจำได้เช่นกัน ชาวบ้านที่บ้านดาโต๊ะยังจดจำได้ว่าบริเวณสุสานที่มีรั้วล้อมรอบในสุสานยะหริ่งนั้นเป็นของเจ้าเมืองปัตตานีและคณาญาติ ชาวบ้านจดจำไว้ว่าเจ้าเมืองผู้นี้คือเจ้าเมืองตรังกานูที่ได้มาปกครองปัตตานี แต่ถูกไทยตีแตกถอยกลับไปหมด จึงไม่มีใครนำศพมาฝังร่วมในสุสานแห่งนี้อีก รวมทั้งไม่เคยมีใครมาเยี่ยมเยือนกูโบแห่งนี้เลย (โครงการศึกษาฯ, น.๑๙-๒๐) แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าความเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็น “กบฏชาวนา” จึงไม่ใช่ความเคลื่อนไหวที่สืบเนื่องมาจากการต่อสู้กับรัฐไทยของกลุ่มชนชั้นนำในอดีต

ถ้าความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะมีความสัมพันธ์กับความเคลื่อนไหวในอดีตอยู่บ้าง ก็คงจะเป็นกรณีดุซงญอใน พ.ศ. ๒๔๙๑

ผู้เขียนไม่ทราบว่า การเลือกวันที่ ๒๘ เมษายนในการปฏิบัติการเป็นเจตนาให้ตรงกับกรณีดุซงญอหรือไม่ แต่ถึงเจตนา ก็ยิ่งชี้ให้เห็นชัดว่านี่คือ “กบฏชาวนา” เพราะกรณีดุซงญอนั้นเป็น “กบฏชาวนา” ขนานแท้และดั้งเดิมทีเดียว โดยเริ่มจากชาวบ้านฝึกวิชาคงกระพันชาตรีเพื่อต่อสู้กับโจรจีนมลายู ซึ่งเคยปล้นเสบียงอาหารของชุมชนไป แต่เจ้าหน้าที่รัฐระแวงสงสัยและตรวจตราเข้มงวดมากขึ้น ชาวบ้านไม่พอใจจึงเกิดรบราฆ่าฟันกันขึ้น (ดูรายงานของธนวัฒน์ แซ่อุ่น ในมติชน, ๕ พ.ค. ซึ่งแม้รายละเอียดจะแตกต่างจากงานของนักวิชาการ แต่เนื้อหาหลักก็ลงรอยกัน) เพื่อขับไล่อำนาจรัฐมิให้เข้ามาแทรกแซงในชุมชนมากเกินไป หาได้มีเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนประการหนึ่งประการใดไม่

ฉะนั้นหากผู้ปฏิบัติการเจตนาจะเชื่อมโยงความเคลื่อนไหวของตนกับดุซงญอ ก็นับว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะความเคลื่อนไหวเดียวที่ผู้ปฏิบัติการนับว่าสืบเนื่องกับความเคลื่อนไหวของตัวคือ “กบฏชาวนา” ที่โด่งดัง

อย่างไรก็ตามแม้ “กบฏชาวนา” จะเป็นความเคลื่อนไหวของคนเล็กๆ ระดับล่าง ก็มิได้หมายความว่าคนอื่นๆ จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อหาประโยชน์ตามจุดมุ่งหมายเฉพาะของตน (ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ขบวนการที่ต่อต้านรัฐซึ่งเคยมีมาก่อน เช่น PULO หรือ BRN ย่อมต้องการเข้ามาเชื่อมโยง (แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า ผู้เขียนรู้สึกว่าเชื่อมโยงได้ไม่สนิทนัก) หรือการแก่งแย่งแข่งดีกันของนักการเมืองท้องถิ่นก็อาจทำให้บางคนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองด้วย แม้กระนั้นผู้เขียนก็ยังยืนยันว่า แกนกลางสำคัญเป็นเรื่องของคนเล็กๆ ระดับล่าง ฝ่ายอื่นเข้ามาเกาะเกี่ยวแค่ระดับชายขอบ

profound_changes

เงื่อนไขของ

“กบฏชาวนา”

แท้ที่จริงแล้ว พื้นที่สาม-สี่จังหวัดภาคใต้ตอนล่างได้ประสบความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในระยะกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เราอาจสรุปความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเหล่านี้ได้ว่าคือการขยายตัวของทุนระดับชาติ (ซึ่งเชื่อมโยงข้ามชาติ) นั่นเอง ก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรไปจากมือชาวบ้านอย่างรวดเร็ว โดยชาวบ้านจำนวนหนึ่งไม่สามารถปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทัน ผู้เขียนใคร่ยกประสบการณ์ของท่านอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่มีกับพื้นที่รอบอ่าวปัตตานี ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างดีมาในที่นี้

“เมื่อสิบปีที่ผ่านมา ได้เห็นจากบ้านบางปูไปถึงปะนาเระและยะหริ่ง…ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นการเปลี่ยนแปลงภายใน คือใช้พื้นที่ใกล้ทะเลซึ่งเคยใช้ปลูกมะพร้าวมาทำนากุ้งเป็นหย่อมๆ [ส่วน] การเปลี่ยนแปลงจากภายนอก ชาวบ้านออกมาวิจารณ์กองเรือขนาดใหญ่ ชาวบ้านบอกว่าขบวนเรือนี้มีเรือประมงทางวิชาการของกรมประมงนำร่อง แล้วมีเรืออวนลุนของนายทุนส่งออกกวาดหอยลาย จับได้หลายสิบตันโดยใช้อวนลาก ทำลายสัตว์น้ำนานาชนิดอย่างน่ากลัว ในตอนนั้นชาวบ้านใช้เรือกอและจับปลาได้แค่วันละ ๑๒ ก.ก.” (ปาฐกถาเรื่อง “ข้ามา ข้าเห็น ข้าเข้าใจ, ปัตตานีกับความล้าหลังทางวัฒนธรรมที่ยังธำรงความเป็นมนุษย์” น.๕)

ในปัจจุบัน กองเรือประมงขนาดใหญ่ซึ่งมีนายทุนเป็นคนต่างถิ่น ได้เข้าจับปลาและทำลายทรัพยากรชายฝั่งของอ่าวปัตตานีอย่างมโหฬาร วิธีที่ชาวบ้านจะตอบสนองต่อความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์มีอยู่จำกัด และในบางกรณีอาจยิ่งเร่งความเสื่อมโทรมให้เร็วขึ้น ท่านอาจารย์ศรีศักรได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชายฝั่งปัตตานีไว้ว่า

“๓-๔ ปีที่แล้ว กลับมาปะนาเระ ชาวบ้านต้องจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น จากเดิม ๑๒ ก.ก. กลายเป็น ๒๐-๓๐ ก.ก. ชายทะเลที่สะอาดกลับสกปรกด้วยซากขยะ ซากหอยปูปลา (นั่นก็คือ คนมีเวลาให้ส่วนรวมน้อยลง) แหล่งเลี้ยงกุ้งเข้ามาแทนที่สวนมะพร้าวโดยทั่ว เป็นความเปลี่ยนแปลงจากภายในเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกอีกต่อหนึ่ง” (เรื่องเดิม, น.๕-๖)

นายทุนจากภายนอกเข้าไปหากินในพื้นที่มากขึ้น ลูกสาวครอบครัวมุสลิมที่รูสะมิแลตามที่ผู้เขียนเคยเห็น ต้องออกจากบ้านไปตั้งแต่ตี ๒ โดยมีรถมารับหน้าบ้าน เพื่อไปรับจ้างคัดปลาที่สะพานปลา ทำงานร่วมกับหนุ่มๆ ซึ่งมีหน้าที่ยกเข่งปลาลงจากเรือ ซึ่งดูขัดกับประเพณีท้องถิ่นซึ่งถือผู้หญิงเป็นเกียรติยศของครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง ชาวประมงต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่มขึ้นเพื่อลงทุนติดเครื่องให้แก่เรือกอและของตน เพราะไม่มีปลาชายฝั่งให้จับอีกแล้ว แต่ต้องออกเรือไปไกลมากขึ้นกว่าเดิม และเพราะมีหนี้สินจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องจับปลาให้มากตามไปด้วย แต่ก็มักเกิดความจำเป็นต้องซื้อเครื่องให้ใหญ่ขึ้นหรือมีกำลังมากขึ้นเสมอ จึงเป็นหนี้ไม่หมดเสียที ในขณะที่ผู้หญิงของครอบครัวก็ต้องลงเรือไปช่วยงานกันกลางทะเล ทั้งๆ ที่ตามความเชื่อเดิม ผู้หญิงจะลงเรือกอและไม่ได้เป็นอันขาด

ความสัมพันธ์ภายในชุมชนเปลี่ยนไป จากการที่เคยพึ่งพิงกันได้ กลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนกับลูกจ้าง อาจารย์ศรีศักรกล่าวว่าเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์เชิงเก็งกำไรและเอาเปรียบ (เรื่องเดิม) ส่วนนายทุนภายนอกที่เข้าไปลงทุนนั้นก็แตกต่างจากนายทุนท้องถิ่นซึ่งชาวบ้านเคยชินมาก่อน เพราะความสัมพันธ์กลายเป็นเรื่องของการจ้างงาน โดยตัวนายทุนอยู่ห่างๆ หรือที่จริงไม่ได้อยู่ในพื้นที่เลยด้วยซ้ำ ชาวบ้านแถบจะนะ (สงขลา) ไม่เคยสามารถเปิดการเจรจากับเจ้าของโรงงานซึ่งปล่อยน้ำเสียลงที่นาของตัวได้เลย เช่นเดียวกับชาวบ้านที่มีแปลงเกษตรติดกับบ่อกุ้ง ก็ต้องเลิกทำเกษตรไปโดยปริยาย แน่นอนว่าการร้องเรียนกับรัฐไม่บังเกิดผล การนินทาว่าร้ายซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างดีของการควบคุมทางสังคมจึงยิ่งไร้ผลมากขึ้นไปอีก

ผู้เขียนไม่มีตัวเลขการลงทุนด้านสวนยางและอื่นๆ จากภายนอกในสามจังหวัดภาคใต้ แต่ได้รับทราบจากคนในท้องถิ่นว่ามีมากเช่นกัน ฉะนั้นเมื่อชาวบ้านหันไปที่ใด ก็จะพบแต่คนที่ชาวบ้านไม่อาจสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ใกล้เคียงกันได้เลย ไม่ว่าจะเป็นคนภายในซึ่งกลายเป็นนายทุนใหม่ หรือนายทุนจากภายนอก ในขณะที่ชาวบ้านเข้าถึงทรัพยากรได้น้อยลง ต้องขายทรัพย์สินแล้วกลายเป็นแรงงานรับจ้างมากขึ้น จึงยากที่จะดำรงรักษาวัฒนธรรมเดิม ซึ่งมีฐานรากอยู่บนสังคมและเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่งไว้ได้

สิ่งที่คนเล็กๆ ในภาคใต้ตอนล่างประสบคือความอับจนในทุกด้าน ไม่สามารถจะตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่รุมเร้าเข้ามาอย่างไม่เสียเปรียบได้ ทรัพยากรสุดท้ายที่ชาวบ้านมองเห็นคือการเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่หนทางนี้ก็ไม่ได้เปิดให้แก่ชาวบ้านมากนักเช่นกัน ชาวบ้านที่อำเภอยะหริ่งกล่าวว่า ขณะนี้มุสลิมจะเรียนจนไม่มีที่เรียน ชาวบ้านเชื่อว่า มอ. ไม่ได้ให้โควต้าแก่เด็กท้องถิ่นเหมือนมหาวิทยาลัยอื่น (ที่จริง มอ. ให้โควต้าเช่นเดียวกัน และเหมือนเงื่อนไขของมหาวิทยาลัยภูมิภาคอื่นๆ คือไม่ได้เอื้อต่อความแตกต่างของเด็กท้องถิ่นจริงมากไปกว่าตัวเลขเปอร์เซ็นต์โควต้า) ชาวบ้านบางคนกล่าวว่า หากใช้มาตรฐานกลางในการเลือกเด็กเข้าเรียน เด็กมุสลิมซึ่งยังพูดไทยไม่ค่อยได้จะไปแข่งขันได้อย่างไร

ฉะนั้นแม้แต่พยายามจะปรับตัวเข้าหาทุนนิยม ก็ไม่มีช่องทางให้ชาวบ้านสามารถปรับตัวได้อยู่นั่นเอง อนาคตจึงมืดมนเพราะไม่รู้จะอยู่ในความเปลี่ยนแปลงที่ตนเองตอบสนองไม่ได้นี้อย่างไร

อันที่จริงชะตากรรมดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดกับชาวมุสลิมมลายูเพียงอย่างเดียว แต่เกิดกับคนไทยตัวเล็กๆ ที่อื่นเหมือนๆ กัน แต่ด้วยเหตุผลหลายประการซึ่งจะไม่กล่าวในที่นี้ (เช่น ปัญหาอัตลักษณ์ หรือถึงบางกลุ่มมีความแปลกแยกด้านอัตลักษณ์เหมือนกัน แต่ก็มีเหตุผลอื่นที่ทำให้ทางเลือกมีจำกัด) คนเล็กๆ ในที่อื่นเลือกจะต่อสู้ในระบบ เช่น สมัชชาคนจน หรือสมัชชาชนเผ่า เป็นต้น ในขณะที่ชาวมุสลิมมลายูเลือกที่จะสู้นอกระบบ

“กบฏชาวนา”

ในรัฐสมัยใหม่

ในรัฐจารีต กบฏชาวนาอาจทำลายรัฐลงได้เลย หรือในหลายกรณีก็สั่นคลอนความมั่นคงอย่างถึงรากถึงโคน เช่นกบฏไตเซินในเวียดนาม สามารถล้มล้างราชวงศ์เลลงได้ แล้วสถาปนาระบอบปกครองที่แตกต่าง (ขนาดที่อาจเรียกได้ว่าเป็นระบอบปฏิวัติ) ของตนขึ้นเหนือเวียดนามอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งถูกปราบลงได้โดยตระกูลเหงวียนหรือราชวงศ์ยาลอง กบฏไต้เผ็งสั่นคลอนอำนาจของราชวงศ์ชิงอย่างถึงรากถึงโคน และยึดประเทศไปได้เกือบครึ่งหนึ่ง ก่อนที่จะถูกปราบลงสำเร็จ จูหยวนจางผู้ก่อตั้งราชวงศ์หมิงที่แท้จริงคือหัวหน้ากบฏชาวนา แต่ได้รับความร่วมมือจากปัญญาชนจีน จึงทำให้สามารถตั้งราชวงศ์ขึ้นปกครองจีนด้วยระบบเก่าได้

แต่ในรัฐสมัยใหม่ “กบฏชาวนา” ไม่อาจก่อความระคายเคืองให้แก่รัฐได้มากนัก เพราะกำลังที่จะร่วมปฏิบัติการถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่ไม่กว้างขวางนัก ในขณะที่รัฐมีกำลังอำนาจเข้มแข็งขึ้นด้วยการจัดการและเทคโนโลยีการทหารแบบใหม่ นอกจากนี้สังคมในรัฐสมัยใหม่ก็มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ผลประโยชน์ของชาวนาจึงอาจขัดกับผลประโยชน์ของคนกลุ่มอื่น ซึ่งอาจไม่ใช่คนส่วนใหญ่ แต่ก็มีจำนวนมากและคุมอำนาจทางการเมืองและสังคมได้สูงกว่าชาวนา (เช่นคนชั้นกลาง หรือคนชั้นล่างที่มีโอกาสจะก้าวขึ้นข้างบน) จึงทำให้กบฏชาวนายิ่งถูกจำกัดพื้นที่ในเชิงสังคมลงไปอีก นอกจากนี้การเมืองในรัฐสมัยใหม่ ยังเปิดโอกาสให้คนที่มีเงิน มีการศึกษา หรือมีการจัดองค์กรได้ดี (ซึ่งล้วนไม่ใช่ “ชาวนา”) สามารถเข้าไปต่อรองในระบบได้

แม้แต่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ซึ่งเพิ่งเริ่มปฏิรูปเพื่อกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ ก็สามารถเผชิญกับ “กบฏชาวนา” ที่เกิดขึ้นในหลายภาคของประเทศได้อย่างไม่ยากเย็นนัก โดยอาศัยกองทัพประจำการซึ่งเพิ่งสร้างขึ้นปราบปรามอย่างเด็ดขาด อีกทั้งยังสามารถรักษานโยบายที่ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ “ชาวนา” ไว้ได้ เพียงแต่อาจชะลอการบังคับใช้ในบางท้องที่ออกไปบ้างเท่านั้น

การขาดอุดมการณ์ที่สลับซับซ้อนซึ่งสามารถผนวกรวมปฏิบัติการทางสังคมของคนกลุ่มอื่นๆ ก็ทำให้ “กบฏชาวนา” ถูกสังคมโดดเดี่ยวมากขึ้น ในประเทศไทย กบฏชาวนาในภาคอีสานถูกเสนอให้เป็นเพียงปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของ “ผีบุญ” เท่านั้น อีกทั้งความเดือดร้อนของพวกเขาก็ถูกสังคมไม่ไยดีและลืมเลือนไปในที่สุด

เหตุดังนั้น จึงไม่เคยมี “กบฏชาวนา” ภายใต้รัฐสมัยใหม่ที่สั่นคลอนรัฐหรือรัฐบาลได้จริงสักแห่งเดียว

ในกรณีภาคใต้ตอนล่างในปัจจุบันก็เช่นกัน วิเคราะห์ให้ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีทางที่จะกระทบถึงบูรณภาพทางดินแดนของไทยได้เป็นอันขาด (แม้รัฐบาลจัดการไม่ดี และต้องฆ่ากันอย่างนองเลือดก็ตาม) อย่างไรก็ตามการที่จะนำความสงบสุขอย่างถาวรมาสู่ภาคใต้ได้หรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปฏิบัติการของ “กบฏชาวนา”” พียงอย่างเดียว เพราะแม้จะถูกปราบปรามได้ไม่ยาก แต่ “ชาวนา” ที่เต็มไปด้วยความเดือดร้อนจากการถูกแย่งชิงทรัพยากรเหล่านี้ ก็อาจเคลื่อนไหวร่วมไปกับกลุ่มต่อต้านรัฐอื่นๆ ที่ไม่ใช่ “กบฏชาวนา” ได้ อย่างเดียวกับ “ชาวนา” จำนวนไม่น้อยในแผ่นดินไทย ได้เคยร่วมทางกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาแล้วเป็นต้น หรือมิฉะนั้นความเดือดร้อนของ “ชาวนา” ก็อาจนำไปสู่ความไม่สงบในรูปอื่นๆ ที่ไม่ใช่การก่อวินาศกรรมและทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า รัฐสมัยใหม่ โดยเฉพาะรัฐพัฒนาเช่นไทย มักจะใช้วิธีรุนแรง และบางครั้งโหดร้ายป่าเถื่อน จัดการกับ “กบฏชาวนา” เสมอ เพราะยากที่รัฐพัฒนาจะเข้าใจ “ชาวนา” ที่ก่อการกบฏได้ง่ายๆ หลายครั้งคนเหล่านี้มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและภาษา (พวกโมโรในฟิลิปปินส์ เผ่าอินเดียนแดงในเม็กซิโก ชาวพื้นเมืองในซาราวัก มุสลิมมลายูในภาคใต้ของไทย จามในเวียดนาม โรฮิงยาในแคว้นยะไข่ของพม่า ฯลฯ) แต่ความแตกต่างที่สำคัญกว่านั้นคือความแตกต่างด้านอุดมการณ์ “กบฏชาวนา” มักต่อสู้เพื่อรักษาวิถีการใช้ทรัพยากรอย่างที่เคยเป็นมา ตอบโต้กฎหมายที่ออกมาเพื่อเปิดทรัพยากรให้คนนอกได้เข้ามาใช้ หรือกฎหมายที่กีดกันชาวบ้านมิให้เข้าถึงทรัพยากร นโยบายที่ทำให้วิถีทางการใช้ทรัพยากรของชาวบ้านขาดทุนหรือกลายเป็นอาชญากรรม ฯลฯ “ชาวนา” ต้องการให้มีความหลากหลายในวิถีทางการใช้ทรัพยากร รัฐพัฒนาต้องการเอกภาพของการใช้ทรัพยากร (จนสามารถจัดลำดับความสำคัญได้ เช่น ระหว่างจับปลากับสร้างเขื่อน หรือวางท่อก๊าซ) “ชาวนา” ชอบการกระจายทรัพยากรให้คนต่างๆ ได้ใช้ตามความถนัด รัฐพัฒนาชอบรวมศูนย์การใช้ทรัพยากร เพื่อ “ระดม” ให้เกิดรายได้เข้าประเทศ ข้อเรียกร้องของ “ชาวนา” จึงขัดแย้งกับแนวทางการ “พัฒนา” โดยตรง ไม่มีทางที่รัฐพัฒนาจะประนีประนอมได้ เพราะเท่ากับทำลายความชอบธรรมของความเป็นรัฐพัฒนาไปสิ้นเชิง

ความแตกต่างเหล่านี้ทำให้รัฐสมัยใหม่ โดยเฉพาะรัฐพัฒนามักมอง “กบฏชาวนา” อย่างเป็นมนุษย์ได้ไม่เต็มที่นัก จะอธิบายว่าเขาคือคนล้าหลังที่กำลังถูกจูงมาสู่ความเจริญ (การพัฒนา) อันเป็นฐานความชอบธรรมของรัฐก็ไม่ได้ เพราะพวก “มัน” ก่อกบฏ ซื้อก็ไม่ขาย ล่อก็ไม่ได้ ชดเชยความเสียหายก็ไม่เอา จึงต้องขจัดออกไป และวิธีที่ง่ายที่สุด (แต่อาจไม่ได้ผลที่สุด) ในการขจัดคือการฆ่าล้างผลาญให้สิ้นไป กบฏซาปาติสต้า (ซึ่งส่วนใหญ่ใช้มีดพร้ากะท้าขวานอย่างเดียวกับผู้ปฏิบัติการในวันที่ ๒๘ เมษายนนี่แหละ) ถูกรัฐบาลเม็กซิโกฆ่าไปกว่าหมื่นคน ผู้เขียนรู้สึกว่าการเป็นคอมมิวนิสต์ยังได้รับการยกย่องให้เป็น “ศัตรู” ของรัฐ แต่ “กบฏชาวนา” ต่ำกว่านั้น

อะไรคือทางออก

ที่ “สันติ”

ใครๆ คงเห็นด้วยว่า เราควรแก้ปัญหากันอย่าง “สันติ” แต่คำนี้มีความหมายมากกว่าการไม่ฆ่าฟันกันด้วยอาวุธ หากควรรวมการไม่ใช้ความรุนแรงด้วยประการทั้งปวง และความไม่ “สันติ” ในภาคใต้นั้น ในทัศนะของผู้เขียนเกิดขึ้นจากนโยบายพัฒนา การปล่อยให้ทุนแผ่ขยายเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรจากคนเล็กๆ โดยรัฐไม่มีทั้งสมรรถภาพและเจตนาที่จะควบคุมดูแลให้เกิดความเป็นธรรม ในขณะเดียวกัน กลับไม่เปิดโอกาส (ในทางปฏิบัติ) ที่จะให้ชาวบ้านได้ค่อยๆ ปรับตัว สั่งสมความสามารถด้านต่างๆ ที่จะเข้าสู่ตลาดของทุนนิยม โดยไม่เสียเปรียบฝ่ายอื่น

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความรุนแรงและห่างไกลจากคำว่า “สันติ” มาตลอดเวลา

ส่วนจะทำอะไรอื่นเพื่อบรรเทาความระแวงสงสัยต่อกัน ตลอดจนอำนวยความเป็นธรรมตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และขจัดกลไกของรัฐที่สร้างเงื่อนไขความเกลียดชังระหว่างกันออกไป (ดังเช่นข้อเสนอของรองนายกฯ จาตุรนต์ ฉายแสง) ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นด้วยทั้งนั้น แต่ทั้งหมดนี้ไม่พอ เพราะยังไม่ได้ขจัดความรุนแรงออกไปจนกว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายพัฒนาให้เป็นธรรมอย่างแท้จริงได้ด้วย

ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ประชาชนมองเห็นเงื่อนปมของปัญหาในภาคใต้ได้ชัดขึ้น และร่วมมือกันในการกดดันให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายพัฒนาที่ไร้ความเป็นธรรม ผู้เขียนมีความหวังอยู่ริบหรี่เท่านั้น เพราะทราบดีว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบผลประโยชน์ของนายทุนจำนวนมาก ซึ่งล้วนมีอำนาจทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ทั้งสิ้น ครั้นหันไปดูสื่อและประชาชนชั้นกลาง ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะสร้างกระแสกดดันได้มาก ก็กลับเป็นกลุ่มที่ตอบสนองการนำของรัฐพัฒนาอย่างไม่ลืมหูลืมตา ความตายของผู้คนกลายเป็นสินค้า เอาไว้แลกเปลี่ยนชดใช้กันระหว่างเจ้าหน้าที่และ “กบฏชาวนา” เหมือนตัวเลขการทำประตูในกีฬาฟุตบอล

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เชิงอรรถ

๑. คำว่า “ชาวนา” ในคำนี้ มิได้หมายถึงเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตเพื่อยังชีพเท่านั้น แต่รวมถึงคนเล็กๆ อื่นๆ ในหลากหลายอาชีพ เช่นชาวเหมือง หรือคนกรีดยาง คนเผาถ่าน ฯลฯ ได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม นักวิชาการไทยมักแปลความเคลื่อนไหวลักษณะนี้ว่า “กบฏชาวนา” เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในประเทศไทย

อนึ่งผู้เขียนใคร่เตือนผู้อ่านว่า ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในภาคใต้ที่ผู้เขียนเข้าถึงส่วนใหญ่ไม่น่าไว้วางใจนักว่าเป็นข้อเท็จจริง เพราะรัฐก็หลอกและปิด ฝ่ายตรงข้ามก็หลอกและปิดหรือไม่รู้สถานการณ์จริง สื่อก็ไม่ทำการบ้านเพียงพอ นอกจากข้อมูลไม่น่าไว้วางใจแล้ว ยังมีจำนวนน้อยด้วย เพราะมัวแต่ไปสนใจตัวเหตุการณ์มากกว่า

๒. หนังสือพิมพ์สวีเดนอ้างคำกล่าวของซัมซุดินข่าน สมาชิกอาวุโสของ PULO ซึ่งลี้ภัยในสวีเดนอ้างว่าองค์กรของตนเป็นผู้รับผิดชอบการโจมตีในวันที่ ๒๘ เมษายน แต่ดูเหมือนไม่เป็นที่เชื่อถือของแม่ทัพภาค ๔ นัก (Bangkok Post, ๑๓ พ.ค.)

๓. ผู้ปฏิบัติการในวันที่ ๒๘ เมษายน ๔ คนซึ่งยอมมอบตัวแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ให้การในการสอบสวนของกองทัพภาคที่ ๔ ว่า ก่อนปฏิบัติการให้ดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์หลังละหมาดตอนหัวค่ำในวันที่ ๒๗ แล้ว น้ำนี้จะทำให้ทุกคนล่องหนหรือกำบังผู้ปฏิบัติการมิให้ตำรวจมองเห็นได้ (Bangkok Post, ๑๓ พ.ค.)

๔. ผลวิเคราะห์ของฝ่ายทหารเชื่อว่า ปฏิบัติการในวันที่ ๒๘ เมษายนเป็นคำสั่งขององค์กรแยกดินแดนใหม่ชื่อ Pemuda Bersatu (เยาวชนเอกภาพ) แต่ยังไม่แน่ชัดว่าองค์กรใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายร่มเงาซึ่งประกอบด้วยหลายองค์กร หรือเป็นกลุ่มใหม่ที่ทำงานโดยเอกเทศเลย แม่ทัพภาคที่ ๔ สงสัยว่าองค์กรนี้ไม่ได้เชื่อมโยงกับองค์กรเก่า (Bangkok Post, ๑๓ พ.ค.) หน้า 110