ความไม่เท่าเทียมและการเมืองในประเทศไทย

Kevin Hewison

ในนิพนธ์ชื่อ Democracy in America นั้น อเล็กซิส เดอ ท็อกเกอร์วิลล์เสนอแนวคิดอันโด่งดังว่า “ความเท่าเทียมของเงื่อนไขโดยรวม” คือรากฐานของประชาธิปไตยแบบอเมริกัน สำหรับประเทศไทยนั้นตรงกันข้าม เพราะคำนิยามของประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็คือ ความไม่เท่าเทียมของเงื่อนไขโดยรวม หากปรับถ้อยคำของท็อกเกอร์วิลล์มาใช้ เราอาจกล่าวได้ว่า ความไม่เท่าเทียมของประเทศไทยมีอิทธิพลอย่างล้นเหลือและขับเคลื่อนวิถีทั้งหมดของสังคม มันเป็นตัวชี้นำทิศทางให้อุดมการณ์รัฐและสร้างความหมายเฉพาะแก่กฎหมาย ให้คติพจน์แก่กลุ่มอำนาจที่ปกครองประเทศและแบบแผนความประพฤติแก่ผู้อยู่ใต้การปกครอง อิทธิพลของความไม่เท่าเทียมแผ่ออกไปพ้นการเมืองและกฎหมาย มันสร้างความคิดเห็น ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก ชี้แนะกิจวัตรประจำวันของชีวิตและปรับเปลี่ยนอะไรก็ตามที่มันไม่ได้สร้างขึ้นเอง ความไม่เท่าเทียมของเงื่อนไขในประเทศไทยคือความจริงพื้นฐานที่เป็นต้นตอของทุกสิ่ง

ความยากจน รายได้และความไม่เท่าเทียม

ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศไทยเป็นเงื่อนไขที่เสริมกำลังให้กันและกัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ผลประโยชน์ของความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วตกอยู่ในเงื้อมมือของชนชั้นนำ การหวงแหนรักษาอภิสิทธิ์เหล่านี้ไว้ก่อให้เกิดโครงสร้างทางการเมืองที่มีลักษณะกีดกันและถูกครอบงำจากชนชั้นนำอำนาจนิยม เกือบตลอดช่วงเวลาที่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา ระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมครอบงำประเทศ ส่งเสริมระบบทุนนิยมและฟูมฟักชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกลาง ในขณะเดียวกันก็จำกัดสิทธิทางการเมือง ความเติบโตทางเศรษฐกิจช่วยลดความยากจนก็จริง แต่ความไม่เท่าเทียมยังคงมีอยู่สูง ดังนั้น ถึงแม้ความเติบโตให้ประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ แต่ชนชั้นนายทุนกับพันธมิตรคือกลุ่มคนที่กอบโกยผลกำไร

ความยากจนไม่ได้ลดความไม่เท่าเทียมลง เพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนฐานะดีอยู่แล้ว ค่าสัมประสิทธิ์จีนีอยู่ในระดับสูงที่ 0.45-0.53 มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 และมาตรวัดความมั่งคั่งอื่นๆ ก็สะท้อนออกมาในแบบเดียวกัน ข้อมูลจากปี 2007 แสดงให้เห็นว่า ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุด 10% ครอบครองความมั่งคั่งมากกว่า 51% ในขณะที่ครอบครัวชนชั้นล่าง 50% ครอบครองความมั่งคั่งเพียง 8.5% ในส่วนของที่ดิน บ้านและสินทรัพย์อื่นๆ คนจำนวนแค่ 10% ของประชากรเป็นเจ้าของที่ดินเอกชนประมาณ 90% ข้อมูลอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงการปรับการกระจายรายได้จากแรงงานไหลไปสู่ทุน เนื่องจากผลิตภาพที่สูงขึ้นของแรงงานยิ่งสั่งสมความมั่งคั่งให้ทุนด้วยกำไรที่เพิ่มขึ้น จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2554 ค่าจ้างที่แท้จริงที่อยู่ในภาวะชะงักงันก็เป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนนี้

pargon_bangkok
The Siam Paragon mall in Bangkok. One of the city’s many opulent shopping malls

 การอธิบายความไม่เท่าเทียม

แบบแผนของการขูดรีดและความไม่เท่าเทียมนี้ดำรงอยู่มาเป็นเวลานาน อันที่จริง นักวิจัยหลายคนบรรยายถึงข้อมูลคล้ายๆ กับที่อ้างถึงข้างต้นมาหลายทศวรรษแล้ว ในช่วงทศวรรษ 1960 เบลล์ชี้ให้เห็นมูลค่าส่วนเกินก้อนใหญ่ที่โอนถ่ายจากภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยากจน ซึ่งเป็นภูมิภาค “ด้อยพัฒนา” โดยที่ผู้ผลิตถูกขูดรีดจากค่าจ้างต่ำและผลตอบแทนด้านเกษตรกรรมที่น้อยนิด 1 ตีรณสรุปว่าความยากจนที่ลดลงไม่ได้ช่วยลดช่องว่างของรายได้และชี้ให้เห็นว่าความไม่เท่าเทียมในประเทศไทยจัดว่าสูงเมื่อเปรียบเทียบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในเอเชีย 2

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ความไม่เท่าเทียมดำรงอยู่ได้ยาวนาน? คำตอบที่ดีที่สุดหาได้จากนโยบายรัฐและอำนาจของทุนในเชิงโครงสร้าง

 รัฐและนโยบาย

การศึกษานโยบายรัฐบ่งชี้ถึงการแบ่งแยกชนบท-เมืองที่มีมายาวนาน การพัฒนาอุตสาหกรรมที่รัฐส่งเสริมส่งผลให้เกิดชนชั้นแรงงานจำนวนมากขึ้น แต่เมื่อภาคอุตสาหกรรมหันไปใช้การผลิตด้วยเครื่องจักรมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมจึงไม่สามารถดูดซับแรงงานอพยพจากชนบทที่ย้ายมาหางานทำในพื้นที่เมือง ผลลัพธ์ที่ตามมาคือการเกิดภาคเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ที่แรงงานอยู่นอกระบบสวัสดิการที่จำกัดของรัฐ ปัจจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ซ้ำเติมความไม่เท่าเทียม เนื่องจากความช่วยเหลือของรัฐมุ่งไปที่ภาคเศรษฐกิจในระบบที่มีขนาดเล็ก

ในทำนองเดียวกัน การลงทุนของรัฐในภาคการศึกษาก็กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมือง เมื่อระบบเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว การใช้จ่ายด้านการศึกษาของรัฐยังอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ในช่วงทศวรรษ 1960 เมื่อเกษตรกรและแรงงานมีสัดส่วนถึง 85% ของประชากร นักศึกษามหาวิทยาลัยเพียงแค่ร้อยละ 15.5 เท่านั้นที่มาจากประชากรสองกลุ่มนี้ ล่วงมาถึงช่วงกลางทศวรรษ 1980 สัดส่วนนี้ยังลดลงอีกจนเหลือแค่ร้อยละ 8.8 ดังนั้น ชนชั้นล่างจึงถูกกีดกันจากช่องทางสำคัญที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากงานค่าจ้างต่ำและใช้ฝีมือต่ำ

นโยบายการเก็บภาษีก็ทำให้คนจนเสียเปรียบอีกเช่นกัน การคุ้มครองภาคอุตสาหกรรมในอัตราส่วนสูงทำให้ภาคเกษตรกรรมเสียเปรียบ อีกทั้งเป็นเวลาหลายทศวรรษที่ภาษีข้าวแบบอัตราถดถอยเป็นการถ่ายโอนความมั่งคั่งจากชนบทสู่เมือง ในช่วงทศวรรษ 1990 การใช้ภาษีแบบอัตราถดถอยหลายรายการหมายความว่าคนรวยได้ผลประโยชน์จากระบบภาษี ใน พ.ศ. 2555 นโยบายการคลังและการใช้จ่ายของภาครัฐยังคงส่งเสริมคนรวย ผลกระทบจากนโยบายเหล่านี้เป็นการปรับการกระจายรายได้ที่ถ่ายโอนความมั่งคั่งจากคนจนสู่คนรวย

นโยบายเหล่านี้ยังได้รับการหนุนเสริมจากนโยบายค่าจ้างต่ำ/กำไรสูงที่รัฐบาลและภาคธุรกิจรักษาไว้ ซึ่งถ่ายโอนความมั่งคั่งให้แก่ทุน

ชนชั้นและอำนาจ

อำนาจทางการเมืองที่จำเป็นต่อการรักษายุทธศาสตร์ค่าจ้างต่ำ/กำไรสูงเป็นชุดยุทธศาสตร์ของภาครัฐและภาคธุรกิจ ซึ่งอาศัยทั้งกฎหมาย นโยบาย อุดมการณ์และการข่มขู่บังคับ เกือบตลอดช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว การเมืองของชนชั้นล่างถูกควบคุมจำกัด หลายครั้งถูกกดขี่ปราบปรามอย่างหนักหน่วง ยุทธศาสตร์ที่วางพื้นฐานบนการแบ่งชนชั้นเช่นนี้พยายามรักษาระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมไว้ด้วยการจำกัดการเมืองที่มีการเลือกตั้ง

ระบบอุปถัมภ์หรือ “ธนกิจการเมือง” (Money Politics) ลดทอนความใส่ใจด้านนโยบายที่มีต่อความไม่เท่าเทียมลงด้วยการสร้างฐานเสียงสนับสนุนทางการเมืองเฉพาะเขตเลือกตั้งของตน นี่เป็นการเมืองหลักของประเทศอย่างน้อยก็จนถึง พ.ศ. 2544 เมื่อมีการเลือกตั้ง ก็มีพรรคการเมืองจำนวนมากจนทำให้รัฐบาลผสมอ่อนแอและอายุสั้นเสมอ อีกทั้งพรรคการเมืองเหล่านี้ไม่เคยพัฒนานโยบายอื่นนอกเหนือการผันเงินเข้าสู่ท้องถิ่นที่เป็นฐานเสียง การเมืองแบบนี้กีดกันประชาชนส่วนใหญ่และทำให้สถาบันผู้แทนราษฎรอ่อนแอ เปิดช่องให้กองทัพกับสถาบันกษัตริย์เข้ามาครอบงำ ผลลัพธ์ก็คือชนชั้นนำไม่เคยสนใจปัญหาความไม่เท่าเทียม ส่วนกลุ่มประชาชนที่ถูกกีดกันก็ต้องจำใจยอมรับสิทธิประโยชน์เฉพาะฐานเสียงทางการเมืองแทนที่จะได้รับความใส่ใจเชิงนโยบายต่อปัญหาการปรับการกระจายรายได้ให้เป็นธรรมมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็จนกระทั่งทักษิณ ชินวัตรได้รับเลือกตั้งในปี 2544

ปฏิกิริยาต่อความไม่เท่าเทียม

ความไม่เท่าเทียมและโครงสร้างที่ค้ำจุนมันไว้ถูกท้าทายเช่นกัน การประท้วงยืดเยื้อของคนเสื้อแดงใน พ.ศ. 2552 และ 2553 คือความท้าทายดังกล่าวในระยะหลัง ในการคัดค้านการรัฐประหาร 2549 มีการเชื่อมโยงประเด็นความไม่เท่าเทียมกับการถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย การเชื่อมโยงนี้เป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การรัฐประหารของกองทัพใน พ.ศ. 2534 ตามมาด้วยการลุกฮือของพลเมืองในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และการสิ้นสุดช่วงเวลายาวนานของความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจในปี 2540 รัฐธรรมนูญ 2540 คือผลลัพธ์และมันเปลี่ยนกฎกติกาทางการเมืองหลายประการ

รัฐบาลของทักษิณเป็นรัฐบาลเดียวที่ได้รับการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ใน พ.ศ. 2544 และ 2548 พรรคไทยรักไทยของทักษิณ ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2541 ได้รับความนิยมในการเลือกตั้งสืบเนื่องจากนโยบายหลายอย่างที่ให้คำมั่นสัญญาถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อคนจน อาทิเช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในระดับชุมชน รวมทั้งนโยบายที่สร้างหมุดหมายทางการเมืองมากที่สุดก็คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองให้สัญญาว่าจะดำเนินโครงการที่แก้ไขความยากจนและจัดสวัสดิการให้อย่างเป็นระบบและถ้วนหน้า อีกทั้งยังปฏิบัติจริงด้วย วิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำในปี 2540 ทำให้ชนชั้นนำอ่อนแอลงและกลัวว่าจะเกิดความขัดแย้งทางสังคม สาเหตุเหล่านี้เพียงพอที่จะทำให้ชนชั้นนำยอมรับข้อตกลงทางการเมืองระหว่างทักษิณกับมวลชน

bangkok_red_protests
The 2011 political protests in Bangkok

 ไม่เพียงพรรคไทยรักไทยได้รับความนิยมอย่างล้นหลามเท่านั้น แต่ผู้ลงคะแนนเสียงค้นพบด้วยว่า รัฐบาลที่ตอบสนองประชาชนมากขึ้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ผลพวงที่ตามมาทำให้ชนชั้นนำรู้สึกสั่นคลอน กลุ่มนิยมเจ้าเกรงกลัวนักการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากการเลือกตั้งและมองว่าทักษิณเป็นตัวอันตราย เนื่องจากดูเหมือนเขาสร้างฐานความนิยมในหมู่ประชาชนในระดับที่แข่งขันกับสถาบันกษัตริย์ หลังจากทักษิณได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสมัยที่สองอย่างถล่มทลายใน พ.ศ. 2548 บุคคลที่ใกล้ชิดกับวังอย่างเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี มองว่าความเป็นศูนย์กลางทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ที่ลดน้อยถอยลงเป็นภัยคุกคาม และทัศนะเช่นนี้เองที่นำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองเพื่อจำกัดระบอบการเมืองที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่จบสิ้นและดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองการเลือกตั้งเป็นภัยคุกคามต่อโลกทัศน์ว่า การเมืองควรดำเนินไปโดยมีสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุด พวกเขามองว่าการเมืองที่มีการเลือกตั้งกำลังบ่อนทำลายบทบาทที่เป็นรากฐานของสถาบันกษัตริย์ในการรักษาระเบียบสังคมและระเบียบการเมือง นอกจากนี้ ทักษิณยังท้าทายต่อสถานภาพเดิมด้วยการปฏิรูประบบราชการ ทำให้ระบบราชการตอบสนองต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและประชาชนมากกว่าเมื่อก่อน ในการโยกย้ายข้าราชการและปรับโครงสร้างกระทรวงใหม่ ทักษิณแต่งตั้งคนใกล้ชิดของเขาเข้าไป สำหรับข้าราชการอาวุโส ซึ่งเคยชินกับการควบคุมประชาชนมานานหลายทศวรรษ ทั้งหมดนี้คือการคุกคาม ในทำนองเดียวกัน ทักษิณท้าทายชนชั้นนายทุนด้วยการบีบให้ภาคธุรกิจภายในประเทศต้องแข่งขันมากขึ้น ฝ่ายตรงข้ามมองว่านี่ทำให้บริษัทในเครือชินวัตรได้เปรียบในการแข่งขันและมองว่าการปรับโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจนี้เป็นภัยคุกคามเช่นกัน

ทักษิณไม่ตระหนักชัดถึงภัยคุกคามที่ตัวเขามีต่อแนวร่วมทางการเมืองของชนชั้นนำ อันประกอบด้วยวัง กองทัพและภาคธุรกิจ อีกทั้งการที่เขาไม่ปฏิบัติตามลำดับชั้นเชิงจารีตประเพณีทำให้เขาถูกมองเป็นตัวอันตราย ความใส่ใจที่ทักษิณมีให้ต่อชนชั้นล่างทำให้กลุ่มพลังอนุรักษ์นิยม กลุ่มนิยมลำดับชั้นและอำนาจนิยมหันมาต่อต้านรัฐบาลของเขา ผลลัพธ์คือการรัฐประหาร 2549 การรัฐประหารไม่ช่วยยุติการงัดข้อกันครั้งนี้ เพราะคนเสื้อแดงและผู้สนับสนุนทักษิณกลุ่มอื่นๆ ก็ต่อต้านวังกับกองทัพเช่นกัน ในการเรียกร้องให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ใน พ.ศ. 2553 คนเสื้อแดงเข้าร่วมการประท้วงที่ยืดเยื้อ โดยเน้นโวหารทางการเมืองไปที่สถานภาพและความไม่เท่าเทียม

เรื่องที่โจษขานกันติดปากก็คือการที่ผู้ประท้วงใช้คำโบราณที่หมายถึงสามัญชนในยุคศักดินาหรือ ไพร่ เพื่อบ่งชี้สถานะของตนที่เป็นคู่ตรงข้ามกับ อำมาตย์ หรือ “พวกผู้ดีที่เป็นชนชั้นปกครอง” พวกเขาเน้นลักษณะสองมาตรฐานในกฎหมาย การผูกขาดอำนาจทางการเมืองของอำมาตย์ และความไม่พอใจอย่างลึกซึ้งต่อปัญหาความไม่เท่าเทียม ถึงแม้มีคำกล่าวอ้างว่าคนเสื้อแดงเป็นพวกมีแนวคิดถอนรากถอนโคน แต่ที่จริงแล้วข้อเรียกร้องของพวกเขามีลักษณะแบบนักปฏิรูปมากกว่า “เราต้องการรัฐทุนนิยมเสรีที่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนลดลง เราต้องการสร้างโอกาสให้คนจนมากขึ้น” 3 การอ้างถึงชนชั้นและสถานภาพเช่นนี้สร้างความขุ่นเคืองแก่ชนชั้นนำ โดยเฉพาะเรื่องที่การประท้วงช่วยสร้างความสมานฉันท์ในหมู่ชนชั้นล่างมากพอสมควรด้วย

ความสมานฉันท์นี้สะท้อนออกมาอย่างสอดคล้องกันทั้งในการระดมมวลชนทางการเมือง แบบแผนการออกเสียงเลือกตั้งและข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ แบบแผนการออกเสียงเลือกตั้งสอดคล้องกับปัญหารายได้ต่ำและความยากจน พื้นที่ที่ยากจนที่สุดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลายจังหวัดในภาคกลางและพื้นที่ของชนชั้นแรงงานรอบกรุงเทพฯ ล้วนแล้วแต่ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคที่สนับสนุนทักษิณอย่างต่อเนื่อง ในการเลือกตั้ง 2550 ค่าเฉลี่ยต่อหัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (gross provincial product—GPP) ในจังหวัดที่ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งสนับสนุนชนชั้นนำ สูงกว่าจังหวัดที่ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคที่สนับสนุนทักษิณเกือบ 2.4 เท่า

Homeless disabled man sleeping on a public concrete bench under bridge in downtown Bangkok, 2012
Homeless disabled man sleeping on a public concrete bench under bridge in downtown Bangkok, 2012

การเมืองของความไม่เท่าเทียม

รายได้ที่ค่อนข้างต่ำ ความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่เอียงกะเท่เร่ และการผ่องถ่ายรายได้ไปสู่กลุ่มคนที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ชี้ให้เห็นแบบแผนการขูดรีดที่มีมายาวนาน ถึงแม้มีการลุกฮือต่อต้านการขูดรีดนี้หลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแบบแผนนี้ได้เลย ชนชั้นนำมักตอบโต้ “การกบฏ” ดังกล่าวด้วยการกดขี่ปราบปราม เมื่อการท้าทายส่งผลต่อการเมืองในระบบเลือกตั้ง ดังที่ผู้ประท้วงเรียกร้องในปี 2516, 2535, 2552 และ 2553 ผลที่ได้กลับกลายเป็นการเมืองในระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเปิดช่องให้นักการเมืองฝ่ายพลเรือนถูกประณามว่าชั่วร้ายและฉ้อฉล คำประณามนี้เอื้อให้กองทัพและกลุ่มนิยมเจ้าเข้ามาแทรกแซงเพื่อสถาปนาการกดขี่ ระบอบอำนาจนิยมและการครอบงำของชนชั้นนำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อชนชั้นนำปกครอง พวกเขาก็ตอกย้ำสิทธิปกครองของตน โดยอาศัยแนวคิดเกี่ยวกับระเบียบ อำนาจและศีลธรรมที่กีดกันชนชั้นอื่นออกไป ตรงใจกลางของระบบนี้คือข้ออ้างว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่ขาดไม่ได้และชนชั้นนำปกครองด้วยสิทธิอำนาจเชิงศีลธรรมของกษัตริย์

กลุ่มคนที่โต้แย้งอุดมการณ์นี้เรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าประเทศต้องมีตัวแทนทางการเมืองและมีนโยบายที่ท้าทายการขูดรีดที่ฝังลึก สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือการสนับสนุนการเมืองในระบบเลือกตั้งอย่างแน่วแน่มั่นคง นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เมื่อไรก็ตามที่มีการเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนจะมาออกเสียงเป็นจำนวนมากและเลือกรัฐบาลที่สนับสนุนทักษิณกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า นี่ไม่ใช่แค่ความนิยมคลั่งไคล้ในตัวทักษิณเท่านั้น แต่หมายถึงการสนับสนุนการเมืองในระบบเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่ถือเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้นล่าง บรรดาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในชนบทและชนชั้นแรงงานแสดงออกชัดเจนว่าไม่ยอมรับการเมืองในระบบอุปถัมภ์และต้องการสังคมที่มีการจัดการดีกว่านี้ กล่าวคือ มีลำดับชั้นน้อยลงและขูดรีดน้อยลง

สำหรับคนเสื้อแดงจำนวนมาก ประชาธิปไตยหมายถึงการเมืองในระบบเลือกตั้งมากกว่าการรัฐประหาร ความคิดที่เชื่อมโยงกันก็คือ ความไม่เท่าเทียมถูกนิยามว่าเป็น “สองมาตรฐาน” ในหลากหลายสังเวียน นับตั้งแต่ศาลไปจนถึงอำนาจทางการเมือง กลุ่มที่เป็นทางการของคนเสื้อแดงเรียกร้องรัฐที่ “อำนาจทางการเมืองเป็นของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง” พวกเขาต้องการ “รัฐที่ยุติธรรมและเป็นธรรม” ซึ่ง “ประชาชนเป็นอิสระจากอำมาตย์และมีศักดิ์ศรี เสรีภาพและความเท่าเทียม” 4

เสียงเรียกร้องเสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียมนี้ต้องเผชิญกับการต่อสู้อย่างขมขื่นเพื่อการควบคุมระบบการเมือง เสียงเรียกร้องเหล่านี้ต้องเผชิญกับการใช้ระบบศาลของชนชั้นนำ ปืนของกองทัพและการประท้วงของกลุ่มนิยมเจ้าครั้งแล้วครั้งเล่า รัฐประหารของกองทัพเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นผลลัพธ์และเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นความพยายามอย่างจริงจังที่จะตัดตอนนักการเมืองที่อยู่นอกกลุ่มชนชั้นนำนิยมเจ้าและผลักการเมืองในระบบเลือกตั้งให้ถอยหลังกลับไป

บทสรุป

หากท็อกเกอร์วิลล์เดินทางข้ามเวลามาที่ประเทศไทยในวันนี้ เขาคงไม่ได้พบ “ความเท่าเทียมของเงื่อนไขโดยรวม” ที่เป็นลักษณะเด่นของระบอบประชาธิปไตยยุคต้นและเป็นโครงสร้างของสังคมอเมริกัน สิ่งที่เขาได้เห็นในประเทศไทยคงเป็นอิทธิพลอันล้นเหลือและร้ายกาจของระบบสังคม การเมืองและเศรษฐกิจที่วางโครงสร้างเพื่อธำรงความไม่เท่าเทียมเอาไว้

Kevin Hewison
Asia Research Centre, School of Management & Governance, Murdoch University, Perth, Western Australia
เควิน ฮิววิสัน เป็นศาสตราจารย์ด้านการเมืองและนานาชาติศึกษาประจำสำนักเซอร์วอลเทอร์ เมอร์ด็อคและเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอเชียแห่งมหาวิทยาลัยเมอร์ด็อค ก่อนหน้านี้เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณประจำสำนักเวลดอน อี. ธอร์นตันที่มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาวิทยาเขตชาเพลฮิลล์

Issue 17, Kyoto Review of Southeast Asia, March 2015

REFERENCES
Bell, P. “Thailand’s Northeast: Regional Underdevelopment, ‘Insurgency’, and Official Response”, Pacific Affairs 42, no. 1 (1969): 47-54.
Teerana Bhongmakapat. “Income Distribution in a Rapidly Growing Economy: A Case of Thailand”. Paper presented to the 15th Conference of the ASEAN Economic Associations, Singapore, November 15-17, 1991.
UDD/No Pho Cho. Kham tham lae kham dop ruang no pho cho. Daeng thang phaendin. [Questions and Answers on UDD: the Red Land] Bangkok: UDD/No Pho Cho, April 28, 2010.

Notes:

  1. Bell, ‘Thailand’s Northeast’, 54.
  2. Teerana, ‘Income Distribution’, 1, 8.
  3. UDD/No Pho Cho, Kham thamlaekhamdop, 4.
  4. UDD/No Pho Cho, Kham thamlaekhamdop, 4-5.