สตรี อิสลาม และกฎหมาย

Patricio N. Abinales

        

Hjh. Nik Noriani Nik Badlishah, editor
Islamic Family Law and Justice for Muslim Women
[กฎหมายครอบครัวของอิสลาม และความยุติธรรมต่อสตรีมุสลิม]Malaysia / Sisters in Islam / 2003

Gender, Muslim Laws and Reproductive Rights
[เพศสถานะ กฎหมายของชาวมุสลิม และสิทธิในการสืบเผ่าพันธุ์]Davao City / Pilipina Legal Resources Center, Inc. / 2001

ข้อเขียนต่างๆ ในรายงานการประชุมเชิงปฏิบัติการเหล่านี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางเพศ สิทธิ์ในการสืบเผ่าพันธุ์ และความรุนแรงทางเพศ ในสังคมอิสลาม อย่างที่ถูกกำหนดกฎเกณฑ์และควบคุมโดยปัจจัยเชิงกว้างต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง อันได้แก่ ปิตาธิปไตย การตีความศาสนาอิสลามที่หลากหลาย และกฎหมายของรัฐสมัยใหม่ ปัจจัยที่มีอิทธิพลเหล่านี้ปรากฎให้เห็นเด่นชัดที่สุดในการศึกษาภาพรวมเชิงเปรียบเทียบของประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ดังที่เสนอไว้ใน  กฎหมายครอบครัวของอิสลาม และความยุติธรรมต่อสตรีมุสลิม ข้อเขียนดังกล่าวนี้รายงานให้เห็นถึง “พื้นที่ต่างๆ ที่มีการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทั้งในแง่ของเงื่อนไขที่เกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม” การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ “เน้นให้เห็นถึงการปฏิบัติที่ดีที่สุด และเสนอกลวิธีในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้วย”

ประเทศที่ระบบปิตาธิไตยได้หยั่งรากลึกใน “ขนบประเพณี” ประกอบกับได้รับการตอกย้ำสนับสนุนจากคำสอนของศาสนาอิสลามที่กำหนดให้ผู้หญิงมีสถานะด้อยกว่าผู้ชายนั้น มักมีโครงสร้างของรัฐที่รวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง แต่อ่อนแอ เต็มไปด้วยการฉ้อฉล และขาดประสิทธิภาพ เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ประเทศอินโดนีเซียไม่มีกฎหมายแพ่งไว้ใช้ควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา และรัฐเองก็ยังคงไม่มีอำนาจเหนือศาสนาอิสลาม ในทางตรงกันข้ามประเทศสิงคโปร์เป็นรัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และมีประสิทธิภาพสามารถจัดการกับอำนาจตัดสินคดีความที่ซ้ำซ้อนกันของศาลแพ่ง และศาลกฎหมายอิสลาม โดยให้สิทธิกับชาวมุสลิมในการเลือกระหว่างศาลทั้งสองไปพร้อมๆ กับควบคุมกระบวนการการพิจารณาคดี และการตัดสินใจของศาลศาสนาอิสลามด้วยอีกทางหนึ่ง

symbol-of-islam-xs

สถานการณ์ในประเทศฟิลิปปินส์และมาเลเซียนั้น อาจมองว่าอยู่ก้ำกึ่งระหว่างสุดขั้วทั้งสองคือของประเทศอินโดนีเซียกับสิงคโปร์ การกบฎของแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโรนั้นผลักดันให้      ฟิลิปปินส์ออกประมวลกฎหมายส่วนบุคคลสำหรับชาวมุสลิมเป็นครั้งแรก ประมวลกฎหมายฉบับนี้ได้รับการตีความและนำไปใช้อย่างหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักๆ ที่สตรีชาวมุสลิมยังต้องเผชิญอยู่คือ ปัญหาความยากจน และรัฐขาดความสามารถที่จะส่งเสริมการพัฒนาและสร้างเสถียรภาพ ในหลาย ๆ เขตที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ รัฐปรากฏอยู่ในรูปของกำลังทหารเท่านั้น ส่วนที่ประเทศมาเลเซียนั้น การมอบอำนาจการจัดการกฎหมายครอบครัวของอิสลามให้อยู่ในมือของรัฐ ส่งผลให้เกิดกฎข้อบังคับที่ขัดแย้งกันในระหว่างรัฐต่างๆ และที่ขัดแย้งกับกฎหมายของสหพันธ์รัฐ นอกจากนั้นแล้ว การที่รัฐบาลกลางพยายามส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีอำนาจปกครองตนเอง อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่เป็นผลภัยต่อการยกสถานะของสตรีในศาสนา

ประเด็นที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ ในหลาย ๆ ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ภายใต้คำว่า “การพัฒนา” การสร้างความทันสมัยให้กับรัฐกลับจำกัดสิทธิของปัจเจกและกลุ่มชนบางกลุ่ม พร้อมกับลิดรอนเสรีภาพพื้นฐานบางประการ ความสำเร็จไม่ว่าจะเกิดขึ้น ณ ที่ใด มักจะมากับผู้นำ (ซึ่งเป็นชายเสียส่วนใหญ่) ที่ปกครองจากเบื้องบน ดังนั้น กลวิธีต่างๆ ที่จะใช้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอาจจะขัดแย้งไม่เพียงแต่กับพวกอนุรักษ์นิยม และพวกที่พยายามฟื้นฟูขนบประเพณีขึ้นมาใหม่ แต่ยังขัดแย้งกับผู้นำของรัฐที่คลางแคลงใจกับการเปลี่ยนแปลงที่มาจากส่วนล่างอีกด้วย

มีเนื้อหาเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศและสิทธิในการสืบเผ่าพันธ์ของสตรีในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เป็นที่น่าสนใจว่าบทความต่างๆ ในรายงานการประชุมเล่มนี้ช่วยสนับสนุนข้อเสนอทางทฤษฎีในรายงานเล่มแรกที่ว่า ในศาสนาอิสลามเองมีพื้นฐานทางความคิดที่สนับสนุนให้สตรีแปรเปลี่ยนความคิดในเรื่อง khilafah (สิทธิและอำนาจโดยชอบธรรมของสตรี) ให้มีทัศนะที่กว้างขวางมากขึ้น ทั้งนี้แม้จะได้รับการคัดค้านจากสถาบันที่มีผู้ชายเป็นผู้มีอำนาจควบคุมก็ตาม ศาสนาอิสลามในสมัยแรกให้ผู้หญิงมีสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในการแต่งงานและการหย่าร้าง รวมทั้งสิทธิในการมีหรือปฏิเสธเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ความคิดในเชิงตรงกันข้ามกับกระแสหลักเช่นนี้ไม่ได้รับการพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา และบทความเหล่านี้ไม่สามารถตั้งข้อสรุปอะไรได้มากนัก ความจริงก็คือว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมเป็นกลุ่มที่ได้เปรียบในการเมืองของสังคมมุสลิมส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

แพทริซิโอ เอ็น แอบินาลีส

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 5 (March 2004). Islam in Southeast Asia