ปัญหาของการเขียนประวัติศาสตร์แนวชาตินิยมร่วมสมัยของไทย

Patrick Jory

          

วาทกรรมทางประวัติศาสตร์และการเมืองอันเนื่องมาจากวาทกรรมทางประวัติศาสตร์นั้นกลายเป็นประเด็นถกเถียงที่สำคัญของปัญญาชนและสาธารณชนทั่วไป  ประเด็นที่ถกเถียงกัน ได้แก่ ใครควบคุมวาทกรรมทางประวัติศาสตร์และการเมืองเหล่านั้น วาทกรรมนี้ได้รับการเผยแพร่ด้วยวิธีใด และประวัติศาสตร์ที่เสนอเรื่องราวที่แตกต่างออกไปนั้นถูกสะกัดกั้นไม่ให้เผยแพร่ออกไปได้อย่างไร  เป็นเวลานานมาแล้วที่ประวัติศาสตร์ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดความสนใจเช่นว่านี้ในประเทศไทย การเขียนประวัติศาสตร์แนวชาตินิยมดูจะมีอิทธิพลเหนือแนวอื่น  ซึ่งอาจนับเป็นเรื่องที่พิเศษไม่น้อย หากไม่เป็นเพราะว่า แท้ที่จริงแล้ว ประวัติศาสตร์แนวชาตินิยมเผชิญการต่อต้านคัดค้านน้อยมาก  คำถามจึงอยู่ที่ว่า ลักษณะการเขียนประวัติศาสตร์แนวชาตินิยมและวาทกรรมการเมืองที่ว่านี้ จะสามารถคงสถานภาพอันมั่นคงได้มากน้อยเพียงใด หลังจากที่ก่อตัวขึ้นมาได้นานถึง 100 ปี

ในบทความนี้ ข้าพเจ้าจะได้พิจารณาปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเขียนประวัติศาสตร์แนวชาตินิยมร่วมสมัยของไทย  ปัญหาประการแรกเกี่ยวกับชาติไทย อันเป็นเนื้อหาในประวัติศาสตร์ไทยที่เขียนๆ กันมา น่าสนใจว่า หลังจากงานสำคัญสองชิ้น อันได้แก่ Imagined Communities ของ แอนเดอร์สัน และ The Invention of Tradition ของ ฮอบส์บอมและเรนเจอร์ ได้ก่อกระแสวิพากษ์แนวคิดเรื่อง “ชาติ” ขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 นั้น การเขียนประวัติศาสตร์ “ชาติไทย” มีสภาพอย่างไร  ปัญหาประการที่สองคือ บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในงานเขียนประวัติศาสตร์แนวชาตินิยมเหล่านี้  อิทธิพลทางวัฒนธรรมและการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จำกัดทางเลือกของการเขียนประวัติศาสตร์ไทยอย่างไร ปัญหาประการที่สามเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และต่างภูมิภาค เรื่องราวของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ได้ท้าทายความเข้าใจเดิมที่เคยปราศจากการข้อกังขากันมาก่อนที่ว่า  ชาติมีเอกภาพและมีความเป็นหนึ่งเดียวกันในทางวัฒนธรรม

นอกจากนี้ หลังจากที่ภูมิภาคนิยมก่อตัวขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ประเด็นปัญหาใหม่อีกประเด็นหนึ่งก็เกิดขึ้น นั่นคือประวัติศาสตร์แนวชาตินิยมที่นำเสนอผ่านละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และแบบเรียน ได้ก่อผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านของไทยเอง ซึ่งในหลายกรณี นำไปสู่ความตึงเครียดทางการทูต ปัญหาประการต่อมาเกี่ยวข้องโดยตรงกับนักประวัติศาสตร์อาชีพในสถาบันการศึกษา กล่าวคือ อิทธิพลของทฤษฎี “หลังสมัยใหม่” นับแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา และการที่ทฤษฎีดังกล่าวได้ทำลายข้อกล่าวอ้างถึง “ความจริง” ของวิชาประวัติศาสตร์ลงไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น หากประวัติศาสตร์ไทยเป็นเพียงเรื่องราวเรื่องหนึ่งในจำนวนเรื่องราวต่างๆ มากมาย โดยไม่สามารถอ้างอำนาจสูงสุดในการกำหนดความจริงเกี่ยวกับอดีตได้ ประวัติศาสตร์ไทยจะยังควรมีสถานะพิเศษสูงส่งอย่างที่เป็นอยู่หรือไม่ ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับงานเขียนประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยนักวิชาการ ซึ่งแทบจะไม่เกี่ยวข้องสอดคล้องสัมพันธ์กับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่คนทั่วไปรับรู้อยู่ คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ความเสื่อมของวิชาประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเรื่องราวของชาติไทยอันเป็นผลผลิตสำคัญเดียวในรอบ 100 ปีของศาสตร์แขนงนี้อย่างไร

แพทริค จอรี
(Translated by Darin Pradittatsanee, with assistance from Somporn Puttapithakporn and Chalong Soontravanich.)

Read the full unabridged version of this article in English HERE

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 3:  Nations and Other Stories. March 2003

Issue3_banner_small