รู้ว่ารู้, รู้ว่าไม่รู้, ไม่รู้ว่าไม่รู้, และไม่รู้ว่ารู้ ในข้อพิพาททะเลจีนใต้

Termsak Chalermpalanupap

นายโดนัลด์ รัมสเฟลด์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐอเมริกา สร้างประวัติศาสตร์ด้านความหมายของภาษาขึ้นมาในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2002 เมื่อเขาให้คำอธิบายอันลึกซึ้งน่างงงวยเกี่ยวกับสิ่งที่ “รู้ว่ารู้” “รู้ว่าไม่รู้” และ “ไม่รู้ว่าไม่รู้” ในปัญหาอิรัก  ผู้เขียนค่อนข้างเห็นพ้องกับเขาว่า นี่คือกรอบมโนทัศน์ที่มีประโยชน์ในการวิเคราะห์ปัญหาที่ซับซ้อน  องค์การนาซ่าก็ใช้กรอบนี้ในการวางแผนภารกิจด้านอวกาศและเตรียมการรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดจากสิ่งที่รู้ว่ารู้ สิ่งที่รู้ว่าไม่รู้และสิ่งที่ไม่รู้ว่าไม่รู้  ผู้เขียนเองก็ตั้งใจจะใช้มรรควิธีอันชาญฉลาดนี้ ในการแจกแจงให้เห็นภาพความซับซ้อนของข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

รู้ว่ารู้

สิ่งที่รู้ว่ารู้คือสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วว่าเรารู้ กล่าวคือ ความรู้ทั่วไปของเรา ใน ค.ศ. 2013 เราได้เห็นสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ที่ค่อนข้างสงบกว่าช่วงที่ผ่านมา อาเซียนกับจีนร่วมฉลองวาระครบรอบปีที่ 10 ของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ใน ค.ศ. 2013  นี่เป็นโอกาสเหมาะที่จีนจะได้แสดงจุดยืนแบบสายกลางบ้างในปัญหาทะเลจีนใต้ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อาเซียนก็ฉลองวาระครบรอบปีที่ 40 ของการเป็นคู่เจรจา (dialogue partnership) กับประเทศญี่ปุ่นด้วย  การเฉลิมฉลองที่ยาวนานตลอดทั้งปีนั้นมีจุดสูงสุดอยู่ที่การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นสมัยพิเศษครั้งที่สอง ที่จัดขึ้นในกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 13-14 ธันวาคม

นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ต้องการแรงสนับสนุนจากอาเซียนสำหรับบทบาทใหม่ของญี่ปุ่นที่จะหันไปเน้นความมั่นคงเชิงรุก (proactive security) แต่เขาไม่ค่อยได้รับความสนับสนุนเท่าไรเมื่อพบปะกับกลุ่มผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษที่กรุงโตเกียว  ผู้นำอาเซียนส่วนใหญ่ค่อนข้างระมัดระวังมากและปรารถนาที่จะเห็นญี่ปุ่นพัฒนาบทบาทด้านความมั่นคงเชิงรุกอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่สร้างความวิตกแก่เพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจีนกับเกาหลีเหนือ

 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาเบะเดินหน้าต่อไปกับแผนการยุทธศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า “แนวทางสันติวิธีเชิงรุก” (proactive pacifism) ซึ่งประกอบด้วยการเพิ่มงบประมาณกองทัพ การผูกพันธมิตรด้านการทหารกับสหรัฐอเมริกาอย่างแนบแน่นยิ่งขึ้น และการเพิ่มสายสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับกลุ่มประเทศอาเซียน  ญี่ปุ่นจะขยายเงินกู้เพื่อส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กองทัพของฟิลิปปินส์ รวมทั้งการส่งมอบเรือลาดตระเวนชายฝั่งที่ผลิตในญี่ปุ่นจำนวน 10 ลำเพื่อหนุนเสริมกองทัพเรือประจำการของฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้

ขณะเดียวกัน การสร้างความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ที่พยายามปรับความสมดุลกับภูมิภาคเอเชียต้องประสบภาวะชะงักงัน เมื่อประธานาธิบดีบารัค โอบามาจำต้องยกเลิกการเดินทางมาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ เพราะปัญหาร่างกฎหมายงบประมาณในสภาคองเกรสและการปิดหน่วยงานรัฐบาลที่เกิดขึ้นตามมา อย่างไรก็ตาม สภาคองเกรสเพิ่งบรรลุข้อตกลงด้านงบประมาณระหว่างสองพรรคใหญ่ ซึ่งจะป้องกันการปิดหน่วยงานรัฐบาลไม่ให้เกิดขึ้นใน ค.ศ. 2014 นี่จะช่วยให้โอบามาสามารถมาเยือนประเทศพม่า (ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนใน ค.ศ. 2014) เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่สอง และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในกรุงเนปิดอว์ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2014  ประเทศพม่ามีความกระตือรือร้นที่จะแสดงว่า ในขณะที่ตนเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของจีน แต่ก็สามารถเริ่มต้นความเป็นมิตรที่ดีกับสหรัฐฯ ได้ด้วย  พม่าทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอาเซียนในการประสานงานเพื่อส่งเสริมนโยบายความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียน-สหรัฐฯ ตั้งแต่ ค.ศ. 2013-2015

การแสดงบทบาทมากขึ้นของกองทัพสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้จะเพิ่มความเสี่ยงของการเผชิญหน้ากับจีน  เหตุการณ์ครั้งล่าสุดที่เกือบปะทะกันเกิดขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม เมื่อเรือรบลาดตระเวน USS Cowpens ของสหรัฐฯ เผชิญหน้ากับเรือรบของจีน หลังจากที่เรือ USS Cowpens เพิกเฉยต่อฝ่ายจีนที่เรียกร้องให้ยุติการติดตามปฏิบัติการทางทะเลของเรือบรรทุกเครื่องบิน Liaoning ของกองทัพเรือจีน

เพื่อถ่วงดุลกับการที่สหรัฐฯ หันมาให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้นและการปรับบทบาทด้านความมั่นคงเชิงรุกของญี่ปุ่น จีนจึงเพิ่มการใช้นโยบายประสานประโยชน์และความร่วมมือ (charm offensive) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกอปรด้วยการเสนอ (และได้รับการตอบรับจากอาเซียน) ให้ยกระดับและปรับปรุงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ค.ศ. 2010 และสนธิสัญญาใหม่ว่าด้วยความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและความร่วมมือฉันมิตร 

รู้ว่าไม่รู้

เรื่องที่เป็นปัญหามากกว่าคือสิ่งที่เรารู้ว่าเราไม่รู้หรือเราไม่สามารถประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น  สิ่งที่มนุษย์รู้ว่าไม่รู้ในระดับสูงสุดน่าจะเป็นปริศนาที่ไขไม่ออกของระบบสุริยะจักรวาล ระบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้นกำเนิดที่แท้จริง (หรือต้นกำเนิดจากหลากหลายแหล่ง?) ของชีวิตบนโลก และระบบสุริยะจักรวาลกำลังมุ่งหน้าไปไหนในจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้

ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ เรื่องใหม่ที่เรารู้ว่าไม่รู้ก็คือเรื่องที่ฟิลิปปินส์ฟ้องร้องทางกฎหมายต่อจีนที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือเขตน่านน้ำรูปตัวยูตามแผนที่เส้นประ 9 เส้น (9-dash u-shape line) ซึ่งเป็นการอ้างกรรมสิทธิ์ในวงกว้างแต่มีปัญหามาก ในเดือนมกราคม ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องประเทศจีนต่อศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (International Tribunal for the Law of the Sea) โดยมิได้ปรึกษากับประเทศเพื่อนสมาชิกอาเซียนก่อน  คณะอนุญาโตตุลาการที่ประกอบด้วยผู้พิพากษาห้าคนได้รับการแต่งตั้งให้พิจารณาคดีนี้ ถึงแม้จีนปฏิเสธไม่ยอมเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีก็ตาม  เราสามารถระบุถึงสิ่งที่เรารู้ว่าไม่รู้ในประเด็นปลีกย่อยหรือระยะสั้นหลายประการเกี่ยวกับคดีฟ้องร้องทางกฎหมายครั้งนี้

เราไม่รู้ว่าคณะอนุญาโตตุลาการจะเห็นพ้องว่าตนมีเขตอำนาจตามกฎหมายที่จะพิจารณาคดีต่อไปหรือไม่  หากคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าตนไม่มีอำนาจ นั่นหมายความว่าจีนเป็นฝ่ายชนะและไม่มีใครสามารถยื่นฟ้องร้องทางกฎหมายต่อการอ้างสิทธิ์เหนือเขตน่านน้ำรูปตัวยูตามแผนที่เส้นประ 9 เส้นของจีนได้อีกอย่างนั้นหรือ? ในอีกทางหนึ่ง หากคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าตนมีอำนาจพิจารณาคดี คณะอนุญาโตตุลาการจะตัดสินคำร้องหลายข้อของฟิลิปปินส์อย่างไรยังเป็นเรื่องที่ไม่แน่ชัด  เนื่องจากจีนไม่เคยให้ความกระจ่างอย่างเป็นทางการว่า เขตน่านน้ำรูปตัวยูตามแผนที่เส้นประ 9 เส้นของตนหมายถึงอะไร คณะอนุญาโตตุลาการอาจไม่สามารถให้คำตัดสินได้  ต่อให้คณะอนุญาโตตุลาการลงความเห็นว่าจีนล่วงล้ำอาณาเขตทางทะเลของฟิลิปปินส์จริง หรือรุกล้ำหมู่เกาะและแนวปะการังที่อยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของฟิลิปปินส์ คำวินิจฉัยที่ไม่เป็นผลดีต่อจีนจะทำให้เกิดผลทางปฏิบัติได้อย่างไร?

Question Marks Over Man Showing Confusion And Uncertainty

พื้นที่รูปตัวยูตามแผนที่เส้นประ 9 เส้นเป็นสิ่งที่เรารู้ว่าไม่รู้ที่น่าอึดอัดใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งในทะเลจีนใต้  เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนเพิ่มเส้นประ 11 เส้นลงบนแผนที่ทะเลจีนใต้ที่ตีพิมพ์ออกมาใน ค.ศ. 1947  เห็นได้ชัดว่าจีนให้ความสนใจน้อยมากต่อรายละเอียดของวิชาการแผนที่ โดยไม่นิยามเส้นประ 11 เส้นที่ไม่ติดต่อกันนั้นกับพิกัดทางภูมิศาสตร์ใด ๆ  หากจุดประสงค์ของเส้นประคือการบ่งบอกเส้นแบ่งเขตทางทะเล เส้นประ 11 เส้นก็ควรเชื่อมต่อกันเป็นเส้นเดียวโดยกำหนดพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่ชัดเจนในทุกช่องกริดที่สำคัญบนแผนที่

หลังจาก ค.ศ. 1949 จีนใช้แผนที่ทะเลจีนใต้ของ RoC ซึ่งมีเส้นประ 11 เส้น ในภายหลัง เส้นประสองเส้นในอ่าวตังเกี๋ยถูกลบทิ้งตามข้อตกลงกับเวียดนามเหนือเกี่ยวกับการปักปันเขตแดนทางทะเลในช่วงต้นทศวรรษ 1950  ตามที่เป็นอยู่ตอนนี้ จีนถือไพ่เหนือกว่าด้วยการอาศัยความคลุมเครือเชิงยุทธศาสตร์ที่คำนวณมาอย่างดี โดยการปล่อยให้ประเทศที่อ้างสิทธ์เหนือดินแดนประเทศอื่นได้แต่สงสัยว่าพื้นที่รูปตัวยูตามแผนที่เส้นประ 9 เส้นนั้นหมายถึงอะไรกันแน่

เรื่องที่เรารู้ว่าไม่รู้อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องกับไต้หวัน นั่นคือการยึดครองทางทหารที่เกาะไท่ผิง/อีตูอาบา (Taiping/Itu Aba) ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะสแปรตลีย์ที่มีข้อพิพาทกันอยู่  จีนยอมอดทนต่อการแสดงอำนาจทางทหารของไต้หวันด้วยเหตุผลที่ไม่มีใครรู้  นี่อาจเป็นการแสดงออกถึงนโยบายจีนเดียวก็เป็นได้

ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรหากจีนชนะในการอ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์เหนือพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้?  นี่เป็นเรื่องรู้ว่าไม่รู้ที่น่าวิตก  ผู้ที่จะได้รับผลกระทบอย่างสาหัสรายแรกน่าจะเป็นความล้มเหลวของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS)  ประเทศมหาอำนาจชาติอื่น ๆ อาจพยายามยึดครองดินแดนและอาณาเขตทางทะเลอื่น ๆ ที่มีข้อพิพาทโดยอาศัยข้ออ้างจากกรรมสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์  การอ้างสิทธิ์ที่ถือว่าชอบธรรมนั้นต้องอ้างประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปนานแค่ไหน? ถึงที่สุดแล้ว ถ้าเราย้อนอดีตกลับไปนานพอ มนุษย์ทุกคนก็ล้วนมาจากเผ่าพันธุ์เดียวกัน

เรื่องรู้ว่าไม่รู้อีกประการหนึ่งก็คือความตั้งใจทางยุทธศาสตร์ของจีนที่จะมีอิทธิพลมากขึ้นในทะเลจีนใต้  จีนอาจยืนยันว่าการบินผ่านน่านฟ้าและเสรีภาพในการเดินเรือในพื้นที่นี้ไม่เคยเป็นปัญหาต่อประเทศใด ๆ ที่ใช้สิทธิอันชอบธรรมในการสัญจรโดยบริสุทธิ์ใจ  แต่จีนย่อมคัดค้านกิจกรรมทางทหารของเรือรบและเครื่องบินรบต่างชาติภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลของจีน กระทั่งบางครั้งอาจพยายามขัดขวางด้วยซ้ำไป

ในไม่ช้า จีนอาจบังคับใช้เขตพิสูจน์ฝ่ายการป้องกันทางอากาศ (Air Defence Identification Zone—ADIZ) แต่ฝ่ายเดียวเหนือทะเลจีนใต้ โดยอาจเริ่มต้นจากหมู่เกาะพาราเซลก่อน แล้วค่อยๆ ขยายลงทางใต้ ไปจนถึงหมู่เกาะสแปรตลีย์เมื่อกองเรือรบบรรทุกเครื่องบินของตนพร้อมสำหรับการเคลื่อนกำลังรบออกนอกประเทศ  ในระหว่างที่นายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เดินทางมาเยือนฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 2013 เขากล่าวเตือนจีนไม่ให้บังคับใช้เขตพิสูจน์ฝ่ายการป้องกันทางอากาศใดๆ เหนือทะเลจีนใต้

ความไม่แน่นอนที่แวดล้อมสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกันของสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ที่ลงนามใน ค.ศ. 1951 เป็นสิ่งที่รู้ว่าไม่รู้อีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน สหรัฐฯ กำลังเพิ่มความช่วยเหลือทางทหารแก่ฟิลิปปินส์ ซึ่งรวมทั้งเงินช่วยเหลืออีก 40 ล้านดอลลาร์ที่แคร์รี่ประกาศไว้ในกรุงมะนิลาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมด้วย  แต่สหรัฐฯ มีท่าทีค่อนข้างคลุมเครือว่าจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไร หากเกิดการปะทะทางอาวุธกันอย่างจริงจังระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนในทะเลจีนใต้  นี่ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความคลุมเครือเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ กล่าวคือ ปล่อยให้จีนคาดเดาไป โดยไม่รู้ว่าเส้นสีแดงในทะเลจีนใต้ที่ไม่ควรข้ามเส้นไปนั้นอยู่ตรงไหน

การแข่งขันกันแผ่ขยายอิทธิพลระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะพัฒนาไปอย่างไรก็เป็นสิ่งที่รู้ว่าไม่รู้ที่สำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่ง  ม่ใช่เรื่องน่าสบายใจเลยที่ได้เห็นว่า การชิงดีชิงเด่นกันนี้เติมเชื้อไฟให้เริ่มมีการแข่งขันสะสมอาวุธกันเงียบๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว  อะไรรออยู่เบื้องหน้าหากการชิงดีชิงเด่นกันนี้บานปลายออกไป สงครามเย็นครั้งใหม่ในส่วนนี้ของโลกหรืออย่างไร 

ไม่รู้ว่าไม่รู้

สิ่งที่ไม่รู้ว่าไม่รู้คือความเสี่ยงที่เลวร้ายที่สุด เราไม่รู้แม้กระทั่งว่าเราไม่รู้ว่ามันมีอยู่และมันอาจส่งผลร้ายแรงที่คาดไม่ถึงต่อเรา ในบางกรณี ฝ่ายหนึ่งอาจแลเห็นความเสี่ยงที่รู้ว่าไม่รู้ แต่อีกฝ่ายอาจไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงนั้นโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ไม่รู้ว่าไม่รู้  การที่ญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาเบอร์โดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าคือตัวอย่างหนึ่งในกรณีนี้  การโจมตีเป็นสิ่งที่ไม่รู้ว่าไม่รู้สำหรับสหรัฐฯ ทั้งนี้ เพราะญี่ปุ่นละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและปทัสถานทางการทูต  ในขณะเดียวกัน กองทัพญี่ปุ่นรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร แต่ย่อมมองไม่เห็นล่วงหน้าถึงผลที่ตามมาของการโจมตี หรือจุดจบที่ตนเองต้องพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในสงครามโลกครั้งที่สอง

ในทะเลจีนใต้ มันยากที่จะคิดหาตัวอย่างของสิ่งที่ไม่รู้ว่าไม่รู้ เพราะโดยคำนิยามแล้ว เราไม่รู้ว่ามันดำรงอยู่ ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงการมองเห็นล่วงหน้าถึงผลที่ตามมาของมัน

ไม่รู้ว่ารู้

สลาโวจ ชิเช็ค (Slavoj Zizek) นักปรัชญาสำนักมาร์กซิสต์ กล่าวไว้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดต่อมนุษยชาติคือสิ่งที่เขาเรียกว่า “ไม่รู้ว่ารู้” นั่นคือสิ่งที่ดำรงอยู่และมีอิทธิพลต่อชีวิตและวิธีการทำความเข้าใจความจริงของเรา แต่เราไม่ตระหนักว่ารู้สิ่งดังกล่าว หรือไม่ตระหนักถึงคุณค่าของมัน หรือซ้ำร้ายที่สุดคือเราไม่ยอมรับว่ารู้สิ่งนี้

ในระดับประเทศ ชาติสมาชิกอาเซียนแต่ละชาติอาจเอียงข้างจีนหรือเอียงข้างสหรัฐฯ หรือยังไม่ตัดสินใจ  แต่เมื่อชาติเหล่านี้จับมือกันเป็นกลุ่มในอาเซียน ทุกชาติสมาชิกต่างบอกว่าจะพยายามรักษาอาเซียนให้เป็นกลางและสร้างสรรค์  ทุกชาติสมาชิกต้องการให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของการพูดคุยหารือและความร่วมมือ รวมทั้งเป็นมิตรต่อมหาอำนาจทุกประเทศ อาเซียนทำให้จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดียและสหรัฐอเมริกาล้วนเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” ของตน ดังที่นายโก๊ะจ๊กตงเคยกล่าวไว้ในสมัยที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ว่า การทอดสะพานของอาเซียนเปรียบเสมือน “ความเจ้าชู้อันบริสุทธิ์ผุดผ่อง”

อาเซียนสามารถวางตัวเป็นกลางและเป็นศูนย์กลางได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน และนานเท่าไร การชิงดีชิงเด่นระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาจะเป็นสาเหตุของความแตกแยกอย่างร้ายแรงในอาเซียน หรือเลวร้ายกว่านั้นคือกลายเป็นจุดจบขององค์กรอายุ 47 ปีนี้หรือไม่ นี่คือความกังวลที่ชาติสมาชิกส่วนใหญ่ในอาเซียนไม่ต้องการแม้กระทั่งคิดถึง กล่าวคือ ไม่รู้ว่ารู้ นั่นเอง

สิ่งที่ไม่รู้ว่ารู้อีกประการหนึ่งก็คือความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ในการช่วยแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับหมู่เกาะหลายแห่ง  นอกเหนือจากกรณีทะเลจีนใต้แล้ว ยังมีข้อพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเกี่ยวกับเกาะเตียวหยู/เซ็งกะกุ ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เกี่ยวกับเกาะทาเคชิมา/ด็อกโด และระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซียเกี่ยวกับดินแดนตอนเหนือ/หมู่เกาะคูริว  ข้อพิพาทเกี่ยวกับเกาะเหล่านี้คือต้นตอของความตึงเครียดที่อาจก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพ  ทว่าดูเหมือนมันกลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่รู้ว่ารู้สำหรับผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่

Exclamation Mark Showing Attention Risk And Danger

บทสรุป

หากพิจารณาจากสิ่งที่รู้ว่ารู้ ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ยังเป็นปัญหาที่มีความเสี่ยงต่อภูมิภาคของเรา  การคลี่คลายปัญหานี้อย่างเป็นธรรมต้องใช้เวลาและความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีต่อกัน  หากอาศัยการพูดคุยหารือ ความร่วมมือและการทำงานกับอาเซียน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันและหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งใหม่ ๆ  การมีระเบียบปฏิบัติที่ดีระหว่างอาเซียนกับจีนในทะเลจีนใต้จะเป็นความคืบหน้าอย่างก้าวกระโดดไปในทิศทางที่ถูกต้อง

หากทุกฝ่ายแก้ไขข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ด้วยความตั้งใจที่ไม่เห็นแก่ตัว ก็จะสามารถแสวงหาหนทางแก้ไขร่วมกันที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยยึดมั่นในเจตนารมณ์ของการให้และรับ  หากเป็นเช่นนั้น ทุกประเทศก็จะสามารถลดความเสี่ยงของสิ่งที่รู้ว่าไม่รู้ให้อยู่ในระดับต่ำสุด

หากทุกฝ่ายไม่สามารถดำเนินการอย่างมีสติและเหตุผลในตอนนี้ ก็จะชักพาภูมิภาคของเราให้ตกอยู่ในความเสี่ยงที่อาจต้องเผชิญกับหายนะที่มาถึงโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวในทะเลจีนใต้ กล่าวคือ สิ่งที่ไม่รู้ว่าไม่รู้อาจปะทุขึ้นมาวันใดวันหนึ่งจนทำลายสันติภาพและความรุ่งเรืองลง

เพื่อหลีกเลี่ยงอนาคตอันน่าประหวั่น จุดเริ่มต้นที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อใหม่ในยามนี้คือการที่ทุกฝ่ายพึงยอมรับว่า ยังมีสิ่งที่ไม่รู้ว่ารู้ในข้อพิพาททะเลจีนใต้ที่ไม่อาจเสแสร้งว่าไม่รู้ได้ตลอดไปหรือเตะถ่วงไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด

เวลาที่ต้องลงมือปฏิบัติคือ ณ บัดนี้และเวลากำลังจะหมดไป

โดย ดร. เติมศักดิ์ เฉลิมพลานุภาพ ศูนย์ศึกษาอาเซียน สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สิงคโปร์ 
ดร.เติมศักดิ์ เฉลิมพลานุภาพดำรงตำแหน่งเมธีวิจัยที่ ASEAN Studies Centre of the Institute of Southeast Asian Studies (ISEAS) ในประเทศสิงคโปร์ ก่อนหน้านี้ ดร.เติมศักดิ์เคยทำงานอยู่ในสำนักเลขาธิการอาเซียนเกือบ 20 ปี โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุคือผู้อำนวยการส่วนความร่วมมือทางด้านการเมืองและความมั่นคง (Director of Political-Security Directorate of the ASEAN Political-Security Community Department) ทรรศนะที่แสดงออกในบทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน  

Translated by ภัควดี วีระภาสพงษ์ (Pakavadi Veerapaspong)

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 15 (March 2014). The South China Sea