การระดมมวลชนด้วยประเด็นความไม่เท่าเทียมในมาเลเซียและสิงคโปร์

Meredith L. Weiss

ทั้งข้อมูลจากการสำรวจและผู้สันทัดกรณีต่างชี้ว่าการได้จำนวนที่นั่งมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญของฝ่ายค้านในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในสิงคโปร์ (2011) และมาเลเซีย (2013) มีสาเหตุรากฐานมาจากด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความกลัวว่าโอกาสทางเศรษฐกิจจะลดลง รวมทั้งการตระหนักรับรู้ถึงช่องว่างที่ถ่างกว้างมากขึ้นระหว่างกลุ่มคนที่มั่งคั่งล้นเหลือกับกลุ่มคนที่ขัดสนไม่เพียงพอ ถึงแม้ผลการเลือกตั้งในทั้งสองประเทศสะท้อนถึงความวิตกด้านเศรษฐกิจ แต่ก็เห็นชัดด้วยว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเข้มข้นนอกเหนือการเลือกตั้งกำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเช่นกันและอาจสั่นคลอนเสถียรภาพของระบอบการปกครอง

มาเลเซียและสิงคโปร์เป็นตัวอย่างของระบอบการปกครอง “แบบลูกผสม” ที่มีรายละเอียดแตกต่างกันไปสองรูปแบบ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือรูปแบบการปกครองที่ผสมผสานคุณลักษณะของระบอบการปกครองแบบเสรีนิยมกับไม่ใช่เสรีนิยมเข้าด้วยกัน กล่าวคือ ระบอบอำนาจนิยมแบบมีการแข่งขันและระบอบอำนาจนิยมแบบมีการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองเดียวครองความเป็นใหญ่ตามลำดับ ในทั้งสองประเทศ พรรคการเมืองเดียวหรือแนวร่วมพรรคการเมืองเดิมครองอำนาจมาตั้งแต่ได้รับเอกราช โดยชนะการเลือกตั้งทุกครั้งด้วยปัจจัยผสมผสานของความชอบธรรมที่น่าเชื่อถือ (ส่วนใหญ่แล้วพิจารณาจากประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ) การให้สิ่งจูงใจแก่กลุ่มเป้าหมาย และการปรับเปลี่ยนสนามเลือกตั้งให้ตอบสนองผลประโยชน์ของตน ทว่าในระยะหลัง มีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นและสั่นคลอนดุลยภาพ ในด้านหนึ่ง สื่อออนไลน์ใหม่ๆ นับตั้งแต่เว็บไซต์ข่าวจนถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ ได้ขยายพื้นภูมิของวาทกรรมทางการเมืองออกไป เปิดพื้นที่การเมืองใหม่ๆ ที่รัฐเข้าไปแทรกแซงได้ยากขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง ผลกระทบภายนอกที่เกิดจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบชี้นำ ทั้งความไม่เท่าเทียมทางรายได้และความมั่งคั่งที่เพิ่มมากขึ้น การอพยพเข้าออกเนื่องจากการจ้างงาน โครงข่ายรองรับทางสังคมที่ค่อยๆ ถูกลิดรอนอย่างระมัดระวัง ทั้งหมดนี้เป็นมูลเหตุมากพอให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามเวทีใหม่ ๆ ดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศไม่พยายามที่จะชะลอจังหวะของ “การพัฒนา” ทั้งไม่ยอมอ่อนข้อในสนามการเมืองเมื่อต้องเผชิญหน้ากับประเด็นปัญหาใหม่และกรอบคิดที่เป็นทางเลือกอื่น พวกเขาจึงต้องเผชิญกับการท้าทายอย่างไม่เคยพบเจอมาก่อนนับตั้งแต่กลุ่มชนชั้นนำที่เป็นรัฐบาลในปัจจุบันสามารถรวบรวมอำนาจเป็นปึกแผ่นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ในกรณีของสิงคโปร์คือพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party–PAP) ส่วนในมาเลเซียคือพันธมิตรแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional—BN หรือ National Front) ภายใต้การนำของพรรคอัมโน (United Malays National Organisation–UMNO) 1

หลักฐานของความไม่เท่าเทียม

ทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียมีดัชนีความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นทีละน้อย การถกเถียงเกี่ยวกับแนวโน้มดังกล่าวก็เพิ่มมากขึ้น—และร้อนแรงมากขึ้น—มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นอย่างน้อย แม้แต่นายลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ก็ยอมรับในรัฐสภาเมื่อ ค.ศ. 2011 ว่า “ความไม่เท่าเทียมของรายได้เลวร้ายกว่าเมื่อก่อน….ลูกหลานของกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จก็ยิ่งประสบความสำเร็จ ส่วนลูกหลานของคนที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่าก็ยิ่งประสบความสำเร็จน้อยลง” ทำให้ครอบครัว “ท้อแท้ วิตกกังวล กลุ้มอกกลุ้มใจกับตัวเอง” (Lee 2011) กระนั้นก็ตาม ผู้นำรัฐบาลในทั้งสองประเทศก็ปล่อยให้ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ดำเนินต่อไปเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขาเห็นความสำคัญของเงื่อนไขการแข่งขันมากกว่า กล่าวคือ การสร้างและส่งเสริมกำลังแรงงานที่มีการศึกษาและสมรรถภาพสูงให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ในขณะเดียวกันก็สร้างหลักประกันว่าจะมีมวลชนแรงงานเพียงพอต่องานก่อสร้าง เกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ การผลิตและตำแหน่งงานอื่น ๆ ที่อาศัยแรงงานฝีมือต่ำและค่าจ้างต่ำ ผลพวงส่วนหนึ่งของแนวทางนี้นำไปสู่การยอมรับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่ประชาชน อีกส่วนหนึ่งหมายถึงการอ้าแขนรับแรงงานอพยพมากขึ้น ถึงแม้จะทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงจนเห็นได้ชัดก็ตาม

From the Straits Times, early 2015,
Siingapore’s Straits Times,1 February 2015, reports that the NTUC, which forms the majority of the county’s labour movement, says more needs to be done to close the wage gap for low income workers.

ถึงแม้การรับรู้ถึงความไม่เท่าเทียมอาจเกินความจริงไปบ้างก็ตาม แต่หลักฐานก็มีอยู่อย่างเด่นชัด นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา สิงคโปร์และมาเลเซียแข่งกันโดดเด่นในด้านที่ไม่น่าชื่นชมนัก นั่นคือ การมีสัมประสิทธิ์จีนีสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สัมประสิทธิ์จีนีคือดัชนีชี้วัดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ สัมประสิทธิ์จีนีโดยเฉลี่ยในกลุ่มประเทศ OECD อยู่ที่ 32 ในปลายทศวรรษ 2000 ค่ามีตั้งแต่ 1 (ความเท่าเทียมโดยสมบูรณ์) ถึง 100 ถึงแม้รัฐบาลมีการจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยค่อนข้างมาก แต่ดัชนีจีนีของสิงคโปร์ก็พุ่งสูงสุดถึง 46.7 ในปี 2007 และลดลงเล็กน้อยเหลือ 45.9 ในปี 2012 2 ในขณะที่ช่องว่างรายได้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นภายในกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวคือภายในกลุ่มชาวจีนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่การแบ่งชั้นระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ยังมีอยู่เช่นเดิม อัตราของรายได้และการศึกษาในหมู่ชาวสิงคโปร์เชื้อชาติอินเดียต่ำกว่าชาวจีนเล็กน้อย ในขณะที่พลเมืองชาติพันธุ์มลายูมีรายได้ต่อเดือนโดยเฉลี่ยเพียงแค่ร้อยละ 60 และอัตราการเรียนจบชั้นอุดมศึกษาเพียงหนึ่งส่วนหกเมื่อเทียบกับชาวจีน (Fetzer 2008, 147-8) ส่วนประเทศมาเลเซียนั้น ถึงแม้การปรับการกระจายรายได้ให้เป็นธรรมมากขึ้นจะได้ผลบ้างจากมาตรการกระจายโอกาสให้ทั่วถึงประชากรทุกกลุ่ม (affirmative action) แต่สัมประสิทธิ์จีนีของมาเลเซียก็ยังน่าเป็นห่วงเช่นกัน กล่าวคืออยู่ที่ 46.2 3 อีกทั้งปัจเจกบุคคลในมาเลเซียอาจมีสถานะทางการเงินแย่กว่าที่มาตรวัดระดับครัวเรือนนี้บ่งชี้ด้วยซ้ำ (Lee 2013)

ในขณะเดียวกัน ค่าครองชีพก็สูงขึ้นเรื่อยๆ อัตราเงินเฟ้อเคยต่ำมาตลอดในสิงคโปร์ โดยทั่วไปคือไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปีตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 แต่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 6.5 ในปี 2008 แล้วค่อยๆ ลดลงจนเหลือประมาณร้อยละ 4.5 4 ในมาเลเซียก็เช่นเดียวกัน การสำรวจความคิดเห็นชี้ว่าค่าครองชีพคือความกังวลที่สำคัญที่สุดของผู้ออกเสียงลงคะแนนในช่วงการเลือกตั้ง 2013 ช่องว่างเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างชาติพันธุ์ค่อยๆ ลดลงมาตลอดก็จริง ส่วนใหญ่สืบเนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางจากนโยบายให้การอนุเคราะห์เป็นพิเศษเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มพลเมืองที่เรียกว่า ภูมิบุตร กล่าวคือ ชาวมลายูและชนกลุ่มน้อยชาวพื้นเมือง แต่ช่องว่างภายในกลุ่มชาติพันธุ์เองกลับเพิ่มสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมืองได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่อย่างไม่ได้สัดส่วนกัน (Gomez, et al., 2012, 10) แม้แต่ในหมู่ ภูมิบุตร เอง การเข้าถึงสิทธิประโยชน์หรือการอุปถัมภ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น การมีอภิสิทธิ์ของกลุ่มคนที่เรียกกันว่า “อัมโนบุตร” กล่าวคือกลุ่มคนที่มีเส้นสายสัมพันธ์กับพรรครัฐบาล ก็กระตุ้นให้เกิดความกังวลและการวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน

ประสบการณ์ของการรัดเข็มขัดเป็นชนวนให้เกิดความวิตกกังวล โดยเฉพาะในสิงคโปร์ ความกลัวนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความกลัวการแข่งขัน กับอีกส่วนหนึ่งเกิดจากความกลัวว่าจะสูญเสียลักษณะประจำชาติ เนื่องจากรัฐบาลประกาศความตั้งใจที่จะขยายกำลังแรงงานให้พอเหมาะกับความจำเป็นของการจ้างงานด้วยการรับแรงงานต่างชาติเข้ามามากขึ้น การอพยพเข้าสู่สิงคโปร์มีจำนวนพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1990 พลเมืองชาวสิงคโปร์และผู้อยู่อาศัยถาวรมีสัดส่วนร้อยละ 97 ของจำนวนประชากรในปี 1970 ร้อยละ 95 ในปี 1980 ร้อยละ 90 ในปี 1990 ร้อยละ 81 ในปี 2000 แต่ในปัจจุบันลดลงเหลือแค่ร้อยละ 72 กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ หนึ่งส่วนสี่ของประชากร 5.1 ล้านคนในสิงคโปร์ตอนนี้เป็นชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ผู้อยู่อาศัยประจำถิ่น ส่วนใหญ่มาจากประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

ความเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรนี้กระตุ้นให้ทั้ง “Heartlanders” 5 ที่ปรกติไม่ค่อยมีปากเสียงและ “ชาวมหานคร” (cosmopolitans) ที่ได้รับการศึกษาแบบอังกฤษและมีการเคลื่อนย้ายทั้งการเลื่อนสถานะทางสังคมหรือย้ายไปต่างประเทศ (Tan 2003, 758-9) ออกมาแสดงความคิดเห็นในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีตั้งแต่การวิวาทะออนไลน์กันอย่างเผ็ดร้อนไปจนถึงการสนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน ข้อมูลจากการเลือกตั้งและความคิดเห็นชี้ให้เห็นว่า ชาวจีนหนุ่มสาวชนชั้นกลางที่มีการศึกษาดี ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของพรรคกิจประชาชน กลับกลายเป็นกลุ่มคนที่ตั้งข้อกังขาต่อพรรคมากที่สุดในตอนนี้ (Fetzer 2008, 136) การแสดงความคิดเห็นในสื่อต่างๆ ตั้งแต่ภาพยนตร์ นิยาย จนถึงบล็อกเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น การที่รัฐให้สิทธิพิเศษแก่ “ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ” ที่มีฝีมือ ก่อให้เกิดความไม่พอใจ พวกเขามองว่าผู้เข้ามาใหม่เหล่านี้กำลังมาแย่งงาน ไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหารซึ่งถือเป็นหน้าที่ของผู้ชายสิงคโปร์ทุกคน แถมดูเหมือนได้รับการปฏิบัติดีกว่าและได้รับค่าลดหย่อนพิเศษด้วย (Ortmann 2009, 37-41) ยิ่งกว่านั้น ผู้อยู่อาศัยที่ไม่ใช่พลเมืองในสัดส่วนไม่น้อยมีชาติพันธุ์เดียวกับชนกลุ่มน้อยท้องถิ่น นี่ยิ่งทำให้เกิดอคติที่ฝังลึก

การระดมมวลชนด้วยประเด็นความไม่เท่าเทียม

ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจหรือความคับข้องใจมิใช่ความไม่พอใจเพียงอย่างเดียวของพลเมืองแน่ๆ ยกตัวอย่างเช่นในมาเลเซีย กระแสเรียกร้อง “อิสลามานุวัตร” (Islamization) หรือสิทธิชุมชนอาจประจวบเหมาะกับข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับความอยู่ดีกินดีทางวัตถุ เพียงแต่สะท้อนมูลฐานความเชื่อที่แตกต่างกันและอาจได้ผลในกลุ่มย่อยที่แตกต่างกันไปในกลุ่มประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจกลายเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นพื้นฐานในการระดมมวลชนเพื่อท้าทายความชอบธรรมในทั้งสองประเทศ

ในขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่สาธารณะใหม่สำหรับการเผยแพร่ทางเลือกอื่นๆ สิงคโปร์จัดอยู่ในกลุ่มสังคมที่ “เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต” (wired) มากที่สุดในโลก ไม่เพียงแค่ชาวสิงคโปร์สามในสี่คนรับข้อมูลข่าวสารออนไลน์เท่านั้น แต่ร้อยละ 97 ของกลุ่มคนวัย 15-19 ปีใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำและร้อยละ 80 ของกลุ่มคนวัย 25-34 ปีใช้เฟซบุ๊ก (Kemp 2012b) ชาวมาเลเซียก็เช่นกัน ร้อยละ 60 รับข้อมูลข่าวสารออนไลน์ และร้อยละ 90 ของจำนวนนี้เยี่ยมชมเว็บไซท์สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ (Kemp 2012a) สื่อกระแสหลักในทั้งสองประเทศถูกควบคุมเข้มงวด การมีสื่อออนไลน์ช่วยเปิดกว้างการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การแลกเปลี่ยนถกเถียงและการระดมมวลชน ทั้งนี้เพราะทั้งสองประเทศไม่สามารถเซนเซอร์อินเทอร์เน็ตได้เต็มที่เพราะต้องเอาใจนักลงทุน (Weiss 2014a)

การประท้วงที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ทั้งในสิงคโปร์และมาเลเซียมีการจัดตั้งออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเอกสารรัฐบาลสิงคโปร์ฉบับหนึ่งแสดงให้เห็นชัดว่า รัฐบาลมีแผนการที่จะเดินหน้าดึงดูดแรงงานต่างชาติเข้ามาอย่างรวดเร็วเพื่อชดเชยกับจำนวนประชากรท้องถิ่นที่กำลังหดตัวลง ความโกรธแค้นของประชาชนต่อภัยคุกคามที่อาจมีต่อตำแหน่งงานในประเทศและคุณภาพชีวิต (เช่น อาจสร้างความแออัดในสิงคโปร์ที่มีพื้นที่จำกัดมาก) ก็ค้นพบช่องทางระบายออกทางอินเทอร์เน็ต การก่นด่าในโลกความจริงเสมือนนำไปสู่การประท้วงในโลกจริง เมื่อนักกิจกรรมต่อต้านแรงงานอพยพใช้เฟซบุ๊กจัดตั้งการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดสองครั้งในรอบหลายทศวรรษของสิงคโปร์เมื่อต้นปี 2013 6 เสียงคัดค้านที่รุนแรงนี้บีบให้รัฐบาลพรรคกิจประชาชนต้องยอมเพิ่มสิทธิประโยชน์บางอย่างที่ให้เฉพาะพลเมืองสิงคโปร์เท่านั้น เพื่อให้เกิดความแตกต่างชัดเจนจากแรงงานอพยพ (เช่น การศึกษาและโรงเรียน เป็นต้น) พรรคการเมืองฝ่ายค้านก็ได้ประโยชน์เช่นกัน การทำข่าวออนไลน์เกี่ยวกับการรณรงค์และนโยบายพรรคของฝ่ายค้านในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ค.ศ. 2011 ไม่เพียงช่วยขยายขอบเขตการสื่อสารของพวกเขา (ส่วนใหญ่เน้นประเด็น “ปากท้อง”) แต่ดูเหมือนช่วยดึงดูดประชาชนจำนวนมากกว่าเดิมให้ออกมาร่วมกิจกรรมหาเสียงของพวกเขา รวมทั้งลงคะแนนให้พรรคฝ่ายค้านด้วย

This is a inaugural labour day protest against the 6.9 million population white paper and labour-related matters that affect Singaporeans.
Inaugural Labour Day Protest – For A Better Singapore – Organised by transitioning.org in 2013.
Image taken from their Facebook page

ในมาเลเซียก็เช่นกัน การมีจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนถึงร้อยละ 23 ระหว่างการเลือกตั้งครั้งที่แล้วกับการเลือกตั้งในปี 2013 ซึ่งเชื่อกันว่าส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่เชี่ยวชาญการใช้อินเทอร์เน็ตและโอนเอียงไปทางนิยมฝ่ายค้านมากกว่า มีการวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวางว่าน่าจะเชื่อมโยงกับข่าวและการถกเถียงแลกเปลี่ยนออนไลน์ รวมทั้งการประท้วงในระยะหลังก็มีการจัดตั้งกันทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ การรณรงค์ครั้งใหญ่ที่สุดจัดโดยองค์กร Bersih 7 หรือ “แนวร่วมเพื่อการเลือกตั้งสะอาดและเป็นธรรม” แกนหลักของอุดมการณ์ฝ่ายค้านคือธรรมาภิบาล (ซึ่งเป็นประเด็นแกนหลักของ Bersih เช่นกัน) และต่อต้านการคอร์รัปชั่น กระนั้นก็ตาม คำมั่นสัญญาที่แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านเน้นย้ำในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2013 ยังเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่จำกัดแคบ ตั้งเป้าไปที่ฐานเสียงชนชั้นกลางผู้วิตกกังวล เช่น การศึกษาแบบให้เปล่าในระดับสูงขึ้น การเข้าถึงเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย การลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและราคาน้ำมัน ฯลฯ สิ่งที่พรรคฝ่ายค้านนำมาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นความขัดแย้งก็คือ ภาพหวือหวาและการเปิดโปงบุคคลสำคัญในกลุ่มพรรคพันธมิตรของรัฐบาล (โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและภรรยา) โดยบ่งบอกนัยยะถึงความมั่งคั่งที่น่าสงสัยและ “ระบบพวกพ้อง” ที่ละโมบกอบโกย

ผลกระทบต่อระบอบการปกครอง

ผู้เขียนเคยอ้างเหตุผลไว้ในงานเขียนชิ้นอื่น (Weiss 2014b) ว่า พัฒนาการข้างต้นอาจสร้างผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อลักษณะของระบอบการปกครองแบบลูกผสมในทั้งสองประเทศ ระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้งในมาเลเซียและสิงคโปร์ตั้งอยู่บนหลักความเชื่อมูลฐานของการมีส่วนร่วมที่กระตือรือร้นแต่มีขอบเขตจำกัดและการวิวาทะโต้แย้งที่มีการควบคุม ซึ่งแตกต่างห่างไกลจาก “การปกครองโดยคนจำนวนมากร่วมกัน” (Polyarchy) ที่เป็นรูปแบบการปกครองในอุดมคติของโรเบิร์ต ดาห์ล (Dahl 1971) ความล้มเหลวของรัฐนักพัฒนา (Developmental State) 8 ในการรักษาสิทธิประโยชน์ที่ให้สัญญาไว้แก่ประชาชน ทั้งในเชิงสัมบูรณ์หรือในเชิงเปรียบเทียบ ไม่เพียงกระตุ้นให้เกิดการเมืองที่พัวพันมากขึ้น แต่ยิ่งผลักดันผู้มีส่วนร่วมหน้าใหม่เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองและประเด็นใหม่ๆ เข้าสู่วาระทางนโยบาย ลักษณะลูกผสมของระบอบการปกครองต้องอาศัยฉันทามติที่เห็นพ้องกับสถานภาพดั้งเดิมในระดับสูง กล่าวคือ ความเชื่อว่า “ประชาธิปไตย” ในขอบเขตจำกัดแบบที่เป็นอยู่เป็นสิ่งที่พอเพียงแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการกดบังคับอย่างชัดเจนเกินไปเพื่อบีบให้ยินยอม การพัวพันที่ขยายวงกว้างและขยายขอบเขตมากขึ้น รวมทั้งการเกิดปากเสียงทางการเมืองใหม่ๆ อาจนำไปสู่การมีคู่แข่งขันทางการเมืองมากขึ้น หรือไม่ก็รัฐบาลออกมากดขี่ปราบปรามเพื่อกำราบความไม่พอใจที่เดือดพล่าน วิธีการอย่างหลังน่าจะมีความเป็นไปได้น้อยกว่า เนื่องจากเสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนคู่ค้าหรือนักลงทุน หรืออาจผลักดันกลุ่มคนระดับหัวกะทิให้อพยพออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกไหน ก็ย่อมผลักระบอบการปกครองให้เข้าสู่ภาวะชะงักงันครั้งใหม่ ซึ่งย่อมบุกเบิกเส้นทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ด้วยแรงกระตุ้นทั้งจากความไม่พอใจและการมีทรัพยากรในการระดมมวลชนที่เกิดจากพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ ความท้าทายของผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งกว้างขวางกว่าเดิมกำลังเกิดขึ้น โดยมุ่งไปสู่ระเบียบการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าเดิมและมีการแข่งขันกันมากขึ้นในรัฐลูกผสมทั้งสองประเทศ

 Meredith L. Weiss
รองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัย Albany, SUNY

Issue 17, Kyoto Review of Southeast Asia, March 2015

Bibliography

Dahl, Robert A. 1971. Polyarchy: Participation and Opposition. New Haven: Yale University Press.
Fetzer, Joel S. 2008. ‘Election Strategy and Ethnic Politics in Singapore’. Taiwan Journal of Democracy 4, no. 1: 135-53.
Gomez, Edmund Terence, Johan Saravanamuttu and Maznah Mohamad. 2012. ‘Malaysia’s New Economic Policy: Resolving Structural Inequalities, Creating Inequities?’ In The New Economic Policy in Malaysia: Affirmative Action, Ethnic Inequalities and Social Justice, edited by Edmund Terence Gomez and Johan Saravanamuttu. 1-28. Singapore: NUS Press/ISEAS; Petaling Jaya: SIRD.
Kemp, Simon. 2012a. ‘Social, Digital and Mobile in Malaysia’. We Are Social, 4 Jan. http://wearesocial.net/blog/2012/01/social-digital-mobile-malaysia/.
––––. 2012b. ‘Social, Digital and Mobile in Singapore’. We Are Social, 5 Jan. http://wearesocial.net/blog/2012/01/social-digital-mobile-singapore/.
Lee Hsien Loong. 2011. ‘Speech by Prime Minister Lee Hsien Loong at the Debate on the President’s Address, 20 October 2011 at Parliament’. Prime Minister’s Office. http://www.pmo.gov.sg/content/pmosite/mediacentre/speechesninterviews/primeminister/2011/October/Speech_by_Prime_Minister_Lee_Hsien_Loong_at_the_Debate_on_The_President_Address.html#.UjxLXBbGlz8.
Lee Hwok-Aun. 2013. ‘Is Inequality in Malaysia Really Going Down? Some Preliminary Explorations’. Paper presented at World Economics Association Conference on the Inequalities in Asia: 27 May to 12 July. http://iiaconference2013.worldeconomicsassociation.org/is-inequality-in-malaysia-really-going-down-some-preliminary-explorations/.
OECD. 2011. Divided We Stand: Why Inequality Keeps Rising. Paris: OECD Publishing.
Ortmann, Stephan. 2009. ‘Singapore: The Politics of Inventing National Identity’. Journal of Current Southeast Asian Affairs 28, no. 4: 23-46.
Statistics Singapore. ‘Key Household Income Trends, 2012’. Department of Statistics Singapore (February 2013). http://www.singstat.gov.sg/Publications/publications_and_papers/household_income_and_expenditure/pp-s19.pdf.
Tan, Eugene K. B. 2003. ‘Re-Engaging Chineseness: Political, Economic and Cultural Imperatives of Nation-Building in Singapore’. China Quarterly 175 (Sept.): 751-74.
Weiss, Meredith L. 2014a. ‘New Media, New Activism: Trends and Trajectories in Malaysia, Singapore, and Indonesia’. International Development Planning Review 36, no. 1: 91-109.
––––. 2014b . “Of Inequality and Irritation: New Agendas and Activism in Malaysia and Singapore.” Democratization 21, no. 5: 867-87.

Notes:

  1. ข้อคิดเห็นในประเด็นนี้ส่วนใหญ่ได้มาจาก Weiss 2014 ซึ่งเสนอข้อถกเถียงและการวิเคราะห์เจาะลึกลงในรายละเอียดมากกว่าในบทความนี้
  2. Statistics Singapore, ‘Key Household Income Trends’, 12; OECD 2012, 22.
  3. World Bank, GINI index, http://data.worldbank.org/indicator/SI.POV.GINI.
  4. http://data.worldbank.org/indicator/FP.CPI.TOTL.ZG, accessed March 29, 2014.
  5. คำว่า Heartlanders เป็นคำที่ใช้ในสิงคโปร์ หมายถึงผู้อยู่อาศัยตามย่านชานเมือง ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแฟลตของการเคหะที่รัฐบาลสร้าง คนเหล่านี้ถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของสิงคโปร์ ถึงแม้คำนี้ใช้กันทั่วไป แต่ก็ไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนนักว่าใครบ้างที่เป็น heartlanders แต่โดยทั่วไปมักใช้คำนี้ในความหมายที่ตรงกันข้ามกับ “ชนชั้นนำ” (elites)
  6. โปรดดู https://www.facebook.com/events/138310433012844/.
  7. องค์กร Bersih มีสถานะเป็นองค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอ ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 2006 และประกาศตัวว่าไม่มีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองใดๆ
  8. คำศัพท์ที่ใช้ในแวดวงเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ หมายถึงการวางแผนเศรษฐกิจมหภาคที่มีรัฐเป็นผู้ชี้นำ ซึ่งเป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกในช่วงปลายศตวรรษที่ 20