สายใยแห่งภราดรภาพ: บนสายรากวัฒนธรรมไทยทักษิณกับมลายูตอนบน

Suthiwong Phongphaibun

ความเป็นตัวตนของผู้คน/ชุมชนย่อมผสานด้วยส่วนที่เป็นองคาพยพทางกายภาพและองคาพยพทางจิต  อันได้แก่ส่วนที่เป็นรูป หรือรูปแบบ (Form) องค์ประกอบ (Element) บทบาท (Role) หน้าที่ ( Function) และความเข้มแข็ง (Strength)

ความเป็นอัตลักษณ์ที่แท้จริงของชุมชนจึงประกอบด้วยองคาพยพ(อวัยวะ)น้อยใหญ่ที่เป็นรูปธรรมตามสายรากแห่งชาติพันธุ์ด้านพันธุกรรมหรือเชื้อชาติสายรากหนึ่ง และอีกสายรากหนึ่งคือส่วนที่เป็น  “บุคลิกภาพ” ซึ่งสำแดงผ่านพฤติกรรมและวิถีคิดตามครรลองแห่งจารีตนิยมของกลุ่มอันอนุโลมว่าเป็นชาติพันธุ์ด้านวัฒนธรรมซึ่งมี “เจตนา” หรือธรรมาพยพเป็นตัวกำกับและขับเคลื่อน  ดังนั้นความเป็นตัวตนของผู้คน / ชุมชนจึงมีการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหว หรือพลวัตอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการหยุดนิ่ง

ความเป็นคนไทยภาคใต้ตอนล่างและความเป็นคนมาเลเซียตอนบนจึงต้องมองผ่านทั้ง๒ องคาพยพ  โดยการมองทั้งส่วนที่ย้อนอดีต  ส่วนที่กำลังก่อตัว และส่วนที่พึงพยากรณ์ได้ในอนาคต

มองการร่วมสายรากแต่ดึกดำบรรพ์

ชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและในมาเลเซียตอนบนมีโครงสร้างระดับรากเหง้าร่วมกันเพราะต่อ

เขตแดนกันและตั้งอยู่ในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตรด้วยกัน ต่างก็มีสภาพอากาศร้อนชื้นและลมมรสุมพัดผ่านตลอดทั้งปี  โครงสร้างทางกายภาพจึงเอื้อให้โครงสร้างทางชีวภาพเหมือนและคล้ายคลึงกัน  เหมือนคนร่วมสายโลหิตกันมาและพลวัตเคียงคู่กันมาโดยตลอด เช่น ความหลากหลายคล้ายคลึงของประชากรพืช  ประชากรสัตว์ และความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นปัจจัยให้เกิดความหลากหลายทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชุมชน  อันเนื่องแต่ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียง / เหมือนกัน

มองในแง่ประวัติศาสตร์ทางชาติพันธุ์  ย้อนรอยประวัติศาสตร์ไปเมื่อประมาณ ๓๕๐๐ ปีก่อนพุทธกาล  จนถึงต้นพุทธศตวรรษแรก  ดินแดนบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ตลอดจนถึงแหลมมลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซียรวมทั้งเกาะบอเนียว  และสุมาตรา  ได้เป็นที่อาศัยของพวกมองโกลที่ผสมพันธุ์กับชนพื้นเมืองดั้งเดิมเกิดเป็นตระกูลโพลีนีเชียนขึ้น และต่อมาราว ๕๐๐ ปี ก่อนพุทธกาลได้ผสมพันธุ์ข้ามสายกับพวกอารยันซึ่งเป็นชนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งของอินเดียที่อพยพมาสู่เอเชียใต้ 1

 นักวิชาการนิยมเรียกคนตระกูลโพลีนีเชียนซึ่งอาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะมาดากัสการ์ในอัฟริกาตะวันออกรวมทั้งพวกมินังกะเบาและบาตัคในเกาะสุมาตราหรือพวกดยัคในเกาะกาลิมันตันและชาวชวาว่า “มลายู” 2 ซึ่งคำนี้มีนัยยะหมายถึงการอพยพข้ามฟากแม่น้ำ อันหมายถึงการอพยพของชาวชวาพวกหนึ่งสู่คาบสมุทรและหมู่เกาะอื่นๆ 3 มลายูตามนัยยะนี้จึงสะท้อนแนวความเชื่อว่าเป็นกลุ่มชนที่แยกไปจากชวา จึงมักเรียกผู้คนและวัฒนธรรมของชุมชนกลุ่มนี้ว่า “ชวา – มลายู”

จากการร่วมสายรากทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของชุมชนดังกล่าวมาแล้ว  จึงพลวัตเป็นกลุ่มคนสายชาติพันธุ์ใหม่ที่มีวัฒนธรรมร่วมเป็นตัวบ่งชี้อัตลักษณ์เหนือกว่าชาติพันธุ์อันมีเชื้อชาติหรือพันธุกรรมเป็นตัวหล่อหลอม  โดยเฉพาะความแนบแน่นระหว่างคนไทยภาคใต้ตอนล่างซึ่งเคยมีปตานี  เป็นศูนย์กลางกับมาเลเซียตอนบนซึ่งมีเคดาห์ และหัวเมืองใกล้เคียงเป็นศูนย์กลางทั้งการปกครอง  การค้า และวัฒนธรรม  เหล่านี้ทำให้เห็นเป็นความแนบแน่นของผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวที่เป็นรูปลักษณ์และจิตลักษณ์ทับซ้อนกันอย่างพิสดาร  โดยอาจมองผ่านได้ทั้งภูมิปัญญาและขนบนิยมที่เกี่ยวกับการดำรงชีพแบบพื้นบ้าน  การอาศัยสรรพศาสตร์ชาวบ้านและทฤษฎีชาวบ้าน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ ปัจจัยสี่อันเป็นปัจจัยพื้นฐานได้แก่ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมด้านโภชนาการ  เช่น  วัฒนธรรมการกิน  หรือการผลิตและการบริโภค  บูดู, จิ้งจัง   เป็นต้น  ด้านที่อยู่อาศัย  เช่น  การปลูกสร้างอาคารแบบมีตีนเสา  การต่อเติมพาไล (Balai) เป็นต้น ด้านเครื่องนุ่งห่มและอาภรณ์  เช่น  ความนิยมโสร่ง (Sarong) , ปาเต๊ะ (Batik) เป็นต้น ด้านการดูแลรักษาสุขภาพอนามัย  เช่น  การรักษาไข้ด้วยการแสดงมะเตอรีและลิมนตร์หรือโต๊ะครึม, การมีหมอตำแย หรือที่เรียกว่าโต๊ะบิดัน  การมีค่าราด(ค่าตอบแทน) เป็นต้น เหล่านี้ล้วนร่วมสายรากกันมาก่อน และยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นวัฒนธรรมรากเหง้าที่ฝังแน่น  แผ่กว้างและหยั่งลึก

วัฒนธรรมท้องถิ่นมีทั้งที่เป็นวัฒนธรรมระดับรากเหง้า  วัฒนธรรมประกอบและวัฒนธรรมย่อย เช่น “วัฒนธรรมข้าว” เป็นวัฒนธรรมรากเหง้า รูปแบบการไถ    หว่าน  ปักดำ   การเก็บเกี่ยวข้าวทีละรวงด้วยแกะ (ยังเหลืออยู่ทั้งในภาคใต้, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย)  คติความเชื่อหรือประเพณีเกี่ยวกับชุมชนชาวนาบางอย่างเป็นวัฒนธรรมประกอบ เช่น  ความเชื่อเรื่องขวัญข้าว, ข้าวขวัญ, บายศรีขวัญข้าว  ซึ่งถูกผ่องถ่ายผ่านพิธีกรรมต่างๆ  เช่นในกิจกรรมโกนผมไฟ, ขึ้นเปล, ทำขวัญเด็ก, ทำขวัญข้าว  บางอย่างบูรณาการกับศาสนบัญญัติ  เช่น บายศรีประกอบพิธีเข้าสุหนัตของชาวไทยมุสลิม หรือการมีบายศรีและเวียนแว่นเทียนชัยในพิธีแต่งงานซึ่งบูรณาการระหว่างฮินดู, พุทธ, อิสลาม เป็นต้น

บุคลิกภาพที่แนบแน่นเพราะร่วมสายรากทางวัฒนธรรมกัน  จะค่อยๆถูกผลักให้ห่างกันด้วยกาลเวลาและสายทางที่ยาวนาน  ด้วยเส้นแบ่งอันเนื่องจากระบบอำนาจการปกครอง  ทำให้ความใกล้ชิดกลายเป็นความไกล  ความห่างเหินเมินเฉยและบางครั้งคือ “ความสอดแคล้ว” (สงสัย, กังขา)  อันนำไปสู่ความขัดแย้งสะสม จนเป็นเหตุให้ความสอดคล้องไร้ความหมาย  เปรียบเสมือนดอกไม้ซึ่งเคยบานในพวงเดียวกัน  แม้จะต่างกิ่ง  ต่างช่อ  ก็ยังมีกลีบ  กลิ่น  สี เป็นอันเดียวกัน  ครั้นห่างไกลเป็นต่างชาติต่างภาษากัน จนค่อยๆต่างกลิ่น  ต่างสี  และโน้มกิ่งไม่ถึงกัน  ที่เคยร่วมพันธุ์  ร่วมเพศ  ก็กลายเป็นต่างพันธุ์ต่างเพศ  “ตันหยงมัส” ในจังหวัดนราธิวาส  อาจพอสาวย่านกันได้กับ “พิกุลทอง” ที่จังหวัดพัทลุงแต่ไกลกันมากกับ “พิกุลทอง” ที่จังหวัดอ่างทอง คำว่า “หลุด” (โคลนตม)ในภาษาใต้ กับ selut ในภาษามาเลเซียยังอาจสาวญาติกันถึง   ถ้าต่างก็เพ่งด้วยสายตาของนักภาษาศาสตร์ด้วยกัน   แต่อาจไม่เข้าใจกันทั้งๆที่ใช้คำเดียวกันร่วมสนทนากัน  ถ้าอยู่บนมิติที่ปักใจว่าต่างชาติต่างภาษากัน  ตัวอย่างที่ยกมาย่อมมีลักษณะต่างกับคำ “ข้าวขวัญ” กับ “นาซิสมาหงัด” ที่ยังพอสาวย่านถึง      แต่ถ้าไม่สาวย่านก็คงแลไม่เห็นกันเช่นในประเพณีการแต่งงานของ

ชาวไทยมุสลิมในปัจจุบัน  ยังคงมีการป้อน“ข้าวขวัญ” หรือ “สมาหงัต” กันอยู่  แต่ในภาคใต้เลิกประเพณีนี้เสียนานแล้ว  ต้องสาวลึกไปถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น   ดังที่พบหลักฐานในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้  เรื่องพระรถเมรี คำกาพย์ 4 (ฉบับของนายเรือง  บ้านนาใน ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช) มีการป้อนข้าวขวัญในตอนที่นางสนทราประกอบพิธีทำขวัญและตั้งชื่อนางเมรี เสียใหม่ว่า “กังหรี”  ดังที่ว่า

“๏พราหมณ์ให้เบิกบายศรี       ยอดตองคลี่เปลื้องภูษา

เทียนชัยจุดไฟมา                  ทำบูชาครูอาจารย์

๏พฤฒพราหมณ์ถวายเวท        สระสรงเกศพระยุพาน

โหราพฤฒาจารย์                  ก็โอมอ่านอวยพรชัย

๏ จุดเทียนเวียนแว่นวี            ค่อมขันทีนั่งแน่นไป

 รับเทียนเวียนแว่นชัย                     นางทรามวัยจับมิ่งขวัญ

๏ ทักษิณรอบบินจา                พราหมณ์รับมาจุ่มในขัน

จอมหม่อมนั่งพร้อมกัน                   วันทำขวัญพระลูกยา

  ๏เก้ารอบดับเทียนชัย              โบกควันไปต้องธิดา

ข้าวขวัญนางสนทรา                      ป้อนปากให้กุมารี

๏ให้นามตามวงศา         ให้ชื่อว่าเจ้ากังหรี

 ชื่อเดิมเรียกเมรี                            พ่อแม่ตั้งแต่หลังมา”

 ความเหมือนจึงอาจกลายเป็นความต่างเมื่อพื้นที่หนึ่งยังถือปฏิบัติกันอยู่ แต่อีกพื้นที่หนึ่งเลิกปฏิบัติเสีย “การสาวญาตินับโยด” 5 จึงจำเป็นต้องมองย้อนหลังบ้างจึงจะพบ “สัจจะ” ของปัจจุบัน  การค้นหาเค้ารอยแห่งอดีตชาวไทยภาคใต้เรียกว่า “แลเหม” (ประพิมพ์ประพาย) เพื่อ “สาวย่านนับโยด” หาความเป็นเครือญาติของกันและกัน

มองการแตกสายรากยุคสัญจรทางเรือ

ทำเลที่ตั้งของคาบสมุทรไทยและคาบสมุทรมลายูอยู่ในเส้นทางการค้าทางเรือ เป็นท่าจอดซ่อมเรือและพักรับส่งสินค้าของพวกแขกมัวร์กับเอเซียอาคเนย์และจีนมาตั้งแต่เทคโนโลยีการต่อเรือและการเดินเรือยังไม่เจริญหนังสือภูมิศาสตร์ของคลอเดียปโตเลมี นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก (พ.ศ.๖๗๐-๖๘๔) ได้บรรยายถึงคาบสมุทรทองซึ่งหมายถึงคาบสมุทรไทยและมลายู   โดยเฉพาะที่ชวาว่าชวาเป็นประเทศที่เจริญพร้อมทั้งระบบการปกครอง ความก้าวหน้าทางเกษตรกรรม การเดินเรือ ดาราศาสตร์ กล่าวถึงภูมิปัญญาของประชาชนเกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิต batik วัฒนธรรมโลหกรรม ตลอดจนการใช้ระบบเงินตราและการผลิตเหรียญกษาปณ์ โดยเฉพาะกรณีที่ชาวอินเดียจากแคว้นกุชรัศได้อพยพเข้ามาสู่ดินแดนชวา-มลายูและไทยภาคใต้ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๕ จนถึงพุทธศักราช ๖๒๐ (รัชสมัย Aji Caka) ในชวาหรืออินโดนีเชียปรากฏหลักฐานว่ามีการนำภาษาสันสกฤต อักษรปาลวะและอักษรเทวนาครีมาใช้อย่างแพร่หลาย  ซึ่งต่อมาภาษาและตัวอักษรดังกล่าวได้ปรุงแต่งด้วยถ้อยคำจากภาษาพื้นเมืองของชาวชวา  เกิดเป็นภาษา “Kawi” ขึ้นอันนำไปสู่การขยายตัวทางการค้า ทำให้ดินแดนดังกล่าวได้สมญานามว่า “สุวรรณทวีป” และ “ชวาทวีป” พร้อมๆ กันนั้นได้ส่งผลให้ดินแดนดังกล่าวค่อยกลายเป็นอาณาจักรวัฒนธรรมฮินดูและพุทธเกษตรในระยะต่อมา 6

คลองชัย  หัตถา  ว่าปรากฏเป็นครั้งแรกในวรรณกรรมทมิฬ เรื่อง ปัตตินภาลัย (Pattinappalai) ซึ่งเขียนขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘  ว่าเมืองเดดาห์ (Kadah) เป็นเมืองคู่ค้ากับเมืองโบราณแห่งหนึ่ง คือ เมืองปูฮาร์ (Puhar) ของโจฬะ และกล่าวว่าปัตตานีกับเคดาห์มีความสัมพันธ์กันมาช้านานทั้งในทางเครือญาติ การค้า และศาสนา อ้างถึงเอกสารอินเดียที่บันทึกขึ้นระหว่างพุทธศักราชที่ ๑๓-๑๖ ว่าเมืองเคดาห์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในบรรดาพ่อค้านักเดินเรือ หลังจากนั้นก็รู้จักในฐานะแหล่งซื้อขายเครื่องเทศ     ซึ่งชาวยุโรปเรียกสินค้าที่ซื้อจากแถบนี้ว่า ผลิตผลจากช่องแคบ 7

เส้นทางการค้าทางเรือควรจะตัดตรงจากปลายแหลมอินเดียเข้าสู่ช่องแคบมะละกาซึ่งเป็นทางลัดแต่เนื่องจากเส้นทางนี้ ณ บริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตรไปถึงเส้นห้าองศาเหนือ  เป็นพื้นที่อันตรายเพราะเป็นเขตจุดเริ่มต้นของลมสินค้า ลมจะสงบนิ่ง (ไร้กระแสลม เรียกว่า แดนดอนดรัม (doldrums)  เมื่อลมเบาบางจนทำให้เรือสินค้าเคลื่อนที่ไม่ได้ เรียกกันว่า “ตกโลก” ประเสริฐ วิทยารัฐ  อธิบายว่าอันนี้ทำให้นักเดินเรือต้องเดินเรืออ้อมขึ้นมาทางเหนือ  เพราะนอกจากหลบอันตรายดังกล่าวแล้วยังได้จอดพักซ่อมเรือ  เติมเสบียงอาหารและน้ำ และยังแลกเปลี่ยนสินค้ากันได้อีกส่วนหนึ่ง 8

 พื้นที่คาบสมุทร (มลายูและภาคใต้ของไทย) เช่นที่เคดาห์และตะโกลา ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญและเป็นจุดเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออก เช่น เคดาห์สามารถเชื่อมต่อกับลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) เมืองสาย (สายบุรี) และปัตตานี (ลังกาสูกะบริเวณเมืองยะรัง) 9 เป็นศูนย์กลางการค้าผลิตผลช่องแคบอยู่นานหลายศตวรรษไม่ว่าจะภายใต้ร่มเงาของวัฒนธรรมศรีวิชัย  มัชปาหิต/สยามก็ตาม  โดยเฉพาะในช่วงที่มัชปาหิตรุ่งโรจน์ บริเวณต่อแดนดังกล่าวนี้  ได้ผ่องถ่ายวัฒนธรรมฮินดู-ชวาผ่านทางมัชปาหิตมากกว่าจากอยุธยา

sea_navigation

ครั้นมัชปาหิตเสื่อมถอยลงพร้อมกับความเจริญของอิสลาม ณ ศูนย์กลางการค้าเมืองมะละกา จนถึงสมัยราชวงศ์หมิงของจีน (พ.ศ.๑๙๑๑-๒๑๘๗ โดยเฉพาะในแผ่นดินจักรพรรดิหย่งเล่อ ได้มีการพัฒนาการต่อเรือสำเภาขนาดใหญ่ จนสามารถให้เจิ้งเหอนำขบวนสำเภาใหญ่ไปสำรวจค้าขายข้ามคาบสมุทรถึง ๗ ครั้ง ระหว่าง พ.ศ.๑๙๔๘ – ๑๙๗๘ 10 (คาดว่าสามารถตัดผ่านดอนดรัม) จนถึงยุคที่โลกตะวันตกไล่ล่าอาณานิคม นั้นในพ.ศ.๒๐๕๔โปรตุเกสเข้ายึดเมืองมะละกาหลังจากโลกมุสลิมเข้าสู่บริเวณนี้ไม่มากนัก ดินแดนดังกล่าวกลายเป็นถิ่นบูรณาการระหว่างผู้คนและวัฒนธรรม ฮินดู-อาหรับ-เปอร์เซีย-อินดูชวา โลกอิสลาม จีน และวัฒนยุโรปอย่างสลับซับซ้อน ครั้นถึงพ.ศ. ๒๐๕๙ ชาวโปรตุเกสได้รับอนุญาตให้ดำเนินการค้ากับปัตตานีจนความต่างค่อยๆ แทรกตัวเข้าระหว่างความเหมือนมากขึ้นทุกที  ความสอดแคล้วก็ค่อยๆ ขยายตัวขึ้นแทนความสอดคล้อง เช่น

วัฒนธรรมโลหกรรมที่ปรากฎในวัฒนธรรม “กริช” เป็นวัฒนธรรมฮินดู-ชวา ทั้งรูปแบบการใช้และคติความเชื่อ สัญลักษณ์ของพระศิวะและพระอุมากลายเป็นส่วนหนึ่งของด้ามกริชและตากริช  รูปพระคเนศบุตรแห่งพระศิวะและนางอุมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของใบกริช ลายต่างๆ อันเป็นคติความเชื่อของคนพื้นเมืองและคนที่บูชาเทพของฮินดูผสมอยู่ในใบกริชอย่างหลากหลายบนความสามารถทางโลหกรรมของคนพื้นเมือง  การเกิดพิธีกรรม เช่น พิธีตอเลาะบาลอ (Talak bala) เป็นพิธีสวดเพื่อขับไล่ความเลวร้ายต่างๆ ให้ห่างไปจากชุมชน และมีส่วนสัมพันธ์กับการเล่นกาหลอ (ดนตรีประโคมในงานศพของไทยพุทธ) หรือเช่น คติการเชิดหนังตะลุงหนังชวาและหนังมาเลเซีย มีความต่างในความเหมือนที่น่าสนใจ การแต่งงานของชาวปัตตานีที่ใช้ผ้าจัสตาร์ (justar) สวมศีรษะเป็นรูปแบบตามวัฒนธรรมชวา  การใช้เขาพระสุเมรุเป็นสัญลักษณ์ในงานศพเช่นที่ภาคใต้ตอนล่างเรียกว่า “สามส้าง” (ศฺมศาน ส. , สุสาน ป.) คล้ายกับรูปเขาพระสุเมรุที่ใช้ในพิธีแห่ศพของบาหลี  การใช้กาหลอบรรเลงหน้าศพในกลุ่มไทยพุทธภาคใต้เหมือนกับในบาหลี การมีบายศรีพลูหรือบายศรีใบกล้วยในพิธีมงคลต่างๆ ของไทยพุทธในภาคใต้คล้ายกับบายศรีของไทยมุสลิม 11  เหล่านี้คือตัวอย่างของวัฒนธรรมบูรณาการ

เครื่องดนตรี กาหลอ เป็นดนตรีแบบชวา-มลายู แต่ชาวมุสลิมไม่ใช้ประโคมงานศพในกลางคืนเหมือนอย่างชาวไทยพุทธ เพราะศาสนบัญญัติไม่ให้เก็บศพไว้ค้างคืนโดยไม่จำเป็น ไทยพุทธในภาคใต้ปรับแปลงเขาพระสุเมรุของฮินดูมาใช้เป็นยอดพนมเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปในประเพณีลากพระและดัดแปลงเป็นเสมือนมณฑปซึ่งเรียกว่า “เบญจา” หรือ “บินจา” ในพิธีรดน้ำสระหัวบุคคลสำคัญหรือผู้อาวุโสหรือเป็นที่เคารพบูชาของคนทั่วไป เหล่านี้คือการพลวัตไปตามบริบทของแต่ละชุมชน

ในระหว่างพ.ศ. ๒๑๔๙-๒๑๘๔ เป็นเวลานานถึง ๓๕ ปีที่ฮอลันดาพยายามแย่งชิงผลกำไรและอำนาจความเป็นคนกลางทางการค้า  ณ มะละกาไปจากโปรตุเกสจนสามารถยึดอำนาจไปได้เมื่อ พ.ศ.๒๑๘๔ทำให้สัมพันธภาพด้านต่างๆที่โปรตุเกสเคยมีกับดินแดนมลายูถูกฮอลันดาดับรัศมีลงจนหมดสิ้น 12 หลังจากนั้นศูนย์กลางการค้าจากมะละกาค่อยเคลื่อนมาสู่ปัตตานีจนปัตตานีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างยุโรป  จีน  ญี่ปุ่น  ชวา   สุมาตรา อินเดีย อาหรับ เปอร์เซีย และเป็นเมืองท่าที่สำคัญกว่าอยุธยา  ความเป็นนานาชาติในบริเวณปัตตานีได้ส่งผลให้ภาคใต้ตอนล่างและมาเลเซียตอนบนมีพลวัตไปในทิศทางและในห่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน

มองสายใยแห่งภราดรภาพยุคอำนาจพาณิชย์นิยม

 นับแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ผ่านมาจนถึงยุคสัญจรทางเรือ จะเห็นได้ว่าผู้คนและวัฒนธรรมภาคใต้ตอนล่างซึ่งมีปัตตานีเป็นศูนย์กลางมีความหลากหลายเฉพาะกลุ่ม บางส่วนมีความเหลื่อมทับกันและบางส่วนก็เป็นวัฒนธรรมร่วมกับภาคใต้ตอนกลางและภาคใต้ตอนบน ปัจจัยที่ทำให้พลวัตเหมือนและต่างกันได้แก่วัฒนธรรมฮินดู-ชวา  ชวา-มลายู  ศาสนาอิสลาม  พุทธศาสนาแบบมหายานและลังกาวงศ์  การใช้ภาษาและอักษรที่ต่างกัน  จึงมีรูปลักษณ์ของวัฒนธรรมที่มีความต่างในความเหมือนบนรากฐานสำคัญ ๔ ประการ คือ (๑) ศาสนบัญญัติ  (๒) ขนบประเพณีในท้องถิ่นที่ไม่ขัดกับศาสนบัญญัติ  (๓) ระบิลเมือง จารีตนิยมและกฎหมายของประเทศ  (๔) ส่วนที่ถือตามสากลนิยม ปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดความห่างเหินหมางเมินกันส่วนใหญ่เกิดจากการใช้อำนาจการปกครอง ที่ใช้คำเดียวกันเป็นเป้าหมายคือความสงบสุข แต่มักนิยมต่างกัน

มาถึงยุคโลกาภิวัตน์และยุคพาณิชย์นิยม วัฒนธรรมการวิ่งแข่งไปคนละทางทำให้ภราดรภาพค่อนข้างจะห่างเหิน เปราะบาง และขาดง่าย ดังเช่นปัญหาชายแดนภาคใต้ที่กำลังขยายตัวอยู่ในขณะนี้  นักวิชาการ  นักการเมือง  นักปกครอง และนักธุรกิจเริ่มเรียกหา คำคำเดียวกันเพื่อมาสร้างเสริมฟื้นฟู “ภราดรภาพ” นั่นคือ “วัฒนธรรม” แต่ยังคงให้นิยามคำว่าวัฒนธรรมไม่ตรงกัน จึงยังใช้วิถีและพลังของวัฒนธรรมไปคนละทิศคนละทาง

คนส่วนใหญ่มองเห็นวิถีและพลังของวัฒนธรรมเสมือนดวงจันทร์ที่โคจรอยู่ไกลลิบ และมีแสงสุกสว่างอ่อนนวล  อาจสยบความร้อนแรงให้สงบเย็นได้อย่างเอกอุ  การมองวัฒนธรรมในรูปมหัพภาคและโอฬารเช่นนี้  ในที่สุดมักเปล่าประโยชน์  เช่น นโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ 13  ตระหนักที่จะใช้กระแสวัฒนธรรมร่วมไทยพุทธ – มุสลิม ดับไฟใต้  ประกาศแล้วก็นิ่ง  จุดอย่างไรก็ไม่โชติช่วงเพราะเห็นวัฒนธรรมในรูปความฝันอันแสนไกล ไม่อาจเกิดผลในขั้นปฏิบัติการ  ไม่อาจแยกส่วนให้ผู้ปฏิบัติในแต่ละขั้นและแต่ละมิติเห็นว่าจะเริ่มต้นตรงจุดใด  อย่างไร  ควรแปลมิติหลักให้จับต้องได้มากกว่านั้น  เช่น  วัฒนธรรมการจัดการของผู้คนในแต่ละระดับ, วัฒนธรรมการทำงานของผู้คนในพื้นที่, วัฒนธรรมการสร้างและการเสพทรัพยากรของผู้คน, วัฒนธรรมการสร้างบรรทัดฐานและทางเลือก, วัฒนธรรมการเรียนรู้, การมองให้เห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของจารีตนิยมและจริตนิยมอันเป็นโครงสร้างและบุคลิกภาพของชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว ฯลฯ  สังคมและชุมชนใดขาดการเสริมสร้างและขัดเกลาในส่วนอนุภาคย่อมยากที่จะให้บรรลุถึงคุณลักษณะในส่วนมหัพภาค

นักสังคมศาสตร์และนักมานุษยวิทยาน่าจะช่วยกันสร้างมนุษย์ชาติพันธุ์ใหม่ขึ้นในพื้นที่นี้ให้เป็น “ชาติพันธุ์แห่งการบูรณาการทางวัฒนธรรม” เช่นการสาวญาตินับโยคกันด้วยวัฒนธรรมการเก็บข้าวด้วยแกะของบรรพบุรุษ ร่วมกันค้นหาวิญญาณของเครือญาติผ่านประเพณีป้อนข้าวขวัญในพิธีกรรมต่างๆ สาวให้ลึกไปในบางแง่บางมุมจากวัฒนธรรมย่อยซึ่งยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เช่น ประเพณีการ “ยกมฺรับ” (สำรับอาหาร) และการยกพานอาหารเพื่อรับรองแขกเหรื่อของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้  คติที่แตกหน่อต่อแขนงไปจากคติความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีการตายและเขาพระสุเมรุ เป็น “กุหนุง” เป็น “บายศรี” เป็น “เบญจา” เป็น “พนมพระ” เป็น “ยอดโดม ครอบโลงศพ” ฯลฯ  บางทีวิญญาณของทายาทที่แฝงอยู่ในสรรพสิ่งเหล่านี้อาจช่วยให้ ภราดรภาพ กลับคืนมาหรือเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม

สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ 
Suthiwong Phongphaibun 

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 5 (March 2004). Islam in Southeast Asia
 

Notes:

  1. Indonesia: Department of International Republic of Indonesia, Indonesia 1997, p.11.
  2. นิธิ  เอียวศรีวงศ์, ชวา – มลายู : ผู้คนและวัฒนธรรมในภาคใต้ ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่ม ๓, มูลนิธิธนาคารไทยพาณิชย์, พ.ศ. ๒๕๔๒, หน้า ๑๙๖๓
  3.  คำอธิบายของขุนศิลปกิจพิสัณห์  อดีตศึกษาธิการจังหวัดสงขลาและผู้สอนวิชาภาษามลายูของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  4. พระรถเมรี คำกาพย์  วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ประเภทบุดขาว โครงการภูมิปัญญาทักษิณจากวรรณกรรมและพฤติกรรม, สกว.(๒๕๔๔ – ๒๕๔๗)
  5. สาวญาตินับโยด หรือสาวย่านนับโยด เป็นคำพังเพย และวัฒนธรรมหนึ่งของภาคใต้   โดยการสืบสาวหาสายตระกูลซึ่งร่วมโลหิตร่วมเทือกเถาเหล่ากอกันมาตามสายเชื้อชาติ คำว่า “โยด” มี ๒ นัยยะ ได้แก่ (๑) รากเหง้า, กำพืด (๒) โยด ที่มาจาก “โยชน์” คือห่างไกล / ประโยชน์
  6. Indonesia 1997, p.12
  7. คลองชัย  หัตถา, ปัตตานี : การค้าและการเมืองการปกครองในอดีต, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ๒๕๔๑, หน้า ๖๕
  8. ประเสริฐ  วิทยารัฐ , สภาพภูมิศาสตร์ของคาบสมุทรสทิงพระ, ในประวัติศาสตร์และโบราณคดีคาบสมุทรสทิงพระ, สถาบันทักษิณคดีศึกษา , ๒๕๓๖ , หน้า ๑๔ – ๑๕ 
  9. ครองชัย  หัตถา, เรื่องเดิม หน้าเดียวกัน
  10. สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ และคณะ, จีนทักษิณวิถีและพลัง, สำนักงานกองทุนสนับสนับสนุนการวิจัย (สกว.), ๒๕๔๐ หน้า ๓๓ – ๓๕
  11. สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ และคณะ, เรื่องเดียวกัน หน้า ๓๗
  12. สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ และคณะ, กะเทาะสนิมกริชแลวิถีชีวิตชาวใต้ตอนล่าง, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ส.ก.ว.), ๒๕๔๓, หน้า ๗๕ – ๑๕๘
  13. นโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ.๒๕๔๒ – ๒๕๔๖)  มีสาระสำคัญของนโยบายคือ “ทุกคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการดำรงชีวิตที่สามารถอยู่ได้อย่างมีความสงบสุขบนเอกลักษณ์เฉพาะของศาสนาและวัฒนธรรม  โดยเฉพาะการที่ชาวไทยมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่อยู่อย่างมุสลิมในสังคมไทย…”